CITY CRACKER

Wilderness within การออกแบบอนาคตป่าในเมืองผ่านการ urban hiking ของ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

หนึ่งในกิจกรรมใหม่ที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงนี้คือการ Urban Hiking หรือเดินป่าในเมือง คือการเดินป่าระยะสั้นบนเขา หรือในบริเวณพื้นที่เมืองที่ความสูงชันเพียงพอ เพื่อให้เราได้ใช้เวลาใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าปกติ ได้ซึมซับช่วงเวลาความสุขและความสงบจากพื้นที่สีเขียวในบริเวณเมืองโดยรอบ 

เช่นเดียวกับ ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร Co-founder จากใจบ้านสตูดิโอ สตูดิโอสถาปัตย์เพื่อชุมชนจากเมืองเชียงใหม่ ที่เริ่มกิจกรรมการเดิน hiking ในบริเวณพื้นที่เมืองเชียงใหม่ และดอยสุเทพ ตลอดจนรวมกลุ่มด้วยการชักชวนคนที่สนใจมาเดินป่าด้วยกันจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ และจากกิจกรรมนี้เองจึงอาจนำมาสู่การออกแบบพื้นที่รูปแบบใหม่ที่ดึงธรรมชาติ ผสมผสานพื้นที่ป่าเข้ามาในเมืองมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ทั้งมนุษย์และสัตว์

เพื่อเติมสีเขียวและดึงธรรมชาติเข้าสู่เมืองและตัวเรามากขึ้น City Cracker จึงได้ชวน ตี๋ – ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คุยถึงกิจกรรมการเดินป่าในเมือง ตลอดจนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และแนวทางที่อาจพัฒนาเมืองต่อไปเพื่อให้ผู้คน สรรพสัตว์ และธรรมชาติสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างเหมาะสมและลงตัว

 

 

City Cracker: อยากให้เล่าหน่อยว่าเริ่มสนใจเรื่องการเดินป่าได้ยังไง

ศุภวุฒิ: เริ่มจากตัวเองอยากหาที่สงบๆ ในเมือง การเดินประเภทนี้ไม่ต้องถึงขั้นปีนเขา หรือผจญภัยมาก แต่คือการไปเดินในป่า เป็นป่าที่ยังไม่ได้มีมนุษย์เข้าไปจัดการมาก เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไม่ได้ปูทางเดินไว้ ไม่ได้มีไฟ ไม่มีห้องน้ำ แล้วเรารู้สึกว่าเชียงใหม่พิเศษ มีดอยสุเทพเป็นป่าอยู่ในอำเภอเมือง และอยู่ใกล้เมืองมากๆ สิบกว่านาทีก็ถึงแล้ว แต่ทุกทีเวลาไปดอยสุเทพเราจะคิดถึงแค่วัดพระธาตุ ไปไหว้พระ แต่ข้างบนเป็นป่าต้นน้ำ คือน้ำไหลมาหล่อเลี้ยงเมืองทั้งหมดเลย รวมถึงเรื่องลูกที่ตอนนี้อยู่ในวัยกำลังเริ่มซน เริ่มดูแลตัวเองได้ ก็อยากจะให้เขาไปเรียนรู้พื้นที่ธรรมชาติจริงๆ 

 

City Cracker: อะไรคือเสน่ห์ของ Urban Hiking ทำไมถึงชอบในกิจกรรมนี้

ศุภวุฒิ: คือฝั่งซ้ายเมืองเชียงใหม่เป็นดอยสุเทพ ดอยสุเทพที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองก็เชื่อมโยงไปเป็นเทือกเขาข้ามจังหวัดอื่น ทั้งด้านแอ่งเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน สัตว์ป่าเขาก็เคลื่อนที่อยู่ในเทือกเขาเหล่านี้ พอเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยเข้าไปพัฒนามาก เราก็มีโอกาสเจอสัตว์เหล่านี้ ได้เห็นร่องรอยของเขา รอยเท้า ขนนก รู้สึกมหัศจรรย์มาก ยิ่งเรามีลูก เราเล่าให้ลูกฟัง เปิดรูปให้ลูกดู เขาก็เชื่อมโยงได้ว่าป่ามันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เป็นแหล่งน้ำที่เราใช้ และที่ไหลเข้าคูเมืองก็มาจากป่าแบบนี้ เขาก็สัมผัสได้ ไม่ใช่แค่เรียนในหนังสืออย่างเดียว

 

City Cracker: ความแตกต่างของพื้นที่สวนสาธารณะในเมืองกับพื้นที่ป่าในเมืองแบบนี้คืออะไร

ศุภวุฒิ: ความเป็นป่าครับ เพราะอย่างตอนนี้ในเมืองไทยเราจะเห็นสวนใหญ่ๆ ที่มีแบบเดียว คือสวนแบบที่มนุษย์เข้าไปจัดการออกแบบทั้งหมด แต่พื้นที่แบบนี้มันยิ่งใหญ่ คือธรรมชาติจัดการ มันมีการเปลี่ยนแปลง ฤดูหนาวก็มีพืชพรรณบางชนิดโผล่ออกมา ปลายฝนมองขึ้นไปก็เห็นกระโถนฤาษี อะไรแบบนี้  หน้าหนาวก็เป็นทุ่งเฟิร์นหรือมอสขึ้นมาแทน การเปลี่ยนแปลงป่าตรงนี้คือสาระสำคัญของธรรมชาติ

 

City Cracker: จากมุมมองของสถาปนิก และคนที่ทำกิจกรรม urban hiking ทำไมพื้นที่สีเขียวแบบ wilderness นี้ถึงสำคัญกับการใช้ชีวิตของเรา 

ศุภวุฒิ : ชีวิตประจำวันเราไม่เคยเห็นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เราคิดว่าเมืองเป็นของเรา เราออกแบบ นั่นโน่นนี่ได้ แต่จริงๆ แล้วเมืองต้องมีพื้นที่ที่มีความเป็นป่า (wilderness) แบบนี้แหละ เป็นพื้นที่รกๆ คงความเป็นธรรมชาติ และผู้คนควรจะเข้าถึงพื้นที่แบบนี้ได้ เราแต่ละจังหวัดหรือแต่ละเมืองน่าจะมีพื้นที่แบบนี้อยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ป่าแบบดอย อาจเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) หรือพื้นที่ป่าโกงกางที่ชายหาด ที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปจัดการมันมาก แต่ให้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด  

 

 

City Cracker: ปัญหาอะไรที่ทำให้เรายังไม่สามารถมีพื้นที่แบบนี้ในเมืองได้ 

ศุภวุฒิ: คือพื้นที่ในเมืองยังไม่ใหญ่พอที่จะมีความหลากหลายของพืชพรรณ ไม่ใหญ่พอจะมีสัตว์ป่า ไม่ใหญ่พอที่จะให้เรา มนุษย์ รู้สึกตัวเล็กกว่าธรรมชาติ เพราะส่วนที่เรามีมันเป็นส่วนที่มนุษย์เข้าไปจัดการ เข้าไปก็เป็นอีกฟีลหนึ่งปลอดภัย เข้าใจมันทุกอย่าง แต่พอเข้าป่าไปคุณจะตัวเล็กมากๆ แล้วมันจะมีความ incontrol อยู่ คุณเจองู หมูป่า กวาง นกยูง เลยรู้สึกว่ากิจกรรมแบบนี้หรือเมืองที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติตรงนี้มันดีกับสังคมเมืองสมัยใหม่ไม่งั้นเรารู้สึกเป็นใหญ่กับทุกสิ่งทุกอย่าง 

 

City Cracker: จากความสำคัญของการมีป่าในเมือง เพื่อดึงป่าเข้ามาสู่ตัวเมืองมากขึ้น เราจะเริ่มอย่างไร

ศุภวุฒิ: เริ่มจากการออกแบบก่อนละกัน พอพูดถึงการออกแบบ mindset เราทุกคนคือป่าในเมืองต้องตอบสนองกับความต้องการของมนุษย์ แต่จะมี 2-3 สิ่งที่เราต้องได้ยินและเข้าใจด้วย หนึ่งคือสัตว์ ดูความต้องการของสัตว์ว่าเขาอยู่กันยังไง พึ่งพิงกันยังไง สองคือพืชแต่ละชนิด เพราะมีความต้องการไม่เหมือนกัน ระดับความสูงต่างๆ ความหลากหลายของพรรณพืช ฉะนั้นการออกแบบเลยต้องเริ่มจาก experience-based design และต้องไม่ใช่สถาปนิกหนึ่งคนมาออกแบบ แต่ต้องสร้างความเข้าใจครั้งใหญ่ของสังคมไปด้วยกัน เพื่อสร้างคอนเนคชั่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อ ให้แต่ละคนมีประสบการณ์ร่วมกันในงานออกแบบ เราคิดว่าถ้าทำแบบนี้ได้ การออกแบบจะมีพลัง และเป็นการออกแบบที่ไม่ต้องทำเยอะ ไม่ต้องประดิดประดอยมาก เพราะธรรมชาติเขามีพลังอยู่แล้ว สิ่งสำคัญเลยคือต้องสร้างคอนเนคชั่นให้ได้ก่อน แล้วการออกแบบถึงจะตามมา การออกแบบจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ไม่งั้นคนจะติดกับดักเดิมคือเริ่มจาก conceptual design แบบมนุษย์ 

 

 

City Cracker: ในการออกแบบมีมุมมองหรือมิติไหนบ้างที่เราควรคำนึงถึงเพื่อผสานพื้นที่ป่าเข้ากับเมือง  

ศุภวุฒิ: เราเห็นสองมิติ หนึ่งคือมิติเชิงการจัดการทางกายภาพ เรามีข้อจำกัดด้านผังเมือง สมมติถ้าดอยสุเทพเป็นป่าสงวนและอุทยานอยู่แล้ว พื้นที่รอยต่อกับเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจตามผังเมืองต้องมีพื้นที่ป่ากันชน เป็นพื้นที่รอยต่อ เป็นข้อบัญญัติทางกฎหมายหลายๆ ส่วน หรือเรื่องการใช้น้ำ พอพื้นที่ชานเมืองมันโต น้ำที่เคยได้จากป่าไหลลงมาก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นมันต้องควบคุมการเจริญเติบโตด้วย ไม่อย่างนั้นพื้นที่เมืองรุกพื้นที่ป่าไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นป่าชายขอบของเมืองหมดเลย

ส่วนอีกมิติคือมิติเครื่องมือทางสังคม คือการสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้คนด้วยว่าจริงๆ น้ำที่เราใช้กันในเมือง มันไม่ได้มาจากท่อประปานะ มันมาจากป่าที่อยู่หลังบ้านคุณ ออกซิเจนที่มันฟอกอากาศให้เรา สร้างไอน้ำให้กลายเป็นก้อนเมฆให้ฝนตกในเมือง ทั้งหมดมันมาจากป่าผืนนี้ ซึ่งเราอธิบายได้แต่คนจะไม่เข้าใจจนกว่าจะไปเห็นมัน เหมือนเราเคยไปเดินป่าช่วงตอนปลายฝน ฝนตกในป่ามันสวยมากแล้วเราจะเห็นเลยนะว่าความชื้นมันลอยขึ้น กลายเป็นเมฆกลั่นตัวกลายเป็นเมฆฝน แล้วฝนก็ตกมาอีกหุบหนึ่ง อันนี้ถ้าทุกคนได้เห็นจะเข้าใจเลยว่ามันมีคุณค่ามากๆ 

 

City Cracker : อยากให้ลองยกตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจภาพงานออกแบบตรงนี้ได้มากขึ้น 

ศุภวุฒิ: ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่เชียงใหม่กำลังเผชิญ คือดอยสุเทพมันเป็นต้นน้ำลำห้วย 7 เส้น เพื่อไหลลงหล่อเลี้ยงเมือง เข้าสู่ระบบคูคันคลองแล้วก็ล้นออกมาลงแม่น้ำปิง  ในอดีตคนเข้าใจเรื่องนี้เพราะคนยังอยู่กับธรรมชาติ มีการออกแบบพิธีกรรมพร้อมๆ กับการออกแบบเมือง ไหว้ผีบนดอย ผีขุนห้วย วัดแต่ละวัดเขาจะมีโครงสร้างการจัดทำพิธีกรรมอะไรสักอย่างเพื่อยึดโยงคนเข้ากับแม่น้ำลำห้วย อันนี้คือการออกแบบทั้งกายภาพ จิตวิญญาณ สังคม ชุมชน มันอยู่ในระนาบเดียวกัน 

แต่เมืองสมัยใหม่ คลองไม่ได้มีหน้าที่แบบเดิม เพราะเราสูบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าระบบกรองและไหลสู่ท่อประปา คนก็มองคลองเป็นแค่ทางระบายน้ำเสีย ถ้าเราเอา human centric และมองเอาแค่ฟังก์ชันคลองว่าคือทางระบายน้ำ เรามองคลองให้กลายเป็นแค่ที่ระบายน้ำของเมือง แล้วทำให้สวย ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ากลับกัน ถ้าเรามองเป็น environmental-centric ว่าคลองคือสะพานนิเวศที่เชื่อมโยงนิเวศของภูเขากับแม่น้ำปิง แบบลูกไม้หล่นลงมาก็ไหลตามมา การเคลื่อนที่ของสัตว์หากิน โลกทัศน์เราก็เป็นอีกแบบ ไม่ใช่แค่พื้นที่ลานริมน้ำให้คนเล่นสเก็ต มาแค่ออกกำลังกาย แต่เราทิ้งพื้นที่ให้มีความรกชัฏเพื่อให้ตะพาบเข้าไปอยู่ได้ เพื่อให้เต่าไปอยู่ได้ มีโพรงให้พังพอนอยู่ อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่า universal design จักรวาลนี้มีผู้อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์อยู่ด้วย ตอนนี้งานดีไซน์รูปแบบนี้เป็นแค่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย กับเด็กและคนชรา แต่เราลืมธรรมชาติและสัตว์ที่อยู่รอบตัวเราในเมืองไปด้วย 

 

City Cracker: ท้ายที่สุดแล้วป่าเองก็เป็นได้มากกว่าพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พักผ่อนใช่ไหม

ศุภวุฒิ:  ใช่ มีหลายฟังก์ชันซ้อนกันอยู่ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ เหมือน forest school ของเด็กๆ เป็นพื้นที่ที่ให้คนมาเดินป่า อาบป่าก็ได้ วิ่งหรือเดินตามเส้นทางธรรมชาติก็ได้ หรือว่าเป็นพื้นที่แบบจารึกจิตวิญญาณ ก็ได้ เพราะคนเชียงใหม่ก็เชื่อว่าดอยสุเทพเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการที่คนเข้าไปคนก็จะไม่เอะอะเสียงดัง ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นที่ที่มีจิตวิญญาณ มันเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีมิติทั้งกายภาพและจิตวิญญาณเหล่านี้ซ้อนกันอยู่ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญมาก 

อย่างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับคือตอนทำงานฟื้นฟูคลองแม่ข่า เราศึกษามาว่ามันมีลำห้วย 7 เส้น ไหลมาจากดอยสุเทพก่อนเข้าระบบคูคันคลอง คูเมืองของเรา พอพี่ไปเดินบนดอยเส้นห้วยคอกม้าแล้วเจอลำน้ำที่ออกมาจากตาน้ำ (ทางน้ำเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) แล้วเราก็แบบ โอ้โห ของจริงมันเป็นแบบนี้นี่เอง แล้วตอนนั้นไปกับเด็กๆ ด้วยก็อธิบายให้เด็กๆ ฟัง อันนี้มันคือการเรียนรู้ของเด็กที่เราไม่ต้องสอน แต่คือชุดประสบการณ์ที่เขาสามารถปะติดปะต่อได้เอง เรารู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้มีค่าในแง่มุมในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่จะเป็นประตูไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป

 

Photo by Supawut Boonmahathanakorn
Share :