CITY CRACKER

Otemachi Tower ป่าขนาดกะทัดรัดแห่งย่านโอเตมาจิ เมืองโตเกียว

ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลับมีป่าเล็กๆ ขนาด 2 ไร่ ที่คอยให้ร่มเงาแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาในย่านธุรกิจและแบ่งปันพื้นที่เมืองให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ ในย่านโอเตมาจิที่เป็นย่านธุรกิจหนังสือพิมพ์และที่อยู่อาศัยเก่าแก่ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงของญี่ปุ่นและสถานีรถไฟโตเกียว มีอาคารสำนักงานรายล้อม

 

 

พื้นที่ป่าขนาดเล็กนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาคารโอเตมาจิ ทาวเวอร์ (Otemachi Tower) โดยแนวคิดการนำป่าเข้ามานั้นเกิดจากความต้องการสร้างชีวิตชีวาให้แก่ย่านธุรกิจ แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็อยากให้พื้นที่แห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาจากต้นไม้และสัตว์อื่นๆ ลานหน้าอาคารจึงถูกออกแบบเป็นพื้นที่สีเขียวให้สอดรับกับพื้นที่สีเขียวของพระราชวังหลวงที่อยู่ใกล้เคียง พื้นที่ชั้นใต้ดินของตึกเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อการเดินเท้าชั้นใต้ดินไปยังสถานีรถไฟ ที่เป็นจุดเชื่อมของเส้นทางรถไฟถึง 5 สาย นอกจากนี้พื้นที่ลานในชั้นใต้ดินยังเป็นพื้นที่สำหรับอพยพชั่วคราวเมื่อเกิดภัยพิบัติด้วย

แม้ว่าจะมีพื้นที่ป่าด้านในแต่พื้นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจจะกระจายอยู่รอบๆ ป่า เพราะพื้นที่ด้านในได้ถูกสงวนไว้สำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เส้นทางเดินผ่านป่านั้นก็เชื่อมต่อระหว่างทางเดินหลักไปยังพลาซ่าใต้ดินของอาคารโอเตมาจิ มีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ป่าที่อยู่ในระดับดินและและพื้นที่ใต้ดิน โดยพื้นที่ชั้นใต้ดินได้เปิดช่องว่างขนาดใหญ่และใช้กระจกช่วยในการออกแบบเพื่อดึงแสงธรรมชาติมาใช้และยังเป็นการเปิดมุมมองให้สามารถมองเป็นสีเขียวของธรรมชาติได้จากพลาซ่าที่อยู่ชั้นล่างอีกด้วย

พื้นที่สีเขียวของอาคารโอเตมาจิได้พัฒนาแนวคิดมาพร้อมกับการออกแบบ เริ่มทำการศึกษาวิจัยโดยอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญมาทำการทดลองปลูกป่าก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี ในพื้นที่ทดลอง ชื่อ Forest Play ในเมืองฉิบะ ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโตเกียวนัก ทำการทดลองในพื้นที่ขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดจริง พืชพรรณที่ใช้เป็นพันธุ์ท้องถิ่นในเขตคันโต ควบคุมสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับพื้นที่ของอาคารโอเตมาจิ เช่น พื้นที่ปลูกอยู่บนฐานคอนกรีตเหมือนกับพื้นที่ที่ถูกออกแบบไว้ มีสภาพอากาศและดินที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ต้นไม้ได้ปรับตัวก่อนย้ายเข้ามายังพื้นที่จริง

จากหลักการในการออกแบบความเป็นป่า สิ่งที่น่าสนใจคือต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือต้นไม้ ดินและน้ำ โดยต้นไม้ประกอบไปด้วย ความหนาแน่น อายุพืชและความหลากหลาย เนื่องจากต้นไม้แต่ละจำพวกมีความต้องการในการอยู่อาศัยไม่เหมือนกัน เช่น ไม้ชั้นล่าง ไม้คลุมดิน ชอบแดดรำไร ดังนั้นต้นไม้ใหญ่ที่พุ่มใบไม่แน่นจนเกินไปจึงเป็นพืชชั้นบน เพื่อช่วยกรองแสงออกบางส่วน ออกแบบโดยใช้การจัดกลุ่มจำนวนต้นไม้ที่หนาแน่นต่างกัน 3 รูปแบบ กลุ่มต้นไม้ที่หนาแน่นที่สุด มีต้นไม้ถึง 7 ต้นต่อ 100 ตารางเมตร นำมาปลูกคละกัน ใช้พืชที่อายุแตกต่างกันและหลากหลาย มีทั้งพืชที่ไม่ผลัดใบและผลัดใบ ในอัตราส่วน 3 ต่อ 7 เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการแก่ตัวของต้นไม้และการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ชนิดพืชที่ใช้ในพื้นที่มีกว่า 117 ชนิด 6,376 ต้น

ระดับพื้นดินของป่านั้นได้รับการออกแบบให้ระดับดินมีความสูงต่ำไม่เท่ากันส่งผลต่อความชื้นของดินซึ่งสัมพันธ์กับความต้องการของพืชที่แตกต่างกัน พื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าจะมีระดับความชื้นมากกว่า สอดคล้องตามหลักการไหลของน้ำ โดยป่าโอเตมาจิถูกออกแบบให้มีระดับแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับดินที่สูง 160 เซนติเมตร ไปจนถึง 90 เซนติเมตร

การเกิดขึ้นของป่าโอเตมาจิ ไม่เพียงเป็นการนำเอาธรรมชาติกลับเข้ามาสู่เมือง แต่ยังช่วยบรรเทาปัญหาเมือง ทั้งการช่วยลดความร้อนในเมืองและช่วยดูดซับน้ำ ซึ่งพื้นที่สามารถช่วยลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าพื้นที่อาคารโดยรอบได้ถึง 1.7 องศาเซลเซียสและยังทำการกักเก็บน้ำฝนไว้ในถังน้ำใต้ดิน เพื่อนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในป่าจำลอง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลง

การออกแบบป่าโอเตมาจิเป็นหนึ่งวิธีการในการจำลองเอาพื้นที่ป่าเข้ามาอยู่ในเมือง โดยอาศัยความร่วมมือของแต่ละฝ่าย ตั้งแต่การออกแบบอาคาร การออกแบบภูมิทัศน์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี เพื่อทำให้ป่าแห่งนี้เกิดขึ้น

 

ในประเทศไทยเองคงจะต้องลองมองหาโอกาสและความร่วมมือที่จะสร้างป่าในเมืองให้เพิ่มปริมาณด้วยแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ลดข้อจำกัดของการจำลองป่าในอดีตลงและคงการใช้งานไว้ให้คนเมืองได้อย่างดี  เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองและสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Agency, A. (2019). 都市に新たな生命を――。大手町の未来を変える、本格的な“森”が息づく、新たな都市再生プロジェクト. Retrieved from https://www.arc-agency.jp/magazine/1088

Corporation, T., Sakuma, H., & Yamauchi, T. (2013). Notice of First-Stage Completion of. Notice of First-Stage Completion of THE OTEMACHI TOWER, 3–5.

MDV. (2016). Otemachi. Retrieved from http://micheldesvignepaysagiste.com/en/otemachi-大手町タワー

Re Port. (2010). 「大手町の森」の創出に向け、実証実験的検証「プレフォレスト」に着手. Retrieved from https://www.re-port.net/article/news/0000023432/

Shinichi, K. (2016). 新しい樹とまちの共生の場. 273(October), 27–28.

Shunsuke, S. (2014). 自然の森と地下鉄駅が一体となった都心空間 -大手町タワー. 大成建設株式会社都市開発本部プロジェクト開発第二部, (1 (21)), 1–5.

Taisei Design. (2014). 「大手町の森」が都市公園コンクールで国土交通大臣賞を受賞. Retrieved from http://www.taisei-design.jp/de/news/2014/11_01.html

Tatemono. (2019). 「大手町の森」の物語. Retrieved from https://tatemono.com/story/ootemachi/

Tokyo Tatemono. (2016). 大手町の森手町の森. (Lcc), 20.

Tokyo Tatemono. (2019). 「大手町タワー」都市と自然の再生. Retrieved from https://tatemono.com/csr/special/ootemachi.html

Tsuneta. (2015). 大手町の森を訪問する. Retrieved from https://4travel.jp/travelogue/10997430

Uchiyama. (2016). 大手町の森. Retrieved from http://www.uchiyama-net.co.jp/technology/ootemachi/index.html

 

Content by Attana Vasuwattana and Onkamon Nilanon
Share :