เพราะว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน พื้นที่เปิดกว้าง พื้นที่โล่งขนาดใหญ่ไปจนถึงพื้นที่เล็กจิ๋วที่แอบซ่อนในเมืองก็สามารถเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเมือง ดังนั้นการหยิบเอาพื้นที่สาธารณะสีเขียว มาทำหน้าที่เป็นมากกว่าพื้นที่พักผ่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนหรือออกแบบบางฟังก์ชั่นหรือลักษณะของพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในเมือง ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ได้
กิจกรรมหนึ่งที่ประเทศเยอรมนีมีและเป็นที่นิยมมาก คือโรงเรียนป่า หรือ forest school ที่พาเด็กเล็กๆ วัย pre-school เข้าไปวิ่งเล่นและเรียนรู้ในป่า รวมถึงพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ในเมือง เช่น สวนขนาดเล็ก เพื่อสร้างการเรียนรู้ทั้งในเรื่องของกล้ามเนื้อ ร่างกาย ตลอดจนการรับรู้ และเข้าใจธรรมชาติ ผ่านความสนุกที่ได้ค้นหาพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเมืองเองก็อาจปรับการเรียนรู้รูปแบบนี้ให้มาอยู่ในสวนขนาดเล็ก-ใหญ่ ไปจนถึงสวนใจกลางเมือง โดยหยิบเอาเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาเป็นสวนเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะสวนเรียนรู้ธรรมชาติและความหลากหลาย สวนเพื่อเรียนรู้การเข้าสังคมและทำกิจกรรมกลุ่ม ตลอดจนการเล่าเรื่องราวของเมืองผ่านสวน
เมื่อสวนไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สีเขียว แต่ยังพาเราไปเรียนรู้ได้อีกหลากหลายวิชา City Cracker ยกตัวอย่าง 5 สวน 5 ต้นแบบทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จาก 5 ประเทศรอบโลก ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นจากงานออกแบบที่เอื้อให้เป็นวิชาและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่การทำอาหาร ประวัติศาสตร์ของพื้นที่และชุมชน ไปจนถึงทักษะการเข้าสังคมและใช้ชีวิต
สวน Ai Fay Park: วิชาความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติในเมือง
หนึ่งในการเรียนรู้หรือวิชาที่เราจะได้แน่ๆ คือ biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพ คือในหลายสวนทั้งเล็กและใหญ่ทั่วโลกเองก็หยิบยืมแนวความคิดนี้ไปเป็นความคิดหลักในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองมากขึ้น พร้อมทั้งยังเรียนรู้การอยู่ด้วยกันระหว่างคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ง่ายมากขึ้น
สวน AI Fay Park คือตัวอย่างจากประเทศดูไบเป็นสวนขนาดใหญ่ที่ยกเอาแนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองมาเป็นหลักในการออกแบบพื้นที่สวน ภายใต้คอนเซปต์ water-consuming and soulless ‘Las Vegas Landscape’ โดยสวนก็ได้มีการเพิ่มพื้นที่สำหรับพรรณไม้และดอกไม้ ที่เหมาะสมกับบริบทและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กน้อยได้ พร้อมกันนั้นยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้คนใช้งานและทำกิจกรรมได้อยู่โดยตัวสวนรายล้อมไปด้วยพรรณไม้ต่างชนิด และแหล่งน้ำขนานไปกับพื้นที่ทำกิจกรรมของผู้คนที่สร้างเส้นทางการเดินทางและใช้งานของสวนให้สนุกมากขึ้น ตัวสวนนี้นอกจากจะเพิ่มความหลากหลาย และเป็นแหล่งเรียนรู้พรรณไม้ สัตว์ และแมลงให้แก่ประชาชนแล้วยังเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองของ middle eastern city คือการเพิ่มพื้นที่สีเชียวที่เข้าถึงได้ทุกคนมากกว่าการสร้างอาคารไอคอนนิกสูงขนาดใหญ่
สวน Kochanowski park: วิชาจังหวะ ดนตรี และเสียงเพลง
อีกหนึ่งวิชาที่เราเรียนรู้ได้จากพื้นที่ภายนอกคือวิชาดนตรี การปรับเปลี่ยนจากพื้นที่สนามหญ้าเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสียงเพลง เสียงดนตรี นอกจากจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ความเพลิดเพลิน และความสนุกแล้ว ยังสร้างสรรค์ให้พื้นที่หรือย่านนั้นๆ น่าสนใจและมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับสวน Jan Kochanowki park จากเมืองเก่าของโปแลนด์ ที่เพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปกระจายตัวอยู่ตามสวน เพื่อเชิญชวนให้เด็กๆ และคนทั่วไปเข้ามากดเครื่องดนตรีเล่นกัน
สวนกลางเมือง Jan Kochanowki park จากโปแลนด์เป็นอีกหนึ่งสวนที่เพิ่มเสียงดนตรีเข้าไปให้สวนที่เคยเงียบเหงาเต็มไปด้วยเสียงเพลงจากเครื่องดนตรีที่เด็กๆ นำมาเล่นกัน โดยบริบทของสวนตั้งอยู่บริเวณเมืองได้รับการขนานนามว่าเป็น music district คือรายล้อมไปด้วย โรงเรียนดนตรีและอาคารต่างๆ พื้นที่นี้จึงเป็นหนึ่งพื้นที่กลางที่สามารถพาผู้คนจากตึกรอบด้านมาเจอกันได้ ตัวเครื่องดนตรีต่างๆ ที่จัดวางก็เปิดโอกาสให้คนเดินผ่านไปผ่านมาสามารถลองเล่น ลองสร้างสรรค์เพลงได้ตามใจตัวเองอีกด้วย
พื้นที่สวนแห่งนี้จึงไม่ได้เป็นแค่พื้นที่พักผ่อนเท่านั้นแต่ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ดนตรี และยังเหมาะกับการเป็นพื้นที่สำหรับเด็ก หรือ child-friendly outdoor space เพราะเอื้อให้เด็กๆ ได้เกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่นมากขึ้น ที่ไทยเองก็เริ่มมีกิจกรรมรูปแบบนี้เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน เช่น กิจกรรม Swing in the park ที่จัดขึ้นเมื่อนเดือนมิถุนายน บริเวณสวนลุมที่ผ่านมา ที่เปิดโอกาสและเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาฟังดนตรี และเต้นรำกันในสวนมากขึ้น
สวน The Songzhuang Micro Community Park: วิชา Social skill และ ทักษะการเข้าสังคม
การเรียนรู้ของเราไม่ได้มีแค่เชิงวิชาการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพวกทักษะการใช้ชีวิต หรือ soft skill ต่างๆ เช่น การเข้าสังคม ความเป็นผู้นำ-ผู้ตาม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้โรงเรียนอาจมีส่วนช่วยขัดเกลาได้ แต่พื้นที่ในเมืองเองก็ควรเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะเหล่านี่ด้วยเช่นกัน
พื้นที่อย่างสวนสาธารณะก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สามารถเปิดโอกาสให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้คนในเมือง ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ในแง่ของการออกแบบจึงต้องสร้างพื้นที่โล่ง หรือเส้นทางทางเดินเพื่อพาให้ผู้คนได้พบเจอและเกิดเป็นกิจกรรมรูปแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมาได้ง่าย ตัวอย่างจากสวนขนาดเล็กที่ประเทศจีน The Songzhuang Micro Community Park มีจุดปประสังค์หลักเพื่อสร้างคอมมูนิตี้และพื้นที่รวมตัวอย่างชัดเจน ตัวดีไซน์ได้คอนเซปต์หลักคือการสร้างความหลากหลายของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยใช้คำเปรียบเทียบว่า ห้องที่เปิดโล่ง โดยสวนรูปตัว L นี้แบ่งออกเป็นหลากหลายห้อง เช่น ทั้งโซนของเล่น พื้นที่ปีนป่ายสีเหลืองสด โซนพักผ่อน และลานกิจกรรม รวมถึงพื้นที่ธรรมชาติ
กิจกรรมที่เกิดขึ้นในสวนจึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งกลุ่มคนสูงอายุที่เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อการออกกำลังกายเบาๆ พ่อแม่ที่พาเด็กๆ มาเจอกัน ได้วิ่งเล่นมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ตัวพื้นที่ยังเชื่อมต่อเข้ากับลานจอดรถเดิมที่ทำให้ผู้คนและเด็กๆ ได้เข้ามาใช้งานง่ายมากขึ้นอีกด้วย จากพื้นที่เดิมของเมืองที่ขาดการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน กลายเป็นเสมือนห้องนั่งเล่นของเมืองที่สร้างพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาพบปะ สร้างกิจกรรมกันมากขึ้น ชวนผู้คนให้พูดคุยกันผ่านกิจกรรม พร้อมเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมมากขึ้นผ่านสวนแห่งนี้
สวน Grønttorvet Park: วิชา Urban farming และ edible garden
สวนใกล้บ้านก็เปิดให้เราไปเรียนทำอาหารได้ อย่างสวน Grønttorvet Park ที่โคเปนเฮเกน คือโปรเจกต์ที่ยกให้ต้นผลไม้เป็นหลักของงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในพื้นที่กว่า 23,000 ตารางเมตร กับคอนเซปต์ edible park for everyone เป็นผลงานการออกแบบบของ 1:1 Landskab
สวนแห่งนี้ได้หยิบเอาพื้นที่เดิมของลานจอดรถเก่ามาปรับใหม่ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่ทานได้ของเมืองแทน จุดเด่นของตัวพื้นที่นี้คือผู้คนที่เข้ามาสามารถเข้ามาหยิบพืชและผลไม้นำไปทานได้หมดเลยไม่ว่าจะ แอปเปิล แพร หรือพลัม และอื่นๆ อีกหลายชนิด พื้นที่นี้จึงเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อน และพื้นที่เรียนรู้พรรณไม้ต่างๆ ทั้งที่ทานได้และทานไม่ได้ นอกจากนี้ในบริเณสวนยังมีโปรแกรมอื่นๆที่สอดคล้องไปกับต้นผักผลไม้ที่เป็นตัวเอกของสวนด้วย คือ former market hall เป็นตลาดสดที่เอื้อให้ประชาชนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยสะดวกมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สวนดาดฟ้าเข้าไปก็เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้มากขึ้น ถึงแม้ว่าตามแพลนแล้วตัวโปรเจกต์นี้จะถูกสร้างเสร็จในปี 2025 แต่ด้วยงานดีไซน์และคอนเซปต์ ทำให้สวนนี้ได้รับรางวัลในฐานะสวนสีเขียวที่ส่งเสริม green urban life ต้นแบบไปแล้วเรียบร้อยในปี 2020 ที่ผ่านมา
สวน Pocket Park on Xinhua Road: วิชาเมืองเก่าและประวัติศาสตร์
นอกจากสวนจะเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนในชุมชนแล้ว เรายังสามารถปรับเปลี่ยนบางส่วนให้เหมาะกับการจัดแสดงเป็นนิทรรศการขนาดย่อมได้ เป็นพื้นที่รวบรวมผลงานหรือสินค้าจากชุมชน ตลอดจนสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องราวของเมืองได้อีกด้วย เช่น Pocket Park on Xinhua Road คือสวนขนาดย่อมจากเมืองจีนที่ปรับเปลี่ยน และเพิ่มฟังก์ชั่นการเรียนรู้ด้านประวัติศาสร์
โปรเจกต์สวน Pocket Park on Xinhua Road คือตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยบริบทของสวนขนาดแนวยาวนี้ตั้งอยู่ระหว่างช่องว่างของอาคาร 2 หลังในเมืองเซี้ยงไฮ้ ประเทศจีน รายล้อมไปด้วยอาคารเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง สวนจิ๋วแห่งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่คอมมูนิตี้ของย่านให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง และสอดแทรกเรื่องราวเดิมของพื้นที่ไว้ผ่านการจัดแสดงบอร์ดบริเวณฝั่งขวาของสวน สะท้อนเข้ากับงานดีไซน์กระจกด้านซ้าย และรายล้อมไปด้วยพรรณไม้และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งประสบการณ์การใช้งานของสวนแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังเพิ่มพื้นที่พบปะ และพื้นที่เรียนรู้เรื่องเล่าของเมืองผ่านการเดินในสวนที่สะท้อนผ่านกระจกกันไปมาอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Designed by Warunya Rujeewong
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.