พื้นที่สีเขียวคือหนึ่งดัชนีที่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ว่า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของเมืองต่อจำนวนประชากรอย่างน้อยคือ 9 ตร.ม./คน ในขณะที่ข้อมูลส่วนใหญ่ในสื่อของไทยระบุว่า คนไทยมีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 6.9 ตร.ม/คน ทำให้เราเข้าใจว่าพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากรในเมืองนั้นมีเพียง 6.9 ตร.ม/คน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก คำถามคือแล้วจำนวนนี้ ใช่ปริมาณที่ถูกต้องของพื้นที่สีเขียวทั้งหมดต่อจำนวนประชากรหรือไม่ และหลักเกณฑ์วัดปริมาณพื้นที่สีเขียวของเมืองกรุงเทพฯ ใช้เกณฑ์อย่างไร
วันนี้ City Cracker จึงได้ชวนภาสุร์ นิมมล และธาริต บรรเทิงจิตร จาก mor and farmer บริษัท ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเพื่อการพัฒนาเมือง ที่ได้ศึกษาและทำการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ we!park แพลต์ฟอร์มพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในเมือง มาพูดคุยถึงประเด็นเรื่องปริมาณและข้อมูลของพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมพาไปเข้าใจหลักเกณฑ์การวัดปริมาณพื้นที่สีเขียวของเมืองอื่นๆ เช่น สิงคโปร์และซานฟรานซิสโก ว่าแต่ละเมืองนั้นมีข้อแตกต่างหรือจุดร่วมอย่างไร และเกณฑ์การวัดพื้นที่สีเขียวแบบไหนที่จะบอกถึงพื้นที่สีเขียวที่ดี
ตามนิยามของกรุงเทพมหานคร ‘พื้นที่สีเขียว’ คือพื้นที่ตามแผนแม่บทพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ปี 2546 ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียว 2 ประเภทหลัก คือ 1) พื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบสวนสาธารณะ แบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ สนามกีฬากลางแจ้ง สนามกอล์ฟ แหล่งน้ำ ที่ลุ่ม ที่ว่าง พื้นที่ไม้ยืนต้น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่อื่นๆ และ 2) พื้นที่สีเขียวที่อยู่ในรูปแบบสวนสาธารณะ/สวนหย่อม ได้แก่ สวนสาธารณะเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน สวนหย่อมขนาดเล็ก และสวนที่ไม่ได้ระบุประเภท ซึ่งทั้งหมดนี้คือประเภทที่กทม. นิยามว่าเป็นพื้นที่สีเขียว
แต่ตัวเลข 6.9 ตร.ม./คน (หรือตามข้อมูลปี 2564 จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลและระบบติดตามผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ระบุว่า พื้นที่สีเขียวต่อประชากรของกรุงเทพฯ ได้เพิ่มมาอยู่ที่ 7.3 ตร.ม./คน) นั้น เป็นตัวเลขที่คำนวณเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในรูปแบบสวนสาธารณะ/สวนหย่อม รวมถึงพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังไม่ได้คิดรวมความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชากรในเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญ เนื่องจากบางพื้นที่ไม่ใช่พื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น สวนถนน หรือสวนเกาะกลางถนน
แม้ว่าพื้นที่สีเขียวจากการรายงานของกทม. จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่สีเขียวนั้นได้นับรวมพื้นที่สาธารณะที่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ด้วย เช่น สวนถนนที่ไม่สามารถเข้าไปใช้งาน หรือทำกิจกรรมนันทนาการได้ หรือพื้นที่สีเขียวของเอกชน จากการศึกษาของ mor and farmer ที่ได้ศึกษาพื้นที่สาธารณะสีเขียว (Green Public Space) โดยคัดกรองพื้นที่ฯ ที่น่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวจากฐานข้อมูลของกทม. พบว่า ปริมาณพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ตร.ม./คน และสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะรัศมี 400 เมตร หรือเดินประมาณ 5 นาที อยู่ที่ 38% โดยอิงตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คือพื้นที่สาธารณะสีเขียวต้องสามารถเข้าถึงได้ 100%
นอกจากพื้นที่สีเขียวจะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในเมือง พื้นที่สีเขียวยังมีบทบาทสำคัญในมิติอื่นๆ ทำให้หลักเกณฑ์ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะสีเขียวนั้น มีมากว่าตัวชี้วัดเรื่องปริมาณและการเข้าถึง เช่นในสหรัฐฯ มีโครงการ ParkScore index, Trust for Public Land (TPL) ที่ได้ศึกษาพื้นที่สวนสาธารณะของสหรัฐฯ กว่า 100 เมือง โดยใช้หลักเกณฑ์ประกอบการศึกษาเพื่อกำหนดคุณภาพปริมาณพื้นที่สาธารณะสีเขียวทั้งหมด 5 เกณฑ์ คือการเข้าถึง (Access) ขนาด (Acreage) การลงทุน (Investment) สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสวน (Amenities) และความเท่าเทียม (Equity) ทำให้เห็นว่าของเกณฑ์ของพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีเพียงเรื่องปริมาณและการเข้าถึงเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบ
ทั้งนี้ หากคำนวณปริมาณและการเข้าถึงสวนของสหรัฐฯ จากข้อมูลเปิด (Open Data) ของเมือง เช่นเมืองซานฟรานซิสโก ในพื้นที่เมืองขนาด 125.77 ตร.กม. ประชากรของเมืองสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะรัศมี 400 เมตรได้ 88.87% มีพื้นที่สาธารณะสีเขียว 28.58 ตร.ม./คน ในทำนองเดียวกันเมืองในสวนอย่างสิงคโปร์ก็มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 66 ตร.ม./คน โดยพื้นที่เมืองเขตภาคกลาง (Central Region) ทั้งหมด 132.89 ตร.กม. ประชากรเขตภาคกลาง (Central Region) ของสิงคโปร์จะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะรัศมี 400 เมตรได้ 80.52%