CITY CRACKER

เปลี่ยนมหานครปารีสเป็นสนามกลางแจ้ง PARIS 2024 กับแผนพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการจัดมหกรรมโอลิมปิกผ่านผังเมืองที่เป็นมิตรบนแนวคิดความยั่งยืน

หลังจบโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ถูกเลื่อนมาแข่งขันในปี 2021 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในอีก 1 ปีข้างหน้าโอลิมปิกกำลังจะกลับมาอีกครั้งและเจ้าภาพในครั้งต่อไปคือปารีส ฝรั่งเศสที่จะเข้ามารับไม้ต่อจัดงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 ในปี 2024 โดยทางฝั่งปารีสเองก็ได้ประกาศวันจัดงานออกมาแล้วว่าการแข่งขันนี้จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 26 กรกฏาคม – 11 สิงหาคม 2024 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของเมือง

ความพิเศษของมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้คือเป็นการครบรอบ 100 ปี ของ Paris Olympic ที่เคยจัดไว้เมื่อปี 1924 โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหลังปารีสได้รับประกาศว่าจะได้เป็นผู้จัดงานต่อในปี 2024 ทางเจ้าภาพก็ได้เตรียมแผนการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากมที่จะแวะเวียนเข้ามายังเมืองของตนเองมากขึ้นผ่านหลักการที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น มุ่งเน้นที่ความยั่งยืนและลดการทำร้ายโลกสอดคล้องไปกับแนวทางพัฒนาเมืองปารีสสีเขียว ตลอดจนการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เข้ามารองรับการใช้งาน และใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเกิดก๊าซคารืบอนดอนออกไซด์มากที่สุดตลอดระยะเวลาการจัดงานแข่งขัน รวมถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองให้กลายเป็นสนามกีฬากลางแจ้งอีกด้วย งานกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 นี้จึงถือว่าเป็นปีแรกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นหลักที่จะทำให้เราเห็นปารีสในอีกมุมหนึ่งมากขึ้น

การเตรียมมหานครขนาดใหญ่เพื่อให้พร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาครั้งนี้จึงเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งในแง่ของงานออกแบบ การปรับพื้นที่เมืองเพื่อรองรับการใช้งาน และงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ City Cracker ชวนดูแผนพัฒนาเมืองปารีส ฝรั่งเศส เพื่อรองรับการเป็นเข้าภาพโอลิมปิก แนวคิดและคอนเซ็ปต์หลักรวมถึงโลโก้ และ pictogram ของปีนี้ที่ชวนให้นึกถึงช่วงยุคกลาง และ Art Deco ของเมืองปารีส พร้อมด้วยแนวทางการปรับทัศนียภาพของเมือง และการออกแบบพื้นที่ หมู่บ้านนักกีฬา ไปจนถึงการเพิ่มระบบขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางที่มากขึ้น

 

คอนเซ็ปต์ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ผ่านงานออกแบบ

ภาพแรกๆ ที่เราเห็นการเตรียมตัวพร้อมรับงานโอลิมปิกครั้งนี้คือ Centre Georges Pompidou ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติที่เปลี่ยนบางส่วนของด้านนอกฟาซาดให้กลายเป็นสีสันสดใสเตรียมตัวสำหรับงานกีฬาที่จะถึง การจัดงานครั้งนี้ของปารีสเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งห่างจากรอบที่แล้วเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี ทำให้การจัดโอลิมปิกครั้งที่ 33 นี้ทำให้มหานครปารีสกลายเป็นเมืองที่ 2 ต่อจากนิวยอร์กที่เคยจัดกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว 3 ครั้งด้วยกัน

สำหรับครั้งนี้ปารีสได้หยิบคอนเซ็ปต์คือ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ออกมาใช้ โดยสะท้อนออกมาในงานออกแบบตั้งแต่โลโก้ ที่ผสมผสานระหว่างเปลวไฟ เหยีญทอง และมาริอานน์ สะท้อนถึงความเป็นผู้คนและการปฏิวัติเพื่อเสรีภาพของฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้ 3 สีหลัก คือม่วง ชมพู และฟ้า เพื่อเพิ่มความสดใสให้แก่การแข่งขันมากกว่าเดิม รวมไปถึงการออกแบบเหรียญทองของนักกีฬาที่สามารถแบ่งออกมาได้อีก 3 เหรียญ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาได้ และสำหรับภาพ pictogram ของกีฬาต่างๆ ที่เราได้เห็นกันนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงยุค Medieval หรือยุคกลาง โดยรูปแบบของ pictogram ทั้งหมด 62 รูปทั้งของโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะมีลักษณะคล้ายตราประจำราชวงศ์ของอัศวินยุคกลาง พร้อมสามารถบอกได้ตั้งแต่มองครั้งแรกว่ากีฬาอะไร และจัดการแข่งขันที่สนามประเภทไหน

 

PARIS 2024 แผนพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดความยั่งยืน

ในโอกาสรอบ 100 ปีที่ปารีสจะกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง แนวทางการปรับเมืองเพื่อรองรับการจัดงานแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ของปารีสจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความยั่งยืน พลังงานสะอาด และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพาเราและโลกไปสู่แนวคิดที่แตกต่างของการจัดงานระดับโลก Paris 2024 จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่ทางปารีสตั้งใจว่าจะลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้มากที่สุดทั้งในทางตรงและทางอ้อม

แน่นอนว่าแผนการ Paris 2024 ครั้งนี้ได้ถูกจัดเตรียมและวางแผนมานาน ซึ่งก่อนที่จะเริ่มเกมในปีหน้า ทางปารีสเองก็ตั้งใจจะเปลี่ยนเมืองของตัวเองให้กลายเป็นเหมือนสวนขนาดใหญ่ของการแข่งขัน พร้อมให้เมืองเป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งนี้ โดยทางผู้จัดงานได้ตั้งใจลดการสร้างอาคารใหม่ ด้วยการหยิบอาคารเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองมาใช้งานแทน มีเพียงหมู่บ้านนักกีฬาสำหรับโอลิมปิกและพาราลิมปิกเท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ โดยทั้ง 2 หมู่บ้านได้ถูกออกแบบมาในลักษณะของ eco-distrcit คือหลังจบงานแข่งขันนี้พื้นที่ของหมู่บ้านนักกีฬาสามารถเป็นพื้นที่ใช้งานได้จริงของคนเมือง นอกจากนี้ยังมีการตามเก็บข้อมูลของ carbon footprint ที่ถูกปล่อยออกมาในระหว่างการเตรียมงานและการจัดงานเพื่อคำนวนอีกเช่นกัน

 

เปลี่ยนแลนด์มาร์กของเมืองให้เป็นสนามกลางแจ้ง

ด้วยนโยบายของทางโอลิมปิกเองที่อนุญาตให้ประเทศเจ้าภาพสามารถใช้สนามกีฬาหรือพื้นที่เดิมสำหรับจัดการแข่งขันได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ สอดคล้องไปกับแนวคิด Green Paris ของปารีสที่ต้องการสร้างเมืองสีเขียวขึ้นมา ในการจัดกีฬาโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นนี้จึงเลือกใช้อาคารเดิมเป็นหลัก และปรับพื้นที่บางส่วนให้เหมาะกับกับการใช้งาน มีการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสาตร์และศิลปะ วัฒนธรรมของเมืองผสานรวมกับพื้นที่ทางกีฬา เพื่อลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากการใช้อาคารเดิมแล้ว ยังมีการยกกีฬาบางชนิดออกมาไว้กใจกลางมหานครปารีสอีกด้วย เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ง่ายมากขึ้น โดยได้เลือกใช้พื้นที่แลนด์มาร์กสำคัญๆ ของเมือง ความพิเศษที่เราจะได้รับชมกันในปีหน้า คือภาพความสวยงามของเมืองปารีสที่ฉายออกไปทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นพื้นหลังให้กับการแข่งขันกีฬาที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะการแข่งขันวอลเลย์บอล และฟุตบอล 5 คน ที่มีฉากหลังเป็นหอไอเฟล การแข่งขันม้าที่พระราชวังแวร์ซาย การแข่งขันสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ที่ลานจตุรัส Place de la Concorde ใกล้กับถนนสายสำคัญอย่างช็องเซลิเซ่ รวมถึงอาคารในประวัติศาสตร์อย่าง Grand Palais ที่เคยจัดงานเอ็กซ์โปเมื่อปี 1990 ก็จะถูกเอามาใช้เป็นสนามกีฬาเทควันโดและฟันดาบอีกด้วย รวมถึงงานเปิดการแข่งขันก็จะถูกจัดขึ้นกลางแม่น้ำแซน แม่น้ำสายสำคัญของเมืองด้วยเช่นกัน ส่วนกีฬาอื่นๆ จะถูกแบ่งออกไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ และบริเวณสนามนอกเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันมาก

 

ออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาด้วย Circular Economy

ความท้าทายหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้ คือเมืองสามารถออกแบบมาเพื่อรองรับคนจำนวนมาก และสามารถกลับมาเป็นเมืองสำหรับผู้คนหลังจากจบงานได้อย่างไรโดยไม่สูญเสียทรัพยากรอย่างไม่จำเป็นหรือเกิดเป็นพื้นที่ร้าง การออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิก จึงมีจุดประสงค์หลักคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถกลับมาใช้งานได้หลังจบการจ
แข่งขัน สำหรับหมู่บ้านนักกีฬานี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝั่งแม่น้ำแซน ในระยะที่ไม่ไกลกับพื้นที่ที่แข่งกีฬา คือห่างจากทางปารีสไปไม่เกิน 7 กิโลเมตร และสามารถเดินทางต่อได้ด้วยขนส่งสาธารณะในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที ตัวอาคารถูกออกแบบมาในลักษณะของ Circular Economy พร้อมกันนั้นยังวางแผนเป็นย่านใหม่ของเมืองที่มีความยั่งยืน และเปิดกว้างต่อการใช้งานและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ พร้อมทั้งเอื้อให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายและเหมาะสมสำหรับนักกีฬา และสามารถใช้งานต่อไปได้ในอนาคต

 

เพิ่มการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ

นอกจากการใช้พื้นที่เดิมของอาคารและลานสาธารณะเป็นพื้นที่สำหรับการแข่งขันแล้ว ทางมหานครปารีสยังได้มีแนวคิดในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเหมาะแก่การใช้งานในช่วงโอลิมปิกมากขึ้น ทั้งสำหรับนักกีฬาเพื่อเดินทางไปแข่งขันจากหมู่บ้านนักกีฬาและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมการแข่งขัน โดยในงานออกแบบครั้งนี้ได้มีการเพิ่มสถานีขนส่งและเส้นทางเดินรถเข้ามา คือ สถานี Saint-Denis Pleyel บนเส้นทาง Grand Paris และสถานีเดิมที่จะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของสถานีขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านนักกีฬากับสถานที่จัดงานแข่งขัน รวมถึงการก่อสร้างถนน และทางด่วนเพิ่มเติมเพื่อให้การเดินทางเข้ามายังตัวเมืองสะดวกมากขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com

archdaily.com

olympics.com

insidethegames.biz

paris2024.org

 

Share :