CITY CRACKER

ย้อนดูแนวเพลง City Pop ความรู้สึกสีพาสเทลของเมืองใหญ่ ที่เจือด้วยความเหงาและความหวัง

Never take loving someone like me serious

Love is just a game, I just want to have fun

 

Plastic Love กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในยุคฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง เราต่างคุ้นเคยกับสาวน้อยที่สะบัดผมและมองตรงมาที่กล้อง Plastic Love ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกลับมาของดนตรียุค 80-90s ของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มเพลงที่เรียกกันอย่างหลวมๆ ว่า City Pop งานเพลงกลุ่มนี้เป็นเพลงที่ฟังสบายๆ เป็นแนวดนตรีที่ผสมผสานดนตรีหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ดิสโก้หน่อยๆ อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ แจ๊สนิดๆ เจือด้วยป๊อบหน่อยๆ แนวเพลงโดดเด่นเรื่องการใช้เสียงสังเคราะห์ประกอบที่คลอไปด้วยเสียงร้องที่นุ่มนวล ฟังๆ ดูก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเรียกเพลงแนวนี้ว่าเพลงป็อบของเมือง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบกันเกินของมาริยะ ทาเคอุจิ (Mariya Takeuchi) เจ้าของบทเพลง Plastic Love หนึ่งในเพลงที่ร่วมสร้างปรากฏการณ์ City Pop กลับมาอีกครั้งในยุคออนไลน์

ดังนั้นในโอกาสนี้เราจึงชวนกลับไปรู้จักเจ้า City Pop แนวเพลงจากญี่ปุ่นที่กลายเป็นกระแสความนิยมระดับโลกใน 35 ปีต่อมา บทเพลงของมหานครที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ของคนเมือง ของอิสรภาพ และของความหวัง และบทเพลงให้ความรู้สึกของเมืองใหญ่ เป็นเพลงที่แสนจะเข้ากับการนอนฟังเงียบๆ ในบรรยากาศย่ำค่ำ หลับตาและมองเห็นอาทิตย์แสงสุดท้ายระหว่างตึกสูง เป็นความรู้สึกที่ทั้งหวานและขมของความเดียวดายภายใต้ความอึกทึกของผู้คนจำนวนมหาศาล

 

https://www.youtube.com/watch?v=3bNITQR4Uso

 

City Pop กับความฟู่ฟ่าของเมืองและกลุ่มคนใหม่ๆ ในยุคหลังสงคราม

เพลงแนว City Pop เป็นแนวเพลงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1970 และเฟื่องฟูถึงขีดสุดในช่วงปี 1980 ในตอนนั้นญี่ปุ่นถือเป็นประเทศดาวรุ่งที่ไม่ใช่แค่ฟื้นฟูตัวเองจากผู้แพ้สงคราม แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังทะยานขึ้นจนกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมแถวหน้าของโลก ญี่ปุ่นในยุคนั้นคือการกระโดดเข้าสู่ความเป็นยุคสมัยใหม่ กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เฟื่องฟูด้วยอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอีกสารพัดเทคโนโลยีที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ๆ และเกิดวิถีชีวิตที่เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก

หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญในยุคนั้นคือเครื่องเล่นวอล์กแมนของโซนี่ และรวมถึงข้าวของเครื่องใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ทั้งรถยนต์ที่มีเครื่องเล่นเทป วิถีชีวิตที่ฟู่ฟ่า การรับเอาบางอิทธิพลเข้ามาทั้งการดื่มไวน์ การขับรถไปตากอากาศ ในตอนนั้นเองที่ญี่ปุ่นเริ่มเกิดแนวเพลงแบบ City Pop ขึ้น เป็นแนวเพลงที่ออกแบบให้เป็นทั้งเหมือนฉากหลังของวิถีชีวิตสมัยใหม่ เป็นเพลงที่เก็บเอาความรู้สึก ของความเป็นเมือง และมีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในเมืองเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

yodaprod.tumblr.com

 

ลักษณะเด่นของเพลงแนว City Pop คือเป็นแนวเพลงที่ได้รับอิทธิพลของดนตรีแบบตะวันตกที่เข้าผสมผสานกันทั้งแจ๊ส ฟังก์ อาร์แอนบี ผสมเข้ากับเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นที่มีการปรับด้วยระบบเสียงสังเคราะห์ มีการใส่เอฟเฟ็กต์เพื่อเพิ่มสีสันและความรู้สึกแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปผสมผสานด้วย

เพลงแนว City Pop ถือเป็นเพลงแนวที่เต็มที่กับชีวิตของคนในยุคนั้น เป็นตัวตนของรุ่นใหม่ ลักษณะดนตรีเต็มไปด้วยความหวือหวา จุดเด่นหนึ่งของเพลงแนวนี้คือความรู้สึกเป็นอิสระ ความหวัง และการมองไปข้างหน้า หลายเพลงให้ความรู้สึกแบบแคลิฟอร์เนีย คือมีความรู้สึกแบบทะเลนิดๆ ให้ภาพการขับรถไปตามแนวชายฝั่ง ใช้ชีวิตกลางแสงอาทิตย์และความแวววาวของโลหะเรื่อยไปจนถึงแสงไฟยามราตรี เพลงบุกเบิกสำคัญก็เช่นเพลง Ride on Time ของ Yamashita Tatsurō ในปี 1982 และหนึ่งในผู้นำกระแส City Pop ซึ่งในตอนนั้นมาริยะ ทาเคอุจิก็มีเพลงชื่อ Mysterious Peach Pie ในปี 1980

 

SAN-AI BUILDING (ROUND TOWER), GINZA,TOKYOVARIOUS TOKYO, JAPAN - 1987
rollingstone.com

 

ความรักพลาสติก ความหวัง และความเดียวดายในความรู้สึกของเมือง

จุดเด่นของเพลงแนว City Pop คือความสดใหม่ การผสมผสานนอกจากจะผสมทั้งแนวเพลงต่างๆ เข้ากับเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นแล้ว ตัว City Pop ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีการผสมผสานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้ากับความเป็นตะวันตก เราจะเห็นเนื้อเพลงที่เจือไปด้วยภาษาและวัฒนธรรมแบบตะวันตก โดยเฉพาะแบบอเมริกัน

ด้วยความที่เป็นเพลงของคนเมืองและคนรุ่นใหม่ เพลงแนว City Pop ในช่วงนั้นจึงเป็นเหมือนการส่งเสียงบางอย่างของผู้คน พูดถึงวิถีชีวิต ถึงความสัมพันธ์อันบางเบาฉาบฉวย ความพิเศษอย่างหนึ่งคือในยุคนี้เราเริ่มได้เห็นเพลงของผู้หญิง ที่พูดถึงความรู้สึก ความชอบ และตัวตนของผู้หญิงมากขึ้นผ่านตัวศิลปินและเนื้อร้อง

นอกจากความสนุกสนาน สีสันของเครื่องดนตรีของความเป็นดิสโกแล้ว ความแปลกประหลาดของ City Pop และอาจรวมถึงความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่- โดยเฉพาะในสภาวะเมือง ที่เรามักเห็นภาพเมืองที่แม้จะเต็มไปด้วยสีสัน ความหวือหวาฟู่ฟ่า แต่เมืองใหญ่นั้นก็เจือไปด้วยความรู้สึกอันเดียวดาย ตรงนี้เองที่อาจทำให้เพลงเช่น Plastic Love มีเสน่ห์ลึกลับมากไปอีกขั้น

 

HaruomiHosono | | JAPAN IN CANADA
japanincanada.com

 

ในเพลงเช่น Plastic Love เองก็คล้ายกับอีกหลายๆ เพลงที่เนื้อร้องนั้นพูดถึงการใช้ชีวิตของผู้หญิง ของการพูดถึงความรักปลอมๆ การแต่งตัวสวยๆ และการไม่จำเป็นต้องลงหลักปักฐานกับใคร เนื้อเพลงและเนื้อเสียงของมาริยะเจือไปด้วยความรู้สึกเหงาและเดียวดายในการใช้ชีวิตไปกับความรักพลาสติกที่สีสันสดใสเหล่านั้น

หรือในทำนองเดียวกันในเพลง Mayonaka no Door หรือ Stay with Me ของมิกิ มักซึบาระ อีกหนึ่งเพลงชั้นครูของ City Pop ก็พูดถึงความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม พูดถึงภาพความสัมพันธ์ การสูญสลายไปของความสัมพันธ์ที่มีเมืองใหญ่ มีกระจกร้านค้า มีคราบกาแฟในถ้วยเป็นฉากหลังของความสัมพันธ์

การกลับมาของเพลงแนว City Pop และใบหน้าของมาริยะในหน้า Spotify หรือยูทูบมิวสิก ที่จริงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตัวปรากฏการณ์นี้ทั้งน่าประหลาดใจ ขนาดมีบทสัมภาษณ์ไปถามมาริยะเองซึ่งเธอก็บอกเพื่อนชาวแคนาดาไปว่า อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมพลาสติกเลิฟของเธอถึงกลับไปขึ้นชาร์ตทั่วโลกอีกครั้ง

แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดก็พอเข้าใจได้ แน่นอนกระแสการหวนหาอดีต การกลับไปสู่ยุคอนาล็อก กลับไปสู่ความรู้สึกอันจัดจ้านของยุคดิสโก้เป็นเรื่องที่คนยุคดิจิตัลไขว่คว้า

 

Wallpaper Night, The city, Neon, People, Light, Rain, Advertising, Tokyo, Lights, Machine, Umbrellas, Tokyo, Signs, Masashi Wakasa, Screens images for desktop, section город - download
goodfon.com

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราพูดถึงความเป็นเมือง การเป็นแนวเพลงของความรู้สึกของเมือง ของความหวัง ของอิสรภาพ ในขณะเดียวกันก็เจือความเดียวดาย ความขมปร่าของความรู้สึกทั้งเหงา และทั้งหลายสลายของผู้คนที่ยังยิ้มร่า และก้าวเดินต่อไปในในแสงนีออน ก็ย่อมเป็นคำตอบว่าทำไม แนวเพลงของเมืองในยุค 80s ถึงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ความพิเศษและความประจวบเหมาะที่อาจจะพ้องกับการเกิดขึ้นของวอล์คแมน ก็คือการกลับมาของทั้งตัวเทคโนโลยีสตรีมมิ่งที่ทั้งเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงเพลงใหม่ๆ และกลับไปสู่วัฒนธรรมการฟังเพลงคนเดียว

เหมือนที่ตั้งข้องสังเกตไปข้างต้น นึกภาพว่าการใส่หูฟัง แล้วฟังเพลงเช่นพลาสติกเลิฟ หรือเพลงอื่นๆ ในบรรยากาศนั่งรถกลับบ้านเย็นๆ เหงาหน่อยๆ แต่ก็ยังมีหวัง หรือจะไปฟังขณะนอนผึ่งแดดโง่ๆ ที่ริมทะเล ว่าแล้ว เย็นนี้ก็กดพลาสติกเลิฟฟังซะหน่อย และสุขสันต์วันเกิดแด่มาริยะ ทาเคอุจิ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

privatesuitemag.com

nippon.com

pitchfork.com

yattatachi.com

 

Share :