CITY CRACKER

1.5 องศาของโลกที่เปลี่ยนไป กับ 7 เมืองใหญ่ที่อาจจมจากความเปลี่ยนแปลง

หลังจากการตื่นตัวว่ามนุษย์เราส่งผลกับโลกนี้อย่างจริงจัง- ในทางที่แย่แล้วนะ คำว่าภาวะโลกร้อน คือมันร้อนขึ้นจริงๆ  ในปี 2016 จึงเกิดความตกลงปารีส (Paris Agreement) อันเป็นข้อตกลงว่าเรามวลมนุษย์จะมาสานมือกันเป็นวงกลม ช่วยป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นเราจึงมีตัวเลขจากข้อตกลงว่าเราจะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศา คำว่า เพิ่มขึ้นคือเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าแค่ 1.5 องศาจะยังรักษาไม่ค่อยได้ ในปี 2017 จึงเริ่มพูดถึงตัวเลข 3 องศา และมีการประเมินว่า ถ้าเรายังเป็นแบบนี้กันต่อ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นถึง 3.2 องศาภายในปี 2100

 

สำหรับอุณหภูมิโลก การเพิ่มขึ้นแค่ 1 องศา ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต- รวมเราด้วยอย่างมหาศาล (จริงๆ นึกภาพเวลาเราปรับแอร์ 1 องศาก็มีความหมายเนอะ) มีรายงานว่าเจ้า  1.5  องศาที่ว่า ถ้าเกิดเราไปถึงจริงๆ จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง (ขีดเส้นใต้) 40 เซนติเมตร นึกภาพทุกวันนี้แค่ระดับน้ำทะเลปกติ หลายประเทศก็ต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมและพายุที่รุนแรงอยู่แล้ว ถ้าน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอีก 40 เซนติเมตรก็เรียกได้ว่า หายนะมาเยือนแน่นอน- แถมล่าสุด 1.5 ไม่พอ พ่อจะร้อนเพิ่มไปถึง 3 องศากันเลย

ดังนั้น ถ้าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น พวกเมืองใหญ่และเมืองชายฝั่งย่อมเสี่ยงจะที่จมหาย บ๊ายบายไปจากแผนที่ ในยุคที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศยังไม่รุนแรงและรวดเร็วเท่าทุกวันนี้ หลายเมืองเองก็เริ่มวางแผนป้องกัน ชะลอการจมน้ำลง กรุงเทพเองก็รับรู้ปัญหามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 แล้ว กรุงเทพฯ เองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง ว่าถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เราเองก็โดนไปกับเขาด้วย

 

Bangkok

ฝากมือไปที่อันดับแรก กรุงเทพฯ ดินแดนบ้านเราเองย่อมติดอันดับเมืองหลวงใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำ กรุงเทพฯ เองรู้ตัวว่าด้วยกายภาพ และการเติบโตขึ้นของเมือง ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องการทรุดตัว จริงๆ เราเองก็ถูกมองว่าเราจะจมทั้งจากการทรุดของเราเอง และจากผลกระทบของภาวะเรือนกระจกมาตั้งแต่ช่วงปี 2530 แล้ว ซึ่งเราเองก็พยายามรับมือและแก้ไขเรื่องการทรุดตัวลงกันมาเรื่อยๆ เช่นมีการจัดการเรื่องการใช้น้ำบาดาล แต่เรื่องอื่นๆ เช่นการวางแผนรับมือน้ำ การออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับภูมิอากาศ ก็อาจยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

 

Jakarta

จาการ์ตาเป็นอีกหนึ่งเมืองหลวงที่ดูจะหนักหนากว่ากรุงเทพฯ ปัญหาก็คล้ายๆ กันคือเรื่องการทรุดตัว ประชากรที่หนาแน่นเกินไป พื้นที่ที่เจอกับพายุ ปัญหาความยากจน การจราจร เรียกได้ว่ามีสารพัดเรื่องที่เมืองหลวงนี้ต้องเผชิญ จาการ์ตาเจอหนักถึงขนาดเรียกได้ว่าจมหนักและบ่อยเกินไปจนทางอินโดนีเซียตัดสินใจประกาศย้ายเมืองหลวง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทางอินโดนีเซียเพิ่งจะประกาศพิกัดเมืองหลวงใหม่ที่บริเวณเกาะบอร์เนียวตะวันออก ในจังหวักกาลีมันตัน (East Kalimantan)

 

Manila

มะนิลาเป็นอีกหนึ่งเพื่อนบ้านชาวอาเซียนที่จ่อคิวเตรียมเจอน้ำ ด้วยสภาพภูมิประเทศ ลักษณะดิน และการขยายตัวของเมืองที่ทำให้เมืองหลวงเจอปัญหาทรุดตัวลง มีรายงาว่ามะนิลาเจอปัญหาการทรุดตัวด้วยความเร็วถึง 10 เซนติเมตรต่อปี นอกจากเมืองใหญ่แล้ว ยังเจอปัญหาจากภาคเกษตรและปศุสัตว์เช่นนาข้าวและการขุดบ่อปลาขวางทางน้ำที่ร่วมส่งเสริมให้ปัญหาน้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น

 

Shanghai

เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าที่มีทั้งความมั่งคั่งและมีกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ที่สวยงาม แน่นอนว่าพอเป็นเมืองท่า เซี่ยงไฮ้ก็อยู่ในรายชื่อเมืองเสี่ยงน้ำท่วม ก่อนหน้าประเด็นภาวะโลกร้อน เซี่ยงไฮ้ก็เจอปัญหาทรุดตัวเหมือนกับหลายเมืองจากการเติบโตของเมือง ซึ่งทางเมืองก็พยายามออกมาตราการมารับมือกับปัญหานี้ ในช่วงปี 1995 เซี่ยงไฮ้จึงสามารถชะลอการทรุดตัวลงได้จาก 9 เซนติเมตรเหลือเพียง 1 เซนติเมตรต่อปี แต่เจ้ากรรมก็ยังไม่พอเพราะระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เซี่ยงไฮ้จมได้เหมือนกัน ในปี 2012 มีรายงานจากทีมวิจัยชาวอังกฤษและดัตช์บอกว่า เซี่ยงไฮ้จะเป็นหนึ่งในเมืองลำดับต้นๆ ที่จะจมน้ำหากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแตะ3 องศา ปัจจุบันเซี่ยงไฮ้ก็พยายามเต็มที่ในการรักษาเมืองใหญ่เอาไว้ มีการพยายามสร้างระบบป้องกันน้ำ กำแพงป้องน้ำท่วม มีการออกแบบระบบระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำซูโจว แม่น้ำที่ไหลตัดผ่านเซี่ยงไฮ้

 

Osaka

ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ลำพังเจอกับภัยธรรมชาติก็หนักอยู่แล้ว ระยะหลังญี่ปุ่นเองก็เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น แม้ว่าจะมีระบบป้องกันและรับมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ญี่ปุ่นกำลังเจอกับทั้งพายุ ทั้งน้ำท่วมที่ถี่และหนักหนามากขึ้น โอซาก้าจึงเป็นเมืองชายฝั่งที่เสี่ยงจมน้ำ และแน่นอนว่าโอซากาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีประชากรหนาแน่น เมืองจึงเสี่ยงที่จะจมน้ำและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ได้ มีการประเมินว่าท่ามกลางภาวะน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น สตอร์มเซิร์จ และปัจจัยอื่นๆ ทำให้ภายในปี 2070  โอซากาอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะเจอผลกระทบและสูญเสียหลักหมื่นล้านเหรียญ ทางโอซากาจึงพิจารณาตัวเอง และเตรียมออกแบบเมืองเพื่อรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น มีการอัพเกรดระบบป้องกันภัยที่แข็งแรงจากการรับมือใต้ฝุ่นและสึนามิ ไปจนถึงระบบป้องกันที่เข้ากับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

Alexandria

อิยิปต์เป็นดินแดนที่อยู่กับแม่น้ำไนล์ เคยใช้ชีวิตไปตามจังหวะขึ้นลงของแม่น้ำที่ท่วมและถอยห่างตามคาบ ตัวอเล็กซานเดรียจึงเป็นอีกเมืองชายฝั่งที่เสี่ยง มีรายงานว่าถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นครึ่งเมตร ชายหาดและพื้นที่ชายฝั่งของอเล็กซานเดรียจะจมลงและแม่น้ำไนล์จะล้น ผู้คนกว่าแปดล้านคนจะต้องได้รับผลกระทบ อียิปต์เองก็พยายามรับมือกับน้ำทะเลและภาวะน้ำหนุนด้วยกำแพงและระบบป้องกันน้ำ ทีมวิจัยรายงานว่าอียิปต์เองมีพื้นที่พักอาศัยบริเวณชายฝั่งค่อนข้างเยอะ และภายในปี 2070 พื้นที่ริมฝั่งอาจจมหายไปบางส่วนจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

 

Miami

มาที่ดินแดนชายฝั่งที่ทั้งแดดและผู้คนแสนจะร้อนแรง ไมอามี่- อเมริกาเองก็เพิ่งจะได้รับรู้พลังของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เจอกับเฮอริเคนที่รุนแรง พร้อมภาวะน้ำท่วมที่หนักหน่วงขึ้นเช่นเฮอริเคนเออร์มา ที่ทำให้ย่านกลางเมืองและพื้นที่รอบๆ เสียหายกลายเป็นอัมพาต ทางเมืองเลยบอกว่า ด้วยเมืองที่เรารักนี้ต้องมีการจัดการ มีการเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือน้ำทะเลสูงและภัยธรรมชาติเข้าเสนอแนวทางป้องกันที่เป็นรูปธรรม ไมอามี่จึงเริ่มปรับปรุงเมืองรับมือและจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพขึ้น เช่นยกระดับถนน มีการจัดการย่านทิ้งร้างให้เป็นพื้นที่รับน้ำ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ecowatch.com

theguardian.com

weforum.org

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :