CITY CRACKER

Animal of Urban อาณาจักรสรรพสัตว์ในเมืองใหญ่

ในเมืองใหญ่ มนุษย์เราไม่ได้อยู่ในเมืองกันเพียงลำพัง เมืองยังเป็นดินแดนของเหล่าสรรพสัตว์ที่เข้ามาใช้ชีวิต ดิ้นรนและเติบโตอยู่ในป่าคอนกรีตแห่งนี้ไปพร้อมๆ กับเรา

 

แรกเริ่มเดิมทีเมืองคือพื้นที่ที่มนุษย์เราสร้างขึ้นเพื่อตัวเอง การสร้างเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่เคยเป็นธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่ของตึกสูงและถนนหนทาง แต่ดูเหมือนว่าเมืองที่เราสร้างขึ้นจะไม่ได้มีแค่เราที่เข้ามาอยู่อาศัย เมื่อมีที่ว่าง มีอาหาร มีน้ำ เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายเริ่มขยับเข้ามาจับจองตึกสูง ผนังกำแพงและท่อระบายน้ำ เมืองจึงมี ‘ระบบนิเวศ’ (ecosystem) เป็นของตัวเอง

City Cracker ชวนกลับไปรู้จักสรรพสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกับเรา ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เรารู้จักนี้ใช้ชีวิต เติบโต เป็นเครื่องชี้วัดว่า ระบบนิเวศของเราเป็นยังไงบ้าง นึกภาพเมืองที่เต็มไปด้วยนกพิราบก็อาจจะไม่ค่อยดีกับสุขภาพเท่าไหร่ แต่สัตว์บางชนิดที่เราเจอแล้วชุ่มชื่นหัวใจก็อาจหมายความว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ เราเคยเจอผีเสื้อ หิ่งห้อย และผึ้งที่ทุกวันนี้อาจจะค่อยๆ ลดน้อยลง

เจ้าสรรพสัตว์ในอาณาจักรเมืองจึงเป็นสิ่งที่พอจะชี้วัดได้ว่าระบบนิเวศบริเวณมีสมดุลดีแค่ไหน งู ตุ๊กแก ค้างคาวที่ไม่ค่อยน่ารักแต่พวกมันกำลังทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์ไม่พึงประสงค์ปัญหาของเมือง เช่น หนู แมลงสาบ ในหลายประเทศการออกแบบเมืองจึงเริ่มคำนึงถึงระบบนิเวศ มีการใช้องค์ความรู้เพื่อคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสม เน้นการบริหารจัดการน้ำ การสร้างเพิงพักอาศัย เป็นการสร้างสมดุลให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในเมืองใหญ่นี้

 

นกพิราบ

พิราบเป็นราชาแห่งหินผา เจ้านกพิราบมีชื่อเต็มว่า Rock Dove แต่เดิมพวกมันจะทำรังอยู่ตามยอดผาสูงเพื่อหลบหนีจากศัตตรูตามธรรมชาติ นักวิชาการให้ความเห็นว่า ตึกรามเมืองเองก็จะมีสภาพไม่ต่างกับหน้าผาจำลอง เต็มไปด้วยพื้นที่ให้เหล่านกพิราบเข้าพำนักทำรัง แถมที่สำคัญที่สุด เมืองเป็นพื้นที่ของอาหาร แม้จะไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าพวกนกพิราบเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองได้อย่างไรแต่นึกภาพว่ายุคหนึ่ง วิหารและป้อมปราการทั้งหลายก็ดูหน้าตาเหมือนหน้าผา แถมในเมืองยังเต็มไปด้วยตลาดและเศษอาหารเหลือมากมายยิ่งกว่าไลน์บุฟเฟต์ นกพิราบเป็นสัตว์ที่ไปไหนมาไหนเป็นฝูงใหญ่ ไม่กลัวคน กินง่าย แต่เมื่อนกพิราบอยู่กันมากๆ เข้า บางครั้งก็สร้างปัญหา เป็นพาหะนำเชื้อไข้นกแก้วไปจนถึงไข้สมองอักเสบ ในหลายเมืองใหญ่และโครงการตึกสูงจึงต้องกำจัดนกพิราบด้วยวิธีรุนแรง เช่น วางยา

 

ตัวเงินตัวทอง

blank

ตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย เป็นอีกหนึ่งเหยื่ออารมณ์ทั้งในแง่การถูกเอาไปใช้ด่าทอ แถมด้วยตัวมันเองก็ดูน่ากลัวและเป็นอันตราย ตัวเหี้ยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองคู่กับเรามาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่แถบสวนลุมฯ ไปจนถึงแถวตัวเมืองชั้นใน สำหรับกรุงเทพมีข่าวที่จะกวาดล้างเจ้าตัวนี้หลายครั้ง แต่จริงๆ เหี้ยเป็นชาวเมืองที่อาศัยอยู่มาอย่างยาวนาน ตัวมันเองได้รับการคุ้มครองขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 19 หน้าที่สำคัญของตัวเหี้ยคือการกำจัดซากสัตว์ต่างๆ ตัวเหี้ยเป็นสัตว์กินซาก น้ำย่อยในกระเพาะของมันสามารถย่อยกระดูกและทนทานต่อเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปแล้วเหี้ยมักอาศัยอยู่บริเวฯใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ และตัวมันเองสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งแหล่งน้ำที่สะอาดไปจนถึงน้ำสกปรก

 

งู

blank

งูเป็นเพื่อนที่ชาวชานเมืองรู้จักคุ้นเคยกันดี น้อยคนเนอะที่จะไม่กลัวงู แต่ว่างูโดยส่วนใหญ่แล้วแม้ว่าจะดูน่ากลัว แต่พวกมันมักไม่ค่อยทำอันตรายกับคน คือในทางกลับกัน งูก็กลัวเรายิ่งกว่าที่เรากลัวมันซะอีก ถ้างูเจอคนและมันมีทางหนีได้ มันก็มักเลือกที่จะหนี งูเป็นสัตว์นักล่าที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศ ตัวมันเองทำหน้าที่ควบคุมหนูได้อย่างมีประสิทธิภาพ งูที่บ้านเราพบบ่อยๆ เช่นงูสิงห์ หรืองูทางมะพร้าว ในปี 2561 มีรายงานว่ากรุงเทพถูกหนูบุกหลักล้านตัว งูก็ไม่มีเพราะคนเมืองให้จับไปปล่อย แมวก็ไม่ค่อยจับหนู ปัญหาเรื่องงูในเมืองเลยดูจะเป็นงูกินหาง คือเราจัดการขยะไม่ดี หนูก็เยอะ พอหนูเยอะงูก็เข้ามา พองูเข้ามาเราก็ไล่จับออกไปปล่อย

 

ค้างคาว

blank

ค้างคาว เทพบุตรแห่งรัตติกาล เป็นอีกหนึ่งฮีโร่ที่แฝงตัวและอาศัยอยู่ร่วมกับพวกเรามาเนิ่นนานแล้ว ค้างคาวทำหน้าที่กระจายเมล็ดพืชและผสมเกสรให้กับผลไม้ต่างๆ แถมเจ้าค้างคาวยังทำหน้าที่ช่วยกินยุงในปริมาณมากถึง 600 ตัวต่อชั่วโมง แน่นอนว่าการขยายตัวของเมืองรบกวนเจ้าค้างคาวเพราะเมืองไปแย่งที่อยู่อาศัย ลดปริมาณอาหาร ลดแหล่งน้ำสะอาดของค้างคาวลง ดังนั้นค้างคาวจึงเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลง และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเมืองไปรบกวนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากไปไหม สำหรับบ้านเรา ตามชานเมืองที่ยังคงมีพื้นที่รกร้าง มีป่าเขา ก็จะพบค้างคาวออกบินยามค่ำคืนอยู่บ้าง

 

ตุ๊กแก

blank

แต่เดิมที่บ้านไทยมักสร้างด้วยไม้และรายล้อมด้วยสวนผลไม้ ตุ๊กแกบ้านเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยหน้าตาที่ไม่น่ารัก ความสามารถพิเศษในการเกาะกำแพง เราจึงมีเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกเกี่ยวกับตุ๊กแกมากมาย เช่น เกาะหรืองับแล้วจะไม่ปล่อย ในแง่ระบบนิเวศ ตุ๊กแกที่ไม่น่ารักเป็นสัตว์นักล่าตอนกลางคืน มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมประชากรแมลงในระบบนิเวศนั้นๆ ในแง่หนึ่งตุ๊กแกต้องอาศัยในพื้นที่รกครึ่ง มีร่มไม้ และที่สำคัญคือต้องมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เราจึงมักพบตุ๊กแกได้ตามย่านชานเมือง

 

ผึ้ง

blank

มีคำกล่าวว่าถ้าผึ้งหายไปจากโลก มนุษย์เราจะเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีที่จะอยู่บนโลกนี้ได้ ผึ้งมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ มีหน้าที่ผสมเกสรขยายพันธุ์พืช ปัจจุบันประชากรผึ้งกำลังเผชิญกับวิกฤตค่อยๆ ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ในหลายประเทศเริ่มตระหนักและหันกลับมาสนใจดูแลผึ้งกันอย่างจริงจัง ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกๆ ที่แบนการใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิดที่ส่งผลกับผึ้ง ในแง่ของตัวชี้วัดคุณภาพ มีงานศึกษาพบว่า คุณภาพของน้ำผึ้งในรังสามารถชี้วัดปริมาณมลพิษในพื้นที่เมืองบริเวณนั้นๆ ได้

 

หิ่งห้อย

blank

หิ่งห้อยเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตแห่งความฝัน การได้เห็นแสงไฟกระพริบยามค่ำคืนปลุกความสุขและจินตนาการ เป็นส่วนหนึ่งของความรักในเรื่องคู่กรรม หิ่งห้อยเป็นแมลงที่ต้องการระบบนิเวศที่ดี ต้องการต้นไม้ใหญ่ที่หลากหลาย ต้องการแหล่งน้ำสะอาด ในกรุงเทพเองแถบบางลำภูก็เคยมีหิ่งห้อยไว้เป็นฉากรักโรแมนติกให้เราได้ชื่นชม แน่นอนว่าปัจจุบันหิ่งห้อยก็แสนจะหายากแม้แต่ในพื้นที่ชานเมืองเอง การหายไปของหิ่งห้อยไม่ได้เป็นแค่ปัญหาของประเทศไทย แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงและด้วยความที่หิ่งห้อยใช้แสงในการจับคู่ แสงไฟของเมืองจึงไปรบกวนการผสมพันธุ์ของมัน มีสัญญาณว่าประชากรหิ่งห้อยที่มีราว 2,000 ชนิด กำลังลดลงอย่างน่ากังวล ในประเทศไทยมีรายงานว่าประชากรหิ่งห้อยลดลงถึง 70% ภายในเวลาไม่กี่ปี

 

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :