CITY CRACKER

Human on landscape ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน

สองแสนปีก่อนคริสตศักราช ในแอฟริกาตะวันออก มนุษย์ (Homo sapiens) ได้วิวัฒนาการขึ้น และดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติโดยการล่าสัตว์ หาของป่า โยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ตามแหล่งอาหารและน้ำ มนุษย์ออกเดินทางเพื่อตามหาแผ่นดินที่สมบูรณ์ มนุษย์กระจายออกจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก กลุ่มมนุษย์ที่ต้องการมีชีวิตรอดต้องเผชิญกับภูมิอากาศที่หลากหลาย ร่างกายเริ่มเกิดการวิวัฒนาการที่ปรับสภาพให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลและอาหารที่มีในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเหล่านี้คือความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ

ในช่วง 12,000 ปีก่อนคริสตศักราช โลกเข้าสู่ยุคที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เมื่อมนุษย์มีองค์ความรู้ในการใช้เครื่องมือเพื่อการเพาะปลูก ประกอบกับพบแผ่นดินอันสมบูรณ์จึงเริ่มลงหลักปักฐาน ปัจจัยสำคัญในการตั้งถิ่นฐานของคนในยุคนั้นคือความพร้อมทางกายภาพของพื้นที่ เช่น แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร มีทรัพยากรเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และปลอดภัย ความพร้อมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติรอบตัวได้เอื้ออำนวยให้แก่มนุษย์ทั้งสิ้น จากลักษณะของภูมิประเทศที่ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เราเรียกพื้นที่ที่เกิดระบบความสัมพันธ์นี้ว่า ภูมินิเวศ (Landscape) มนุษย์ได้เข้าไปทำความรู้จักพื้นที่และใช้ประโยชน์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมินิเวศ 

 

พื้นที่เกษตร อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

 

มนุษย์ในแต่ละภูมินิเวศได้ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตน มีการพัฒนาเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่หาได้จากบริเวณนั้น มีการสร้างที่อยู่อาศัยจากวัสดุพื้นถิ่นและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งมีการเรียนรู้การดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางธรรมชาติ เช่น บ้านในเขตมรสุมฝนตกเยอะ จะสร้างบ้านที่มีชายคายาวเพื่อป้องกันน้ำฝน หรือบ้านในพื้นที่ราบลุ่ม น้ำเอ่อท่วมทุกหน้าน้ำ จะสร้างบ้านยกพื้นสูง อาหารของคนที่พื้นที่ลุ่มจะมักมีเมนูประกอบจากผักหรือปลา เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่ 

มนุษย์ไม่เพียงปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต แต่มนุษย์ยังจัดการภูมินิเวศที่ตนอยู่ด้วยการปรับสภาพเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่การปรับเปลี่ยนนั้นก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของภูมินิเวศ เช่นในพื้นที่ลาดชัน แต่อยากทำการเกษตรที่ให้ผลผลิตแบบในพื้นที่ลุ่ม ก็มีการปรับระดับพื้นที่ให้อยู่ในรูปแบบขั้นบันได แล้วออกแบบระบบการทดน้ำเพื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่สูง องค์ความรู้ในการปรับตัวนี้พัฒนาจากการแก้ไขปัญหา มาเป็นขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ในการใช้ชีวิตของคน

จากการสรรหาพื้นที่เพื่อเอาชีวิตรอด มาสู่การเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ตั้งถิ่นฐานและรวมกลุ่มเพื่อจัดการทรัพยากรร่วมกัน จนเกิดเกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิต จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นตามยุคสมัย เมื่อเวลาผ่านไปทำให้กลุ่มชุมชนมีความสามารถในการรองรับชีวิตได้เพิ่มมากขึ้น ประชากร พื้นที่ชุมชนจึงขยายตัวตามฐานทรัพยากรและความสามารถในการจัดการทรัพยากร จนพัฒนามาเป็นเมืองในที่สุด

 

นาที่ลดหลั่นตามความสูง บ้านพี้ ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

 

การเติบโตของเมือง

การกลายเป็นเมืองของกลุ่มชุมชน อาจสะท้อนถึงฐานทรัพยากรอันมั่งคั่งของพื้นที่ แต่เมืองที่จะสามารถขยายขนาดและเติบโตได้มาก ยังมีเหตุผลของแหล่งที่ตั้งเข้ามาเป็นปัจจัยด้วย นอกจากตัวเมืองเองจะต้องสามารถเลี้ยงผู้คนให้กินอิ่มนอนหลับได้แล้ว การแลกเปลี่ยนค้าขายก็เป็นตัวการทำให้เมืองเติบโต ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในการค้าขาย คือเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและเชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆ เพื่อการกระจายสินค้า ตามชุมทาง แพร่ง จุดตัดของคลอง ลำน้ำ และแม่น้ำ ลักษณะทางภูมินิเวศเหล่านี้ จึงเป็นจุดสังเกตของที่ตั้งชุมชนขนาดใหญ่ในอดีต

เมืองขยายตัวมากขึ้นด้วยการสร้างเส้นทางคมนาคม เพื่อการค้าขาย แลกเปลี่ยนให้ได้สินค้าที่เขามีแต่เราไม่มี จึงขุดคลองเพื่อการสัญจรของเมืองในที่ลุ่ม การบุกเบิกเส้นทางการค้าลัดเลาะตามหุบเขาของพ่อค้าวัวในเมืองภาคเหนือ การขยายตัวของเมืองกับเส้นทางคมนาคมมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย เช่น เส้นทางรถไฟ ถนน รถไฟฟ้า และอาจจะมีรูปแบบอื่น ๆ อีกในอนาคต

เส้นทางคมนาคมเป็นส่วนที่กระจายและขยายขอบเขตของชุมชนเมืองให้กว้างขวางมากขึ้น โดยรูปแบบและการใช้งานของเส้นทางคมนาคมในภูมินิเวศที่แตกต่างกัน ก็ย่อมไม่เหมือนกันด้วยเงื่อนไขของพื้นที่ ยกตัวอย่าง เมืองในพื้นที่ภาคกลางของไทยที่มีคลองเป็นเส้นทางสัญจรในอดีต การไหลของน้ำในลำคลองได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง วิถีชีวิตของคนจึงสัมพันธ์กับการสัญจรตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง เพราะการพายเรือตามทิศทางของน้ำนั้นช่วยประหยัดแรงได้มาก 

แต่การพัฒนาเมืองในช่วง 100 ปีให้หลังเป็นต้นมา มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เร่งให้เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว การคำนึงถึงลักษณะของภูมินิเวศในกระบวนการพัฒนาเมืองมีบทบาทน้อยลง เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง จากการส่งเสริมเศรษฐกิจในเขตเมืองของภาครัฐ ทำให้เมืองมีความหนาแน่นสูง เกิดการขยายขอบเขตของเมืองออกไปยังชานเมือง ส่วนในพื้นที่ใจกลางเมืองก็เพิ่มความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย จนมากเกินกว่าขีดจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการรองรับชีวิตของภูมินิเวศ ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

เส้นทางวัวต่างในภาคเหนือของประเทศไทย (ภาพจาก หนังสือพ่อค้าวัวต่างฯ ของชูสิทธิ์ ชูชาติ) อ้างอิงจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_17897

 

 

การมีชีวิตอยู่ต่อไปในอนาคต

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของเมืองทุกวันนี้ เป็นการนำเอาการออกแบบหรือการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อสร้างสรรค์วิธีการที่ดึงดูดความสนใจเพื่อแก้ไขปัญหาเมือง แต่กลับไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามที่ว่า เมืองทุกวันนี้ เคยเป็นอะไรมาก่อน อะไรที่ทำให้เมืองเกิดปัญหานี้ เพราะส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหานั้น อาจเป็นเงื่อนไขของพื้นที่ ที่เราละเลยมานานจนมาแสดงออกเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนเมือง

การตั้งคำถามถึงที่มาช่วยสร้างความเข้าใจด้านเงื่อนไขและศักยภาพของภูมินิเวศเมือง แต่เมื่อตั้งคำถามถึงที่มาแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมตั้งคำถามต่อเนื่องว่า แล้วการแก้ปัญหาต่อไปควรจะเป็นอะไร เพราะในบางพื้นที่ได้ถูกพัฒนาไปไกลจนไม่หลงเหลือความสัมพันธ์ของเมืองกับภูมินิเวศที่เคยเป็นมา และมันอาจไม่มีทางกลับมาเป็นอย่างเคยได้อีก ดังนั้นการถามถึงแนวทางในอนาคตจึงจะต้องถามถึงบทบาทใหม่ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ร่วมกัน ทั้งยังต้องประเมินสถานการณ์ในอนาคต เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง อย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว

 

ตัวอย่างการจัดการน้ำด้วยวิธีทางธรรมชาติ (Cohen-Shacham et al., 2016, 21)

 

แนวคิดของ Nature-based Solution ที่ IUCN หรือ International Union for Conservation of Nature นำมาใช้เป็นแนวทางในการรักษา จัดการ ฟื้นคืนความสามารถของภูมินิเวศ เป็นหนึ่งในแนวคิดเพื่อการวางแผนจัดการพื้นที่ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมือง พื้นที่ที่ต้องการการรักษา ฟื้นฟู หรือการสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา ผ่านการใช้เทคนิคทางการวางผัง การออกแบบจัดการพื้นที่ และใช้เทคนิคทางวิศวกรรมควบคู่กัน โดยมีฐานมาจากความเข้าใจภูมินิเวศ 

ความพยายามในการสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่เมือง แต่แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้ในภาพใหญ่และประยุกต์เข้ากับบริบทได้ ไม่ว่าในพื้นที่ใดก็จะต้องทำความเข้าใจภูมินิเวศ (ที่เหมือนโจทย์เป็นตั้งต้น) ทั้งในพื้นที่เมืองในชนบทที่วิถีชีวิตยังมีความสัมพันธ์กับภูมินิเวศ หรือในพื้นที่ที่ต้องการการรักษาหรืออนุรักษ์ทรัพยากรก็ตาม เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาใหม่ๆ ด้วยวิธีการที่อยู่บนฐานของความสามารถของภูมินิเวศ เพื่อให้การพัฒนาไม่สร้างปัญหาใหม่ แต่คือการนำมาแก้ปัญหาอีกทอดหนึ่ง

อ้างอิงข้อมูลจาก

Bellwood, P. (2004). First Farmers. Wiley-Blackwell.

Cohen-Shacham, E., Walters, G., Janzen, C., & Maginnis, S. (2016). Nature-based Solutions to address global societal challenges. IUCN, Gland, Switzerland.

Harari, Y. N. (2015). Sapiens. Harper Collins.

Types of Urban Settlements. Geography Revision. Retrieved from https://geography-revision.co.uk/gcse/urbanisation/types-of-urban-settlements/.

Zonneveld, I. S. (1995). Land Ecology: An Introduction to Landscape Ecology as a Base for Land Evaluation, Land Management & Conservation.

ยุวดี ศิริ. (2558). ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว. สำนักพิมพ์มติชน.

วรรโณบล ควรอาจ และ ผกามาศ ถิ่นพังงา. (2546). กระบวนการกลายเป็นเมืองในประเทศไทย. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย.

 

Illustration by Montree Sommnut

 

 

 

Share :