CITY CRACKER

Place Attachment ป่าและพื้นที่สีเขียวกับการเชื่อมโยงตัวตนของคนเมือง

เมื่อวันที่ 24 (พฤษภาคม)ที่ผ่านมา เป็นวันที่เรียกว่า European Day of Parks ในวันนี้ประเทศในเครือสหภาพยุโรปร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความสำคัญ และนำไปสู่การดูแลป้กป้องพื้นที่ทางธรรมชาติต่อไป เนื่องในวันดังกล่าวทางวารสาร Oxford Journal ก็พูดถึงงานวิจัยที่ว่าด้วยพื้นที่ป่าในเมือง ในฐานะพื้นที่สัมพันธ์กับเรา นอกจากในมิติทางสุขภาพแล้ว ยังสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า Place Attachment คือความรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงอีกด้วย

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเราเริ่มคลายล็อกดาวน์ และห้างสรรพสินค้าก็เป็นหนึ่งในพื้นที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง การเปิดห้างถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ อย่างเราๆ เฝ้ารอ มีปรากฏการณ์คนต่อคิวจำนวนมหาศาล เกิดความขัดข้องงงงวยกับการแสกนเข้าออก ในด้านหนึ่งนั้น ความโหยหาพื้นที่ห้าง ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงการขาดพื้นที่รูปแบบอื่นๆ ของกรุงเทพพในฐานะเมืองใหญ่ นอกจากห้างแล้ว เราก็ไม่มีที่ไหนให้ไปมากนัก

ยิ่งถ้าเรามองเมืองในมิติทางสังคมศาสตร์- จริงๆ แค่จากความรู้สึกที่เราพอสัมผัสได้ เมืองใหญ่เป็นดินแดนแห่งคนแปลกหน้า เราถูกรายล้อมไปด้วยวัสดุที่แห้งแล้ง ชืดชาและไร้ชีวิต ทั้งคอนกรีต กระจก หรือพื้นลาดยางมะตอย เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่แล้งทางความรู้สึก เป็นที่ๆ หลายคนมาใช้ชีวิตอยู่ ไม่มีการหยั่งราก ลงความรู้สึกลงไป ฟังดูแล้วเศร้าเนอะ ตรงนี้เองมั้งคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเอาความรู้สึกไปผูกไว้กับห้าง อย่างน้อยก็มีที่เย็นๆ ยิ่งระยะหลังหลายห้างก็เริ่มมีพื้นที่เขียวๆ มีต้นไม้ใบหญ้า มีชีวิตของการจับจ่ายพอให้ชื่นใจ

ด้วยความที่เมืองมันแล้ง นักวิชาการ นักพัฒนา นักผังเมืองและอีกหลายผู้เชี่ยวชาญที่ต่างเป็นคนเมือง อยากเข้าใจและอยากทำให้เมืองมันดีอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็พยายามหาแนวทางต่างๆ ดังนั้นเราก็เลยกลับมาที่คำตอบง่ายๆ เหมือนเดิม ถ้าเมืองมันแห้ง มันแล้ง มันร้อน มันไร้ชีวิต และมันไม่เป็นธรรมชาติ (unnatural) เราก็เอาธรรมชาติกลับมาสู่เมืองและช่วยยียวยาผู้คนและเมืองไปซะเลยสิ แน่นอนว่าเราพอจะเข้าใจพลังของสวนและพื้นที่สีเขียวที่มีต่อสุขภาพกายและใจ ทำหน้าที่ฟอกอากาศ ลดความเครียดต่างๆ แต่นักวิชาการกลับพบว่า เจ้าพื้นที่เขียวๆ ต้นไม้ สวน หรือป่าในเมืองนั้นกลับส่งผลกับเราอย่างลึกซึ้ง ไปจนถึงระดับอัตลักษณ์และความทรงจำของเรา

 

Place Attachment ความทรงจำและตัวตนของเราและสถานที่

จริงๆ เป็นเรื่องที่เรียบง่ายและใกล้ตัวพอสมควร ถ้าเราลองนึกถึงความทรงจำบางอย่าง โดยเฉพาะความทรงจำของสถานที่หนึ่งๆ ความทรงจำของเรามักมีความออแกนิก ที่จำความรู้สึกบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเช่น ความนุ่มของผืนหญ้า สายลมที่พัดต้องใบหน้า กลิ่นเขียวๆ ของใบไม้ แสงแดดแห้งๆ ที่ต้องผิว เสียงของความรู้สึกอันเฉพาะเจาะจงของสายฝน ธรรมชาติมักเป็นพื้นที่ที่เราหยั่งรากลงเสมอไม่ต่างกับพืชพรรณอื่นๆ

แนวคิดเรื่องความทรงจำ ตัวตน และความผูกพันกับสถานที่สิ่งที่ใกล้ตัว เวรี่สำคัญ แต่ในทางกลับกันก็เป็นนามธรรม ในทางวิชาการก็เลยเกิดแนวคิดเรื่อง place attachment มาตั้งแต่ราวต้นทศวรรษ 1980 เรื่อยมา ในตอนนั้นก็มีข้อเสนอที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับตัวสถานที่ต่างๆ ว่าคนทั้งหลายนั้นมีการให้ค่า ให้ความหมายพื้นที่นั้นๆ อย่างไร โดยมีงานศึกษาที่บอกว่าอัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของพื้นที่หนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเดียว คือไม่ได้แค่ไปให้ค่า ไปใช้งานประเมินค่าพื้นนั้นๆ แค่ฝ่ายเดียว แต่พื้นที่ หรือสถานที่ใดใดก็ตามกลับกลับมาส่งผลตัวตนของเราด้วย เช่นเรามีมหาวิทยาลัยใกล้ๆ มีสวน เช่นสวนรถไฟ สวนจตุจักรที่เราไปเดินเล่นบ่อยๆ เราก็มีความทรงจำ มีการให้ค่าตัวสถานที่นั้นๆ และในทางกลับกันสถานที่เหล่านั้นก็กลับมาส่งผลกับความคิด กับตัวตน กับทัศนคติบางอย่างของเราด้วยอย่างซับซ้อน

นอกจากความสัมพันธ์ที่ดูเป็นส่วนตัวของเรา ของความทรงจำ ของตัวตนทั้งของเราและของสถานที่แล้ว เจ้าความผูกพันเชื่อมโยงนี้ยังส่งผลกับความคิดร่วมของสังคมด้วย ไปกำหนดว่าสถานที่แบบนี้นะ ควรจะเป็นอย่างไร และเราเองเมื่อเข้าไปใช้พื้นที่นั้นๆ ควรต้องทำตัวอย่างไร ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้ก็เลยยิ่งส่งผลกับตัวตนของเรามากขึ้นไปอีก คือเป็นที่ๆ เราใช้เพื่อทบทวนและยืนยันตัวตนของเรา- ฟังดูเกินเรื่องเนอะ แต่ถ้าเราลองทบทวนจริงๆ ตัวตนของเรานั้นลึกๆ แล้ว เราก็เชื่อมโยงตัวเองกับพื้นที่ต่างๆ อยู่เสมอ เราไปสวนเพื่อย้ำถึงสุขภาพกายและใจของเรา ไปห้างก็เพื่อจับจ่ายข้าวของเครื่องแต่งตัว ก็เป็นการยืนยันตัวเราผ่านการจับจ่าย การบริโภค และการใช้เวลาว่างนั่นเอง

 

แนวคิดเรื่องความผูกพันธ์กับสวนและป่าในเมือง

เป็นเรื่องน่าดีใจและน่าอิจฉา ที่ในหลายประเทศนั้นค่อนข้างตื่นตัวกับงานวิชาการ และค่อนข้างทลายเส้นแบ่งทางวิชาการของศาสตร์แขนงต่างๆ แนวคิดเรื่องความผูกพันธ์กับสถานที่นี้ก็ดูจะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งนอกจากจะถูกคิดทบทวน ในระดับที่เอาความรู้สึกนึกคิด เอาแนวคิดเรื่องตัวตน อัตลักษณ์ที่จับต้องยาก พยายามทำให้กลายเป็นกรอบความคิดเพื่อนำไปศึกษาต่อ

กลายเป็นว่าการศึกษาเรื่องความผูกพันกับสถานที่นี้ก็ถูกนำมาใช้กับพวกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สวนต่างๆ หรือพื้นที่ป่าในเมือง (urban forest) ส่วนหนึ่งคือเป็นการยืนยันแหละว่า เฮ้ยมนุษย์เรานะมันต้องการบรรยากาศ ต้องการป่า ต้องการต้นไม้ในเมืองจริงๆ นะ คือกำลังพยายามบอกว่าเนี่ย สวนเอย ป่าในเมืองเอยมันเป็นองค์ประกอบสำคัญจริงๆ คน ปัจเจกชนต้องการ ชุมชนก็ต้องการ มันเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติไง

ในระดับของงานศึกษาก็มีงานของทางวนศาสตร์ที่ออสเตรีย ได้ลงไปใช้แนวคิดทางสังคมศาสตร์เพื่อศึกษาว่าไอ้เจ้าพื้นที่ป่าในเมือง- urban forest ที่ออสเตรียนั้นส่งผลกับผู้คน กับความรู้สึกเชื่อมโยงกับสถานที่อย่างไร คำตอบก็ตามคาดคือพบว่าคนนั้นค่อนข้างมีความผูกพันธ์กับพื้นที่ป่าในเมือง ชาวออสเตรียใช้เวลาไปกับการเดินป่าและเดินเล่น และให้ความเห็นไว้ในงานวิจัยว่า กิจกรรมที่ทำในพื้นที่ป่าเหล่านี้นั้นสำคัญและมีความหมายมากกว่าเวลาที่ไปทำที่อื่น

ในระดับปฏิบัตินั้น ด้วยความที่เมื่อเข้าใจมิติที่ลึกซึ้งของต้นไม้ใบหญ้าที่มีต่อเราแล้ว สุดท้ายภาครัฐเองก็มีการนำเอาความคิดเช่นเรื่อง place attachment นี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบาย ออกมากระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางทั้งเพื่อทำความเข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานออกแบบต่อไป เช่นออสเตรเลียก็มีรายงานในปี 2008 ที่ตัวรายงานทำความเข้าใจมโนทัศน์เรื่องความสัมพันธ์กับสถานที่ และเป็นแนวทางในการใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อพัฒนาสวนและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในเมืองใหญ่ต่อไป

 

มนุษย์ เมืองใหญ่ และธรรมชาติในตัวเองก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อน และในความสัมพันธ์ของทั้งสามก็คงยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปใหญ่ ความเข้าใจและการศึกษาองค์ประกอบของเมือง ของผู้คนก็เลยดูจะเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนหนึ่งคือทำให้เราค่อยๆ หยั่งรากลงสู่เมืองที่เราอยู่ได้ ซึ่งกิจกรรมที่เป็นนามธรรมนี้ก็ย่อมต้องอาศัยพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นรูปธรรมด้วย

 

สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องเดิมซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศทำ คือใช้การออกแบบและพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่ไม่ได้หยุดแค่คุณภาพชีวิต แต่รวมเข้าไปถึงตัวตน ชีวิต จิตใจ ความรู้สึกและความทรงจำของเราด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

academic.oup.com

sustain.pata.org

researchgate.net

 

Illustration by Montree Sommut
Share :