CITY CRACKER

WE DARE YOU! ลดภาวะโลกร้อน กับ 6 แนวทางสู่เมืองลดคาร์บอน

เราก้าวมาถึงยุค และความเข้าใจว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่แค่สมมุติฐาน เด็กหญิงคนหนึ่งเดินทางข้ามมหาสมุทร กล่าวสุนทรพจน์สั่นสะเทือนความเฉยชาและความผิดพลาดของคนรุ่นปัจจุบัน

 

เมืองเป็นพื้นที่หลักที่มนุษย์เรามีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น เราใช้พลังงาน การจราจร ความร้อนและขยะส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัญหาต่อเนื่องจากเมือง หลายประเทศและหลายเมืองสำคัญของโลกจึงเริ่มหันมามองตัวเอง และพยายามเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา เปลี่ยนลักษณะและกิจกรรมภายในเมืองเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนลง เมืองใหญ่ เช่นลอนดอน หรือบางประเทศถึงขนาดเตรียมสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอน เช่นเมือง Masdar ของสาธารณรัฐอาหรับเอมิสเรตส์ หรือเมือง Dongtan ของจีน

สำหรับประเทศไทยก็เป็นสมาชิกภาคีสำคัญๆ เรารับรู้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าโลกจะประสบปัญหาใหญ่ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาและภาคีประเทศสมาชิกต่างตกลงร่วมกันว่าจะช่วยกันอย่างแข็งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง นอกจากเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ไทยเรายังติดอันดับโลกด้านขยะในทะเลและเราก็มีคำมั่นว่าจะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ถ้ามองกลับมาที่กรุงเทพฯ เราเองก็ยังดูเป็นเมืองที่ไม่ตอบโจทย์กับการลดคาร์บอน ลดความร้อนให้กับโลกกลมๆ เท่าไหร่นัก

หลักการง่ายๆ ของเมืองคาร์บอนต่ำ จริงๆ ก็คือการทำเมืองให้ดี เป็นเมืองที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ตั้งแต่การใช้ที่ดิน ตัวอาคาร การจราจร ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเมืองและผู้คนมีศักยภาพเท่าไหร่ เราก็จะปล่อยและควบคุมปริมาณคาร์บอนได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

 

Big Data เมื่อข้อมูลคือทุกอย่าง

ความรู้-ข้อมูลคือทุกอย่างเป็นคำพูดเชยๆ แต่ยังทรงประสิทธิภาพเสมอ ทุกวันนี้เรายังไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพพอ ทำให้มีข้อมูลในการะประเมินเพื่อวางกลยุทธ์ในการจัดการการปล่อยก๊าซในเมืองได้ การใช้ Big Data ตั้งแต่การเก็บข้อมูลจากสมาร์ทโฟน ไปจนถึนการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ในเมือง เพื่อติดตามข้อมูลเรื่องการขนส่ง การใช้พลังงาน การจัดการน้ำและขยะ การได้ข้อมูลและการประมวลผลที่ดีนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นรู้ว่าบริเวณไหนต้องการทรัพยากรเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการวัดประเมินและมองเห็นภาพรวมของเมืองที่ปรุโปร่งมากขึ้นด้วย

 

Better Building ตึกที่ดีมีของเสียน้อยลง

เมืองใหญ่เต็มไปด้วยตึกสูง และตึกสูงเหล่านี้นี่แหละที่ใช้พลังงาน ปล่อยของเสีย และบางครั้งนำไปสู่การเกิดภาวะเกาะความร้อนในเมือง การคำนึงว่าตึกๆ หนึ่งส่งผลกับโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจึงนำไปสู่การวางมาตราการการออกแบบตึกที่มีการคำนึงใหม่ๆ นอกจากพื้นที่ใช้สอย ที่นำไปสู่ความคิดว่าตึกต่างๆ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่จะรับผิดชอบกับก๊าซ หรือของเสียที่ตัวเองปล่อยออกมาได้อย่างไร การเปลี่ยนตึกให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นวิธีการลดคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ งานออกแบบตึกที่ประหยัดพลังงาน เป็นอาคารสีเขียวตั้งแต่ต้นทาง ทั้งวัสดุที่ใช้ การก่อสร้าง การดูแล ไปจนถึงขั้นตอนการทุบทำลายที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ลงทุนกับขนส่งสาธารณะ

อีกครั้งกับการแก้ปัญหาแกนกลางของเมือง การปรับปรุงขนส่งสาธารณะให้ดีนอกจากจะทำชีวิตเราให้ดีแล้ว การเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปริมาณรถยนต์ที่น้อยลง ย่อมทำให้เราผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ที่สหรัฐมีรายงานว่าระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซลงได้ถึง 37 ล้านตันต่อปี ในหลายประเทศที่ระบบขนส่งดีแล้วก็เริ่มปรับปรุงเมืองและการเดินทางในเมืองโดยเน้นการเดินทางทางเลือกอื่นๆ เช่นการเดินหรือการขี่จักรยานผ่านการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมกิจกรรมนั้นๆ  เช่นทางจักรยานดีๆ สวนสวยๆ การให้สิทธิพิเศษกับคนเดินถนน

 

ใช้เทคโนโลยีด้วยรถพลังงานไฟฟ้า-รถไร้คนขับ

ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีมาถึงแล้ว และหลายเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานทางเลือก เราเริ่มมีรถพลังงานไฟฟ้า หลายเมืองใหญ่เริ่มใช้และออกแบบเมืองเพื่อรองรับรถไฟฟ้าตั้งแต่มาตราการส่งเสริมจูงใจให้หันมาใช้รถพลังงานสะอาด การสร้างจุดชาร์จแบต บางเมืองเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนและเปลี่ยนระบบโลจิสติกเป็นรถพลังงานสะอาด นอกจากรถพลังไฟฟ้า เทคโนโลยีอื่นๆ เช่นระบบรถยนต์ไร้คนขับ การขนส่งสินค้าแบบพิเศษเช่นไฮเปอร์ลูป ก็สามารถเข้าช่วยลดการปล่อยก๊าซ ทำให้ระบบการเดินทางขนส่งของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ มีรายงานว่าการเปลี่ยนระบบขนส่งจากพลังงานฟอซซิลไปสู่พลังงานสะอาดสามารถการปล่อยก๊าซลดได้ 18%

 

Urban Farming ผลิตอาหารป้อนเมือง

การผลิตอาหารและการขนส่งเข้าเมืองเป็นอีกส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำสวนผักและฟาร์มขนาดเล็ก ทำให้เมืองลดการพึ่งพาการผลิตอาหารจากภายนอก มีรายงานว่ากระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่การปลูกเลี้ยงนอกเมือง จนถึงห้องครัวของเรามีส่วนในการปล่อยคาร์บอน 20-30% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่การทำสวนผักในเมืองอาจเป็นส่วนเล็กๆ มีงานสำรวจพบว่าการเปลี่ยนพื้นที่ว่างๆ ในเมืองเป็นสวนเกษตรช่วยลดการปล่อยก๊าซได้ 1% แต่การทำสวนเกษตรถือเป็นอีกหนึ่งการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนตั้งแต่การผลิตอาหารเอง การลดการขนส่ง และการนำขยะชีวภาพกลับมาใช้ใหม่

 

Circular Economy การหมุนเวียนคือหัวใจ

ประเด็นสำคัญของเมืองลดพลังงาน- ลดขยะที่จะนำไปสู่การลดคาร์บอนคือวิธีคิดกับระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบใหม่ แนวคิดเรื่อง Circular Economy จึงไม่ใช่แค่การเน้นเรื่องการรีไซเคิล แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่เราเคยมองว่าการผลิตต่างๆ เป็นเส้นตรง จากการสร้างนำไปสู่ของเสีย แต่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการมองทุกอย่างรวมถึงปลายทาง เช่นขยะ มลพิษและของเสีย จนถึงผลพลอยได้ต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตใหม่ได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

nrdc.org

ipoint-systems.com

apta.com

nationalgeographic.com

planetizen.com

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

 

Share :