CITY CRACKER

ไม่ต้องไปไกลถึงในป่า ส่อง 9 สัตว์ที่ย้ายมาใช้ชีวิตในเมือง

มุมไบมีเสือดาว ท่อระบายน้ำที่นางาซากิก็ใสจนมีปลาคาร์พแหวกว่าย ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเราตื่นเต้นดีใจว่าที่บางขุนเทียน ไม่ไกลจากกรุงเทพก็ยังมีฝูงนากน่ารักๆ อาศัยอยู่ ส่วนหนึ่งคงเพราะเราเองใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ออกจะแห้งๆ แล้งๆ พอได้เห็นสิ่งมีชีวิต ได้เห็นว่าธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ก็รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจอยู่เหมือนกัน

เมืองคือการเปลี่ยนพื้นที่โดยฝีมือพวกเรา ความเจริญ การปฏิวัติอุตสาหกรรม และโลกสมัยใหม่เปลี่ยนพื้นที่ทางธรรมชาติให้กลายเป็นเมืองใหญ่ แต่สุดท้ายเมืองของเราก็หนีออกจากธรรมชาติไม่พ้น ด้วยความที่เมืองมีสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์เข้ามาใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศของตัวเอง การมีสัตว์บางประเภทมากหรือน้อย ไปจนถึงการมีสัตว์บางประเภทอาจเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของระบบนิเวศ ความสะอาดของแหล่งน้ำ ปริมาณพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหารในเมืองนั้นๆ

ระยะหลัง การออกแบบไปจนถึงการพัฒนาเมืองในภาพใหญ่เริ่มมีแนวคิดที่รวมเอาความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นแนวคิด Biophilic City เป็นการออกแบบเมืองที่ไม่เพียงเน้นสร้างพื้นที่สีเขียว แต่เป็นการดึงเอาธรรมชาติ รวมถึงสรรพสัตว์เข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองกับเราด้วย อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการให้ความสนใจและรับผิดชอบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เราไปรบกวน
.
City Cracker พาไปดูสัตว์ป่าแปลกๆ ที่เก็บกระเป๋าเข้ามาอาศัยร่วมอยู่กับมนุษย์ในเมืองใหญ่ ตั้งแต่ตัวนากที่สิงคโปร์แสนภูมิใจ สะพานที่บังเอิญเหมาะกับค้างคาวจนกลายเป็นจุดขายใหม่ของเมือง ไปจนถึงการพบเห็นหมาป่าใกล้ๆ เมืองโรมตามตำนานโรมันโบราณ เป็นสิ่งยืนยันว่า เมืองกับธรรมชาติเป็นพื้นที่

 

Leopards, Mumbai

นี่ก็เกินไป๊ เป็นสุดยอดระบบนิเวศ มีรายงานว่าอุทยานแห่งชาติ Sanjay Gandhi National Park ในมุมไบประเทศอินเดียมีเสือดาวอาศัยอยู่อย่างน้อย 41 ตัว บางครั้งพวกมันก็ออกมาเยี่ยมเยียนชาวเมืองบ้าง
ฟังดูแสนจะช็อกถ้ามีคนบอกว่ากรุงเทพมีเสืออยู่ ก็มีข่าวมาบ้างว่าชาวเมืองถูกเสือทำร้าย หรือพบเสือท่ามกลางตึกรามใกล้พื้นที่ชุมชน แต่เสือดาวเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ปรับตัวค่อนข้างเก่ง พวกมันก็ดูจะใช้ชีวิตร่วมใน-ใกล้เขตเมืองได้ ลองนึกภาพมุมไบนอกจากคนแล้ว หมาก็หนาแน่น ตรงนี้นักชีววิทยาบอกว่าการมีเสือดาวในเมืองอาจจะเสี่ยงหน่อย แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมีคุณมากกว่าโทษ คือพวกมันมาเป็นผู้ล่า ช่วยลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดลงพร้อมกันก็ช่วยลดโรคพิษสุนัขบ้าด้วย (รายงานว่าเสือดาวช่วยกินหมา 800-2,000 ตัวต่อปี)
อืม ก็นะ ระบบนิเวศที่สุดโต่งในอินเดียเนอะ เสือก็เกินเรื่องไปหน่อย ประเด็นเรื่องเสือดาวในเขตเมืองเป็นอีกหนึ่งความซับซ้อนที่เมือง มนุษย์และสัตว์ป่าต้องคลำทางกันต่อไป

 

Slender Lorises, Bangalore

ใครจะเชื่อว่าในเมืองหลวงจะมี นางอาย สัตว์จำพวกไพรเมต หน้าตาน่ารักที่เราคิดว่าจะเห็นได้แต่ในสวนสัตว์หรือในป่าลึกเท่านั้น ที่เมืองบังคาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะในประเทศอินเดียกลับมีเจ้าสิ่งมีชีวิตลึกลับนี้อาศัยอยู่ตามคาคบไม้ท่ามกลางเมืองที่วุ่นวาย แต่ว่าส่วนใหญ่ชาวเมืองไม่ค่อยรู้ว่ามีนางอายหรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าทารกแห่งพงไพร(Kaddu paapa)อาศัยร่วมกับเราอยู่ด้วย

แหล่งที่พบนางอายก็ใช่ว่าเป็นย่านชานเมืองลับแลแต่ในเขตเศรษฐกิจใจกลางเมืองเองก็ยังเจอ ทางเมืองจึงจัดโครงการ The Urban Slender Loris Project (USLP) ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Biophilic คือชวนให้คนเมืองกลับไปรู้จัก ไปเชื่อมโยงสำรวจและเก็บข้อมูลว่าในเมืองเราจะพบเจ้านางอายได้ที่ไหนบ้าง และพฤติกรรมนางอายในเมืองเป็นยังไง จากการสำรวจพบว่านางอายในเมืองมีพฤติกรรมแปลกไปเล็กน้อย เช่นพบบนยอดไม้ที่สูงเป็นพิเศษ คือปกตินางอายจะอยู่บนยอดไม้ที่ราว 5 เมตร แต่ผู้สำรวจตั้งข้อสังเกตว่านางอายปีนขึ้นยอดไม้ไปสูงกว่าปกติอาจต้องการหนีจากเสียงอึกทึกของเมือง

มีรายงานว่าพบนางอายบนต้นคริสต์มาส ไปจนถึงเกาะอยู่บนไฟถนนกำลังจับแมลงกิน นางอายจึงดูจะเป็นตัวชี้วัดทางชีวิทยาที่ดีนอกจากการมีนางอายจะหมายถึงการมีสายพันธุ์อื่นๆ ในห่วงโซ่อาหารของนางอายอยู่แล้ว นางอายยังต้องการสภาวะแวดล้อมค่อนข้างพิเศษ ต้องการยอดไม้ที่ต่อเนื่องในการเคลื่อนที่ และต้นไม้เหล่านั้นต้องมีกิ่งก้านขนาดเล็กรับกับมือจิ๋วๆ ของพวกมัน นักสำรวจเองยังสงสัยว่าด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ค่อนข้างมีความต้องการเฉพาะ พวกมันสามารถอยู่รอดในเมืองใหญ่ได้อย่างน่าประหลาด

 

Fox, London

ในนิทาน จิ้งจอกมักเป็นตัวแทนของความเจ้าเล่ห์ แสนกล ตัวมันเองเป็นสัตว์นักล่าที่ไม่ได้มีพละกำลังมากเท่าหมาป่า แต่มีความปราดเปรียวทดแทน การเดินๆ อยู่กลางมหานคร เช่นลอนดอนแล้วหันไปเจอหมาป่าสีแดงอยู่ริมถนน คงเหมือนได้หลุดเข้าไปในโลกเทพนิยายอยู่เหมือนกัน

ในอังกฤษจิ้งจอกเป็นอีกหนึ่งสัตว์ประจำพื้นที่ (นิทานตำนานทั้งหลายมักมีจิ้งจอกประกอบเสมอ) และพวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตเมืองได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นจิ้งจอกเมือง ในบรรดาเมืองที่มีจิ้งจอกของอังกฤษพื้นที่ที่มีประชากรจิ้งจอกหนาแน่นที่สุดก็คือเมืองหลวงอย่างลอนดอน มีการประเมินว่าลอนดอนมีจิ้งจอก 23 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร (อันดับสองคือเมือง Bristol มี 16 ตัว) มีข้อสันนิษฐานว่าคงเพราะลอนดอนเต็มไปด้วยหนู พวกจิ้งจอกก็เลยเข้าเมืองมาหาอาหาร

ชีวิตจิ้งจอกในเมืองก็ไม่ได้สวยงาม มีหนูเยอะ เศษอาหารและแสงสีเสียงอย่างที่คิด มีข้อมูลว่าจิ้งจอกในเมืองมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นเพียง 2-3 ปี จากปกติที่พวกมันสามารถอายุยืนได้ถึง 12-15 ปี ปัญหาสำคัญคือพวกมันมักจะตายจากการถูกรถทับ จิ้งจอกที่ดูเป็นสัตว์ป่า แต่จริงๆ พวกมันไม่ค่อยทำอันตรายมนุษย์และสัตว์เลี้ยงของเรา กลับกัน ลูกจิ้งจอกในเมืองมีแนวโน้มจะถูกหมาแมวทำร้ายจนตายมากกว่า ตรงนี้ก็เลยมีโครงการเช่น The Fox Project ที่พยายามจัดการเรื่องที่อยู่ของจิ้งจอก ไปจนถึงการส่งคืนจิ้งจอกกลับสู่ป่า

 

Mexican free-tailed bats, Texas Austin

ค้างคาวเป็นสัตว์สำคัญที่ใช้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสัตว์นักล่า เป็นผู้กำจัดแมลงอันดับหนึ่ง และพวกมันค่อนข้างอ่อนไหวกับภูมิประเทศและพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้วยความบังเอิญของเมือง Austin ที่ทำให้เมืองนี้รักธรรมชาติตั้งแต่ช่วงปี 1980 คือในตอนนั้นมีการปรับปรุงสะพาน Congress Avenue Bridge ซึ่งในโครงสร้างของสะพานกลับกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำรังของค้างคาว Mexican free-tailed bat สัตว์ประจำถิ่นพอดิบพอดี หลังจากสะพานซ่อมเสร็จไม่นานพวกค้างคาวก็แห่มาอยู่ที่สะพานนับล้านตัว หลังจากนั้นสะพานนี้ก็เลยกลายเป็นแหล่งค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดของโลกและกลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญ

ทุกๆ หน้าร้อน ผู้คนจะหลั่งไหลมาที่เมืองเพื่อชมท้องฟ้าที่ทึบไปด้วยฝูงค้างคาวจำนวนมหาศาล มีการประเมินว่ามีนักท่องเที่ยวกว่าแสนคนเดินทางมาเยือนเพื่อชมค้างคาวอพยพ มีกิจกรรมทางการค้า ล่องเรือ รับประทานอาหาร ค้างคาวช่วยทำรายได้ทางการท่องเที่ยวกว่าสิบล้านเหรียญ

 

Mountain Lion, Los Angeles

ฟังดูเป็นสัตว์ในตำนาน เมื่อฮอลีวูดดินแดนลาลาแลนด์ มีสิงโตภูเขาเข้ามาอาศัยอยู่ คืองี้ ในเขตเมืองลอสแองเจลิสมีอุทยาน Griffith Park เป็นพื้นที่หย่อนใจ และเป็นที่ตั้งของป้าย ‘HOLLYWOOD’ อันโด่งดัง ทีนี้ในปี 2012 มีหลักฐานว่าพื้นที่อุทยานในเขตเมืองกลับมีสิงโตภูเขา 1 ตัวเข้ามาอาศัยอยู่ ทางการเรียกสิงโตภูเขาเพศผู้นี้ว่า ‘P22’ นักชีววิทยาคาดว่าเจ้า P22 นี้คงจะข้ามทางหลวงมาจากภูเขา Santa Monica นักชีววิทยาบอกว่าปรากฏการณ์สิงโตเข้าเมืองเป็นเรื่องแปลกและน่าตื่นเต้นเพราะพื้นที่ของสวนมีขนาดเพียง 6 ตารางไมล์เล็กเกินกว่าจะเป็นที่อาศัยของสิงโต ต่อมาไม่นานนักชีววิทยาก็ดักเจ้า P22 ได้ มีการศึกษา DNA และฝังชิบเพื่อติดตามพฤติกรรม ผลคือเจ้า P22 ก็ยังใช้ชีวิต สำรวจพื้นที่เมืองต่อไป ล่าสุดมีรายงานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เจ้า P22 ยังแข็งแรง

นอกจาก P22 แล้วก็มีเจ้าสิงโตตัวอื่นข้ามเข้ามาที่เขตเมืองอีกบ้าง มีเจ้าสิงโตรหัส P47 ที่ตายลงเพราะยาฆ่าหนู นักวิจัยเชื่อว่าเจ้า P22 เองก็ได้รับยาฆ่าหนูเช่นเดียวกันแต่ยังแข็งแรงดีอยู่ ถือเป็นอีกเรื่องน่าเศร้าและน่ากังวลที่สัตว์ป่าในเมืองได้รับผลกระทบจากสารเคมีของเรา

Wild Boars, Berlin

เบอร์ลินเป็นหนึ่งในเมืองที่เขียวเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป และพอเมืองเขียวแล้ว สรรพสัตว์ก็เริ่มบ่ายหน้าเข้าสู่เมือง หมูป่ากับเบอร์ลินดูจะเป็นสัตว์คู่เมืองมานานแล้ว

เบอร์ลินได้รับฉายาว่าเป็นเมืองหลวงของหมูป่า แต่เดิมเจ้าหมูป่าพวกนี้จะอาศัยในพื้นที่ที่เป็นป่าๆ หน่อย ค่อนข้างกลัวหลบเลี่ยงจากคนเมือง แต่ระยะหลังดูเหมือนพฤติกรรมหมูป่าเมืองค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไป เริ่มไม่ค่อยกลัวคน และปรากฏตัวในย่านพักอาศัย มาวิ่งกันเป็นฝูงอยู่บนท้องถนน นักชีววิทยาก็บอกว่าการที่หมูป่าเริ่มเข้าพื้นที่พักอาศัยมากขึ้นก็เพราะอาหารนี่แหละ

หมูป่าดูจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เริ่มเป็นปัญหาในเมืองสีเขียวๆ ที่สิงคโปร์เองก็เริ่มเจอหมูป่าในเขตเมืองบ้าง คนเมืองเองก็บอกว่าไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ ก็ต้องลองหาทางอยู่ร่วม ควบคุม รับมือกันต่อไป

Otter, Singapore

นาก เป็นสิ่งมีชีวิตน่ารัก ขี้เล่น เห็นที่ไหนก็รู้สึกว่าโลกธรรมชาตินี่ดีนะ นอกจากน่ารักแล้ว นากยังเป็นสัตว์นักล่าในน้ำที่เป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีระบบนิเวศที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีน้ำสะอาด สัตว์อื่นๆ และแมลงอุดมสมบูรณ์ สิงคโปร์จึงภูมิใจและดีใจเมื่อมีนากมาปรากฏตัวที่กลางเมือง

แง่หนึ่งการมีสัตว์นักล่าก็แปลว่าเรามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อื่นๆ ต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ คุณภาพน้ำและอากาศดี ปลาก็อยู่ได้ มีต้นไม้ พืชน้ำเหมาะสม มีแมลงปอ การมีตัวนากเป็นเครื่องสะท้อนว่าภาพรวมของระบบนิเวศในพื้นที่นั้นแข็งแรงมีชีวิตชีวา ในประเทศอื่นเช่นที่อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาช่วงปี 1989 เมืองกำลังขยายใหม่ๆ ตัวนากแม่น้ำที่นั่นลดจำนวนประชากรลงเหลือแค่ไม่ถึง 100 ตัว ต้องมีการออกมาตรการโดยเฉพาะการจัดการน้ำ จำกัดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อกอบกู้ระบบนิเวศและนำนากกลับมา

Carp, Nagasaki

ปลาคาร์พเป็นปลาหน้าตาหรูหรา เรามักนึกภาพปลาคาร์พตัววาวๆ เป็นส่วนหนึ่งของสวน ของบ่อน้ำที่ใสสะอาด ต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี แต่ที่เมือง Shimabara ในจังหวัดนางาซากิเป็นเมืองที่เราสามารถเห็นฝูงปลาคาร์พแหวกว่ายกลางสายน้ำใส ขนาดทางระบายน้ำริมถนนยังสะอาดจนปลาคาร์พว่ายเวียนได้ เดินไปไหนมาไหนก็มีฝูงปลาคาร์พประกอบเส้นทางในเมือง คือเมือง Shimabara เป็นเมืองเล็กๆ ที่ได้รับฉายาว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ ตัวเมืองตั้งอยู่บนแหล่งน้ำแร่บริสุทธิ์ขนาดใหญ่ นอกจากจะอาศัยแหล่งน้ำแร่จากภูเขาแล้ว ใต้ดินของเมืองก็ยังอุดมไปด้วยแหล่งน้ำแร่ เจาะลงไปตรงไหนก็เจอ เมืองแห่งนี้จึงดูเมืองเหนือจินตนาการ ดินแดนแห่งสายน้ำอันใสสะอาด ใสจนมีปลาคาร์พเป็นเพื่อนบ้าน

Grey Wolf, Rome

ไม่เชิงว่ากรุงโรมมีหมาป่าอยู่ แต่มีรายงานพบหมาป่าอีกครั้งใกล้ๆ กรุงโรม กรณีหมาป่ากับกรุงโรมดูจะเป็นการบรรจบกันระหว่างปกรณัมการสร้างกรุงโรมและอาณาจักร และการกลับมาของความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ใกล้เมืองหลวง

ตามเทวตำนานเรื่อง Romulus และ Remus เล่าถึงพี่น้องฝาแฝด ตัวตำนานก็เล่าถึง Romulus ฆ่าฝาแฝดและก่อตั้งกรุงโรมอันเกรียงไกรขึ้น แน่นอนว่าตำนานวีรบุรุษที่ก่อตั้งและความเป็นบรรพบุรุษชาวโรมันอันเกรียงไกรย่อมไม่ธรรมดา ตามตำนานเล่าว่าสองพี่น้องถูกทิ้งตั้งแต่ยังแบเบาะ แต่รอดมาได้ด้วยการดื่มนมจากแม่หมาป่า ดังนั้นในเหรียญตราหรืองานศิลปะสัญลักษณ์ที่พูดถึงกรุงโรมจึงเป็นภาพแม่หมาป่าและมีทารกสองคนดูดนมอยู


ในสมัยโบราณหมาป่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของอิตาลี ก่อนจะค่อยๆ สูญพันธุ์และลดจำนวนประชากรลงจนเหลือราว 100 ตัว ในช่วงทศวรรษ 1970s ทางการต้องประกาศคุ้มครองหมาป่า ปัจจุบันจำนวนประชากรหมาป่าทั่วอิตาลีเองไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักอยู่ที่ราว 2,000 ตัว ทั่วประเทศ จนกระทั่งในปี 2017 ไม่นานนี้มีรายการพบแม่หมาป่าพร้อมลูกบริเวณใกล้ๆ กรุงโรม การเจอหมาป่าใกล้เมืองถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นสัญญาณการกลับมาของหมาป่าที่อาจสะท้อนถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีขึ้น
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :