CITY CRACKER

วังค้างคาว เก๋งจีนและโกดังเก่าที่ไม่ได้มาจากนิยายกำลังภายใน แต่เป็นอาคารเก่าริมเจ้าพระยาที่น่าอนุรักษ์     

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่หลายที่ อย่างวังค้างคาว หรือบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) อาคารเก่าแก่อายุ 100 ปีในย่านคลองสาน ก็เป็นหนึ่งในสถานที่เก่าแก่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ที่เมื่อไม่นานมานี้กรมธนารักษ์ได้ประกาศเปิดประมูลให้เช่า ทำให้กลุ่มคนอนุรักษ์โบราณสถาน และหลายคนเกิดความกังวลและตั้งคำถามว่า อาคารแห่งนี้จะได้รับการอนุรักษ์หรือพัฒนาเป็นสิ่งใหม่แทน เหมือนอย่างที่ผ่านมาหลายสถานที่ก็ถูกพัฒนาในเชิงธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียสถานที่อันเป็นความทรงจำและมีคุณค่า

จากประเด็นด้านการอนุรักษ์อาคารเก่าผู้คนต่างเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถานที่เก่าแก่ ซึ่งการอนุรักษ์หรือพัฒนานั้นอาจไม่จำเป็นต้องแยกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถยึดโครงสร้างเดิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์คุณค่านั้นดังเดิมและหยิบจับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาไว้ในพื้นที่นั้นได้เช่นกัน อาจะไม่ต้องเปิดเป็นเชิงพาณิชย์เสมอไป แต่สามารถปรับเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ทุกคนให้เข้าถึงได้และสร้างกิจกรรมหรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน

City Cracker จึงชวนทุกคนไปรู้จักมรดกทางสถาปัตยกรรมวังค้างคาว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของวังคางคาว  ไปจนถึงความสำคัญของพื้นที่และอาคารสถาปัตยกรรม ว่าอะไรที่ทำให้อาคารแห่งนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แล้วจะมีแนวทางการอนุรักษ์หรือพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างไร

 

วังค้างคาวเป็นของใคร

วังค้างคาว หรือบ้านพระประเสริฐวานิช สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นหนึ่งในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ) ต่อมาบ้านและที่ดินตกเป็นของนายเว้น ผู้เป็นบุตรชาย และนายเว้นได้บริจาคให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  (กระทรวงการคลัง) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2464

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2450 – 2460 ได้ให้บริษัทหลักสุงเฮง ของนายเหียกวงเอี่ยม อดีตประธานหอการค้าไทย-จีน เช่าอาคารและพื้นที่เป็นสำนักงานและท่าเรือของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจการรับส่งสินค้าทางเรือ จากนั้นห้างฮั่วจั่วจั่นได้มาขอเช่าต่อ โดยใช้พื้นที่ใต้ตึกเป็นที่เก็บสินค้า เมื่อเลิกเช่าแล้วตัวอาคารจึงถูกปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี จนมีค้างคาวเข้ามาทำรังและอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อ “วังค้างคาว” และเมื่อปี 2561 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นบัญชีให้อาคารราชพัสดุวังค้างคาว เป็นโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ตามนัยราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง 

 


 

สถาปัตยกรรมวังค้างคาวควรค่าต่อการอนุรักษ์

ด้วยลักษณะวังค้างคาวเป็นอาคารเก๋งจีน 2 ชั้น 2 หลัง ตั้งขนานกันหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงเชื่อมถึงกัน ล้อมลานโล่งตรงกลางไว้ พื้นที่ตรงกลางด้านล่างอาคาร เป็นลานโล่งขนาดใหญ่และพื้นที่บริเวณใต้ถุนอาคารถูกแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งสองฝั่ง เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บสินค้า อาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าจั่วปูนปั้น นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนที่เก่าแก่มีอายุกว่าร้อยปีและตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสามารถบ่งบอกเรื่องราวในอดีตของไทยเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของสังคมไทยในสมัยนั้น ถือได้ว่าเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

วังค้างคาว อาคารเก่าอายุร้อยปีแห่งคลองสาน

วังค้างคาว มีเนื้อที่ทั้งหมด 4,916 ตารางเมตร ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนั้นมีสถานที่ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวและสวนสาธารณะ เช่น ล้ง1919 ที่อยู่ห่างจากวังค้างคาวเพียง 1 กิโลเมตร มี Khlong San District Museum สวนสาธารณะ สะพานลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนป่ากทม.เฉลิมพระเกียรติ เชิงสะพานพระปกเกล้า อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนอีกฟากฝั่งของวังค้าวคาวก็จะมีพิพิธภัณฑ์สวนศิลป์ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย ตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ โดยเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากย่านเยาวราชอันเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพฯ

 

วังค้างคาวกับความเป็นไปได้ด้านการพัฒนา

ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุ ได้ออกประกาศเปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุ (วังค้างคาว) มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน ภายใต้การอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม

ส่วนผู้ที่ชนะประมูลจะต้องปรับปรุงอาคารภายใต้เงื่อนไข ข้อบังคับและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนดำเนินการปรับปรุง แม้ว่าอาคารจะทรุดโทรมไปมาก แต่โครงสร้างหลักยังสามารถคงรูปแบบเดิมไว้ได้ ต้องคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดและเอื้อต่อการลงทุน

ทางด้าน we!park และเครือข่ายก็ได้มีข้อเสนอพื้นที่สาธารณะสีเขียววังค้างคาว และมีแนวทางขับเคลื่อนหลังประมูล หากยังไม่ได้ผู้ชนะประมูลทางทีมจะนำเสนอแผนการพัฒนาโดยยึดหลักการระดมทุนสาธารณะเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อกรมธนารักษ์ เพื่อกระตุ้นแรงขับเคลื่อนด้าน co-investment, co-creation, co-management ในสังคม หรือหากถูกประมูลไปแล้ว จะนำเสนอกลไกการพัฒนาพื้นที่กับกรมธนารักษ์ เพื่อเชิญชวนให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ถัดไป ทั้งนี้ต้องวาง strategy ทั้งด้านการระดมทุน และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนให้กับพื้นที่ด้วย

 

 

ข้อเสนอวังค้างคาวควรเป็นพื้นที่สาธารณะ (สีเขียว)

สำหรับเหตุผลที่วังค้างคาวควรเป็นพื้นที่สาธารณะ (สีเขียว) เพราะว่าพื้นที่สาธารณะในเมืองมีน้อย โดยเฉพาะอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีทำเลติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนมากอาคารเก่าแก่ที่ไม่ได้ใช้งานหรือถูกทิ้งร้างจะถูกใช้ในเชิงพาณิชย์ไปหมด แต่ถ้าเปลี่ยนมาสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวทางวัฒนธรรมร่วมสมัยสำหรับทุกคน จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะ ความคิดสร้างสรรค์และมรดกทางวัฒนธรรม และสิ่งที่ตามมาคือทำให้ผู้คนเกิดทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เกิดความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมีพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน 

นอกจากนี้ยังจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างการเรียนรู้กับวัฒนธรรมในย่าน การmatching คนกับพื้นที่และวิถีทุนในพื้นที่ การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งต่อแนวทางสู่การลงทุนพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม  ส่งผลต่อสังคมให้เกิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสังคม อนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญา และคุณค่าประวัติศาสตร์  ตลอดจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นหนึ่งในโครงข่ายพื้นที่สีเขียวย่าน รวมไปถึงผลทางเศรษฐกิจมีการสร้างงานในพื้นที่ สร้าง traffic และเกิดแรงกระตุ้นต่อการพัฒนาย่าน

 

Hin Bus Depot’s, George Town, Malaysia

ในต่างประเทศมีกรณีศึกษาที่ Hin Bus Depot’s เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย อดีตเป็นชุมทางรถบัสมีบริษัทเปิดกิจการรถบัส แต่เมื่อเลิกกิจการก็กลายเป็นพื้นที่ทิ้งร้าง แต่ได้มีการปรับปรุงและยังคงโครงสร้างเดิมอาคารไว้และมีผู้เช่าที่มีอยู่ เช่น ร้านกาแฟ ร้านฮาร์ดแวร์ และร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ยังคงดําเนินการต่อไป ส่วนล็อตที่ว่างก็ได้รับการบูรณะและเปลี่ยนเป็นพื้นที่ใหม่สําหรับธุรกิจขนาดเล็กและสตูดิโอ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของร้าน F&B และผู้ค้าปลีกศิลปะและงานฝีมือ คาเฟ่จากพืชและสตูดิโอโยคะ รวมทั้งยังจัดกิจกรรมรายสัปดาห์สําหรับธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน

 

 

REXKL, Kuala Lumpur, Selangor, Malaysia 

อีกกรณีที่ REXKL, Kuala Lumpur, Selangor, Malaysia เดิมเป็นโรงภาพยนตร์แต่ปัจจุบันได้เปิดเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ด้วยการเป็นสถานที่สำคัญและมีเอกลักษณ์จึงอนุรักษ์ทั้งโครงสร้างเดิมและชุมชนโดยรอบเอาไว้ด้วยการสร้างพื้นที่สำหรับกิจกรรมโรงละคร การแสดง ห้องสมุด และการจัดนิทรรศการอื่นๆ  ส่วนชั้นล่างที่เป็นลานจอดรถได้มีการดัดแปลงเป็นตลาดยั่งยืนในชื่อ The Back Ground และร่วมกับ F&B และผู้ขายรายย่อย เช่น Lauk Pauk, The REX Bar, Parklife, ร้านหนังสือ, แฟชั่น, Blackmarket, Shier.co ร้านวินเทจ และร้านค้าต่างๆ ที่เป็นรูปแบบเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังมีกระทั่งร้านตัดผมและจุดนวดจากสมาคมคนตาบอดมาเลเซีย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/953410

https://www.bangkokbiznews.com/social/955337

https://web.facebook.com/TREASURYTHAI/posts/434409124670492

https://tna.mcot.net/business-753054?fbclid=IwAR1KdczpOpGkm0FNsvqRBqYa1CGK111lTTzgTLAyGFuUYMbz4CE79iTR1ns

https://arsomsilparchitect.co.th/en/project_typology/spiritual/

 

Sketch by Yossapon Boonsom
Photo by Nawin Deangnul
Share :