กลิ่นของฤดูหนาวลอยมาตามสายลมของกรุงเทพฯ…เราต่างชอบลมหนาว แต่ไม่ทุกคนที่จะชอบกลิ่นตีนเป็ดที่มักโชยมาในช่วงเย็น
เรื่องว่าดอกตีนเป็ดหอมหรือไม่ก็แล้วแต่ความชอบ แต่ที่สำคัญคือต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูหนาว เป็นต้นไม้ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นกรุงเทพฯ นึกถึงการเดินเล่นในมหาวิทยาลัย นึกถึงบรรยากาศและความรู้สึกในช่วงปลายปี
นอกจากพญาสัตบรรณที่กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงเทพฯ อันที่จริงกรุงเทพฯ เองก็มีต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่คู่เมืองหลวงของเรามาอย่างยาวนาน บ้างก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ บ้างก็ยืนต้นเก่าแก่เป็น ‘ชาวกรุงเทพฯ’ ที่อาจมีอายุเท่ามหานครอายุสองร้อยกว่าปีของเรานี้
แน่นอนว่าต้นไม้ใหญ่ในเมือง หรือ urban tree เป็นสิ่งที่คนเมืองรัก ต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งที่เราเห็นค่า ยืนต้นเป็นเหมือนผู้สูงวัยให้ร่มเงาอันนุ่มนวลในเมืองสีปูนของเรา ทว่าเราเองก็มักจะมีปัญหาทั้งในแง่การดูแล และการรักษาไม้ใหญ่ที่มีความหมายเหล่านี้อยู่เสมอทั้งการตัดแต่งที่อาจจะไม่ถูกต้องนัก ไปจนถึงการหักโค่นเพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่เมืองอันทรงมูลค่านี้ต่อไป
สิ่งสำคัญเบื้องต้นอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์และรักษานั้น อาจจะเริ่มจากการระบุตัวตนและทำความรู้จักกับสิ่งของรวมถึงเรื่องราวของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังมองเห็นและต้องจัดการกันต่อนั้น มีเรื่องราว มีความสำคัญอย่างไร ต้นไม้ในเมืองก็น่าจะเป็นในทำนองเดียวกัน เมื่อเราเริ่มเห็นว่าไม้ใหญ่ที่เติบโตมาอย่างยาวเต็มไปด้วยความหมาย บ้างกำลังเก็บงำช่วงเวลาและเรื่องราวบางอย่างของเมือง
ในโอกาสที่ดอกตีนเป็นลอยมาเตะจมูกนี้ City Cracker ชวนไปรู้จักโครงการชื่อ Great Trees of Londonโครงการจัดรายชื่อและระบุต้นไม้สำคัญของลอนดอนที่รวบรวมไว้หลังภัยพิบัติ เพื่อนำไปสู่การรับรู้เข้าใจและการดูแลรักษาเหล่าไม้ใหญ่ในเมือง โดยการรวบรวมนั้นมีหารฟังเสียงชาวลอนดอนว่าต้นไม้ไหนที่สำคัญกับเมืองและกับพวกเขา
Great Trees of London รายชื่อไม้ใหญ่หลังภัยพิบัติ
โปรเจกต์ Great Trees of London หรือไม้ใหญ่แห่งเมืองลอนดอน โดยสรุปก็เป็นการทำรายชื่อต้นไม้ใหญ่ที่สำคัญกับชาวเมืองลอนดอนขึ้นมาชุดหนึ่ง จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เริ่มต้นหลังจากเหตุการณ์พายุใหญ่ที่พัดเข้าสู่ลอนดอนในปี 1987 จากเหตุการณ์นั้นเองทำให้ไม้ใหญ่ของเมืองหักโค่นไปราว 15 ล้านต้น
หลังเหตุการณ์นั้นเมืองลอนดอนก็เลยทำการเก็บข้อมูลด้วยการสอบถามชาวลอนถึงต้นไม้ใหญ่ที่รอดจากพายุในครั้งนั้น ว่าสำหรับพวกเขาแล้วมีต้นไม้ไหญ่สำคัญหรือเป็นหมุดหมายของเมืองบ้าง ในปี 1988 หรือหนึ่งปีหลังจากพายุใหญ่ ทาง Countryside Commission ก็เลยได้รายชื่อต้นไม้ทั้งหมด 41 และได้ให้สถานะ Great Tree กับต้นไม้เหล่านั้น
หลังจากการให้สถานะไม้ใหญ่สำคัญในครั้งแรก ในปี 2008 ทางองค์กร Trees for Cities ก็ได้ทำโพลเพื่อรวบรวมและเสนอต้นไม้สำคัญเพิ่มเติมซึ่งก็ได้เพิ่มรายชื่อต้นไม้เข้าไปอีก 20 ต้น แต่ปัจจุบันมีต้นไม้ในรายชื่อล้มไป 6 ต้น จากไม้ใหญ่ 61 ต้น ปัจจุบันต้นไม้ใหญ่แห่งลอนดอนจึงคงเหลือ 54 ต้น
อันที่จริงสถานะไม้ใหญ่ หรือ Great ยังไม่เชิงเป็นการคุ้มครอง แต่เป็นเหมือนการระบุต้นไม้สำคัญ ซึ่งโครงการนี้ก็ได้ระบุเฉพาะเจาะจงเลยว่าเป็นต้นอะไร ยืนต้นอยู่บริเวณไหน เน้นส่งเสริมการมองเห็นคุณค่าว่าต้นไม้เหล่านี้ควรค่าแก่การเฉลิมฉลองอยู่คู่กับเมือง โดยหลักๆ แล้ว นิยามของ Great มักจะสัมพันธ์กับต้นไม้ที่มีอายุมาก ต้นใหญ่มาก อาจจะมีมีรูปทรงแปลก มีความหมายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญ หรือมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่นหรือสัตว์ป่าก็ได้
โดยต้นไม้ใหญ่ที่เมืองจะเฉลิมฉลองนั้นไม่จำกัดพื้นที่ คืออาจจะเป็นต้นไม้ริมทางก็ได้ อยู่ในพื้นที่โรงงาน สำนักงาน หรืออยู่ในที่ดินส่วนบุคคลก็ได้ โดยต้นไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคลต้องมองเห็นได้โดยสาธารณะและได้รับคำยินยอมจากเจ้าของพื้นที่ก่อนจึงจะประกาศยกย่องต้นไม้ต้นนั้นได้
ต้นเพลน ต้นโอ๊ก และต้นสตรอเบอร์รี่ต้น
โครงการต้นไม้ใหญ่ของลอนดอนเป็นการเลือกต้นไม้ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นเราก็จะเห็นว่ามีบางต้นที่เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่อยู่คนละสถานที่สำคัญ เช่นต้นลอนดอนเพลน (London Plane) ก็มีอยู่ในรายชื่อ 13 ต้น กระจายตัวกันออกไป โดยต้นลอนดอนเพลนตามชื่อ คือเป็นไม้ที่พบได้ทั่วไปในลอนดอน โดยเชื่อว่าสายพันธุ์เกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 17 และในศตวรรษที่ 18-19 ทางอังกฤษได้ลงมือปลูกต้นลอนดอนเพลนทั่วเมืองตามแบบที่ชาวปารีสปลูกต้นไม้จำนวนไว้ริมถนนเพื่อความร่มรื่น
สำหรับต้นไม้ที่อยู่ในรายชื่อส่วนใหญ่ก็จะเป็นไม้ใหญ่ที่เราอาจจะคุ้นๆ บ้างและมีความสัมพันธ์กับความเป็นอังกฤษ เช่น ต้นโอ๊ก ฟิกส์ เมเปิล เกาลัด ต้นเอล์ม ต้นไพน์ สน เป็นต้น โดยความพิเศษ เรื่องราว รวมไปถึงตัวสถานที่ก็มีลักษณะที่หลากหลายทั้งสวน ไปจนถึงไม้ใหญ่กลางเมือง ตัวอย่างเช่นต้นเพลนบริเวณสุสานเก่าของโบสถ์เซนส์ปีเตอร์ชีพ บริเวณถนนชีพไซด์(Cheapside) ตัวโบสถ์นี้มีประวัติเป็นโบสถ์จากยุคกลาง แต่ว่าถูกทำลายไปเมื่อครั้งไฟไหม้ลอนดอนใหญ่ (London Fire) เชื่อกันว่าต้นเพลนต้นนี้จึงถูกปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ถึงโบสถ์เดิมแต่ประวัติและอายุของมันยังไม่แน่นอน
นอกจากนี้จะมีต้นเพลนที่น่าสนใจ เช่นต้นวิคตอเรียนเพลนที่ Berkeley Square ตัวต้นไม้ปลูกตั้งแต่ปี 1789 ต้นไม้เก่าแก่ที่ผ่านยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมานี้มีเปลือกและกิ่งก้านของมันที่แปลกประหลาด โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับช่วงที่ลอนดอนเจอกับปัญหามลพิษอย่างหนัก หรือต้นโอ๊กโบราณหนึ่งใน 13 ต้นโอ๊กในรายชื่อ ต้นโอ๊กที่ Brockwell Park เป็นโอ๊กที่อายุกว่า 600 ปี และยืนยาวมาตั้งแต่สมัยสงครามดอกกุหลาบ
จากไม้เก่าแก่ มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันยาวนาน ต้นไม้ธรรมดาที่อาจจะถือว่าแปลกและหายากสำหรับลอนดอนเช่นสตอร์เบอรี่ต้นลูกผสม(Arbutus x andrachnoides) ที่ Battersea Park ในแง่ของตัวต้นสตอร์เบอร์รี่นี้ถือว่าหายากในลอนดอน และตัวต้นยังรูปทรงกิ่งก้านที่สวยงาม มีเปลือกสีชมพู และค่อนข้างถือได้ว่าเป็นสตอร์เบอร์รี่ต้นลูกผสมที่น่าจะใหญ่ที่สุดในอังกฤษ โดยต้นไม้สีชมพูที่สวยงามนี้ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจะให้ดอกสีขาว ห้อยเป็นกลุ่ม ตามมาด้วยผลที่คล้ายลิ้นจี่แต่มีกลิ่นหอมเหมือนสตรอเบอร์รี่นอกจากสตรอเบอร์รี่ต้นแล้วก็ยังมีให้ผลเช่นหม่อน เกาลัดที่ล้วนเป็นต้นไม้ที่ผู้คนรักทั้งสิ้น
ย้อนไปที่หน่วยงาน ตัวโครงการต้นไม้ใหญ่ด้วยการระบุชื่อและต้นไม้สำคัญของลอนดอนถือเป็นโครงการทั้งจากรัฐที่มองเห็นความสำคัญและดึงความสนใจของผู้คนไปยังต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ ตัว โดยตัวโครงการนี้ได้รับการสานต่อโดย Trees for Cities องค์กรการกุศลที่เชื่อว่าจะสามารถทำเมืองให้ดีขึ้นได้ด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมือง รวมถึงการให้ Luke Adam Hawker ศิลปินไปร่วมวาดภาพเพื่อบันทึกเหล่าต้นไม้ในรายชื่อ
จากโปรเจกต์ดังกล่าว ทำให้เราและน่าจะรวมถึงคนชาวลอนดอนอย่างแน่นอนที่จะได้กลับไปรู้จัก ไปมองเห็นเรื่องราวของต้นไม้ใหญ่ เห็นประวัติศาสตร์ เห็นความสำคัญ และเริ่มหวงแหนซึ่งอาจนำไปสู่การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นแล้วก็เป็นที่น่าคิดว่าในช่วงเวลาที่เราได้กลิ่นตีนเป็ดในฐานะต้นไม้สำคัญหน้าหนาวของกรุงเทพ เรายังจะมองเห็นต้นไม้สำคัญที่อื่นไปจนถึงอยากจะเข้าใจเรื่องราวของเหล่าต้นไม้ใหญ่ต่อไป
Graphic Design by Prapawit Intun
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.lukeadamhawker.com/the-great-trees-of-london
http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/england/london/7496903.stm
https://www.nhm.ac.uk/discover/uk-tree-identification.html
https://www.treesforcities.org/
- Vanat Putnark
Writer