CITY CRACKER

พื้นที่สีเขียวกับการตาย: สวนแบบไหนส่งผลดีต่อสุขภาพคนเมือง

ต้นไม้ใหญ่ สวนสาธารณะ ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวรูปแบบต่างๆ ในเมืองย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มากกว่าสุขภาพกายใจที่ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศที่ศึกษาความสัมพันธ์ของพื้นที่สีเขียว (Green Spaces) ในเมืองกับการเสียชีวิตของคนในเมือง (Mortality) กันมานานกว่า 10 ปี จนมีตัวเลขยืนยันว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้คนในเมืองจะแปรผกผันกับพื้นที่สีเขียวในย่านหรือชุมชนที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ แต่ใช่ว่าแค่เพิ่มต้นไม้รอบเกาะกลางถนนแล้วจะเคลมว่าช่วยให้สุขภาพดีขึ้น แล้วพื้นที่สีเขียวแบบไหนที่เราต้องการให้มีมากขึ้นในเมืองใหญ่

 

nalc.gov.uk

ลดอัตราการตายด้วยพื้นที่สีเขียว

ศาสตราจารย์ David Rojas-Rueda จากมหาวิทยาลัย Colorado State University ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่สีเขียวและการตายในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ออสเตรเลีย อิตาลี และจีน ด้วยจำนวนประชากรตัวอย่างทั้งหมดกว่า 8 ล้านคน โดยผลการวิจัยพบว่าชาวเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวสาธารณะที่เปิดกว้าง จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality) ได้ ล่าสุด งานวิจัยในเมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 1 ตารางเมตร จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ 0.011% และ 0.019% สำหรับการเสียชีวิตเกี่ยวกับโรคทางหัวใจ

แม้ตัวเลขจะไม่ได้เยอะ แต่ก็ช่วยยืนยันว่าพื้นที่สีเขียวส่งผลต่อการไม่ป่วยไข้และอายุที่ยืนยาวจริงๆ ในเชิงสภาวะแวดล้อม ต้นไม้ในเมืองช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยลดมลภาวะทางเสียงและลดอุณหภูมิในเมือง (Urban heat island) เฉลี่ยถึง 1 องศาเซลเซียส การมีพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ร่มรื่นน่าเดินยังเอื้อให้คนออกมาใช้ชีวิตสาธารณะนอกบ้าน หากเมืองมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในระยะเดินได้เดินถึง ผู้คนในย่านก็สามารถมาออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ได้ ร่างกายก็แข็งแรง ไม่อ้วน นอนหลับสบาย และส่งผลต่อความสบายใจของคนเรา งานวิจัยหนึ่งทำการสอบถามประชากรในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในละแวกที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้หรือสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะเดินจากบ้านไม่เกิน 10 นาที ให้คำตอบว่าพวกเขาเองมีสุขภาพดีทั้งทางกายและใจ และยังมีแนวโน้มที่จะรับฟังและแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของคนใกล้ตัวมากขึ้น (Social Support)

Dr.David Rojas-Rueda by inspiresproject.com

 

ออกแบบพื้นที่สีเขียวเพื่อสุขภาวะที่ดี

ใช่ว่าการไล่ปลูกต้นไม้ จัดสวนในทุกที่ของเมืองจะดีเสมอไป เพราะพื้นที่สีเขียวหลายแห่งในเมืองใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ และใช่ว่าทุกคนในเมืองจะเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้เท่าเทียมกัน งานวิจัยจากเมืองฟิลาเดลเฟียได้ศึกษาลึกลงไปถึงรูปแบบของพื้นที่สีเขียวในเมืองว่าแบบไหนที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีที่สุด จนพบว่านอกจากอัตราพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ยิ่งมากยิ่งดีแล้ว พื้นที่สีเขียวที่มีขนาดกว้างขวาง เชื่อมต่อกัน (Connectivity) หรือรวมกลุ่มกันใกล้ชิด (Aggregation) รวมถึงมีความซับซ้อนของรูปทรงพื้นที่ (Irregular Shape) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนในเมืองทั้งจากโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และต้นเหตุของการก่อมะเร็งในร่างกาย

ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยนี้พบว่าในทางกลับกัน หากเมืองไหนมีพื้นที่สีเขียวที่กระจัดกระจายตัว (Fragmentation) จะยิ่งส่งผลให้ปริมาณ Secondary Air Pollutants ในอากาศ จำพวกโอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมลพิษเหล่านี้ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจของคนเรา

ข้อสรุปของงานวิจัยนี้บอกว่าเราควรให้ความสำคัญต่อค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียวในเมือง (Mean area of green spaces) มากกว่าจำนวนพื้นที่สีเขียวโดยรวมทั้งหมด เพราะค่าเฉลี่ยถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่าประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในย่านหรือชุมชนของเขาได้มากแค่ไหน เพราะในบางเมือง พื้นที่สีเขียวอาจกระจัดกระจายเป็นสวนหย่อมเล็กๆ ที่เดินวิ่งไม่สะดวก ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะคนใช้ประโยชน์ได้แค่บางกลุ่ม หรือบางสวนสาธารณะก็ตั้งอยู่ห่างไกลจากละแวกชุมชนจนคนทั่วไปไม่สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นจึงอาจไม่ได้สร้างประโยชน์เต็มศักยภาพอย่างที่มันควรจะเป็น สุดท้าย พื้นที่สีเขียวที่คนเมืองต้องการจึงไม่ใช่แค่ต้นไม้กระถางวางประดับที่เกาะกลางถนนหรือรอบอนุสาวรีย์ แต่หมายถึงพื้นที่ที่ผู้คนได้เข้าไปใช้ชีวิตและใช้ประโยชน์จากความร่มรื่นตรงนั้นได้มากกว่า ข้อสรุปนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองที่สนับสนุนสุขภาวะที่ดีของประชากรอย่างเข้าใจจริงๆ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สีเขียวเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการเสียชีวิตของผู้คนในเมือง แต่ยังต้องพิจารณาตัวแปรอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งเพศ อายุ ระดับการศึกษา หรืออาชีพการงานซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตหรือการใช้บริการพื้นที่สีเขียวที่แตกต่างกัน

greenspace in Philadelphia by thelancet.com

 

มองพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนึ่งที่อัตราค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวน้อยจนน่าตกใจ ข้อมูลล่าสุดบอกว่าพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 6.9 ตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ World Health Organization กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตร ซึ่งหากพิจารณาจำนวนและพื้นที่สวนสาธารณะที่รวบรวมโดยสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่ากรุงเทพฯ มีจำนวนพื้นที่สวนถึง 8,364 แห่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 40 ล้านตารางเมตร แต่หากลองดูนิยามของพื้นที่สีเขียวที่ถูกนับรวมทั้งหมดจะพบว่านับรวมตั้งแต่สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนหมู่บ้าน สวนชุมชน สวนระดับย่าน สวนระดับเมือง ไปจนถึงสวนถนนและสวนเฉพาะทาง (เช่น สวนเกาะกลางถนน หรือสวนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) โดยในจำนวนกว่าครึ่งของสวนในกรุงเทพฯ เป็นแค่สวนขนาดเล็กพื้นที่ไม่ถึง 2 ไร่กระจัดกระจายตัวตามชุมชนต่างๆ และสวนถนนอีกกว่า 2,000 สวน ซึ่งในเชิงใช้ประโยชน์แล้วอาจเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถทำกิจกรรมทางนันทนาการได้อย่างเต็มที่ และในทางกลับกัน สวนระดับเมือง (City Park) ที่มีขนาดใหญ่กว่า 500 ไร่นั้นมีแค่ 1 แห่งเท่านั้นในกรุงเทพฯ คือ สวนหลวง ร.9 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอจริงๆ

 

สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องคำนึงถึงจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอ แต่ยังรวมถึงการคำนึงถึงรูปแบบของสวน ‘สาธารณะ’ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของคนในเมืองที่แท้จริง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (2563). จำนวนสวนสาธารณะและพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 3 มีนาคม 2563 ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตต่างๆ. เข้าถึงจากhttp://www.bangkok.go.th.

Dadvand, Payam & Bartoll, Xavier & Basagaña, Xavier & Dalmau-Bueno, Albert & Martinez, David & Ambros, Albert & Cirach, Marta & Triguero-Mas, Margarita & Gascon, Mireia & Borrell, Carme & Nieuwenhuijsen, Mark. (2016). Green spaces and General Health: Roles of mental health status, social support, and physical activity. Environment international. 91. 161-167.

Rojas-Rueda, David & Nieuwenhuijsen, Mark & Gascon, Mireia & Perez-Leon, Daniela & Mudu, Pierpaolo. (2019). Green spaces and mortality: a systematic review and meta-analysis of cohort studies. The Lancet Planetary Health. 3. e469-e477.

Shen, Yu-Sheng & Lung, Shih-Chun. (2017). Mediation pathways and effects of green structures on respiratory mortality via reducing air pollution. Scientific Reports. 7. 42854.

Wang, Hua-qing & Tassinary, Louis. (2019). Effects of greenspace morphology on mortality at the neighbourhood level: a cross-sectional ecological study. The Lancet Planetary Health. 3. e460-e468. 10.1016/S2542-5196(19)30217-7.

 

Illustration by Montree Sommut
  • Phanuphan Veeravaphusit

    นักศึกษาปริญญาโทด้าน Urban Governance ที่ประเทศไต้หวัน สนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะและการออกแบบเมืองเพื่อสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรม

Share :