รู้หรือไม่ว่ามีแมลงบางตัวสามารถทำเสียงดังเทียบเท่ากับเสียงของจราจรที่พลุกพล่าน แล้วลองคิดดูว่าถ้าเสียงนั้นมาร้องอยู่รอบๆ บ้านเราเป็นอาทิตย์ แค่คิดดูก็แทบจะทนไม่ไหว หาหูฟังมาใส่ครอบหัวไว้ แต่หากนึกดูว่านับจากปีนี้ไปอีกถึง 17 ปีเราถึงจะได้ยินเสียงมันอีกครั้ง ก็ไม่แย่นักถ้าจะลองฟังเสียงพวกมันสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ก่อนที่เราจะไม่ได้เจอกันอีกแสนนาน
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวเมืองทางตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทักทายกับฝูงจักจั่นนับพันล้านตัว ที่โผล่ขึ้นมาจากใต้ดินในชื่อ Broods X หรือ Broods Ten ซึ่งการตั้งชื่อ Broods ตามด้วยตัวเลขจะเป็นชื่อรุ่นของ Periodic cicadas ที่มีคาบการเจริญเติบโตยาวนาน 17 ปี และ 13 ปี ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะสลับกันออกมาในแต่ละพื้นที่ ในปี ค.ศ. 2021 นี้ก็เป็นคิวของ Broods X
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยเจอกับจักจั่นรุ่นนี้ เพราะระยะเวลาฟักตัวยาวนานทำให้มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบกับพวกมัน และไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกดีกับพวกมัน แต่ถึงอย่างนั้นจักจั่นเหล่านี้ก็ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร มันไม่สามารถเอางวงไปกัดคนหรือสัตว์ (โอเค ก็มีที่กัดต้นไม้เล็กๆ จนตายไป แต่ต้องไม่ลืมเอาตาข่ายมาคลุมต้นไม้ไว้) พิษก็ไม่มี ทำได้อย่างดีก็คือการเกาะลอกคราบตามต้นไม้หลังปีนขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อทำภารกิจยิ่งใหญ่ คือการสร้างจักจั่นรุ่นใหม่ของตัวเอง เพื่อในอีก 17 ปีข้างหน้า Broods X จะขึ้นมาบนดินและดำเนินวัฏจักรนี้อีกครั้ง
จักจั่นเหล่านี้มากจากไหนกันเยอะแยะ แล้วจักจั่นไปอยู่ที่ไหนมา
จักจั่นเป็นแมลงที่ฟักตัวอยู่ใต้ดิน และใช้เวลาฟักตัวยาวนาน มันจะกินน้ำเลี้ยงของรากพืชจนร่างกายเติบโตจนพร้อมออกมาใช้ชีวิตเหนือดิน ตัวอ่อนจักจั่นจะทำโพรงนำร่องไว้ จนอุณหภูมิเหมาะสมถึงจะปีนออกมาจากใต้ดิน แล้วไปลอกคราบอยู่บนต้นไม้ที่ใกล้ที่สุด จากนั้นจักจั่นตัวผู้จะเริ่มส่งเสียงร้องโดยการขยับพุงให้กระทบกันจนเกิดเสียง เป็นเสียงหริ่งๆ ที่เราได้ยินกัน ซึ่งเป็นการเชิญชวนตัวเมียให้เข้ามาดูความเท่ของมัน ถ้าชื่นชอบกันก็จะจับคู่ผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์กันเสร็จตัวเมียก็จะไปหาต้นไม้ที่เหมาะสม และขูดผิวต้นไม้ออกเพื่อวางไข่ ตัวพ่อแม่ก็จะตายลงกลายเป็นปุ๋ยดีให้กับต้นไม้ ส่วนตัวอ่อนก็จะเติบโตและคลานลงไปอยู่ใต้ดิน จักจั่นมีระยะเวลาอยู่ใต้ดินที่แตกต่างกันออกไป ในสหรัฐอเมริกามีทั้งจักจั่นที่จะออกมาผสมพันธุ์ทุกปี และมีออกมาผสมพันธ์เป็นคาบยาว 13 และ 17 ปี
นั่นคือวงจรแห่งชีวิตของจักจั่น แต่ว่าไม่ใช่ทุกตัวจะได้สานต่อภารกิจเพื่อสืบสายพันธุ์ มีจักจั่นมากมายที่ต้องจบชีวิตไปก่อนจะได้พบคู่ จากความงงๆ เดินช้าๆ แถมจักจั่นยังเกาะไปทุกๆ ที่ที่มีต้นไม้โดยไม่ได้ดูอันตราย จักจั่นจึงเป็นเหยื่อที่ผู้ล่าไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก รวมไปถึงมนุษย์เช่นชาวไทยที่ไม่พลาดจะนำเอาจักจั่นมาเป็นอาหารแสนอร่อย จักจั่นเป็นเมนูเสริมธาตุอาหารชั้นดี ไม่ว่าจะเอาไม่ทอด หรือต้มกับผักหวานก็อร่อยทั้งนั้น ในการล่าจักจั่นจะออกไปหาตอนกลางคืน โดยจะสังเกตที่ใต้ต้นไม้ว่าต้นไหนมีหยดน้ำเล็กๆ เหมือนฝนก็จะรู้ได้เลยว่า ให้เตรียมเขย่าต้นไม้จับจักจั่นได้ ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้จักจั่นมักเลือกที่จะทิ้งช่วงการสืบพันธุ์อย่างยาวนานเพื่อหลบเลี่ยงผู้ล่า และสร้างโอกาสในการรอดชีวิตของรุ่นต่อๆ ไปให้มีมากขึ้น
การมาถึงของจักจั่นเป็นเหมือนสัญญาณเริ่มต้นฤดูร้อน เสียงจั่นจั่นที่ดังไปทั่วดูจะอยู่ในความทรงจำหลายๆ คน จักจั่นยังเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของนักร้องดัง Bob Dylan ในเพลง Day of the Locusts แม้ว่าเขาจะเข้าใจว่าเสียงที่เขาได้ยินในระหว่างช่วงหน้าร้อนเป็นเสียงตั๊กแตนแทนเสียงจักจั่น หรืออย่างประเทศที่มีความละเอียดอ่อนอย่างญี่ปุ่น ก็มีการจัดจำแนกประเภทเสียงร้องของจักจั่นแต่ละพันธุ์ไว้ ไม่ว่าจะจิน จิน – มิน มิน หรือ คัทซึ คัทซึ โบชิ แต่ละสายพันธุ์ล้วนมีการตีความออกมาเป็นเสียงเฉพาะตัว สำหรับในญี่ปุ่นแมลงไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่จะออกมาเดินตามทุ่งในฤดูร้อนพร้อมกล่องใส่แมลง พากันเหวี่ยงสวิงเพื่อจับแมลงมาสะสม หรือถ้าใครเป็นแฟนอนิเมะหรือเกมจากญี่ปุ่นก็จะคุ้นเคยกับการใส่เสียงจักจั่นเป็นแบคกราวน์อย่างแน่นอน
ไปลองฟังเสียงจักจั่นกันที่ https://www.epidemicsound.com/track/ziGnnQ68hS/?_us=adwords&_usx=11304661669_&gclid=CjwKCAjwqvyFBhB7EiwAER786XX51tYTz2n45YgA8KX-CtgdhK0AkC8dSN1qQKEnnnsBd3RUKRegGBoCLuAQAvD_BwE
จั่น จั่น จะอยู่อย่างไรในเมื่อป่าธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยป่าคอนกรีต
ในประเทศไทยก็มีจักจั่นหลายชนิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สำหรับในพื้นที่เมืองเราแทบไม่ได้ยินเสียงจักจั่นกันแล้ว ในปี ค.ศ. 2017 มูลนิธิโลกสีเขียวได้ทำการเก็บข้อมูลจักจั่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเอาไว้ ซึ่งจากผลสำรวจจะเห็นว่าพื้นที่ในเมืองที่พบจักจั่นนั้นค่อนข้างจำกัด และจะสัมพันธ์กับกลุ่มพื้นที่สีเขียวที่มีในเมือง เพราะพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ก็คือพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย และสืบพันธุ์ของเหล่าจักจั่น
แต่เมื่อการพัฒนารุกคืบเข้ามา การต้องตัดถางต้นไม้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสหรัฐอเมริกาเองเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ให้กลายเป็นถนนและร้านค้าจะส่งผลให้จักจั่นในพื้นที่นั้นหายไป เพราะการตัดต้นไม้และบดอัดดิน ทำให้แมลงในดินทั้งหลายต้องอดอาหารและถูกฝังทั้งเป็นอยู่ใต้ดินโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
การสูญเสียแหล่งที่อยู่เป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงของประชากรแมลง และภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ยิ่งเป็นแรงกดดันในระยะยาว เพราะแมลงอย่างจักจั่นใช้อุณหภูมิและคาบการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเป็นตัวกระตุ้นให้เติบโตและเป็นสัญญาณให้ออกมาจากดิน การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้วงจรชีวิตเปลี่ยนไป คือกระทบต่อการสืบพันธุ์ของแมลง ทั้งพื้นที่พืชพรรณที่อาจถูกทำลายลง แม้จะมีความพยายามในการทดแทน แต่ความซับซ้อนและหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่พัฒนามาเป็นเวลานานนั้นไม่สามารถทดแทนด้วยการสร้างใหม่ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้
แนวทางการอนุรักษ์ในทุกวันนี้เชื่อกันว่า การอนุรักษ์จะต้องไม่เพียงอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต แต่จะต้องอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ แหล่งอาหารไว้ด้วย เช่นเดียวกับมนุษย์ เราจะอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีที่อยู่อาศัยและอาหารให้กิน อนาคตของแมลงหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เรามองข้ามไป อาจคาบเกี่ยวอยู่บนการตัดสินใจของเรา อย่างการตัดสินใจใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ในวันนี้ แต่ผลกระทบที่ตามมาในอนาคตใครจะเป็นคนที่มองเห็นมัน
มันยากที่จะรู้เหมือนกันว่าในครั้งหน้าที่จักจั่นได้โผล่ออกมาจากดินอีกครั้งโลกจะเป็นอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.scientificamerican.com/article/brood-x-cicadas-are-emerging-at-last1/
https://features.japantimes.co.jp/cicada/
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/14-fun-facts-about-cicadas-180977361/
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/brood-x-cicadas-actually-good-fear-not
https://www.vox.com/22385700/brood-x-cicadas-birds-forest-ecosystem
https://theconversation.com/billions-of-cicadas-may-be-coming-soon-to-trees-near-you-154780
https://www.nps.gov/articles/000/cicadas-brood-x.htm
https://www.technologychaoban.com/folkways/article_101689