CITY CRACKER

รับมือ PM 2.5 ด้วย Urban Greening 5 งานวิจัยที่ยืนยันว่าพลังของต้นไม้และสวนช่วยลดฝุ่นได้

เป็นอีกหนึ่งปีที่เราหวังว่าจะไม่ต้องพูดเรื่องนี้ คือเรื่องฝุ่นอีกต่อไปแล้ว เราไม่ควรมีภาวะฝุ่นกลับมาเยี่ยมเยือนตามฤดูกาล

ต้องพกหน้ากากหากอยากออกไปข้างนอก หรือไม่ควรต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน พร้อมหาเครื่องฟอกอากาศเป็นของตัวเอง อากาศสะอาดควรเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐาน เป็นความปลอดภัยและจุดเริ่มต้นคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

ฝุ่นกลับมา พร้อมๆ กับข่าวการจากไปที่สร้างความสะเทือนใจคือคุณหมอที่จากไปเพราะมะเร็งปอด อากาศสะอาดและปัญหาเรื่องฝุ่นจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เมืองควรร่วมเดินหน้าแก้ไขอย่างจริงจัง จริงอยู่ว่าฝุ่นสัมพันธ์กับหลายเงื่อนไข เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และมีบริบทปัญหาแตกต่างกันออกไป การแก้ปัญหาฝุ่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ทั้งระบบ ในหลายภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม

สำหรับ City Cracker แล้ว เราเองก็เชื่อว่าพื้นที่เมืองเป็นอีกพื้นที่หนาแน่นและสัมพันธ์การสร้างฝุ่นทั้งจากการก่อสร้างและการคมนาคม รวมไปถึงพื้นที่เมืองที่อาจทำให้ปัญหาฝุ่นรุนแรงขึ้นซึ่งในทางกลับกันฝุ่นในเมืองนี้ก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากจากความหนาแน่นของเมือง

หนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่นซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองยุคใหม่ คือการลดการใช้รถยนต์ ปรับเมืองออกจากการพัฒนาที่มีรถยนต์เป็นศูนย์กลาง โดยกลยุทธ์ที่สำคัญคือการใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อร่วมรับมือและดักกรองฝุ่นในอากาศโดยเฉพาะอนุภาคขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ภัยเงียบที่กำลังคร่าชีวิตและลดทอนอายุขัยของผู้คนอยู่ในขณะนี้ ในระยะหลังคือเมื่อเมืองต่างๆ เริ่มเจอปัญหาฝุ่น เมืองและประเทศต่างๆ ก็เริ่มลงมาทำความเข้าใจประโยชน์ไปจนถึงภาคปฏิบัติของการทำเมืองให้เขียวหรือ Urban Greening ในการร่วมรับมือ บรรเทาความรุนแรงของฝุ่นและเพิ่มคุณภาพชีวิต

City Cracker ชวนไปดูงานวิจัยว่าด้วยต้นไม้และการปรับเมืองให้เขียว โดยเชื่อมโยงประโยชน์เข้ากับการแก้ปัญหาฝุ่น นับตั้งแต่งานวิจัยสำคัญคลาสสิกจากสหรัฐที่ศึกษาและชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องกันของต้นไม้ในเมืองกับผลการกรองฝุ่นที่ส่งผลกับสุขภาพและอายุขัยของผู้คน ไปจนถึงงานศึกษาจากจีน ประเทศที่เคยมีท้องฟ้าสีเทาและก้าวข้ามพ้นมาได้กับคำถามว่าเราควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองเพื่อรับมือฝุ่นไหม หรืองานศึกษาว่าด้วยชนิดต้นไม้และรูปแบบการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์การกรองฝุ่น รวมถึงงานศึกษาในบ้านเราใช้สวนจตุจักรเพื่อทำความเข้าใจความสามารถในการกรองฝุ่นของแนวต้นไม้ในพื้นที่ที่ต่างๆ ของสวน เพื่อเสนอแนวทางและเพิ่มความเข้าใจ รวมไปถึงมองเห็นประเด็นในการใช้พื้นที่สีเขียวรวมถึงต้นไม้ต่างๆ ในการรับมือและแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว

thainews.prd.go.th

 

1. Modeled PM2.5 removal by trees in ten U.S. cities and associated health effects, US
งานศึกษาคลาสสิก ชี้ให้เห็นพลังของต้นไม้ในเมืองต่อรายจ่ายด้านสุขภาพ

สหรัฐเป็นประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมและเจอปัญหาจากมลพิษค่อนข้างเร็ว งานศึกษาว่าด้วยการกรองฝุ่นของต้นไม้โดยศึกษาใน 10 เมืองใหญ่ของอเมริกาเมื่อสิบปีก่อน เป็นงานวิจัยสำคัญที่ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงและกำไรจากต้นไม้ในเมือง โดยงานศึกษานี้ทำการเปรียบเทียบปริมาณพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้ของเมือง โดยประเมินศักยภาพในการดักกรองฝุ่นออกจากพื้นที่

ผลที่น่าสนใจคือนักวิจัยได้เชื่อมโยงผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมว่าการกรองมลพิษทางอากาศของต้นไม้สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือความเสี่ยงอื่นๆ ไปจนถึงการลดอัตราการตายลง พร้อมประเมินออกมาเป็นมูลค่าที่รัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการจัดการปัญหา โดยตัวเลขจากการป้องกันปัญหาที่เมืองได้รับประโยชน์จากการมีต้นไม้ในเมืองก็สัมพัทธ์ไปตามเงื่อนไขไปจนถึงรูปแบบของต้นไม้ของเมือง ในภาพรวมต้นไม้ในเมืองช่วยลดความสูญเสียที่มีตั้งแต่หนึ่งล้านเหรียญสหรัฐไปจนถึง 60 ล้านเหรียญในเมืองสำคัญอย่างนิวยอร์ก

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23624337/

 

2. Do We Need More Urban Green Space to Alleviate PM2.5 Pollution? A Case Study in Wuhan
ย้อนดูพลังพื้นที่สีเขียวและฝุ่นของอูฮั่น และคำตอบว่าพื้นที่สีเขียวยังสำคัญกับเรื่องฝุ่นอยู่

ประเด็นเรื่องฝุ่น และงานวิจัยว่าด้วยฝุ่นโดยเฉพาะมุมมองความเข้าใจเรื่องต้นไม้ เรื่องเมืองและเรื่องพื้นที่สีเขียวในระยะสิบปีที่ผ่านมา เราจะพบว่างานวิจัยจากประเทศจีนเยอะมาก มีการศึกษาเรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ได้ทำการศึกษาศักยภาพของต้นไม้ในการกรองฝุ่นช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นเพียงหนึ่งในงานศึกษาจำนวนมากในบริบทเมืองและการพัฒนาของจีนในการรับมือฝุ่น ทว่างานศึกษาที่มีอู่ฮั่นเป็นกรณีศึกษามีความเข้าใจและการตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าเราควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองเพื่อรับมือฝุ่นไหม

งานศึกษานี้ย้อนไปดูความสัมพันธ์ของฝุ่นและความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวเมืองอู่ฮั่น โดยงานศึกษาเน้นให้ภาพประวัติศาสตร์ซึ่งพบระยะที่พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ก่อนที่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่จะลดลง ความผกผันดังกล่าวค่อนข้างตอบสนองว่าพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่ลดจำนวนลงไปสู่พื้นที่สีเขียวเล็กลงสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่น PM 2.5 อย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ค่อนข้างชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการฟอกอากาศ และการรักษาหรือเพิ่มภูมิทัศน์เมืองโดยมีพื้นที่สีเขียวเป็นหัวใจยังเป็นแนวทางแบบ win-win คือให้ผลทั้งต่อคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของมนุษย์

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.mdpi.com/2073-445X/11/6/776

3. Evaluation of impacts of trees on PM2.5 dispersion in urban streets
ถนนเป็นต้นเหตุ กับประเด็นเรื่องแนวต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น

ความตื่นตัวและความพยายามแก้ปัญหาฝุ่นเป็นกระแสสำคัญในจีน งานวิจัยว่าด้วยถนนและแนวต้นไม้นี้ยังคงเป็นงานศึกษาจากประเทศจีน ตัวงานวิจัยเรื่องแนวต้นไม้กรองฝุ่นและถนนนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดตั้งแต่การศึกษาเก็บข้อมูลในถนนที่มีรูปแบบต้นไม้หลากหลายในเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ในตอนนั้นเจอปัญหาฝุ่นค่อนข้างรุนแรง นอกจากการเก็บข้อมูลแล้ว งานศึกษานี้ยังเน้นการสร้างแบบจำลองเพื่อดูศักยภาพในการกรองฝุ่น รวมไปถึงการทดลองในอุโมงค์ลม

ประเด็นของงานศึกษานี้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของพื้นที่เกาะกลางถนนในการออกแบบแนวต้นไม้ดักกรองฝุ่น และชี้ให้เห็นความซับซ้อน เช่น สภาพอากาศ ลักษณะของพื้นที่ ทิศทางลมและอื่นๆ ที่ส่งผลกับศักยภาพในการดักกรองฝุ่นของแนวต้นไม้นั้นๆ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศึกษาเพื่อหาคำตอบว่าเราจะเลือก ออกแบบแนวต้นไม้ ไปจนถึงดูแลรักษาต้นไม้บนเกาะกลางถนนอย่างไร หากมีเงื่อนไขเรื่องการดักฝุ่นเป็นสำคัญ

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1352231014007791

 

4. Particulate Matter Removal Ability of Ten Evergreen Trees Planted in Korea Urban Greening
ความสามารถในการดักฝุ่นของต้นไม้เมือง งานศึกษาจากเกาหลี

เราพูดเรื่องป่าในเมือง ต้นไม้ในเมือง งานศึกษาจากเกาหลีเป็นอีกหนึ่งงานศึกษาที่พยายามทำความเข้าใจและอาจเป็นแนวทางในการปลูกและดูแลต้นไม้เมืองโดยมีประเด็นเรื่องฝุ่นเป็นเงื่อนไขหนึ่ง งานศึกษานี้ค่อนข้างตรงตามชื่อคือเป็นการศึกษาต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ผลัดใบสิบชนิดในเมืองเกาหลี และดูว่าแต่ละประเภทมีส่วนช่วยหรือศักยภาพในการดักกรองฝุ่นอย่างไรบ้าง

ประเด็นเรื่องต้นไม้กรองฝุ่นนับเป็นความตื่นตัวและความรู้ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่รวมถึงงานวิจัยจากประเทศไทยก็พูดถึงความสามารถในการดักกรองฝุ่น เช่น พืชที่มีใบหนาแน่น ลักษณะใบที่เป็นขน ไปจนถึงความเข้าใจในการจับฝุ่นและชะล้างลงด้วยความชื้นทำให้ฝุ่นไม้ลอยอยู่ในอากาศ แต่กลับไปสู่พื้นดิน งานศึกษาว่าด้วยต้นไม้ในเมืองนี้จึงทั้งทำให้เราเห็นความสำคัญของต้นไม้ที่อาจกลายเป็นป่าในเมือง ไปจนถึงกำหนดแนวทางการเลือกและดูแลต้นไม้ใหญ่ภายในเมืองเพื่อร่วมรับมือกับปัญหาฝุ่น

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.mdpi.com/1999-4907/12/4/438

 

5. Numerical simulations of the effects of green infrastructure on PM2.5
dispersion in an urban park in Bangkok
แบบจำลองการกรองฝุ่น ของกลุ่มต้นไม้ต่างๆ ในสวนจตุจักร

ส่งท้ายด้วยงานศึกษาจากประเทศไทย งานศึกษาในปี 2022 เป็นการศึกษาด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ โดยใช้สวนจตุจักรเป็นพื้นที่ศึกษา ประเด็นหลักของงานศึกษานี้คือการดูรูปแบบกลุ่มพืชพรรณของตัวสวนในพื้นที่ที่อยู่ติดถนน และดูว่ามุมต่างๆ ที่มีรูปแบบพืชพรรณแตกต่างกันนั้น ส่งผลต่อปริมาณฝุ่นที่เข้ามาในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน โมเดลว่าด้วยการกรองฝุ่นจากถนนสู่ตัวพื้นที่สวนให้ความเข้าใจที่หลากหลาย เช่น ผลกระทบต่างๆ ที่สัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นตามความสำคัญ เช่น ความชื้นมีผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ทิศทางลมอาจไม่มีผลอย่างสำคัญ

ทั้งนี้งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าแนวไม้พุ่มค่อนข้างมีความสำคัญในการกำจัดฝุ่น กลุ่มต้นไม้ที่กระจัดกระจายและมีใบน้อยก็อาจให้ผลกับการดักกรองฝุ่นที่ไม่ดีนัก โดยสรุปแล้วงานศึกษานี้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพืชพรรณและรูปแบบภูมิทัศน์ นำไปสู่การออกแบบที่มีความมุ่งหมายเรื่องคุณภาพอากาศต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.cell.com/heliyon/pdf/S2405-8440(22)01763-7.pdf

 

 

 

Share :