ระยะหลังมานี้ เราเริ่มไม่ได้พูดถึงแค่การมีอยู่ของพื้นที่สีเขียว เช่น การมีสวนใหญ่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ แต่เราเริ่มให้ความสำคัญกับการกระจายตัวของพื้นที่สีเขียว
รวมถึงรายละเอียดในพื้นที่สีเขียวนั้นๆ เช่น เราอาจมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่ได้รับการออกแบบ มีความหลากหลายของพืชพรรณ โดยพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กเหล่านั้นมีงานวิจัยชี้ว่าอาจมีผลเชิงบวกต่อพื้นที่เมืองในหลายมิติ และจากงานวิจัยล่าสุดนี้การมีพื้นทีสีเขียวในพื้นที่เล็กๆ และการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญได้
งานศึกษาใหม่นี้เผยแพร่ในวารสาร British Ecological Society เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา งานศึกษาจากเมืองเมลเบิร์นนี้เป็นการทดลองพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก (small greenspace) ในเขตเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยนักวิจัยได้ทำการปรับพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่แต่เดิมเป็นเพียงสนามหญ้าและต้นไม้เพียงสองต้น ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ในการทดลองนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2016 นักวิจัยได้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพลงในพื้นที่ เช่น การเพิ่มวัชพืช ปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มปุ๋ย คลุมผิวดินด้วยวัสดุชีวภาพ และเพิ่มพืชพรรณท้องถิ่นของพื้นที่ลงไป 12 ชนิด โดยพื้นที่ที่ทำการศึกษามีลักษณะเป็นเกาะหน้าอาคารขนาดไม่ใหญ่มาก การเพิ่มพืชพรรณก็ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
จากการลงมือเปลี่ยนเกาะที่เคยเป็นหญ้าและต้นไม้โล่งๆ นักวิจัยพบว่าจากการเปลี่ยนแปลงเกาะสนามหญ้าดังกล่าวแค่หนึ่งปี พื้นที่นี้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นซึ่งคือการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินและต้นไม้ 12 ชนิดนั้น นักวิจัยกลับพบว่าประชากรแมลงมีหลากหลายขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในพื้นที่เดิมมีตัวอย่างแมลงน้อยมากคือพบเพียง 2 สายพันธุ์ (species) ในการเพิ่มความหลากหลายของการทดลอง เพียงหนึ่งปีนับจากการเปลี่ยนแปลง แมลงในพื้นที่ดังกล่าวก็เพิ่มจำนวนและมีความหลากหลายขึ้น นักวิจัยระบุว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในปีแรก และในปีที่สาม ต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มไว้แม้จะลดลงเหลือเพียง 9 สายพันธุ์ แต่จำนวนความหลากหลายของประชากรแมลงก็ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า
จากการศึกษาตลอดระยะเวลา 3 ปี นักวิจัยทำการเก็บข้อมูลและเก็บตัวอย่างแมลง 14 ครั้ง นักวิจัยระบุว่าพบแมลงและแมง เช่น มด ผึ้ง ตัวต่อและอื่นๆ รวมได้ถึง 94 สายพันธุ์ โดย 91 สายพันธุ์เป็นแมลงท้องถิ่นของรัฐวิกตอเรีย
งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เรามองเห็นผลหลายประการ ประการแรกคือจากพื้นที่ศึกษาเองที่นักวิจัยใช้พื้นที่สีเขียวขนาดเล็กภายในเมือง และนักวิจัยได้ทำการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นเพียงเล็กน้อย ผลของการศึกษาพบการเพิ่มขึ้นของความหลายของแมลงอันจะเป็นพื้นฐานของความหลากหลายอื่นๆ ต่อไป และอีกข้อสำคัญคือการออกแบบการเพิ่มสีเขียวในเมือง (urban greening) ที่เพิ่มการมองเห็นพื้นที่สีเขียวหรือออกแบบให้มีความหลากหลายของพืชพรรณเอง ซึ่งพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่มีความหลากหลายขึ้นเช่น สนาม ทุ่งหญ้า เกาะกลางถนน ไปจนถึงสวนดาดฟ้า การคำนึงถึงการเพิ่มพืชพรรณโดยเฉพาะพืชพรรณท้องถิ่นเพื่อหวังผลด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นอีกหนึ่งความเข้าใจและปัจจัยสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer
- Warunya Rujeewong
Graphic Designer