CITY CRACKER

Green Wall จากผนังตึกเก่า สู่กำแพงของนักพฤษศาสตร์ในปารีส ว่าด้วยวิวัฒนาการของกำแพงสีเขียว

เราอยู่ในยุคที่เมืองแออัดขึ้นทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันก็แสนจะโหยหาธรรมชาติ ด้วยความที่พื้นที่น้อย มลพิษเยอะ เหล่านักออกแบบและสถาปนิกจึงพยายามกันอย่างสุดความสามารถ ในการออกแบบและผสานธรรมชาติเข้าไว้ในสถาปัตยกรรมแทบทุกตารางนิ้ว ล่าสุด ในต่างประเทศดูจะสนใจการสร้างระบบกำแพงสีเขียว โดยเฉพาะการเลือกใช้เจ้ามอส หรือพืชพรรณเล็กๆ ที่นอกจากจะน่ารักแล้ว ยังช่วยฟอกอากาศ ป้องกันความร้อน ดักจับฝุ่น ช่วยลดมลพิษให้กับเมืองด้วย ในลอนดอนมีการทดลองแผงมอสที่เลี้ยงตัวเองได้ ชื่อว่า ‘urban tree’ ทำหน้าที่เสมือนต้นไม้หลายสิบต้นในแผงเดียว ทางสถาปัตยกรรมเองก็มีกระแสส่งเสริมผนังกำแพงสีเขียวกันมากขึ้น

คอนเซ็ปต์เรื่องกำแพงสีเขียว ฟังดูก็เท่ดี จากกำแพงแข็งๆ กลับกลายเป็นกำแพงที่มีชีวิต (living wall) กำแพงที่เคยแห้งแล้งเหล่านี้กลับสามารถช่วยให้เราหายใจได้ เติบโตขึ้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เจ้ากำแพงสีเขียวที่กลับมาฮิต และมาช่วยตอบปัญหาเมืองนี้เป็นแนวคิดที่แสนเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สถาปัตยกรรมยุคโบราณ ง่ายที่สุดคือการปลูกไม้เลื้อยให้เลื้อยขึ้นปกคลุมผนัง การสร้างกำแพงสีเขียวจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่แสดงว่ามนุษย์อยากจะรวมเอาธรรมชาติเข้าไว้กับชีวิตและอาคารมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากการแค่ปลูกคลุมผนัง ความกังวลเรื่องโครงสร้างและความสวยงาม ไปสู่การออกแบบระบบกำแพงที่มีความซับซ้อน

ermakvagus.com

 

กำแพงไม้เลื้อยกับความเปลี่ยนแปลงของวัสดุก่อสร้าง และการกลับมารักธรรมชาติอีกครั้ง

สวนและอาคารดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันในสถาปัตยกรรมมาอย่างยาวนาน กำแพงสีเขียวเองก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เคยมีในยุคโบราณ ก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เมืองแยกตัวจากธรรมชาติ สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน เป็นหนึ่งในหมุดหมายและหลักฐานสำคัญของการนำเอาต้นไม้ไปเลื้อย ไปรวมอยู่ด้านในและบนหอคอย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าสมัยโรมันก็มีความนิยมเล่นไม้เลื้อย โดยเอาไปเลื้อยคลุมบนกำแพง มีการใช้กุหลาบเลื้อยเพื่อปกปิดและเป็นสัญลักษณ์ของสวนลับ

พอมาถึงยุคหนึ่ง เมืองเราเริ่มเติบโต ภาพของธรรมชาติและอาคารเริ่มแยกออกจากกัน ในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเริ่มเกิดเมือง เกิดตึกอาคารแบบใหม่ จริงๆ Green Wall เป็นสิ่งที่เราทั้งรักทั้งชัง คือในช่วงต้นปี 1900s มีกระแสเช่น Jugendstil ที่ใช้ไม้เลื้อยเพื่อทำให้อาคารและสวนมีความต่อเนื่องกัน หรือในช่วงปี 1920 อังกฤษและอเมริกาเกิดกระแสสวนในเมืองชื่อ The British and North American garden city movement ส่งเสริมการนำพืชพรรณกลับมาสู่เมือง แต่ในช่วงทศวรรษ 1930s ความนิยมดังกล่าวเริ่มลดลงเพราะเกิดความกังวลว่าน้ำหนักของต้นไม้จะทำให้โครงสร้างอาคารมีปัญหา ถ้าเรามองไปยังยุคสมัยใหม่ ภาพของตึกที่ไม้เลื้อยคลุมมักเป็นภาพของความรกร้าง เป็นภาพบ้านร้างในนวนิยายสยองขวัญ กำแพงสีเขียวนี้จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับนวัตกรรมการก่อสร้าง เท่าๆ กับทัศนคติของเราที่มีต่อธรรมชาติ เช่น การเกิดขึ้นของสายเคเบิล หรือแสตนเลสที่ทำให้การทำสวน ปลูกพืชมีความเป็นไปได้และหลากหลายมากขึ้น

en.wikipedia.org

สวนผนังของนักพฤกษศาสตร์ในปารีส ต้นแบบกำแพงสีเขียวของโลกสมัยใหม่

กำแพงสีเขียว- อย่างที่เราคุ้นๆ กัน แบบที่มีระบบน้ำเลี้ยงเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ช่วงปี 1986 โดยฝีมือของนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Patrick Blanc คุณ Blanc แกทำงานให้กับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส และถือว่าเป็นคนที่ทำให้กำแพงสีเขียวเป็นไปได้ การพัฒนากำแพงสีเขียวนี้เป็นผนังของพืชพรรณเขตร้อนที่ตระการตาในตึกมิวเซียมกลางกรุงปารีส ที่ร่วมมือกันโดยสามผู้เชี่ยวชาญสำคัญคือ คุณ Blanc นักพฤกษศาสตร์ Adrien Fainsilber สถาปนิก และ Peter Rice วิศวกร ทั้งสามท่านรวมพลังกันจนพัฒนาเป็นสวนผนังในอาคารแห่งแรกเรียกว่า Mur Vegetal ใน Museum of Science and Industry อันถือกันว่าเป็นผนังสีเขียวภายในอาคารแห่งแรก หลังจากนั้นคุณ Blanc ก็เข้าไปร่วมสร้าง พัฒนากำแพงสีเขียวให้เฟื่องฟูงอกเงยขึ้น จากฝรั่งเศสขยายออกไป เจ้ากำแพงสีเขียวเลยดูเป็นความฝันของยุโรปสมัยใหม่ ทั้งการพัฒนาทางวิศวกรรม โดยเฉพาะระบบโครงสร้าง วัสดุปลูก และระบบจ่ายน้ำ การสร้างพื้นที่พิเศษให้กับพืชพรรณนอกภาคพื้นทวีป (exotic species) และความสวยงามในเส้นสายของการออกแบบ

ด้วยหลายๆ องค์ประกอบ จากผนังเพื่อแสดงพรรณไม้ในมิวเซียม ไปสู่ทั้งผนังสีเขียวทั้งในและนอกอาคาร หลังจากนั้นโลกเราก็เริ่มควบรวม สร้างให้ตึกอาคารมีสีเขียวเข้าไปประกอบเป็นกระแสใหม่ เช่นในปี 1994 แคนาดาก็มีการติดตั้งผนังสีเขียวโดยมีเป้าหมายเพื่อการกรองอากาศใน Canada Life Building ที่โตรอนโต ปี 2002 ที่สวิสก็มีเปิดตัวสวน The MFO Park สวนที่ประกอบเข้ากับโครงสร้าง เป็นชั้นๆ มีไม้เลื้อยกว่า 1000 ต้นอยู่ในสวน หรือในงานเอ็กซ์โปปี 2005 ที่เมืองไอจิ รัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนนิทรรศการปอดชีวภาพ มีการจัดแสดงกำแพงสีเขียวกว่า 30 โมเดล

 

ansgroupglobal.com

 

กำแพงสีเขียวจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ค่อยๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น กำแพงนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มบรรยากาศสดใสให้กับเมือง ทำหน้าที่ป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ซับความร้อนให้กับเกาะความร้อนของเมือง เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวม เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบจากหลายองค์ความรู้ การคัดเลือกต้นไม้ที่ต้องสอดคล้องกับความชื้น- การแห้งตามระบบปล่อยน้ำเลี้ยง พร้อมกับคำนึงถึงความสวยงามจากจังหวะใบในพื้นที่แนวตั้ง กลายเป็นงานศิลปะรูปแบบใหม่

 

อ้างอิงข้อมูล
land8.com
researchgate.net
greenwallsdesign.com
greenscreen.com
andromedadistrict.com
sciencedirect.com

 

Illustration by Thanaphum Thongprasert
Share :