เราไม่ได้เพียงเจอแค่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่ในขณะนี้เรากำลังเผชิญวิกฤตของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ควบคู่กันไป จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ระบุว่า ถ้าเราจะยับยั้งไม่ให้อูณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 ทุกประเทศทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7.6 % ต่อปีนับจากนี้ (2020) ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หากทำไม่ได้ตามนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ตลอดจนความอยู่รอดของมนุษยชาติ เพราะอูณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อระดับน้ำทะเล คลื่นความร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความสามารถในการผลิตอาหาร รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่จะเปราะบางมากขึ้น
เพื่อรับมือกับความรุนแรงอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว เราจึงจำเป็นที่จะต้องแก้วิกฤตทั้งสองในคราวเดียวกัน เพื่อยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟูระบบนิเวศ พร้อมๆ กับสร้างงานรองรับผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต (ตามรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟ (UNICEF) พบว่า โควิด-19 จะผลักให้คนว่างงานราว 6 ล้านคนในกลุ่มวัยทำงานและอีก 1.3 ล้านคนของกลุ่มนักศึกษาจบใหม่) ซึ่ง Green Job หรืองานสีเขียว งานที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงโลกที่จะช่วยยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกันยังสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มดำเนินการอยู่ในขณะนี้
Green Job ธุรกิจสีเขียวกับการกอบกู้โลก
คำว่า Green Job จากการให้คำจำกัดความของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nation Environment Program (UNEP) ได้กล่าวถึงลักษณะงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การวิจัย การจัดการ และบริการที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาและฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากร การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดขยะและการปนเปื้อน การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ยังระบุอีกว่า โลกเราต้องการงานลักษณะดังกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสในอีก10 ปี ราว 18 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก และหนึ่งใน green job ที่ลงทุนน้อยแต่สร้างอิมแพ็คได้มาก ทั้งในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟูระบบนิเวศในระยะยาวก็คือ ‘การปลูกต้นไม้’ เพราะทุกๆ การเติบโตของต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ ซึ่งเป็นก๊าซที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อนขึ้น
‘การปลูกต้นไม้’ และ ‘ธุรกิจปลูกต้นไม้’ สำคัญกับโลก
1. ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าเพียง 3 พันล้านเฮกตาร์ เพียงครึ่งหนึ่งของที่โลกเคยมี โลกเราจึงต้องการพื้นที่ราว 1.7 พันล้านเฮกตาร์ คิดเป็น 11% ของผืนดินทั่วโลก ( ขนาดเท่ากับพื้นที่ประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีนรวมกัน) ในการปลูกต้นไม้ ( โดยหักพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เมืองออกไปแล้ว) เพราะหากพื้นที่ทั้งหมดนี้ปกคลุมด้วยต้นไม้จะสามารถดูดซับในปริมาณราว 2/3 ของก๊าซเรือนกระจกที่กิจกรรมของมนุษย์ได้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
2. การปลูกต้นไม้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ลงทุนน้อย ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีอะไรที่สลับซับซ้อน (ที่นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มกำลังค้นหาอยู่ขณะนี้) สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอนโยบายใด ที่สำคัญสามารถสร้างผลกระทบในพื้นที่ขนาดใหญ่ของระบบนิเวศที่เครื่องมืออื่นทำไม่ได้
3. ด้วยการกระทำของมนุษย์ที่ได้ทำลายและสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นบนโลกจนธรรมชาติเกิดการเสียสมดุล การปลูกต้นไม้จึงเป็นแนวทางฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาราวๆ 50-100 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ปลูกต้นไม้สู่ป่าที่สมบูรณ์ เพื่อให้พื้นที่ป่าอันเกิดจากการปลูกต้นไม้นี้กลายเป็นเครื่องมือกอบกู้โลก และดูดซับมลพิษได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
4. นอกจากนี้ เพื่อให้ต้นไม้กอบกู้โลกมีมีประสิทธิภาพสูง จึงควรพิจารณาถึงการปลูกพืชพื้นถิ่นแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดสภาพป่าที่จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ เป็นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน และป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทั้งนี้ต้องไม่ไปรบกวนพื้นที่เกษตรกรรมในการผลิตอาหาร และพื้นที่ธรรมชาตือื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเช่นกัน
5. ทุกๆ การลงทุน 1 ล้านเหรียญในการปลูกต้นไม้ จะสร้างห่วงโซ่งานให้เกิดขึ้นราว 39.7 ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การเพาะเมล็ด ทำโรงเรือน ขนส่ง ปลูก ดูแล ตัดแต่ง จนถึงดับไฟป่า ซึ่งสามารถสร้างการกระจายรายได้ได้มาก
8 step ต่อการพัฒนาที่ดินว่าง สู่การเป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้าง green job ให้สังคม
1. Incentive Policy ควรมีมาตรการจูงใจต่อการให้ที่ว่างในเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้เพื่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นนอกจากพื้นที่เกษตร แต่รวมถึงพื้นทีสวนป่า พื้นที่สวนสาธารณะ เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นตอบโจทย์กับแต่ละชุมชนในพื้นที่ได้มากที่สุด โดยลักษณะการเข้าร่วมโครงการสามารถมีทั้งระยะสั้น อย่างน้อย 10 ปี และระยะยาวเพื่อสร้างพื้นที่ป่าถาวร
2. ใช้ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ว่างศักยภาพในเมือง ซึ่งเป็นได้ทั้งที่ดินของรัฐและเอกช
3. การหาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพืชประจำถิ่นเพื่อง่ายต่อการเพาะและดูแลรักษา และไม่สร้างสิ่งแปลกปลอมต่อระบบนิเวศ
4. การสร้างระบบเนอสเซอรี่ในพื้นที่ว่างเหล่านั้น หรือในแต่ละครัวเรือนที่มีที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่อนุบาลต้นไม้
5. การอบรมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่เป็นผู้ประกอบการด้านการปลูกในอนาคต เพื่อให้เป็นแชมป์เปียนที่เข้าใจกระบวนการ ตั้งแต่เพาะเมล็ด จัดการ เพาะปลูก ไปจนถึงตัดแต่ง
6. ขั้นตอนการจ้างงานเมื่อผ่านการอบรมแล้ว ในการเป็นบุคลากรที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองร่วมกับภาครัฐในพื้นที่เป้าหมาย สามารถฝึกสอนสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ในพื้นที่ที่พร้อม เพื่อให้เกิดการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปลูกและดูแลต้นไม้ ให้กับพื้นที่ว่างเหล่านั้นในระยะยาว
7. ทั้งนี้ควรมีระบบฐานข้อมูลติดตามประเมินผล เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ป่าหรือพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น ได้มาตรฐานต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างเสริมระบบนิเวศ รวมถึงสร้างงานในชุมชนด้วย
8. ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในระยะเริ่มต้น จนกว่าจะเกิดอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ในตลาดในระยะถัดไป
เทรนด์การปลูกต้นทั่วโลก กับการสร้างอาชีพและโลกที่ดี
ในช่วงเวลา 10 ปีสุดท้ายก่อนที่โลกจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนคืน ทำให้หลายๆ เมืองทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกป่า กลายเป็นโครงการ-แคมเปญต่างๆ ขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้โลกกลับแข็งแรง และลดภาวะโลกร้อนได้ ปัจจุบันมีทั้งโครงการ Bonn Challenge ที่ได้ 64 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายว่าจะร่วมกันปลูกป่าให้ได้ 350 ล้านเฮกตาร์ ให้ได้ภายในปี 2030 ทั้งนี้องค์กรที่ประสานงานกลางดังกล่าวได้สร้างตัวชี้วัดเพื่อให้แน่ใจว่า ป่าที่ปลูกจะเป็นไปตามมาตรฐานของการดูดซับก๊าซเรือนกระจก สร้างเสริมระบบนิเวศ สร้างงาน และมีความยั่งยืนให้กับโลกต่อไป
ด้านมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็ได้สร้างนโยบายจ้างงานเพื่อปลูกต้นไม้ 6 พันล้านต้นในพื้นที่รัฐราว 20 ล้านเอเคอร์ทั้งในชนบทและในเมือง เพื่อสร้างงานให้กับคนที่ว่างงานจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งยังมีโครงการ The Green of Detroit ที่ มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนผู้มีรายได้น้อย ที่มักจะมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าในย่านคนรวย อันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่า โครงการนี้จึงเข้ามาเป็นส่วนในการแก้ไข เกิดการการอบรมและจ้างงานชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ที่ไม่เพียงแค่ปลูก ตัดแต่ง ดูแลต้นไม้ในย่าน แต่คนในชุมชนจะได้ความรู้และพร้อมเป็นผู้ประกอบการทางด้านการเพาะ และดูแลต้นไม้ที่นับวันจะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อีกด้วย
กลับมาที่บ้านเรา ไทยเองได้มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศราว 129 ล้านไร่ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งพื้นที่เมืองคือหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพของการปลูกป่านี้ และจากการประกาศมาตรการภาษีที่ดิน จะเห็นได้ว่า มีการเกิดความตื่นตัวต่อการพัฒนาพื้นที่ว่างมาเป็นแปลงเกษตรเพื่อลดหย่อนภาษี ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและชานเมือง ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังมีที่ดินร้างรอการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นประโยชน์ของ และเหมาะกับการนำมาสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับกาซเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นการสร้าง green job ให้กับชุมชนในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการสร้างงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้การสร้างพื้นที่สีเขียวนั้นยั่งยืน
ทั้งนี้ ความสามารถของพื้นที่ว่าง นอกจากการเป็นแหล่งเพาะและปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองแล้ว ยังสามารถผสานกิจกรรมเป็นสวนระดับชุมชน หรือเป็น urban farm ปลูกไม้ผลกินได้ เก็บผลผลิตจำหน่าย ตลอดจนคำนึงถึงการหมุนเวียนทรัพยากรในพื้นที่ชุมชน เช่นขยะเปียกเพื่อการทำปุ๋ยลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่มเติมได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นการสร้างงานที่ใช้วิกฤตของสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาส ที่ไม่ใช่เพียงเราได้ประโยชน์ แต่ยังรวมถึงโลกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Supatsorn Boontumma
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker