CITY CRACKER

ผู้หญิงต้องการเมืองแบบไหน? ออสเตรียกับการออกแบบเมืองสำหรับทุกคนตั้งแต่ปี 1991

เวลาจะพูดเรื่องการคิดเผื่อผู้หญิง การนับรวมเรื่องเพศ ในปี 2020 ก็อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะใช่ประเด็นเท่ากับสมัยที่ยังมีกีดกันทางเพศอยู่

จริงอยู่ว่าทุกวันนี้เรามีเรื่องกฏหมายที่เสมอภาคกันแล้ว แต่จริงๆ พื้นที่เช่น ‘พื้นที่สาธารณะ’ นั้นก็เป็นพื้นที่ที่ ‘ยังคงเป็นประเด็นอยู่’ สมัยก่อนเรามองว่าพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่นอกบ้านเป็นของผู้ชาย ผู้หญิงถูกวางไว้ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้านไป และแน่นอนว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้มีข้อจำกัดเช่นนั้นแล้ว แต่ปัญหาคือ แล้วพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ของใคร- พูดง่ายๆ คือ ปลอดภัยสำหรับทุกคนหรือไม่

ตรงนี้เองทำให้เราต้องกลับมาย้อนคิดเลยว่า แน่นอนว่าการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือการออกไปนอกบ้าน มันไม่ควรจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า พอเป็นผู้หญิง หรือลูกสาวแล้วจะเกิดความกังวล เกิดความรู้สึกปลอดภัยน้อยกว่าผู้ชาย นั่นก็แปลว่าเมืองนั้นยังไม่ได้ถูกออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพพอที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัยกับคนทุกเพศอย่างถ้วนหน้า

ถ้ามองภาพรวมเราอาจจะรู้สึกว่า สุดท้ายก็ว่าด้วยความปลอดภัยรึเปล่า ซึ่งเพศไหนก็น่าจะเหมือนกันไหม ว่าด้วยไฟสว่าง การมองเห็น ไม่มีมุมมืด ซึ่งก็อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะการรับรู้ของผู้หญิงนั้นต่างกับผู้ชาย ระยะหลังเราจึงเริ่มเห็นนักสังคมวิทยาและนักวางผังเมืองที่ลงไปศึกษาลักษณะและความรู้สึกของผู้หญิง-เด็กหญิงเพื่อเข้ามาอยู่ในผังและการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เป็นของทุกคน

สวนสาธารณะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด นอกจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดภายในพื้นที่สวนแล้ว ลองหลับตาแล้วนึกถึงภาพสวนสาธารณะดู พื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย- สอดคล้องกับคติแบบที่ว่าเด็กผู้หญิงมักจะเล่นอยู่ในบ้าน ตัวลานกิจกรรมในสวนสาธารณะก็เลยเต็มไปด้วยหนุ่มน้อยใหญ่ เล่นบาส เล่นสเกตบอร์ด ทำให้เด็กผู้หญิงก็รู้ว่าพื้นที่สวนนั้นไม่ใช่พื้นที่ของพวกเธอไปโดยปริยาย ตรงนี้เอง การออกแบบก็ดูจะช่วยได้ว่า ทำยังไง พื้นที่ภายนอก กิจกรรมกลางแจ้ง และการสันทนาการนั้นจะเป็นของทุกคนได้อย่างแท้จริง

 

barcelona.cat

 

ผู้หญิงกับการออกไปข้างนอก อคติที่นำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพ

สวนและพื้นที่ออกกำลังเป็นพื้นที่ส่งเสริมทางสุขภาพทั้งกายและใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดเรื่องผู้หญิงควรอยู่บ้านก็ยังคงแข็งแรง จริงอยู่ภาพของสาวนักวิ่งเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา แต่ในที่สุดแล้วถ้าเทียบสัดส่วนกัน เราจะพบเห็นผู้ชายในสัดส่วนที่มากกว่าผู้หญิงอย่างแน่นอน

ยิ่งถ้าพูดในมิติที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ ผู้หญิงจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนไปทางยากจนจะพบกับความยากลำบากและอุปสรรคในการเข้าใช้งานสวนเพื่อผลประโยชน์ทางสุขภาพ มีงานศึกษาในปี 2017 จากสหรัฐ สำรวจการใช้งานสวนสาธารณะของชายและหญิง พบว่าการใช้งานสวนของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายในทุกๆ แง่อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งความถี่ในการไปสวนต่อสัปดาห์ และระยะเวลาที่ใช้อยู่ในสวนนั้น ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับปัญหาในภาพรวมของประเทศ คือพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกกำลังหรือมีกิจกรรมสันทนาการได้ปริมาณที่เหมาะสมตามข้อแนะนำระดับชาติ ตรงนี้ก็เลยนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ ทั้งภาวะน้ำหนักเกิน โรคทางหลอดเลือด เบาหวาน ไปจนถึงเรื่องทางจิตใจด้วย

ในทำนองเดียวกัน จากสถิติของบ้านเราก็ดูจะไปในทางเดียวกัน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2557 พบว่าจากประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไปพบว่ามีผู้ชายออกกำลังกายมากกว่าผู้หญิงอยู่ที่55.9 ต่อ 41.1% และถ้าเทียบสัดส่วนการออกกำลังของหญิงชายต่อประชากรทั้งหมด ในผู้ชาย 100 คนจะมีผู้ชายที่ออกกำลังที่ 33 คน ในขณะผู้หญิงจะอยู่ที่ 27 คนโดยประมาณ

ขณะเดียวกันจากผลสำรวจก็มีประเด็นน่าสนใจคือพบว่าคนอยู่ในเขตเทศบาลมีแนวโน้มจะออกกำลังกายมากกว่าคนที่อยู่นอกเขตเทศบาล จุดนี้ก็ตีความได้หลายอย่าง นอกจากเรื่องอาชีพแล้ว การเข้าถึงและการมีพื้นที่ออกกำลัง มีสวนของเทศบาล ทางเดิน ลู่วิ่ง ไปจนถึงสถานที่ออกกำลังต่างๆ ก็ดูจะมีผลด้วย

 

barcelona.cat

เมื่อผู้หญิงเริ่มปรากฏตัวในเมือง เรียนรู้จากกรุงเวียนนาตั้งแต่ปี 1991

ประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศเพิ่งจะเริ่มกันจริงจังเมื่อราวราวปี 1995 จากทิศทางเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่สหประชาชาติวางไว้เป็นแนวทางสำคัญของโลก จนราวปี 1985 สังคมในทุกแง่มุมทั้งกฏหมาย การวางนโยบายและการแบ่งสันปันส่วนทั้งหลายต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศนี้

กรุงเวียนนาถือเป็นเมืองที่ก้าวหน้าก่อนใคร คือเมืองเวียนนานั้นเริ่มรับเอาแนวคิดเรื่อง Gender mainstreaming เข้าไปสู่ระดับการออกแบบเมืองตั้งแต่ราวปี 1991 นู่น เวียนนาเริ่มมีนายกเทศมนตรีหญิง มีทีมนักออกแบบและนักผังเมืองหญิง รับแนวคิดการออกแบบที่รวมเอาผู้หญิงเข้าไปสู่เมืองตั้งแต่เมื่อต้นทศวรรษ

 

Eva Kail

 

จุดเริ่มต้นก็แสนเก๋ นำโดย Eva Kail นักวางผังเมืองหญิงที่กลายเป็นไอคอนการออกแบบเมืองที่รวมทุกเพศระดับโลก จุดเริ่มต้นในปี 1991 ตอนนั้น Kail ก็เป็นเหมือนนักผังเมืองหญิงที่เริ่มมีทีมพนักงานหญิงของเมืองเวียนนา ในปีนั้นพวกเธอจัดนิทรรศการภาพถ่ายสำคัญชื่อ Who Owns Public Space — Women’s Everyday Life in the City เป็นชุดภาพถ่ายของผู้หญิงต่างวัยแปดคน จากเด็ก คนทำงาน คนชรา ไปจนถึงผู้หญิงที่พึ่งวีลแชร์ ตัวภาพนั้นนั้นก็เป็นภาพชีวิตประจำวันที่ สุดท้ายทำให้เห็นความยากลำบากของผู้หญิง ในเมืองที่ออกแบบโดยลืมว่ามีพวกเธออยู่

ผังเมืองในตอนนั้น แน่นอนว่าถูกวางและออกแบบโดยผู้ชายทั้งหมด นักผังเมืองหญิงวิพากษ์ว่าผังเมืองตอนนั้นแทบจะคิดถึงแต่ผู้ชาย คิดถึงการเดินทางจากที่ทำงานไปบ้าน มีระบบขนส่งมวลชนต่างๆ แต่กลับลืมผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต่างเดินเท้า และใช้เส้นทางสั้นๆ ในเมืองใหญ่นี้ หลังจากนั้นกรุงเวียนนาก็เริ่มรับนักผังเมืองหญิง เริ่มมีนายกเทศมนตรีหญิง และเริ่มออกโครงการจำนวนมากเพื่อทำให้กรุงเวียนนาเป็นมิตรกับผู้หญิง- และเป็นมิตรกับทุกคน ซึ่ง Eva Kail เองก็กลายเป็นนักวิจัยและนักผังเมืองผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบเพื่อคนทุกเพศและยังทำงานเรื่อยมา

 

Frauen-Werk-Stadt – Women-Work-City (wien.gv.at)

 

Frauen-Werk-Stadt – Women-Work-City

Eva Kail ให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2013 ว่า ความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ว่าตกลงแล้วประชากรของคุณมีใครบ้าง มีผู้ใช้งานมากน้อย และมากหน้าหลายตาเท่าไหร่ ก่อนจะนำไปวิเคราะห์ชีวิตในพื้นที่ภายนอกของผู้คนเหล่านั้น เธอชี้ให้เห็นจุดเล็กๆ เช่น ผู้หญิงมีแนวโน้มจะใช้รถโดยสาธารณะมากกว่าผู้ชาย และขี่จักรยานน้อยกว่าผู้ชาย ข้อมูลตรงนี้ก็นำไปสู่ความเข้าใจและการออกแบบที่สำคัญต่อไปในอนาคต

การใช้ข้อมูลและการทำงานร่วมกันสำคัญมากในการออกแบบเมืองและร่วมสร้างชีวิตที่ดี หนึ่งในโปรเจ็กต์ติดดาวคือโครงการบ้านที่มีชื่อว่า Frauen-Werk-Stadt หรือ Women-Work-City ในปี 1993 เป็นการประกวดแบบโครงการการเคหะของรัฐที่จะออกแบบเพื่อให้ชีวิตผู้หญิงง่ายขึ้น

ผลคือการออกแบบนั้นใช้ข้อมูลจากการสำรวจของ Statistik Austria สำนักสถิติประจำชาติ ว่าผู้หญิงใช้เวลาไปกับงานบ้านและการดูแลลูกหลานมากกว่าผู้ชาย โครงการนี้เลยออกแบบจากจุดดังกล่าว ผลคือได้เป็นกลุ่มอพาร์ตเมนต์ที่รายล้อมด้วยลานกว้างๆ จัดวางเป็นทรงกลม และมีสนามหญ้าวงกลมแต่งแต้มลานนั้นๆ งานออกแบบนี้ทำให้ทั้งครอบครัวสามารถออกมาใช้เวลานอกบ้านได้โดยที่ไม่ต้องไปไกล ตัวโครงการยังมีโรงเรียนอนุบาล ร้านยาและคลินิกเล็กๆ แถมตั้งอยู่ใกล้กับจุดขนส่งสาธารณะทำให้การไปโรงเรียนและไปทำงานง่ายขึ้น

 

inexhibit.com

สวนสาธารณะที่เด็กผู้หญิงเล่นด้วยได้

เวลาเราดูการ์ตูน ลานสนามเด็กเล่นมักจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย เด็กผู้หญิงก็อยู่เล่นตุ้กตาในบ้านไป ในปี 1996-1997 นักวิจัยของทางเวียนนาเองก็พบว่าตัวเลขการใช้งานสวนสาธารณะลดฮวบลง ในขณะที่เด็กผู้ชายยังคงใช้งานในจำนวนเท่าเดิม นักวิจัยพบว่าเด็กผู้หญิงจะปล่อยๆ การใช้พื้นที่ส่วนกลางให้กับเด็กผู้ชาย เช่นถ้าจะมีการเตะบอล ตั้งสนามเด็กผู้ชายก็มักจะได้พื้นที่ส่วนกลางไปครอง

กระนั้น นักวางผังเมืองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแล้วไปแนะนำให้เด็กสาวออกสู้หรือไปเตะบอลแทน ในปี 1999 นักผังเมืองและนักออกแบบภูมิทัศน์ก็เลยปรบปรุงแบบสวนสองแห่งขึ้นใหม่ โดยปรับให้สวนนั้นมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมแบบอื่นมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีการใส่สนามวอลเล่บอลและสนามแบตมินตันลงไป ภายในสวนก็ใช้การออกแบบภูมิทัศน์ แบ่งเหมือนเป็นสวนขนาดเล็กย่อยลงไปเพื่อให้เกิดการใช้พื้นในกลุ่มต่างๆ แยกส่วนออกจากกัน ทำให้สวนตรงนี้เด็กกลุ่มนี้อยู่ ใช้ตัวงานออกแบบบังสายตาแก่กัน ผลคือทางการพบว่า มีการใช้งานสวนจากกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลายขึ้นแทบจะทันที ในกลุ่มนั้นก็มีทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเข้าใช้งาน โดยไม่มีการทับไลน์กัน

ประเด็นสำคัญที่เราเรียนรู้จากกรุงเวียนนาคือการไม่ปล่อยผ่าน ไม่มีการอินังขังขอบว่าเอ้อ ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่งานออกแบบที่เริ่มจากการศึกษา การสำรวจ และการมองเห็นผู้คน จนเห็นปัญหาของคนทุกคนในสมการของการออกแบบเมืองก็เลยเป็นตัวแปรสำคัญของการสร้างเมืองที่ดีสำหรับทุกคน

 

จากนิทรรศการที่ถามว่าเมืองนี้เป็นของใครกันแน่ จึงนำไปสู่งานออกแบบที่อาจทำให้ครอบครัวอบอุ่นขึ้น ไปจนถึงสวนที่ส่งเสริมให้ทั้งเด็กชายและหญิงแข็งแรงขึ้นได้โดยเท่าเทียมกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ncbi.nlm.nih.gov

ryt9.com

apolitical.co

theguardian.com

womenability.org

wien.gv.at

 

Illustration by Montree Sommut
Share :