CITY CRACKER

“เมืองที่ปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง” คุยเรื่อง เมืองพลวัตรับมือโลกที่แปรปรวน กับผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเองก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ซึ่งน้ำท่วม น้ำหลากในครั้งนี้สร้างความเสียหายมากมาย ซึ่งการเกิดขึ้นของพายุที่ส่งผลเสียรุนแรงนั้นเรารู้กันอยู่แล้วว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) แต่ขณะเดียวกันการขยายตัวของเมือง จำนวนที่เพิ่มขึ้นของสิ่งปลูกสร้างก็เป็นผลที่ทำให้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยาก

ปัญหาน้ำท่วมเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความเป็นอยู่ของคนในเมือง แต่ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องที่แก้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่นเนเธอร์แลนด์ ประเทศลุ่มต่ำเช่นเดียวกับบ้านเราและอยู่ร่วมกับน้ำมาอย่างยาวนาน กระนั้นเนเธอร์แลนด์ยังคงสามารถรับมือกับน้ำได้ด้วยการออกแบบเมืองเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่า ภายได้การขยับขยายของเมือง เมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างสัมพันธ์กับโลกที่แปรปรวนด้วย

ซึ่งจากจากสถานการณ์น้ำของไทยในช่วงเดือนกันยาที่ผ่านมานั้น ความกังวลหนึ่งที่หลายคนกังวลคือพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจอาจเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 54 แต่จากการพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น้ำท่วมปีนี้ไม่เท่าปี 54 แต่ไม่ควรประมาทเพราะอาจมีพายุลูกใหม่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งสาเหตุที่เกิดน้ำท่วมปี 54 นั้นไม่ใช่แค่ปริมาณฝนที่มาก แต่การขยายตัวของเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ผู้คนออกไปอยู่บริเวณพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยไม่ทราบว่าบริเวณนั้นไม่ควรอยู่อาศัยก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

แม้ปริมาณฝนอาจไม่เท่าเดิม แต่ยังคงมีเรื่องการขยายตัว หรือการตั้งถิ่นฐานของประชากรที่ยังน่าเป็นห่วง รวมถึงเรื่อง climate change หรือสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งการจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ คือการตั้งรับด้วยการวางแผนการพัฒนาเมือง การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน city cracker จึงชวนไปทำความเข้าใจเมืองในมิติที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกผ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

 

prachachat.net

City Cracker: ระยะหลังมานี้ประเทศเราเผชิญกับภัยธรรมชาติที่หนักขึ้น เช่นน้ำท่วมปี 54 กระทั่งน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของปีนี้ ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเป็นผลจากอะไร

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์: น้ำท่วมใหญ่ปี 54 เกิดจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมรายปีสูงกว่าปกติ และมีพายุดีเปรสชั่นเข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม โดยพายุเข้า 5 ลูกต่อเนื่องทำให้ฝนตกหนัก และช่วงปลายปีมีน้ำทะเลหนุนบริเวณชายฝั่งจากอ่าวไทย ผลที่ส่งถึงกรุงเทพฯ คือถึงแม้กรุงเทพฯ ฝนจะไม่ตก แต่มีน้ำหลากจากทางเหนือของกรุงเทพฯ และปริมณฑลทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มทั้งคลองเล็กคลองน้อยและเขื่อน ทำให้ต้องระบายออกอย่างเดียว พอเกิดน้ำทะเลหนุนจึงทำให้ความสามารถในการระบายน้ำยาก ความสามารถลดลงไปครึ่งหนึ่งเลย ทำให้น้ำขังในพื้นที่สูงมาก

แต่ปีนี้ปริมาณน้ำฝนไม่เท่าปี 54 ปริมาณน้ำในเขื่อนไม่ได้เต็มขนาดที่จะต้องเร่งระบายน้ำออกมา ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มปริ่มๆ แล้วแต่ปริมาณฝนไม่ได้สูงเท่าปี 54 และปีนี้มีพายุเข้ามา 1 ลูก ในช่วงเดือนกันยายน แต่ว่าก็ต้องเฝ้าระวังเพราะยังมีโอกาสที่พายุจะเข้ามาอีกในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งยังไม่แน่นอน และอาจทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น หากฝนตกหนักมากจนถึงปลายปีและมีน้ำทะเลหนุนอีกก็จะกังวลมากขึ้นด้วย

อีกสาเหตุที่ปี 54 คนได้รับผลกระทบมากเพราะมีการขยายตัวของเมืองโดยรอบๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายออกไปบริเวณพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในอดีต คนไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ ไปอยู่ทางน้ำ เวลาฝนตกก็จะกระทบกับคนกลุ่มนี้ซึ่งเขาไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เสี่ยง ซึ่งการขยายตัวของเมืองนี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงมาก

แม้ปี 64 ปริมาณน้ำฝนจะไม่เท่าปี 54 แต่อัตราการขยายตัวของเมืองไม่เคยหยุด ตั้งแต่ลุ่มน้ำด้านบนมาถึงลุ่มน้ำตอนล่าง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ที่ดินค่อนข้างสูง พื้นที่ดินที่จะเป็นเกษตรกรรมหรือพื้นที่ที่เตรียมเอาไว้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำต่างๆ ประสบปัญหาในระดับท้องถิ่นมากเพราะมีคนอยู่ มีคนไปตั้งถิ่นฐาน เพราะฉะนั้นการปรับไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการจัดการซับซ้อนมากขึ้น เราจะมองแต่เรื่องน้ำไม่ได้มองเรื่องการตั้งถิ่นฐานด้วย อาจทำให้ได้รับผลกระทบมากขึ้นก็ได้แม้ปริมาณน้ำจะไม่เท่าเดิม

posttoday.com

City Cracker: นอกจากการขยายตัวของเมือง Climate Change ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเราด้วยไหมมันส่งผลยังไง

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์: หลายคนมองว่า Climate Change เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องของโลกร้อน สเกลระดับโลกที่น้ำแข็งละลายทำให้ปริมาณน้ำในทะเลหนุนสูงขึ้น หรือกระทั่งฝนตกหนักมากขึ้นมันไกลตัว เรานึกถึงแต่ค่าใช่จ่ายในชีวิตประจำวัน มันเลยดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน แต่อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตทุกมิติ ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเสี่ยง climate change แบ่งภัยออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ภัยชุดแรกเป็นภูมิอากาศ คือ ความร้อน น้ำท่วม น้ำแล้ง ส่วนภัยที่สองจะเป็นภัยที่ค่อยๆ เกิด (slow onset events) คือน้ำทะเลหนุน

ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องของขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ หรือระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องระดับท้องถิ่น หมายความว่า climate change จะทำให้เรามีฝนตกหนักมากขึ้นในอนาคต แต่จำนวนวันที่ฝนตกอาจจะน้อยลง แสดงว่าวันที่ฝนตกหนักมากๆ จะเกิดบ่อยขึ้น ขณะเดียวกันความร้อนจะทำให้หน้าแล้งมีระยะเวลายาวนานขึ้น คือมันกระทบกันเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเราจะเจอน้ำท่วม น้ำขังบ่อยขึ้น เวลาน้ำท่วมจะท่วมจัด หน้าแล้งก็จะแล้งจัด ที่เราเคยบ่นเรื่อง รถติด ฝนตกหรือปัญหาการระบายน้ำ มันจะมาบ่อยขึ้น คือมันกระทบเราทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย แต่เรายังไม่รู้ตัวว่าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรื่องความร้อนเกี่ยวกับการใช้พลังงานในอาคาร หรือ New normal ในอนาคตว่ากันว่าจะถึง 40-42 องศา แน่นอนอาคารต่างๆ จะต้องปรับอากาศซึ่งเป็นพลังงานมหาศาล พลังงานเหล่านั้นใช้น้ำเช่นกันและปริมาณน้ำที่เรากำลังบริหารจัดการอยู่มันก็จะท่วมบ้างแล้งบ้าง เพราะฉะนั้นการจัดการทรัพยากรจึงซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต กระทบค่าใช้จ่ายหมด พูดง่ายๆ คือต้องจ่ายแพงขึ้นถึงจะใช้ชีวิตในเมืองให้ได้เหมือนเดิมเพราะว่าทรัพยากรแปรปรวน ส่วน slow onset events หรือน้ำทะเลหนุนเป็นตัวที่เราให้ความสำคัญน้อยอยู่ในประเทศไทย แต่ว่ามันค่อยๆ มาและทำให้วิถีชีวิตเราค่อยๆ เปลี่ยนไป ใช้ชีวิตได้ยากขึ้น เพราะเวลาน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำทะเลซึมมาตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ซึ่งแม่น้ำลำคลองต่างๆ เป็นแหล่งน้ำจืด น้ำทะเลเหล่านั้นจะปนเปื้อนแหล่งน้ำจืดของเมืองทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เราต้องใช้อุปโภคบริโภคลดลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทบค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

สุดท้ายเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายหมดเลยไม่ว่าคุณจะทำอะไร ดำเนินชีวิตยังไงในเมืองหรืออยู่ในพื้นที่ชนบทก็ตามเพราะทรัพยากรแปรปรวนหมด อาจารย์ว่าเป็นเรื่องของการวางแผนคุณภาพชีวิตในเมืองว่า เมืองนี้จะมุ่งไปยังไง คนต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ จะเสี่ยงจากประเด็นนี้หมด  ถ้าเป็นเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เสี่ยงหลักๆ  3 เรื่องคือภัยจาก น้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุน แต่ถ้าเป็นภาคอื่นๆ จะเสี่ยงเรื่องความร้อนและแล้งด้วย นี่คือผลกระทบจาก climate change ซึ่งกระทบทุกเมืองในประเทศไทยยกเว้นเมืองที่ไม่ได้อยู่ใกล้น้ำทะเลชายฝั่งที่จะไม่เจอเรื่องน้ำทะเลหนุน แต่เมืองอื่นๆ ก็จะเจอเรื่องอื่นแล้วแต่สภาพภูมิประเทศ

 

tqm.co.th

City Cracker: จากความแปรปรวนของโลก เหมือนหลายๆ ประเทศที่เจอปัญหาคล้ายๆ กันก็เริ่มปรับเมืองใต้แนวคิด resilient city แนวคิดนี้ว่าด้วยเรื่องอะไร และจะสามารถกอบกู้โลกได้ยังไง

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์: resilient city สำหรับอาจารย์แปลว่าเมืองที่ปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้วเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่เพราะว่าเมืองทั่วโลกพิจารณาเรื่องความเป็นอยู่ของคนเป็นตัวตั้ง เขาต้องการจะขยายวิสัยทัศน์ว่าอีก 20 ปี 30 ปีข้างหน้าคนจะอยู่ยังไง ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตทั้งหมดว่าเราอยากได้คนแบบไหนมาอยู่ในเมือง คนในเมืองจ่ายไหวแค่ไหน  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เขามองจะมองทุกมิติ ในอนาคตโลกเปลี่ยนแปลงสูง แต่ที่เราโฟกัสแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ climate change ที่อยู่นอกตัวเรา แต่การเปลี่ยนแปลงที่ resilient city มองด้วยคือด้านการพัฒนาเมืองรอบด้านโดยเป้าหมายสูงสุดคือให้คุณภาพชีวิตคนดี

ดังนั้นเรื่อง resilient city ไม่ได้จัดการแค่เรื่องภัยพิบัติ แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เรื่องการวางแผนระยะยาวว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกมิติแบบนี้ในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า และต้องเริ่มลงทุนและพัฒนาเมืองไปทางที่วางไว้ตอนนี้เลย ไม่สามารถรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ เพราะเราก็จะวิ่งตามปัญหาต่างๆ ไปเรื่อยๆ แก้ไม่เคยทัน ปัญหาใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ เราต้องวางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ไปข้างหน้าว่าเมืองจะพบกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านอะไรบ้าง เชื่อมโยงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและอาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมืองควรพัฒนาไปแต่ละช่วงอย่างไร ควรมีการปรับแนวคิดการลงทุนอย่างไรเชิงโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตคนในปัจจุบันเลย เพื่อที่จะลดผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายจากความเปลี่ยนแปลงทุกมิติในอนาคต คนต้องปรับตัว เมืองต้องปรับตัว

ส่วนหลักการของ resilient city คือการบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นหัวใจของการพัฒนาเมือง (riskmanagement) ขณะเดียวกันการพัฒนาเมืองก็ต้องดูด้วยว่ามันเกิดความเท่าเทียมหรือเปล่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันคือการบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำแต่ยังเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตคนทั้งหมด ดังนั้นต้องลดความเหลื่อมล้ำและการบริหารจัดการภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ซึ่งต้องมาคู่กัน  ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมืองสำคัญมากเพราะเราต้องการฉายภาพออกไป สมมติกรุงเทพฯ มอง 10 ปีไม่พอ 20 ปี ถ้าน้ำไม่พอ ความร้อนเป็นอย่างนี้ น้ำทะเลหนุนอีก ค่าใช้จ่ายตอนนี้ ถ้าในอนาคตค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ทางแก้คือต้องใช้วิสัยทัศน์มองเมืองว่าจะปรับให้ทุกอย่างแพงขึ้นเรื่อยๆ เหรอ ทำไมไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยคุณภาพชีวิตให้เราจ่ายไหว

อีกสิ่งสำคัญของ resilient city คือเมืองที่ดีในภาวะปกติ ที่ไม่ใช่แค่ดีในภาวะวิกฤตเท่านั้น ถ้าเมืองมีการลงทุนต่างๆ  ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตคน ที่ตอบโจทย์คนและลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองมันจะดีโดยที่ไม่ต้องรอมีภัย

 

today.line.me

 

City Cracker: แปลว่าการออกแบบเมืองให้ resilient เพื่อรับมือปัญหาในระยะยาวมันคุ้มค่ากว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ?

ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ : ใช่ ทำไมเราถึงต้องลงทุนในเรื่อง resilient city เพราะว่าต่อให้น้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้ง หรือไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง เมืองจะมีการลงทุนที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของคนและเชื่อมโยงการแก้ปัญหาเมืองได้อย่างเป็นระบบ เวลาอาจารย์มองจะไม่มองการจัดการภัยพิบัติที่เป็นสถานการณ์ๆ ไป แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของการพัฒนาเมืองที่เอาทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์เป็นตัวตั้ง เราจะเห็นการลงทุนหรือการพัฒนาเมืองไม่ใช่มิติเดิมๆ ต่างประเทศจึงให้ความสำคัญเพราะเขารู้ว่าเมืองจะแพงขึ้นไปเรื่อย

ถ้าไม่มอง resilient สุดท้ายโครงสร้างพื้นฐานที่เขาลงทุนอาจจะจะขาดทุนมหาศาล เช่น รถไฟฟ้าแพงไปคนอาจจะไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นแยกกันไม่ได้ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ เด็กรุ่นใหม่ gen z gen y ที่จะอยู่ในเมืองในอนาคต จะมีลักษณะต่างกับ gen x พฤติกรรมการบริโภคทางเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เช่น การเลือกซื้อบ้านหรือการลงทุนอาจจะเปลี่ยนไป อยากไปเที่ยวรอบโลกมากกว่าลงทุนซื้อบ้านใหญ่ๆ เลยจำเป็นที่ผู้นำเมืองจะต้องมีวิสัยทัศน์ บริหารจัดการงบประมาณในการพัฒนาเมือง ว่าอยากให้มันเป็นแบบไหน เชื่อมโยงปัญหาต่างๆ ให้ได้ และหาทางแก้ที่ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาให้ได้มากที่สุด

 

bkkparttime.com

 

City Cracker: ดังนั้น การทำเมืองให้ดีกับพลเมืองเป็นเรื่องวิสัยทัศน์และการลงมือเปลี่ยนแปลงของผู้นำ หรือเป็นเรื่องของใคร

ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์: การบริหารเมืองไม่ได้อยู่แค่หน่วยงานรัฐ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย และเด็กรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่าการบริหารจัดการสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ อาจารย์ว่ามันแก้ได้แต่อาจจะแก้ได้บางจุด เช่นการบริหารจัดการความเสี่ยงของกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องดูน้ำทั้งหมดแบบองค์รวม ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เราจะแยกคิดเป็นส่วนๆ ไม่ได้ ซึ่งการบริหารจัดการปัจจุบันยังแยกส่วนอยู่ ตอนนี้เราเห็นการจัดการภาพใหญ่ที่ดีขึ้น ภาพใหญ่ระดับลุ่มน้ำ มีการปรับปรุงแม่น้ำสายหลักให้รับน้ำฝนและน้ำหลากมากขึ้น เรามีการทำแก้มลิงเพื่อรับน้ำหลากในพื้นที่ก่อนที่จะเข้าเมือง แต่เวลาคนศึกษาเรื่องเมืองการจัดการน้ำต้องบูรณาการ (integrate) มีเรื่องน้ำทะเลหนุนด้วย มีน้ำฝนตกในพื้นที่ด้วย เพื่อที่จะให้เมืองปลอดภัย และเรื่องปริมาณน้ำหลากที่จะมีจำนวนมหาศาลที่ต้องไหลผ่านเมืองอยู่ดี

อาจารย์ว่าตรงนี้เรายังไม่มีวิธีการจัดการอย่างบูรณาการ ขณะเดียวกันเป็นระดับท้องถิ่นต้องมีการจัดการน้ำในปริมาณและปัญหาระดับเมืองด้วย คือระดับลุ่มน้ำดีขึ้นจริงแต่ว่าเมืองต้องจัดการน้ำที่ผ่านเมืองอยู่ดีซึ่งทั้งหมดมี 2 ประเด็น คือต้องดูน้ำให้รอบด้าน และต้องมีมาตรการระดับท้องถิ่นและระดับเมืองให้ชัดเจน

 

adaybulletin.com

City Cracker: หลังจากที่เราเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 ที่ด้านหนึ่งเป็นผลจาก climate change เมืองมีการปรับตัวหรือรับมือกับปัญหานี้ยังไงบ้าง

ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์: หากมองในมุมผังเมืองหลังจากน้ำท่วมปี 54 ตอนนั้นเป็นช่วงกำลังร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครปรับปรุงครั้งที่ 3 อยู่ ยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นตัวผังเมืองกรุงเทพฯ มีการปรับปรุงมาตรการที่มาช่วยเรื่องลดน้ำท่วมได้ในระดับพื้นที่ของโครงการ โดยออกมาตรการเชิงจูงใจ (incentive nature) จูงใจให้เอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินพัฒนาที่ดินในเชิงลดน้ำท่วม เป็นมาตรการในด้าน Green open space กับ Rainwater storage ว่าถ้าเอกชนพัฒนาที่ดินในผืนของตัวเองให้เป็นพื้นที่โล่งเป็นพื้นที่สีเขียว แล้วสามารถกักเก็บน้ำฝนได้ แล้วใช้เทคนิค BAF (Biotope Area Factor) เพื่อให้น้ำซึมผ่านได้ คือทางผังเมืองจะให้ incentive nature ผ่านโบนัส

สมมติว่าที่ดินสร้างได้ 4 ชั้น แต่ทำเป็น Green open space และ Rainwater Storage ในปริมาณที่เหมาะสม จะได้พื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% อันนี้ถ้าถามว่าได้มีการปรับตัวไหม ก็คือมีมาตรการแบบนี้ในระดับโครงการ แต่อาจารย์ก็คิดว่ามีคำถามอยู่ดีว่ามาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำท่วมในบริเวณรอบๆ มากน้อยแค่ไหน และมีประสิทธิภาพในการรับมือกับน้ำท่วมในอนาคตหรือเปล่า เพราะว่าผังเมืองเป็นมาตรการที่ต้องคิดถึงอนาคตด้วย ดังนั้นตรงนี้น่าจะเป็นช่องว่างอยู่ ซึ่งน่าจะมีการศึกษาต่อไป แต่ถามว่ามีการปรับตัวไหมอันนี้เริ่มแล้ว แต่ประสิทธิภาพการรับมือน้ำท่วมในอนาคตเป็นอย่างไร ยังไม่รู้

Rainwater Storage เครดิต businessinsider.com

 

City Cracker: สุดท้ายเราจะวางแผนและออกแบบเมืองที่ดีกับพลเมืองได้อย่างไรบ้าง

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์: ถ้าให้เสนออาจารย์เสนอ กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงรอบด้านและต้องทำแอคชั่น  2 ระดับ เป็นระบบควบคู่กันไป แยกขาดกันไม่ได้ ระดับที่ 1 คือกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่แยกไม่ค่อยออกทั้งในเชิงกายภาพและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ต้องจัดการด้วยกัน ต้องมีมาตรการเชิงพื้นที่และผังเมืองที่ชัดขึ้น หรือที่เรียกว่ามาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง

ทั่วโลกหันมาใช้มาตรการเชิงนี้ค่อนข้างมากเพราะรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดีกว่ามาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น คันกั้นน้ำ ที่ออกแบบมาในบริบทเฉพาะ แต่สามารถใช้ควบคู่กับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างได้ มาตรการเชิงพื้นที่และผังเมือง ต้องมีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงแต่ละโซนเรื่อง climate change รวมถึงการขยายเมืองหรือการตั้งถิ่นฐานในอนาคตด้วย และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันด้วยอะไร นำไปสู่การออกมาตรการในการอยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ ในอนาคต  เมื่อมีมาตรการผังเมือง มาตรการเชิงพื้นที่ มาตรการการเงินจากภาครัฐและเอกชนจะตามมาทันที ซึ่งมาตรการเชิงพื้นที่จะยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตกว่ามาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง

ระดับที่ 2 คือระดับชุมชนกับย่านต้องทำคู่ไปกับระดับภูมิภาคเมืองข้างต้นอย่างเป็นระบบ เราสามารถใช้มาตรการเชิงพื้นที่และผังเมืองได้เช่นกัน ควรมีการลงทุนทางด้านพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในระดับย่าน และต้องเตรียมไว้ก่อนภาวะวิกฤติ เช่นอาจเตรียมพื้นที่สำหรับอพยพเมื่อเกิดน้ำท่วม และแบ่งโซนที่สามารถให้น้ำท่วมได้ ต้องทำคู่กับภาพใหญ่ระดับภูมิภาคเมือง ทำเดี่ยวเป็นรายโครงการไม่ได้ เพราะจะไม่ทราบถึงประสิทธิภาพของมาตรการหรือเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้

และสิ่งสำคัญที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมากคือ มาตรการทางสังคม การเตรียมพร้อมคนจะทำระดับย่านควรต้องเริ่มทันที ถ้าคนเอาตัวรอดได้ เข้าใจสภาพแวดล้อมเมืองและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง เรื่องการยอมรับ การเตรียมคนในพื้นที่ ต่างประเทศถึงให้ผู้นำมีวิสัยทัศน์ สรุปเรื่องที่ซับซ้อนต้องแก้หลายมิติให้เป็นไปในทิศทางเดียว เช่น เมืองบริสตอล เป็นเมืองท่องเที่ยวที่จัดการตัวเองได้ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำแล้ง เขาทำทุกอย่างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจดี  มุ่งเรื่องการท่องเที่ยวและเปลี่ยนแปลงพัฒนา เมืองนิวยอร์กก็ทำวิสัยทัศน์มุ่งไปทิศทางเดียว ซึ่งตอนนี้ประเทศเรายังคิดแก้ปัญหาแยกส่วนกันอยู่ทั้งเรื่องปัญหาของเมืองเองและเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่จะทำให้การบริหารจัดการเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น

Share :