ก่อนเมืองเปลี่ยน ความคิดเราต้องเปลี่ยนก่อนและสิ่งที่มักจะเปลี่ยนความคิดเราได้ ก็คือหนังสือ พื้นที่ที่บรรจุความรู้และความคิดสำคัญเอาไว้ ในแง่ของเมือง ผังเมืองและเมืองที่ดีเองก็เช่นกัน เบื้องหลังของเมืองต้นแบบและการพัฒนาที่กลายเป็นหมุดหมายของเมืองทั้งหลาย ล้วนมีความคิด มีนักคิด นักผังเมืองที่บรรจุและเผยแพร่ความคิดของตัวเองไว้ในงานเขียนจนหลายชิ้นกลายเป็นงานระดับตำนาน
อยากฝันถึงเมืองที่ดี เราอาจเริ่มต้นจากตัวหนังสือ ค่อยๆ สร้างจากรากฐานความคิดสำคัญ จากความเข้าใจพื้นที่เมือง รวมถึงการมองไปข้างหน้าถึงตัวอย่างและแนวคิดของการพัฒนาที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในบรรยากาศที่การอ่านกลับมาคึกคักอีกครั้ง City Cracker ชวนจดลิสต์หนังสือเรื่องเมืองๆ โดยเฉพาะข้อเขียน หนังสือและกรอบความคิดพื้นฐาน จากงานเขียนระดับตำนานของเจน จาคอบ ที่ชวนเราสงสัยถึงความเป็นเมืองและทิศทางการพัฒนาเมืองที่มองไม่เห็นผู้คนและชุมชน เรื่อยมาจนถึงข้อเขียนว่า Garden City
อีกหนึ่งงานเขียนระดับตำนานจากเกาะอังกฤษที่นำไปสู่กระแสการพัฒนาที่เรียกว่า Garden City Movement จุดเชื่อมต่อของเมืองในจินตนาการสู่รากฐานการพัฒนาเมืองที่ดี ไปจนถึงจดหมายที่กงเจี้ยน หยู เขียนถึงผู้นำเมืองเพื่อเตือนการพัฒนาเมืองที่อาจหลงทางของจีน จนจีนรับแนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำเป็นแนวทางการพัฒนาหลัก รวมถึงงานเขียนใหม่ๆ หลายเล่มที่มีฉบับภาษาไทยให้อ่านแล้ว
The Death and Life of Great American Cities by Jane Jacobs
ผู้สนใจเรื่องเมืองและเมืองที่ดี ชื่อแรกๆ ของเราคือ ‘เจน จาคอบ’ หญิงสาวผู้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน พร้อมท้าทายการบริหารและวางผังเมืองของกลุ่มวิชาชีพในขณะนั้น หนังสือ The Death and Life of Great American Cities นับเป็นหนึ่งในหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อการพัฒนาเมืองปัจจุบันที่สุดเล่มหนึ่ง ในงานเขียนชิ้นนี้ เจน จาคอบทั้งวิเคราะห์และมองเมืองในมุมของของผู้ที่เดินอยู่ในเมือง ก่อนค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นปัญหา พร้อมวางแนวทางการพัฒนาของเมืองที่ดี ที่ไม่ใช่แค่เมือง แต่คือผู้คน
Cities for People by Jan Gehl
ยาน เกล เป็นอีกหนึ่งปรมาจารย์ และเป็นสถาปนิกนักออกแบบที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ในการใช้งานพื้นที่หรืองานออกแบบ โดย ‘ยาน เกล’ นับเป็นผู้ที่พยายามเสนอความคิด และที่สำคัญคือเสนอแนวทางการปฏิบัติที่มองเห็นมนุษย์และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นๆ งานเขียนชิ้นนี้นับว่าปฏิวัติความคิด มุ่งออกแบบเมืองในระดับมนุษย์ (human scale) มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ และเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองที่แข็งแรง ยั่งยืน อยู่อาศัยได้ดี และมีความปลอดภัยต่อทุกผู้อยู่อาศัย
Garden Cities of Tomorrow by Ebenezer Howard
งานเขียนชิ้นนี้ถือว่าย้อนไปสักเล็กน้อย คือเขียนขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือราวปี 1898 โดยท่านเซอร์ Ebenezer Howard หนึ่งในขุนนางและนักวางผังเมืองคนแรกๆ ของอังกฤษ งานเขียนชิ้นนี้เป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อจากการสืบทอดความคิดในอดีต คือการสร้างเมืองในอุดมคติ หรือ Utopia โดยโยงเข้าสู่กรอบคิดในการพัฒนาเมืองที่เป็นรูปธรรมขึ้นซึ่งนับเป็นรากฐานของการพัฒนาเมือง แกนสำคัญของข้อเขียนชิ้นนี้คือการที่ผู้เขียนพยายามสร้างภาพเมืองและชุมชนที่มีความเป็นอุดมคติขึ้น อะไรคือเมืองที่ดีที่ทำให้ผู้คนมีความสุข คำตอบของงานเขียนคือสวน รวมถึงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ความคิดเมื่อศตวรรษก่อนหน้าจึงนับว่าก้าวหน้าคือพูดถึงการสร้างเมืองที่เป็นชุมชนขนาดเล็ก อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง เป็นพื้นที่เมืองที่มีการผสานแนวคิดเรื่องสวนและภูมิทัศน์ รวมถึงพื้นที่ธรรมชาติเข้าไปในการสร้างเมืองที่ดี
Cities of Tomorrow: An Intellectual History of Urban Planning and Design in the Twentieth Century by Peter Hall
Cities of Tomorrow เป็นงานเขียนเชิงวิชาการที่เป็นทั้งงานเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นมุมมองที่มองไปสู่อนาคตตามชื่อหนังสือ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในช่วงปี 1996 คือก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เล็กน้อย สิ่งที่ผู้เขียนทำคือสำรวจแนวคิด เหตุการณ์และลักษณะเฉพาะของการพัฒนาเมืองในทศวรรษ 1900 ที่สัมพันธ์กับการก่อตัวและการพัฒนเมืองทั่วโลกของทศวรรษดังกล่าว ในงานเขียนชิ้นนี้เราจะเห็นคำสำคัญมากจากทั้งการเปลี่ยนแปลงขุมชนแออัด สู่แนวคิดหลักๆ ที่ยังคงทรงอิทธิพลเช่นเมืองในสวน แนวคิดเรื่อง city beautiful ไปจนถึงเมืองของตึกระฟ้า การสร้างพื้นที่ชานเมืองและการพัฒนาที่มีรถยนต์เป็นศูนย์กลาง ทฤษฎีที่เกี่ยวของเมืองและการฟื้นฟูพัฒนาเมืองขึ้นใหม่
Great Streets by Allan B. Jacobs
Great Streets ถือเป็นหนังสือที่ใช้ดาต้าเพื่อนำไปสุ่แรงบันดาลใจในการพัฒนาเมือง- โดยที่มีองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดคือถนน งานเขียนชิ้นนี้พาเราไปดูหน้าตาถนน และตอบคำถามว่าหน้าตาของถนนที่ดีเป็นอย่างไรโดยสำรวจและยกตัวอย่างจากถนนหนทางจากทั่วโลกพร้อมภาพประกอบกว่า 200 ภาพ โดยผู้เขียนนั้นได้ใช้ทั้งการสำรวจและวิเคราะห์ให้ภาพจากตัวอย่างจำนวนมากของทั้งถนนและพื้นที่สาธารณะในหลากมิติ จากมุมมองของนักออกแบบและนักวิชาการด้านเมือง เราจะได้เห็นข้อมูล เห็นสถิติ เห็นแพทเทิร์น การใช้งาน ความหลากหลายและการเปรียบเทียบวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและน่าตื่นตาตื่นใจ
Letters to the Leaders of China: Kongjian Yu and the Future of the Chinese City by Kongjian Yu
Letters to the Leaders of China เป็นหนังสือที่กลับไปรวบรวมข้อเขียนของกงเจียน หยู นักออกแบบภูมิทัศน์ของจีน ผู้ที่ทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเมืองที่ดีและการพัฒนาเมืองของจีนโดยส่วนหนึ่งเริ่มจากการเขียนจดหมายถึงเหล่าผู้นำเพื่อเตือนการพัฒนาที่อาจกำลังผิดพลาดของจีนในตอนนั้น การพัฒนาเมืองที่เดินรอยตามแนวคิดเมืองสวยงามของตะวันตก เช่น การสร้างทางด่วนที่ตัดผ่านชุมชน ลานและสวนขนาดใหญ่ที่ละเลยพืชพรรณท้องถิ่น ข้อเสนอของหยูคือการพัฒนาด้วยบริบทและแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงต่อพื้นที่อันหลากหลายของจีน เน้นความสมดุลและฟื้นฟูการใช้งานพื้นที่ธรรมชาติ ทำให้แนวคิดเมืองฟองน้ำกลายเป็นแกนการพัฒนาเมืองยืดหยุ่นหลักของจีน โดยหยูเป็นผู้ก่อตั้งตูเรนสเคป สตูดิโอที่ใช้การพัฒนาฟื้นฟูและการออกแบบภูมิทัศน์ที่กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะการรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมและความยั่งยืนของชุมชนในระดับโลก
Happy City: เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง by Charles Montgomery
จากมุมใหญ่ๆ ของการพัฒนาเมือง มาสู่คำถามและคำตอบง่ายๆ ว่าเมืองที่เรามีความสุข หรืออยู่ได้อย่างมีสุขนั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง หนังสือเล่มนี้ใช้กรณีศึกษาของเมืองต่างๆ เพื่อทำให้เห็นการปรับมุมมองโดยเฉพาะมุมมองการพัฒนาเดิมๆ เมืองของรถยนต์ เมืองของคอนโดสูงระฟ้า บทเรียนจากเมืองหลวง เช่น โบโกต้าถึงปารีสไปจนถึงเมืองในชนบทในทัสคานี อะไรคือเมืองที่คนมีสุข เมืองที่เดินไปไหนมาไหนได้ มีรถรางวิ่งตัดผ่านอย่างช้าๆ เมืองที่ขี่จักรยานและร่มสบาย เมืองที่เอื้อให้เราเดินผ่าน พบปะและยิ้มแย้มกับผู้คน เมืองที่ไม่ได้มีรถยนต์เป็นศูนย์กลางและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ตัดผ่านย่านและชุมชนรวมถึงผู้คนออกจากกัน งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นทั้งกรณีศึกษาที่จากความสำเร็จแล้ว บางส่วนเป็นการปรับมุมมองของเราต่อภาพของเมือง ประโยชน์ และใช้พื้นที่เมือง ที่ปรับวิธีคิดโดยเฉพาะการพัฒนาที่มีถนน การแบ่งแยกพื้นที่ของการเดินและขับจักรยานและอุทิศพื้นที่เหล่านั้นให้รถยนต์ เป็นภาพรวมของการพัฒนาแนวใหม่ที่มีย่าน ชุมชน และการเดินเป็นเงื่อนไขของทั้งเมืองและทั้งผู้คนที่มีความสุข
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น by สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
CITY SIGHT เป็นการรวมบทความของสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์หรือ ดร. อ้อย ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งอันที่จริงเล่มนี้มีคู่ซึ่งเขียนโดยคู่ชีวิตของ ดร. อ้อยคือ WILD SIDE ของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่มหนึ่งพูดถึงเมือง อีกเล่มพูดถึงพื้นที่ธรรมชาติ โดย CITY SIGHT เป็นการรวมบทความที่ชวนให้เรามองเห็นพลวัตรวมถึงปัญหาและความเป็นไปได้ของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราอาจจะเห็นว่าตรงข้ามกับธรรมชาติ แต่ดร. อ้อยชวนให้เรามองเห็นความสำคัญของพื้นที่ธรรมชาติในเมือง การปรับและออกแบบเมืองที่ดีขึ้น มองเห็นสรรพชีวิตต่างๆ มากขึ้น พร้อมบอกถึงปัญหาการพัฒนาเมืองที่เรากำลังเจอ ล่าสุด ดร. อ้อยก็เพิ่งออกหนังสือใหม่ชื่อ Homo Gaia มนุษย์กาญ่า งานเขียนในมุมของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงมนุษย์เรากลับเข้าสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Designed by Warunya Rujeewong
- Vanat Putnark
Writer