CITY CRACKER

‘การพัฒนาเมืองที่เลวบนดินที่ดี’ ที่เป็นไปอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เราไม่อาจทำให้ต้นไม้งอกเงยจากดินที่เลวได้ และไม่อาจหวังผลจากเมล็ดพันธุ์ที่เลวที่เพาะบนดินที่ดีได้ เมืองที่ดีก็เช่นกัน การสร้างเมืองนั้นมันต้องสร้างจากฐานทรัพากรของต้นทุนที่มีในพื้นที่ ทั้งทางสังคมสิ่งแวดล้อม หากการพัฒนาเมืองไปทำลายต้นทุนนั้นเสียแล้ว  ย่อมสร้างปัญหาที่ย้อนมาทำลายตัวเราเองในท้ายที่สุด

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอย่างบางประกง พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนที่พัดมากับแม่น้ำ ผสมรวมกับความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทย จนเกิดเป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย เกิดป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เกิดการทำนาข้าว นาเกลือ เกิดแหล่งกระชังปลาในลำน้ำ ซึ่งช่วยให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรนี้ในการผลิตอาหารเลี้ยงชุมชนและคนในประเทศ

ในวันที่การพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนวันที่ชาวบ้านบอกว่า “โดนล้อมไว้หมดแล้ว” ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC)  เมือง และบ้านจัดสรร สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาที่เลว และกำลังจะมาแทนที่ดินอันอุดมสมบูรณ์  ซึ่งการเกิดขึ้นของโรงงานและอุตสาหกรมต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อสนับสนุนวิถีของคนเมืองและการบริโภคในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้วิถีเมืองในห้องแอร์ดำเนินไปได้ ขับเคลื่อนเศรฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ยกเว้นธรรมชาติและคนในพื้นที่รอบๆ โรงงานที่ต้องทนอยู่กับคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐานและเต็มไปด้วยฝุ่นควัน

ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงมลพิษทางอากาศ แต่ยังรวมไปถึงมลพิษทางน้ำ ที่โรงงานมักปล่อยน้ำลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และนอกเหนือจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคืออการสร้างประตูกั้นน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้าไปในพื้นที่เกษตรอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต เมื่อน้ำไม่แลกเปลี่ยนแผ่กว้างตามธรรมชาติ ระบบนิเวศน้ำกร่อยอันเป็นเอกลักษณ์จึงถูกทำลายลง พื้นที่เกษตรถูกแทนที่ด้วยพืชต่างถิ่นที่ไม่ทนต่อน้ำกร่อย ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยเลี้ยงปูในที่นาช่วงน้ำทะเลหนุนสูงได้ก็ถูกทำลาย พอชาวบ้านรู้วิธีปรับตัวที่ฉลาดกว่าการใช้ประตูกั้นน้ำ ดินและน้ำอันเคยอุดมจากการไหลท่วมตามธรรมชาติจึงหมดไป กลายเป็นดินที่เลวที่พึ่งพิงสารเคมี และอาจแปลสภาพเป็นพื้นที่ราคาถูกให้นายทุนมาซื้อพัฒนาเป็นโรงงานและนิคมตามแผนที่วางไว้

เมื่อน้ำคูคลองสาขาที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนน้ำตามการขึ้นลงของแม่น้ำ หรือธรรมชาติ จึงส่งผลให้น้ำในคลองเน่าเสีย ยิ่งเมื่อมาผสมกับน้ำเสียจากโรงงานด้วยแล้ว คุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกงก็เสื่อมโทรมลง ประกอบกับการลดลงของป่าชายเลนที่ถูกถางเพื่อการพัฒนา ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ลดลงเป็นอย่างมาก

 

เมื่อก่อนนี่ป้ามารูดปูแสมที่เกาะตามกิ่งไม้ได้เป็นกระป๋องๆ เลย

คูคลองเหล่านี้มีสัตว์น้ำให้จับเต็มไปหมด

 

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อคุณภาพน้ำแย่ลงการเลี้ยงปลากะพงในระบบเปิดถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบปิดที่เลี้ยงปลาด้วยอาหารเม็ด เพราะสามารถสร้างผลผลิตและควบคุมปริมาณได้ตามต้องการ

คลองหลายแห่งถูกถมเพื่อขยายถนน เปลี่ยนคลองเป็นท่อรอดคอนกรีต ยกถนนสูงกั้นการแลกเปลี่ยนของน้ำกับพื้นที่ที่เคยมี “อีกหน่อยน้ำคงท่วมแบบในกรุงเทพฯ” เสียงบ่นของชาวบ้านเมื่อมองไปยังการก่อสร้างถนนในพื้นที่ที่ชาวบ้านไม่เคยมีส่วนในการแสดงความเห็น ภาพตรงหน้าที่ว่าคือถนนคอนกรีตที่มีเกาะกลางขวางทางน้ำดีๆ นั่นเอง จนอาจดูเหมือนว่าการพัฒนาเมืองที่เลวนี้เป็นกระบวนการที่ทำเป็นทอดๆ แม้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

 

นโยบายที่ไม่ยึดโยงกับฐานทรัพยากร

ในการพัฒนาโครงการของรัฐที่มุ่งไปในเรื่องการก่อสร้าง นอกจากจะใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โครงการก่อสร้างเหล่านี้ยังทำลายความเข้มแข็งของทรัพยากรและชุมชน ในแบบที่ไม่ตอบรับกับพื้นที่ ช้วิธีการพัฒนาแบบเดียวกันทั่วประเทศ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นพิธีกรรมแบบรับฟังเฉพาะคนที่เห็นด้วย งบประมาณต่างๆ ก็ผันลงท้องถิ่นสู่ผู้รับเหมาและกลุ่มนายทุนเจ้าเดิมๆ งบประมาณที่ต้องสร้างและซ่อมปัญหาที่ไม่รู้จบ ตลอดจนนักการเมืองและกลไกท้องถิ่น-ที่อดคิดไม่ได้ว่าเอื้อต่อการพัฒนาที่เลวนี้เพียงใด กระบวนการพัฒนาเมืองที่ทำลายทรัพยกรต้นทุนในพื้นที่แบบนี้ เชื่อว่าไม่ได้มีแค่ที่ลุ่มน้ำบางปะกงและไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ ประชาคมในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างต่อสู้กันมาอย่างเข้มแข็ง แต่คู่ต่อสู้เอง นับวันกลับเข้มแข็งยิ่งกว่า การสร้างภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ที่จะนำอุตสาหกรรมสีเขียวมาอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย และเราทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อาจเป็นเพียงการขายฝันของรัฐที่มีต่อการสร้างและพัฒนาเขตเศรษฐกิจ

 

ฝันที่ชาวบ้านไม่ไว้ใจและเชื่อใจอีกต่อไป ตราบใดกระบวนการพัฒนาเมืองที่เลวยังไม่หมดไป การกอบโกยประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่ต้องแลกมาซึ่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ ตลอดจนทำลายวิถีผู้คนอย่างที่ผ่านมา แต่ในอีกทางหนึ่งใช่ว่าเราจะหมดหวังไปทั้งหมด เพราะอุปสรรคและสภาพปัญหาในพื้นที่ได้บ่มเพาะและสร้างกลุ่มคนมากมายให้ลุกขึ้นมาฟื้นฟูเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทรัพยากรของผู้คนในพื้นที่ให้ดีดังเดิมได้

เราได้เห็นความร่วมมือของชุมชนอำเภอสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับภาครัฐในการทำคันหินดักตะกอนริมชายฝั่งเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับคืนมา จนถึงวันนี้ที่เวลาผ่านไป 5 ปี ได้เห็นป่าค่อยๆ แทนที่ชายฝั่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกัดเซาะไปลึกหลายสิบเมตรให้กลับคืนมา เราได้เห็นพี่มะลิหนึ่งในกลุ่มคนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับการพัฒนาที่เลว ด้วยการฟื้นฟูป่าชายเลนหน้าวัด (วัดบนคงคาราม ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) เป็นธนาคารปูแสม เพื่อที่จะเป็นแหล่งอนุบาลปูและสัตว์น้ำต่างๆ ตลอดจนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ และคนที่สนใจ พี่มะลิบอกกับเราว่า “ไม่ได้คิดไกล ขอแค่ได้ทำ และทำได้เท่านั้น”

 

สิ่งที่พี่ทำได้ตอนนี้คือการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กๆ และเยาวชนให้ตระหนักในปัญหาและคุณค่าของทรัพยากรบ้านเรา

 

พี่มะลิกำลังได้ทำ ได้ฟูมฟัก ได้สร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีในใจคน เพื่อให้คนเหล่านั้นเติบโตไปแก้ไขและสร้างสรรค์ถิ่นฐานบ้านเมืองที่ดีในอนาคต

เพราะถ้าเราสามารถฟื้นฟูดินให้กลับคืนมา ฟื้นฟูป่าให้งอกเงย ฟื้นฟูสัตว์น้ำให้กลับคืน และฟื้นฟูใจคนให้เห็นในคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นที่อุดมได้ เราย่อมพลิกฟื้นและสร้างความร่วมมือให้ทุกคนหันมาร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อเยียวยาเมืองที่เลวให้กลับดีได้เช่นกัน

Illustration by Kasidit Piyamataya
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :