ในบริบทเมืองทะเล ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของชุมชน เป็นพื้นที่ที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตและพื้นที่พักผ่อนสาธารณะ ปกติแล้วทรายหาดมักเกิดการกัดเซาะทำให้หาดหายไปในบางช่วง จึงมีการนำมาตรการกำแพงกันคลื่นมาใช้เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่บริเวณชายหาดไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ยังส่งผลเสียหลายอย่างตามมาด้วย
จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ทำให้ น้ำนิ่ง – อภิศักดิ์ ทัศนี และกลุ่มเพื่อน ได้ก่อตั้งเพจ Beach for life ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชายหาด วิธีการรักษาและดูแลชายหาดเพื่อให้ระบบนิเวศของชายหาดเปลี่ยนไปน้อยที่สุด รวมถึงแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อมาตการการสร้างกำแพงกันคลื่น จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #saveหาดม่วงงาม ขึ้นมา Beach for life จึงเป็นกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ชายหาด รวมถึงเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชายฝั่ง และอยากรักษาพื้นที่ริมหาดไว้ให้คงอยู่ตามเดิม
City Cracker ชวนคุยกับ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Beach for life เพื่อทำความเข้าใจถึงบริบทชายหาดและเมือง รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของหาดทราย แนวทางแก้ไขจากปัญหาที่เกิดจากการสร้างกำแพงกันคลื่น และมาตราการรักษาหาดทรายที่ควรจะเป็นในอนาคต เพื่อรักษาชายหาดให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของชุมชนต่อไป
City Cracker: Beach for life คืออะไร เริ่มต้นมายังไง
Beach for life: Beach for life ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 มีจุดประสงค์คือการส่งเสริมความรู้ว่าชายหาดมีระบบนิเวศเป็นอย่างไร และคัดค้านไม่ให้มีโครงสร้างแข็งไปวางบนชายหาดที่ไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะเรามองว่าพื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่มากที่มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ มีการงอกเพิ่มขึ้น มีการหดเข้ามาตามฤดูกาลของเขา และชายหาดในประเทศไทยมันมีความหมายต่อคนไทยในแง่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่เข้าไปแล้วผ่อนคลาย เป็นพื้นที่แห่งความสุขของทุกๆ คน เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด เราจะไปนั่งพักผ่อนตอนไหนที่หาดไหนก็ได้ ช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ เรามองว่ามันควรเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติแบบนี้เอาไว้ อีกความสำคัญคือชายหาดมันเป็นปราการที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องแผ่นดินที่อยู่ข้างหลัง ถ้าเราไปสร้างโครงสร้างแข็ง หรือสิ่งปลูกสร้างไปป้องกันไว้ กระบวนการทางธรรมชาติของหาดทรายก็จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบตามมา
อันนี้เป็นองค์ความรู้ที่สังคมไทยในช่วงยุคปี 2555 ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องเหล่านี้มากนัก เราเลยมองว่า Beach for life ควรจะเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ไปให้กับคนในสังคม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อที่จะให้คนในสังคมได้เข้ามาดูแลพื้นที่ชายฝั่งผ่านกระบวนการ เช่น การทำ beach zoning ที่จะแบ่งการใช้ประโยชน์ของคน การกำหนดแนวถอยร่น หรือการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากท้องถิ่นเพื่อให้การใช้ประโยชน์ชายหาดสอดคล้องกับชุมชนมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเช่นการสร้างกำแพงกันคลื่น
City Cracker: แล้วตอนนี้ชายหาดกำลังเจอปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่และหนักที่สุด
Beach for life: ถ้าพูดในมุม Beach for life ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็เป็นปัญหาที่ที่รุนแรงลำดับต้นๆ ของประเทศไทยในเวลานี้ เพราะว่านโยบายรัฐที่เข้าไปสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแล้วมันทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาเรื่องชายหาดก็มีหลายเรื่อง เรื่องขยะทะเลก็เป็นปัญหาหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการรุกล้ำพื้นที่ก็เป็นปัญหาทั้งหมดเลย แต่มุมของ Beach for life คือโฟกัสเฉพาะการป้องกัน หรือการแก้ปัญหาของรัฐที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง เพราะเราไม่เห็นด้วยกับมาตรการหรือแนวทางแบบนั้น
City Cracker: ปัญหาการกัดเซาะมีกี่แบบ มีอะไรบ้าง
Beach for life: เวลาเราพูดถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะมีการกัดเซาะ 2 รูปแบบ การกัดเซาะจากฝีมือมนุษย์ที่มนุษย์ไปสร้างโครงสร้างแข็งกันแล้วทำให้เกิดการกัดเซาะ กับอีกอันหนึ่งคือการกัดเซาะตามธรรมชาติ โดยปกติตามธรรมชาติก็จะมีการกัดเซาะที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลของเขา คือหาดหดเข้ามา แต่พอผ่านมรสุมไปหาดก็จะกลับมาเติมเต็มชายฝั่งเหมือนเดิม อันนี้เราเรียกว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงตามชายฝั่งตามธรรมชาติ ไม่นับเป็นการกัดเซาะที่สูญเสียที่ดิน แต่ว่าหน่วยงานรัฐหรือคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า พอหาดมันกัดเซาะในช่วงมรสุมมาถึงเขตถนนหรือเขตที่ดินต้องรีบสร้างโครงสร้างแข็งไปป้องกัน ทั้งสร้างกำแพง สร้างเขื่อนรูปแบบต่างๆ ทำให้ปัญหาการกัดเซาะที่เคยเป็นปัญหาชั่วคราวกลายมาเป็นปัญหาการกัดเซาะระยะยาว แล้วเราก็สูญเสียหาดทรายไปเลย
ปัจจัยหลักที่ทำให้หาดกัดเซาะคือโครงการของรัฐ ตั้งแต่มีการเพิกถอนโครงการก่อสร้างประเภทกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระบาดบนชายหาดกว่า 74 โครงการ ระยะทางรวมกว่า 34 กิโลเมตร มีงบประมาณที่ทิ้งลงไปสำหรับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น 6,900 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมปี 63-65 ที่เพิ่งเบิกจ่ายไปในปัจจุบัน
City Cracker: จากงบประมาณที่รัฐลงทุนไปกับกำแพงกันคลื่นสะท้อนถึงอะไรบ้าง
Beach for life: พอลองไปย้อนดูผ่านการทำข้อมูลหรือเก็บรวบรวมข้อมูลกำแพงกันคลื่น เราจะพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 กำแพงกันคลื่นมีตัวเลขที่มีมูลค่าการก่อสร้างก้าวกระโดดมากขึ้น จากสถิติในปี 2534 ในระยะ 1 กิโลเมตรนั้นกำแพงกันคลื่นเคยมีราคา 10 ล้านบาท แต่พอเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกไปในปี 2561 เราพบว่ากำแพงกันคลื่นมีมูลค่า 117 ล้านบาทต่อกิโลเมตร อันนี้สะท้อนเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ ความเยอะในการใช้จ่ายงบประมาณ และปัญหามันก็ยังเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่ากำแพงกันคลื่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริงๆ แต่ว่ากลับเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
อย่างกรณีหาดเกาะแต้ว จะเห็นว่าภาพชายหาดเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ยังเป็นหาดทรายอยู่ มีกำแพงกันคลื่นอยู่นิดนึงตรงช่วงที่ด้านท้าย หลังจากนั้นกำแพงกันคลื่นก็ทำให้เกิดการกัดเซาะ จึงต้องถมหิน ถมกำแพงกันคลื่นต่อ แล้วก็ถมต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายความยาวตรงนี้กลายเป็นโครงการ 3 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 300 กว่าล้านบาท อย่างหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค สงขลา หาดไม่ได้มีการกัดเซาะ แต่ก็มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น พอสร้างกำแพงกันคลื่นมันก็เกิดการกัดเซาะ ถนนก็พัง แล้วก็ต้องถมกินต่อไปเรื่อยๆ
City Cracker: แปลว่ากำแพงกันคลื่นไม่ได้ช่วยในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเลย แต่ยิ่งทำให้เป็นปัญหาในการกัดเซาะมากขึ้นไปอีก
Beach for life: ในทางข้อมูลวิชาการถ้าหาดมีการกัดเซาะจริงๆ กำแพงกันคลื่นช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ด้านหลังของกำแพงกันคลื่นได้ เราสร้างกำแพงกันคลื่นไว้ช่วยป้องกันได้ แต่ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา เช่นผลกระทบของการที่คลื่นกระโจนข้ามกำแพงมาแล้วเกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณท้ายโครงการ เพราะการสร้างกำแพงกันคลื่นระยะแค่ 100 เมตร แต่มันจะเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องไป 120 130 จนถึง 200 เมตร ทำให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามันพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าหาดมีการกัดเซาะมากจนประชาชนเดือดร้อน และไม่มีมาตรการอื่นแล้ว กำแพงกันคลื่นถือเป็นทางออกที่ใช้ได้ แต่ก็ต้องควบคุมผลกระทบท้ายทายน้ำที่จะเกิดขึ้นให้ได้ เช่น การทำโครงสร้างให้ลู่เข้าหาฝั่งมากขึ้น การปักไม้ การถมทราย หรือ การให้พื้นกัดเซาะตรงนั้นกัดเซาะอย่างเต็มที่ไปเลย เเล้วไม่ต้องสร้างซึ่งอาจหมายถึงถ้าเป็นที่สาธารณะก็ปล่อยให้กัดเซาะไป ถ้าเป็นที่เอกชนที่ไม่มีคนอยู่ก็เวรคืนที่ติด เพื่อหยุดการกัดเซาะเเบบโดมิโน่
แต่ที่ผ่านมามีหลายกรณีมากที่หาดไม่ได้กัดเซาะแต่สร้างกำแพงกันคลื่น เช่นกรณี #saveหาดม่วงงาม คือหาดงอกสะสมปีนึง 1.9 เมตรต่อปี แต่กรมโยธาธิการก็สร้างกำแพงกันคลื่น ที่หาดดอนทะเลชายหาดงอกปีนึง 3 เมตรกว่า กรมโยธาฯ ก็สร้างโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น หรือที่หาดมหาราชก็ไม่ได้กัด กัดแค่เป็นจุดๆ เป็นกัดชั่วคราว เกิดปีเดียวคือปี พ.ศ. 2559 แล้วปีอื่นไม่กัดเลย แต่กรมโยธาธิการก็ไปสร้างกำแพงกันคลื่น ตรงนี้มันเปลี่ยนชายหาดเดิมให้กลายเป็นคอนกรีตเป็นหิน แล้ววิถีชีวิตของคนก็ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
City Cracker : แล้วประเภทของกำแพงกันคลื่นมีทั้งหมดกี่แบบ แตกต่างและส่งผลกระทบอย่างไร
Beach for life: กำแพงกันคลื่นมีทั้งหมด 6 แบบ รูปแบบที่ 1 เป็นกำแพงกันคลื่นแบบใส่กล่องกระชู้หิน รูปแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ รูปที่ 2 คือกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได รูปแบบที่ 3 เป็นกำแพงกันคลื่นรูปแบบเรียงหินใหญ่ รูปแบบที่ 4 เป็นกำแพงกันคลื่นแบบกระสอบทราย รูปแบบที่ 5 เป็นกำแพงกันคลื่นแบบตุ๊กตาญี่ปุ่น เป็นลักษณะของการไขว้กันโดยไม่ใช้ตะปูทำให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรง สุดท้ายรูปแบบที่ 6 เป็นโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง
ถ้าจะพูดถึงความรุนแรง ทุกรูปแบบรุนแรงหมด แม้หน้าตาต่างกันแต่ส่งผลกระทบเหมือนกัน หนึ่งคือเมื่อคลื่นมาปะทะมันจะกระโจนข้ามกำแพง สองคือเมื่อคลื่นปะทะกำแพง มันจะกระชากทรายหน้ากำแพงออกไป ทำให้ท้ายที่สุดไม่ว่ากำแพงกันคลื่นแบบใดสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผลกระทบด้านท้ายน้ำแน่ๆ เพราะถ้าโครงสร้างที่มันรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ทะเลค่อนข้างมาก ก็จะเกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำค่อนข้างมาก คือถ้าสร้างลงไปในน้ำมาก ผลกระทบก็มากขึ้น ถ้าสร้างลงไปในน้ำน้อย อยู่กับชายหาดมากก็จะมีผลกระทบน้อย เพราะพอคลื่นมันวิ่งเข้ามาพลังงานจะหมดและไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อไปได้
City Cracker: ในการสร้างกำแพงกันคลื่นแต่ละครั้ง รัฐได้มีการจัดทำประชามติหรือรับฟังความเห็นชุมชนอย่างไรบ้าง
Beach for life: ขอยกตัวอย่างกรณีหาดดอนทะเล ที่หาดดอนทะเลเขามีการจัดรับฟังความคิดเห็น เดิมทีชาวบ้านเอาโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทุกคนเลย เพราะคนที่เข้ามาทำบอกว่าถ้าไม่สร้างกำแพงกันคลื่น อีก 25 ปี หาดดอนทะเลจะกัดเซาะไปจนถึงบ้านชาวบ้าน แต่ถ้าสร้างกำแพงกันคลื่นมันจะช่วยป้องกันถนนและทรัพย์สินของชาวบ้านได้ แต่เขาไม่ได้บอกข้อเสียว่าถ้าสร้างกำแพงกันคลื่นแล้ว คลื่นมันจะโถมเข้ามาปะทะกับกำแพงแล้วกระโจนเข้าบ้านเขา เขาไม่ได้บอกว่าถ้าสร้างกำแพงกันคลื่นแล้ว บริเวณจุดสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อันนี้คือสิ่งที่รัฐจัดเวที มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แต่บอกไม่หมดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกำแพงกันคลื่นเป็นอะไรบ้าง
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกต คือทุกๆ ครั้งที่มีการจัดเวลาทีรับฟังความคิดเห็น หน่วยงานจะมีทางเลือกอยู่แค่ทางเลือกเดียว คือกำแพงกันคลื่น และไม่มีการเสนอมาตรการอื่น ซึ่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันคลื่นรูปแบบไหน มันส่งผลกระทบหมดเลย ทั้งที่จริงๆ การกัดเซาะชายฝั่งมันไม่ได้จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นเสมอไป มันยังมีมาตรการอื่นอีกเยอะแยะมากมายในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น ถ้ากัดชั่วคราวแค่ปีเดียว อาจจะออกเป็นแค่พระราชบัญญัติท้องถิ่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งก็ได้ อย่างชายหาดม่วงงามก็มีแค่การปักไม้ วางกระสอบทรายเป็นครั้งคราวแล้วรื้อออกภายหลัง หรือกรณีหาดชลาพัดหรือพัทยาก็มีมาตรการเติมทราย หรือบางพื้นที่ไม่มีบ้านคนติดชายหาด อย่างหาดสมบูรณ์ที่สุราษฎร์ธานี เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไร อาจจะแค่กำหนดแนวถอยร่นเพื่อรักษาพื้นที่ชายหาดไว้ก็ได้
City Cracker: ถ้าอย่างนั้นแล้วปัญหาที่ติดอยู่ที่ทำให้เรามีแค่มาตรการการสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างเดียวคืออะไร
Beach for life: ปัญหามันอยู่ที่วิธีคิดการจัดการและไม่ยอมใช้วิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา เรื่องขององค์ความรู้ ความเข้าใจของฝั่งนโบายที่ไม่แข็งแรงมากพอที่จะใช้มาตรการที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น การทำ sand bypassing คือเวลาเราสร้าง safety ปากร่องน้ำ มันจะมีทรายมาถมข้างนึง เกิดการกัดเซาะข้างนึง เราจะต้องถ่ายเททรายจากข้างที่ทับถมไปสู่ข้างที่ไม่ทับถม เพราะทรายจะเคลื่อนที่เข้าเคลื่อนที่ออกตามคลื่นลม ทีนี้พอมีโครงสร้างไปดักทรายไว้มันก็ติดข้างหนึ่งแล้วก็ดักข้างหนึ่ง เวลาจะแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็ต้องถ่ายเททราย คือย้ายทรายจากฝั่งที่ติดให้มาฝั่งที่กัดเซาะ ฝั่งที่ทับถมให้มาฝั่งที่กัดเซาะ ปัญหาก็คือว่าหน่วยนโยบายก็จะเกิดคำถามว่าสร้างโครงสร้างไปแล้ว ทำไมยังต้องทำมาตรการแบบนี้เพิ่มเติมด้วย ทำไมมันไม่ทำแล้วให้เสร็จไปเลย ทำไมไม่จบในครั้งเดียว
City Cracker : ถ้าอย่างนั้นเรามีวิธีป้องกันจัดการยังไงได้บ้างโดยไม่ใช่กำแพงกันคลื่น
Beach for life: อย่างที่บอกว่าการป้องกันชายฝั่งไม่ได้มีมาตรการเดียว วิธีเดียวที่จะบอกว่าเมื่อเกิดการกัดเซาะต้องสร้างกำแพงกันคลื่น มันมีข้อเสนอทางวิชาการเรื่องการปักไม้ การเติมทราย หรือมาตรการชั่วคราว หรือถ้าตรงไหนไม่มีที่อยู่ของประชาชน ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีทรัพย์สินทางราชการ ก็ไม่ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นไปเลย ไม่ใช่ว่ามีการกัดเซาะแค่นิดนึงก็เอาโครงการไปลงแล้วบอกว่ามันจำเป็นต้องสร้าง อย่างหาดดอนทะเลมีการกัดเซาะแค่ปี พ.ศ. 2559 หลังจากนั้นไม่เคยกัดอีก มีหาดงอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเอาสถิติการทับถมและการกัดเซาะมาดูในภาพรวม เราพบว่าหาดมันทับถมเฉลี่ยปีละ 3.32 เมตร ซึ่งแบบนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่น แต่สามารถสร้างมอนิเตอร์ติดตามเพื่อให้ชายหาดปรับสมดุลตัวเอง และไม่สร้างโครงสร้างไปรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง กรณีนี้ก็เป็นมาตรการใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกำแพงกันคลื่น
City Cracker: แล้ววิธีการจัดการกับชายหาดตามธรรมชาติก็คือปล่อยให้ชายหาดอยู่ตามธรรมชาติ จนกว่าจะเป็นปัญหาหนักจริงๆ ค่อนเข้าไปจัดการ ?
Beach for life: ใช่ เพราะปัญหาคือเราเข้าไปอยู่ใกล้พื้นที่ทะเลมากเกินไป ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาสำหรับเรา ในต่างประเทศ เช่น ศรีลังกามีมาตรการกำหนดแนวถอยร่น ออสเตรเลียมีพื้นที่ sand dune เขาก็เว้นไว้ให้หาดมันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปสร้างโครงสร้างอะไร แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการแบบนี้เกิดขึ้นเลย ทั้งที่นักวิชาการพูดมาเป็นสิบปี แต่ว่าปัจจุบันก็ไม่เกิด เรายังเห็นมาตรการแบบเดิมก็คือการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ทั้งกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างอื่นๆ
City Cracker: ถ้าหาดนั้นสร้างกำแพงกันคลื่นไว้แล้วรื้อถอนภายหลัง หาดจะกลับมาปรับสมดุลได้ตามธรรมชาติเหมือนเดิมไหม
Beach for life: ตอบยากมากเลยนะ เพราะสมดุลมันเปลี่ยนไปแล้ว คือหมายถึงพอสร้างกำแพงกันคลื่นไปแล้วระยะหนึ่ง คลื่นซัดเข้ากับกำแพง กระชากทรายออก ท้องน้ำข้างหน้ากำแพงมันลึก ถ้าบอกว่ารื้อออกแล้วทรายมันจะกลับมาสะสมก็อาจจะไม่ใช่ อาจเกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ ดังนั้นถ้าสร้างไปแล้วรื้อออก คงต้องฟื้นฟูและเยียวยาระดับมากแบบมากๆ ถ้าเราไม่สร้างตั้งแต่ต้นมันก็จะดีกว่า ไม่ต้องไปรื้อถอนให้มันเปลืองงบประมาณ เพราะการรื้อถอนในประเทศนี้เกิดขึ้นยากมาก
City Cracker: ชายหาดกับบริบทชุมชนสัมพันธ์กันอย่างไร และทำไมเราควรถึงรักษาไว้
Beach for life: ถ้าสำหรับคนในชุมชนชายหาดไม่ใช่แค่ผืนทราย แต่มันมีวิถีชีวิต วิถีประมง มีการหาหอย จอดเรือ มีการนั่งพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของเขา มันมีความหมายมากกว่าผืนทราย ดังนั้นการที่รัฐจะไปทำอะไรมันต้องคิดถึงว่าวิถีชีวิตของเขาจะอยู่ต่อไปไหม ถ้าเราเปลี่ยนหาดทรายของเขากลายเป็นกำแพงกันคลื่น มันจะเหลือแท่งคอนกรีต เหลือขั้นบันได เหลือกองหิน ที่สุดท้ายชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ยังไม่รวมการไปตัดตอนเรื่องของระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งที่มีพืชไม้ ป่าชายหาด เพราะว่ามันไม่มีการสะสมตัวของทราย ไม่มีการเกิดการสะท้อนของคลื่น ทำให้คลื่นรุนแรงมากขึ้น ผลที่จะเกิดต่อระบบนิเวศหรือชายหาดในอนาคตก็หายไปเหมือนกัน เพราะกำแพงกันคลื่นถ้าไม่มีความจำเป็นมันอันตรายต่อพื้นที่ชายหาดมากๆ
เวลาสร้างกำแพงกันคลื่นมักมีหนึ่งในเหตุผลคือบอกว่าเป็นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนเป็นเมือง จะได้มีกำแพงแบบขั้นบันไดจะได้ลอยกระทงได้ เอาเข้าจริงๆ มันไปเปลี่ยนระบบนิเวศ วิถีชีวิต อย่างกรณีที่อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดประจวบฯ เป็นหาดสมดุลมีการกัดเซาะอยู่จุดเดียวคือบริเวณสะพานปลา และกัดเซาะไม่ถึง 50 เมตร เนื่องจากมีสะพานปลาและเป็นจุดที่ชุมชนอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง แต่ส่วนที่เหลือของหาดประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ มันไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งเลย แต่กรมโยธาธิการก็ไปทำโครงการก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่นบริเวณนี้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ชุมชนได้มีความรู้สึกเป็นเมือง ให้ความรู้สึกเป็นเมือง ชุมชนจะได้มีพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ แต่ว่าท้ายที่สุดมันทำทำให้อ่าวน้อยสูญเสียหาดทรายไปเลย กลายเป็นกำแพงกันคลื่นแบบคอนกรีตทั้งหมด วิถีชีวิตของคนอ่าวน้อยที่เคยหาหอยริมชายหาด ลากอวน หรือว่างวางอุปกรณ์ริมชายหาดก็หายไป
อย่างกรณีพัทยาเนี่ยพิสูจน์ชัดว่าทำไมถึงเลือกการเติมทราย เพราะว่าหาดพัทยามันมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจ ถ้ามันถูกเปลี่ยนเป็นกำแพงกระสอบ กำแพงคอนกรีต หาดมัน หาดมันก็ไม่เหลือชื่อหาดพัทยาอีกต่อไป ดังนั้นมาตรการที่ดีที่สุดในสำหรับหาดที่เป็นหาดท่องเที่ยว หาดเศรษฐกิจ คือการเติมทราย ซึ่งมาตราการแบบนี้ต่างหากที่สอดรับกับวิถีชีวิตของคน สอดรับกับการท่องเที่ยว กับเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ ไม่ใช่การสร้างแท่นคอนกรีตแน่นอน
City Cracker: แล้วกับวิกฤต climate change ที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก พื้นที่ชายหาดเริ่มมีสัญญาณอะไรบ้างหรือยัง
Beach for life: ชายหาด กับ climate change ในประเทศไทยเป็นลักษณะแบบ long term คือไม่ได้เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบเห็นภายในระยะเวลา 10 ปีหรือเร็วๆ นี้ แต่ว่ามันเป็นภาพที่อาจจะ 100 ปี เราถึงจะเห็นปรากฏการที่ระดับน้ำทะเลมันเพิ่มสูงขึ้นแต่ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้น ณ ตอนนี้เหมือนเป็นตัวเร่ง มีประโยคจาก ผศ.ดร. สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากมหาลัยเกษตร พูดเปรียบเทียบไว้ว่า climate change เหมือนเป็นเข็มสั้น ที่เรามองแต่ละครั้งมันอาจจะไม่กระดิก แต่พอมันกระดิกเนี่ย มันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเลยว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แต่การแก้ไขของภาครัฐที่รุกล้ำพื้นที่ชายหาดมันเปลี่ยนเหมือนเข็มนาทีอะ ที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ว่าจะมองกี่ครั้งก็กระดิก ถึง climate change เป็นเหมือนเข็มสั้นที่นานกว่าจะเปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
- Pharin Opasserepadung
Writer