Never take loving someone like me serious
Love is just a game, I just want to have fun
Plastic Love กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในยุคฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง เราต่างคุ้นเคยกับสาวน้อยที่สะบัดผมและมองตรงมาที่กล้อง Plastic Love ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกลับมาของดนตรียุค 80-90s ของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มเพลงที่เรียกกันอย่างหลวมๆ ว่า City Pop งานเพลงกลุ่มนี้เป็นเพลงที่ฟังสบายๆ เป็นแนวดนตรีที่ผสมผสานดนตรีหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ดิสโก้หน่อยๆ อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ แจ๊สนิดๆ เจือด้วยป๊อบหน่อยๆ แนวเพลงโดดเด่นเรื่องการใช้เสียงสังเคราะห์ประกอบที่คลอไปด้วยเสียงร้องที่นุ่มนวล ฟังๆ ดูก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเรียกเพลงแนวนี้ว่าเพลงป็อบของเมือง
เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบกันเกินของมาริยะ ทาเคอุจิ (Mariya Takeuchi) เจ้าของบทเพลง Plastic Love หนึ่งในเพลงที่ร่วมสร้างปรากฏการณ์ City Pop กลับมาอีกครั้งในยุคออนไลน์
ดังนั้นในโอกาสนี้เราจึงชวนกลับไปรู้จักเจ้า City Pop แนวเพลงจากญี่ปุ่นที่กลายเป็นกระแสความนิยมระดับโลกใน 35 ปีต่อมา บทเพลงของมหานครที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ของคนเมือง ของอิสรภาพ และของความหวัง และบทเพลงให้ความรู้สึกของเมืองใหญ่ เป็นเพลงที่แสนจะเข้ากับการนอนฟังเงียบๆ ในบรรยากาศย่ำค่ำ หลับตาและมองเห็นอาทิตย์แสงสุดท้ายระหว่างตึกสูง เป็นความรู้สึกที่ทั้งหวานและขมของความเดียวดายภายใต้ความอึกทึกของผู้คนจำนวนมหาศาล
https://www.youtube.com/watch?v=3bNITQR4Uso
City Pop กับความฟู่ฟ่าของเมืองและกลุ่มคนใหม่ๆ ในยุคหลังสงคราม
เพลงแนว City Pop เป็นแนวเพลงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1970 และเฟื่องฟูถึงขีดสุดในช่วงปี 1980 ในตอนนั้นญี่ปุ่นถือเป็นประเทศดาวรุ่งที่ไม่ใช่แค่ฟื้นฟูตัวเองจากผู้แพ้สงคราม แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังทะยานขึ้นจนกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมแถวหน้าของโลก ญี่ปุ่นในยุคนั้นคือการกระโดดเข้าสู่ความเป็นยุคสมัยใหม่ กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เฟื่องฟูด้วยอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอีกสารพัดเทคโนโลยีที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ๆ และเกิดวิถีชีวิตที่เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก
หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญในยุคนั้นคือเครื่องเล่นวอล์กแมนของโซนี่ และรวมถึงข้าวของเครื่องใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ทั้งรถยนต์ที่มีเครื่องเล่นเทป วิถีชีวิตที่ฟู่ฟ่า การรับเอาบางอิทธิพลเข้ามาทั้งการดื่มไวน์ การขับรถไปตากอากาศ ในตอนนั้นเองที่ญี่ปุ่นเริ่มเกิดแนวเพลงแบบ City Pop ขึ้น เป็นแนวเพลงที่ออกแบบให้เป็นทั้งเหมือนฉากหลังของวิถีชีวิตสมัยใหม่ เป็นเพลงที่เก็บเอาความรู้สึก ของความเป็นเมือง และมีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในเมืองเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ
ลักษณะเด่นของเพลงแนว City Pop คือเป็นแนวเพลงที่ได้รับอิทธิพลของดนตรีแบบตะวันตกที่เข้าผสมผสานกันทั้งแจ๊ส ฟังก์ อาร์แอนบี ผสมเข้ากับเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นที่มีการปรับด้วยระบบเสียงสังเคราะห์ มีการใส่เอฟเฟ็กต์เพื่อเพิ่มสีสันและความรู้สึกแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปผสมผสานด้วย
เพลงแนว City Pop ถือเป็นเพลงแนวที่เต็มที่กับชีวิตของคนในยุคนั้น เป็นตัวตนของรุ่นใหม่ ลักษณะดนตรีเต็มไปด้วยความหวือหวา จุดเด่นหนึ่งของเพลงแนวนี้คือความรู้สึกเป็นอิสระ ความหวัง และการมองไปข้างหน้า หลายเพลงให้ความรู้สึกแบบแคลิฟอร์เนีย คือมีความรู้สึกแบบทะเลนิดๆ ให้ภาพการขับรถไปตามแนวชายฝั่ง ใช้ชีวิตกลางแสงอาทิตย์และความแวววาวของโลหะเรื่อยไปจนถึงแสงไฟยามราตรี เพลงบุกเบิกสำคัญก็เช่นเพลง Ride on Time ของ Yamashita Tatsurō ในปี 1982 และหนึ่งในผู้นำกระแส City Pop ซึ่งในตอนนั้นมาริยะ ทาเคอุจิก็มีเพลงชื่อ Mysterious Peach Pie ในปี 1980
ความรักพลาสติก ความหวัง และความเดียวดายในความรู้สึกของเมือง
จุดเด่นของเพลงแนว City Pop คือความสดใหม่ การผสมผสานนอกจากจะผสมทั้งแนวเพลงต่างๆ เข้ากับเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นแล้ว ตัว City Pop ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีการผสมผสานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้ากับความเป็นตะวันตก เราจะเห็นเนื้อเพลงที่เจือไปด้วยภาษาและวัฒนธรรมแบบตะวันตก โดยเฉพาะแบบอเมริกัน
ด้วยความที่เป็นเพลงของคนเมืองและคนรุ่นใหม่ เพลงแนว City Pop ในช่วงนั้นจึงเป็นเหมือนการส่งเสียงบางอย่างของผู้คน พูดถึงวิถีชีวิต ถึงความสัมพันธ์อันบางเบาฉาบฉวย ความพิเศษอย่างหนึ่งคือในยุคนี้เราเริ่มได้เห็นเพลงของผู้หญิง ที่พูดถึงความรู้สึก ความชอบ และตัวตนของผู้หญิงมากขึ้นผ่านตัวศิลปินและเนื้อร้อง
นอกจากความสนุกสนาน สีสันของเครื่องดนตรีของความเป็นดิสโกแล้ว ความแปลกประหลาดของ City Pop และอาจรวมถึงความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่- โดยเฉพาะในสภาวะเมือง ที่เรามักเห็นภาพเมืองที่แม้จะเต็มไปด้วยสีสัน ความหวือหวาฟู่ฟ่า แต่เมืองใหญ่นั้นก็เจือไปด้วยความรู้สึกอันเดียวดาย ตรงนี้เองที่อาจทำให้เพลงเช่น Plastic Love มีเสน่ห์ลึกลับมากไปอีกขั้น
ในเพลงเช่น Plastic Love เองก็คล้ายกับอีกหลายๆ เพลงที่เนื้อร้องนั้นพูดถึงการใช้ชีวิตของผู้หญิง ของการพูดถึงความรักปลอมๆ การแต่งตัวสวยๆ และการไม่จำเป็นต้องลงหลักปักฐานกับใคร เนื้อเพลงและเนื้อเสียงของมาริยะเจือไปด้วยความรู้สึกเหงาและเดียวดายในการใช้ชีวิตไปกับความรักพลาสติกที่สีสันสดใสเหล่านั้น
หรือในทำนองเดียวกันในเพลง Mayonaka no Door หรือ Stay with Me ของมิกิ มักซึบาระ อีกหนึ่งเพลงชั้นครูของ City Pop ก็พูดถึงความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม พูดถึงภาพความสัมพันธ์ การสูญสลายไปของความสัมพันธ์ที่มีเมืองใหญ่ มีกระจกร้านค้า มีคราบกาแฟในถ้วยเป็นฉากหลังของความสัมพันธ์
การกลับมาของเพลงแนว City Pop และใบหน้าของมาริยะในหน้า Spotify หรือยูทูบมิวสิก ที่จริงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตัวปรากฏการณ์นี้ทั้งน่าประหลาดใจ ขนาดมีบทสัมภาษณ์ไปถามมาริยะเองซึ่งเธอก็บอกเพื่อนชาวแคนาดาไปว่า อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมพลาสติกเลิฟของเธอถึงกลับไปขึ้นชาร์ตทั่วโลกอีกครั้ง
แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดก็พอเข้าใจได้ แน่นอนกระแสการหวนหาอดีต การกลับไปสู่ยุคอนาล็อก กลับไปสู่ความรู้สึกอันจัดจ้านของยุคดิสโก้เป็นเรื่องที่คนยุคดิจิตัลไขว่คว้า
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราพูดถึงความเป็นเมือง การเป็นแนวเพลงของความรู้สึกของเมือง ของความหวัง ของอิสรภาพ ในขณะเดียวกันก็เจือความเดียวดาย ความขมปร่าของความรู้สึกทั้งเหงา และทั้งหลายสลายของผู้คนที่ยังยิ้มร่า และก้าวเดินต่อไปในในแสงนีออน ก็ย่อมเป็นคำตอบว่าทำไม แนวเพลงของเมืองในยุค 80s ถึงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ความพิเศษและความประจวบเหมาะที่อาจจะพ้องกับการเกิดขึ้นของวอล์คแมน ก็คือการกลับมาของทั้งตัวเทคโนโลยีสตรีมมิ่งที่ทั้งเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงเพลงใหม่ๆ และกลับไปสู่วัฒนธรรมการฟังเพลงคนเดียว
เหมือนที่ตั้งข้องสังเกตไปข้างต้น นึกภาพว่าการใส่หูฟัง แล้วฟังเพลงเช่นพลาสติกเลิฟ หรือเพลงอื่นๆ ในบรรยากาศนั่งรถกลับบ้านเย็นๆ เหงาหน่อยๆ แต่ก็ยังมีหวัง หรือจะไปฟังขณะนอนผึ่งแดดโง่ๆ ที่ริมทะเล ว่าแล้ว เย็นนี้ก็กดพลาสติกเลิฟฟังซะหน่อย และสุขสันต์วันเกิดแด่มาริยะ ทาเคอุจิ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer