CITY CRACKER

เมือง 15 นาที ปารีสในสวน Anne Hidalgo นายกเทศมนตรีหญิง ที่กำลังเปลี่ยนนิยามของเมืองใหญ่

ช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ว่าของกรุงเทพฯ City Cracker จึงอยากชวนไปรู้จักกับผู้นำเมืองที่น่าสนใจ และถ้าเราพูดถึงหนึ่งในผู้นำเมืองที่ถูกกล่าวถึงในสื่อใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาเมืองและงานออกแบบในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราคงต้องยกให้ แอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงปารีส ผู้ที่บอกว่าหลังจากนี้ปารีสจะกลายเป็นเมืองของผู้คน หอไอเฟล และช็องเซลีเซจะโอบล้อมไปด้วยสวน กลางเมืองจะไร้รถยนต์ และผลักดันอุดมคติใหม่ของเมืองใหญ่ที่ทุกอย่างจะเข้าถึงได้ในนามเมือง 15 นาที

มองเผินๆ ปารีสเป็นเมืองอันแสนหวาน แต่ทว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ปารีสเองก็มีปัญหาจากการพัฒนา ทั้งจากการขยายตัวของเมืองใหญ่และการเป็นเมืองสำคัญด้านการท่องเที่ยวของโลก ปารีสเต็มไปด้วยความแออัด มลพิษ เจอปัญหารถติด เมืองสกปรก ทำให้เมืองโรแมนติกแห่งนี้ซ่อนปัญหาเอาไว้ แอนน์ ในฐานะนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของปารีสจากการชนะเลือกตั้งในปี 2014 และอยู่ในตำแหน่งเป็นวาระที่สองในปัจจุบัน เป็นผู้บริหารเมืองที่เน้นการคืนปารีสและคุณภาพชีวิตให้กับชาวปารีส โดยเปลี่ยนหลักการพัฒนาที่มีรถยนต์เป็นศูนย์กลางไปสู่เมืองของการเดินและการฟื้นฟูย่าน

จุดเปลี่ยนของปารีสสอดคล้องกับหลายกระแสทั้งประเด็นเรื่องการพัฒนาที่เปลี่ยนมาสู่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและผู้คนมากขึ้น ความจำเป็นและการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ยิ่งการมาถึงของโรคระบาดยิ่งทำให้เมืองทบทวนวิถีชีวิตแบบเดิม และเร่งก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น ลองนึกภาพว่า ถ้ามีคนบอกเราว่ากรุงเทพฯ จะแบนรถยนต์ในพื้นที่กลางเมือง และจะกลายเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยสวนแทนที่จอดรถ เราเองก็คงอึดอัดใจและนึกภาพไม่ออกว่าเมืองหลวงที่แออัดจะเขียวและไร้รถยนต์ได้อย่างไร

 

latribune.fr

 

แอนน์ถือเป็นผู้นำหญิงที่แข็งแกร่งและทำงานอย่างขุดรากถอนโคน โดยภูมิหลังแอนน์เป็นลูกหลานของผู้อพยพ ลี้ภัยทางการเมืองจากสเปน ไปใช้ชีวิตและจบการศึกษาที่ลียง หลังจากจบการศึกษาแอนน์ทำงานในแวดวงการบริหาร ส่วนนโยบายรัฐและในแวดวงการเมือง โดยค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสวัสดิภาพแรงงานมากว่าทำงานอยู่ในแวดวงการเมืองและสภาเมืองปารีส ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเต็มตัว การบริหารของแอนน์ได้รับการนิยามว่าทำงานด้วยความรวดเร็วและใช้ความเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ แน่นอนว่าในการปรับทิศทางปารีส โดยเฉพาะการผลักดันรถยนต์ออกจากพื้นที่กลางเมืองเต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งจากภาคบริหารและจากประชาชนบางส่วนเอง

การทำงานของแอนน์ถือว่ามีการทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อผลักดันไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างขุดรากถอนโคน ตัวอย่างเช่น การปรับเมืองเพื่อลดมลพิษและต่อสู้กับวัฒนธรรมรถยนต์ แอนน์เองก็เริ่มต้นค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองของเมือง เช่น ในปี 2016 แอนน์ได้เริ่มโครงการ Paris Breathes โครงการที่เปิดให้กรุงปารีสได้หายใจด้วยการแบนรถยนต์ในย่านกลางเมืองทั้งหมดในวันอาทิตย์ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเมืองโดยหันเหจากรถยนต์และส่งเสริมการเดินทางประเภทอื่น เช่นเพิ่มค่าจอดรถ ลดพื้นที่จอดรถลง เปลี่ยนทางด่วนให้กลายเป็นสวนริมน้ำ เริ่มจำกัดโซนให้เป็นโซนปล่อยมลพิษต่ำ พร้อมๆ กันก็เริ่มส่งเสริมการเดินทางอื่นๆ เช่นจักรยาน ผลักดันขนส่งสาธารณะฟรี

 

wired.com

 

ในการลดรถยนต์อย่างเดียวนั้นไม่พอ ในแผนการพัฒนาปารีสที่กำลังมุ่งหน้าไป หนึ่งในแผนสำคัญคือการเปลี่ยนย่านกลางเมืองของปารีสให้เป็นพื้นที่ของการเดิน มีการวางแผนปรับเมืองที่เคยแออัดและเต็มไปด้วยถนนให้กลายเป็นสวน ภาพของช็องเซลีเซไปจนถึงหอไอเฟลและพื้นที่อื่นๆ กลางปารีสในจินตนาการและปลายทางใหม่จึงรายล้อมไปด้วยสวนสีเขียว หนึ่งในแผนที่ผ่านความเห็นชอบแล้วคือการเปลี่ยนช็องเซลีเซให้กลายเป็นสวน และจะทำให้ปารีสมีกลางเมืองเป็นสวนที่ยาวเกือบสองกิโลเมตรนี้เป็นสวนที่ยอดเยี่ยมที่สุด นอกจากนี้เธอยังวางแผนทำให้ปารีสกลายเป็นป่าในเมืองหรือ urban forest

ความน่าสนใจในการทำงานโดยผลักดันความเปลี่ยนแปลงของแอนน์ก็ยังคงอยู่ในนิยามของการเปลี่ยนอย่างรุนแรง หลังจากการเสนอเรื่องปารีสในสวน เรื่องปารีสไร้รถยนต์แล้ว แอนน์ยังทำงานกับมหาวิทยาลัยและเสนอแผนปลายทางของปารีสที่เรียกว่าเป็นเมือง 15 นาที คือจากเมืองใหญ่ที่มีการกระจายตัว และเชื่อมโยงกันผ่านขนส่งหรือโครงข่าย การพัฒนาทิศททางใหม่ แอนน์เสนอว่าในเมืองใหญ่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกครัวเรือนเข้าถึงความต้องการทุกอย่างได้ในระยะ 15 นาทีด้วยการเดินหรือขับจักรยาน ในด้านหนึ่งการปรับทิศทางการพัฒนานี้มีลักษณะคล้ายการกระจายศูนย์กลางออกเป็นโซนเล็กๆ เป็นการฟื้นฟูย่านและการเดินซึ่งก็จะมีฉากหลังเป็นเมืองที่ร่มรื่น เดินได้และอยู่ร่วมกับโลกได้ดีขึ้นกว่าเมืองคอนกรีตแบบเดิม

 

fourcommunications.com

 

ด้วยความที่แอนน์เป็นนักการเมืองที่มีความคิดไปทางสังคมนิยม เคยทำงานด้านสวัสดิภาพและแรงงาน การปรับเมืองในภาพใหญ่จึงค่อนข้างมองไปที่คนตัวเล็กๆ เน้นการเดิน การสร้างสิ่งแวดล้อมของเมืองที่แข็งแรง การพัฒนาย่านและกิจการขนาดเล็กที่ได้ผลดีจากการเดินได้ นอกจากนี้การวางหมุด เช่น เมือง 15 นาทีเอง แอนน์ก็ค่อนข้างวางแผนการพัฒนารอบๆ เพื่อนำไปสู่ปารีสในฐานะเมืองอุดมคติใหม่ของผู้คน เช่น เป้าหมายที่จะให้ขนส่งสาธารณะของปารีสฟรี ซึ่งเมื่อราวปลายปี 2021 ปารีสก็ได้เปิดให้วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีใช้ขนส่งสาธารณะได้ฟรี หลังจากค่อยๆ ขยับการใช้ฟรีจากเด็กขึ้นมาที่วัยรุ่น การให้วัยรุ่นใช้ขนส่งสาธารณะฟรีเป็นการส่งเสริมและสร้างความเคยชินหักับคนรุ่นใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ จักรยานเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ที่ปารีสภายใต้การนำของแอนน์พยายามวางให้กลายเป็นการเดินทางหลักของผู้คน ในปี 2015 หนึ่งปีหลังจากได้รับเลือกตั้ง แอนน์ได้เสนอแผนจักรยาน หรือ Plan Vero แผนพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มทางจักรยานของปารีสเป็นสองเท่า จาก 700 กิโลเมตร เป็น 1,400 กิโลเมตร แม้ว่าปัจจุบันแผนใหญ่นี้จะทำไปได้ราวครึ่งหนึ่ง แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้การขับขี่และสร้างวัฒนธรรมจักรยานในปารีสได้ เช่น ตัวเลขการใช้จักรยานในปารีสและปริมณฑล (Île-de-France) มีตัวเลขสูงถึง 84,000 เที่ยวต่อวัน และการได้ขึ้นอันดับเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานของนิตยสาร Wired จากลำดับที่ 13 ในปี 2017 เป็นลำดับ 8 ในปี 2019 ในช่วงโควิดเอง ปารีสก็ได้ใช้ทางจักรยานและการขับจักรยานเป็นการรับมือและขับเคลื่อนเมืองทางหนึ่ง เช่น การเปิดทางจักรยานป็อบอัประยะ 50 กิโลเมตรเพื่อลดความแออัดของการเดินทาง

นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อมและเมืองแล้ว แอนน์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและคุณภาพชีวิตแง่อื่น เช่น การให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการเป็นผู้นำหญิง เธอเองก็เป็นผู้ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในปลายปี 2020 คณะบริหารของแอนน์ต้องจ่ายค่าปรับให้กับรัฐบาลประมาณ 90,000 ยูโร เนื่องจากคณะผู้บริหารระดับสูงในสภาเมืองของเธอเป็นเพศหญิง ซึ่งถือว่าผิดสัดส่วนที่เพศใดเพศหนึ่งนำการบริหารเกิน 60%

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

politico.eu

uclg.org

theguardian.com

dezeen.com

dezeen.com

archive.curbed.com

npr.org

Share :