CITY CRACKER

ดาวอังคาร ผิวน้ำ ใต้ดิน เมื่อการหาที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ดูเป็นไปได้และใกล้ตัวมากขึ้น

‘เผ่ามายา’ เอาอีกแล้วนะ กับการที่ปฏิทินของพวกเธอมาสิ้นสุด จนคนตีความว่าโลกจะแตกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา

การที่ทุกคนยังนั่งอ่านข้อความนี้ได้อยู่ก็แปลว่าจินตนาการเรื่องโลกแตกของเรายังไม่เป็นจริง บางคนก็โล่งใจ บางคนก็อดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นว่าโลกแตกจริงๆ จะเป็นอย่างไร

เรื่องเล่าวันโลกแตกดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ในสำนึกร่วมของมนุษยชาติ เรามีวันโลกแตกแทบจะทุกหนแห่งจากเรื่องเล่าในศาสนาโบราณไปจนถึงนิยายไซไฟของโลกสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งมนุษย์นั้นเหมือนกับเราเกิดมาตรงกลาง ระหว่างการเริ่มต้นและการสิ้นสุด เรามักมองชีวิตเป็นเส้นตรง ดังนั้นโลกกลมๆ ใบนี้วันหนึ่งก็อาจดำเนินไปถึงวันสุดท้ายได้

ส่วนหนึ่งคงเพราะความเชื่อว่าโลกสีเขียวๆ อาจร่วงสลายไปได้ในวันใดวันหนึ่ง นิยายไซไฟอันเป็นเหมือนคำทำนายหนึ่งของโลกก็ยังร่วมบอกว่าถ้าเรายังดำเนินกันไปแบบนี้นะ โลกเราอาจถึงกาลวิบัติเข้าสักวันแน่นอน ยิ่งทุกวันนี้เรามีภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสภาวะของโลกที่เคยสดใสเหมาะกับการอยู่อาศัยแบบที่เป็นมาเท่าอายุมวลมนุษย์ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับวิทยาการของเราที่เริ่มไล่ตามไปเรื่อยๆ

ทีนี้ จากการออกแบบทางนวัตกรรม จากการทดลอง ทดสอบตัวต้นแบบต่างๆ แนวคิดเรื่อง ‘เมือง’ ในพื้นที่อื่นๆ ก็เริ่มถูกส่งต่อมาในระดับการออกแบบ โดยนักออกแบบก็เริ่มคิดออกแบบเมืองในสภาวะอื่นๆ ขึ้นมา ล่าสุดทาง BIG ร่วมกับทางอาหรับเอมิเรตได้ออกแบบโครงการเมืองดาวอังคาร (Martian City) เป็นโครงการทดลองสร้างเมืองจริงเพื่อเตรียมยิงไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารจริง ซึ่งพอถึงมือนักออกแบบเบอร์ใหญ่แบบนี้แล้ว ก็ทำให้มองเห็นว่าอนาคตที่เคยไกล อาจไม่ไกลอีกต่อไป เรามีทัวร์อวกาศ และกำลังจะมีเมืองต้นแบบบนดาวอังคาร

ก่อนหน้านี้ แน่นอนว่ามนุษย์เราเก่งเรื่องการปรับตัวและหาทางรอด เราเองใช้ชีวิตกันได้ในสารพัดสถานการณ์ยากลำบาก วิกฤติที่เรากำลังเผชิญอาจเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของมวลมนุษย์ในการสร้างและสืบสานอารยธรรมตัวเองให้อยู่รอด เราจึงอยากพาไปดูการสร้างพื้นที่และที่อาศัยที่อาจเป็นปลายทางของเรา จากเมืองใต้ดิน เมืองลอยน้ำ จนไปสู่เมืองบนดาวอังคาร จากจินตนาการในนวนิยาย สู่งานออกแบบเมืองที่เป็นไปได้ในอีกไม่นาน

big.dk

Underground City

การหนีลงใต้ดินถือเป็นวิธีแรกๆ ที่มนุษย์เราจะใช้หนีจากสภาพอากาศที่รุนแรง ในออสเตรเลียมีเมืองชื่อ Coober Pedy เป็นเมืองที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นผิว เมืองทั้งเมืองถูกขุดและใช้ชีวิตกันอยู่ใต้ดินเพื่อหนีจากอากาศอันร้อนระอุของทะเลทราย จริงๆ แล้วเมืองนั้นเป็นพื้นที่เหมืองโอปอลอันล้ำค่า ก็ถือว่ามีรางวัลในการสร้างเมืองใต้ดินเพื่อใช้อยู่อาศัย- จริงๆ เมืองในอากาศสุดขั้วก็มีหลายที่ที่มนุษย์ทำจนสามารถอยู่อาศัยได้ บางที่ขุดภูเขาเข้าไปเพื่อทำเป็นที่อยู่ เป็นโบสถ์ เป็นพื้นที่ทางสังคม

แนวคิดเรื่องเมืองใต้ดิน ถ้าพูดในปัจจุบันก็คงจะธรรมดาสำหรับเราไปเรียบร้อย ส่วนใหญ่การขุดและสร้างพื้นที่ใต้ดินเพื่อขยายพื้นที่เมืองเป็นสิ่งที่เราพบได้ทั่วไป ขนาดกรุงเทพเองก็เริ่มมีพื้นที่ชอปปิ้ง มีอุโมงค์ทางเดินใต้ดินกันเรียบร้อย หรืออย่างญี่ปุ่นที่เราไปกันจนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เราก็จะเจอห้างร้าน เจอสารพัดพื้นที่ที่ล้วนอยู่ใต้ดินทั้งสิ้น

ในมิติของเมืองสมัยใหม่ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่แล้วยังสัมพันธ์กับมิติความต้องการของสังคมร่วมสมัย(นอกจากความต้องพื้นที่และข้อจำกัดของราคาและปริมาณที่ดิน) จริงๆ เมืองใต้ดินแบบสมัยใหม่มีมาตั้งแต่ปี 1960 ที่มอนทรีออล เป็นโครงการนำร่องๆ คล้ายๆ กับที่เราเห็นทุกวันนี้คือเป็นเหมือนพื้นที่เชื่อมต่อ ไปสร้างไว้ใต้ดิน เชื่อมสถานีรถกลาง โรงแรม ตึกต่างๆ ด้วยแหล่งช้อปปิ้งใต้ดิน

หลังจากนั้นการใช้พื้นที่ใต้ดินถูกออกแบบและขุดสร้างเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ ต่อเนื่อง เช่นที่ปารีสมีการใช้พื้นที่ใต้ดินบริเวณที่ทิ้งขยะของโครงการเคหะแห่งหนึ่ง สร้างเป็น La Caverne คือเป็นฟาร์มผักและเห็ดขนาด 3,600 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบที่สามารถป้อนผลผลิตทางการเกษตรกว่า 54 ตันต่อปีให้กับพื้นที่เมือง

พูดเรื่องพื้นที่ที่จำกัด ทางสิงคโปร์เป็นประเทศที่แสนจะเล็ก แต่สิงคโปร์ก็ยังคงความเป็นเมืองเพื่อชีวิตที่ดี เป็นเมืองสีเขียวที่เน้นการปรับตัวรับมือและสอดประสานกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในปีที่แล้วปี 2019 สิงคโปร์เองก็ได้ออกข้อเสนอเมืองที่ว่าด้วยเมืองยืดหยุ่น- resilient city เป็นเมืองที่เหมือนจะเป็นยูโทเปียคือออกแบบโดยรวมทุกคนเข้าไว้ เน้นความยั่งยืน และยืดหยุ่น ครบทั้ง inclusive, sustainable และ resilient ซึ่งในแผนนั้นมีการย้ายสาธารณูปโภค พื้นที่อุตสาหกรรมและการขนส่งต่างๆ ลงไปไว้ใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่บนพื้นผิวนั้นกลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนมากขึ้น

ดังนั้นพื้นที่ใต้ดินก็เลยเป็นที่ที่เป็นไปได้ ทั้งในภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง โลกใต้ดินจึงอาจเป็นพื้นที่เราใช้หลบจากอากาศที่อาจร้อนขึ้นจนอยู่ลำบาก ฝนหรือที่พายุที่มาบ่อยและรุนแรงเกิน ปัญหาน้ำท่วมไปจนถึงฝุ่นควัน

Coober Perdy /smithsonianmag.com

 

Floating City

แน่นอว่าพอพูดถึงเมืองที่ที่ไม่พอ- ที่ในที่นี้คือที่ดิน การเพิ่มพื้นที่ด้วยการลงไปอยู่ในทะเลจึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศทำ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นที่สร้างเกาะน้อยๆ ทั้งเกาะขึ้นมาเป็นเขตอุตสาหกรรม ไปจนถึงประเทศกลุ่มอาหรับที่ก็มีการถมทะเลลงไปบ้าง

แต่การถมทะเลและสร้างแผ่นดินนั้นอาจเพียงตอบโจทย์เรื่องข้อจำกัดของปริมาณที่ดินที่ไม่เพียงพอ แต่ในยุคปัจจุบันนั้นเรากำลังเจอกับภาวะที่สิ่งแวดล้อมมีความแปรปรวนไปอย่างรวดเร็ว เมืองที่ลอยอยู่บนน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งจิตนาการที่อยู่ทั้งในระดับวิสัยทัศน์ของนักออกแบบ ไปจนถึงแปลนที่วางแผนจะสร้างกันจริงๆ

เมื่อราวๆ กลางปีที่แล้วทาง BIG ก็ได้ออกโครงการชื่อ Oceanix City เป็นแผนการสร้างเมืองทรงแปดเหลี่ยมที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ตัวเมืองเน้นเรื่องความยั่งยืน การหมุนเวียน แต่ละเมืองมีลักษณะเป็นโมดูลลอยแยก และสามารถเชื่อมต่อเข้าหากัน เป็นเมืองที่สามารถรับมือกับสภาวะอากาศไม่ว่าจะเฮอริเคนหรือน้ำท่วมอันเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตัวเมืองเน้นการลอยด้วยวัสดุเฉพาะที่มีการซ่อมแซมตัวเองด้วยแร่ธาตุและสิ่งมีชีวิตในทะเล

นอกจากวิสัยทัศน์ของสตูดิโอใหญ่ ที่ใหญ่กว่านั้นคือพี่สิงคโปร์ของเราก็มีวิสัยทัศน์ และมีแผนการที่จะสร้างเมืองยักษ์ลอยน้ำจริงจังด้วยเหมือนกัน สิงคโปร์วางแผนจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Green Float โดยตัวมันเองหน้าตาเหมือนเจ้าต้นไม้ยักษ์ Supertree แต่เป็นเวอร์ชั่นเกาะขนาดใหญ่ เป็นเกาะสีเขียวที่มีเหมือนหอคอยสูงขึ้นไปซึ่งด้านบนนั้นจะเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของชาวสิงคโปร์

ตัว Green Float หน้าตาเหมือนเมืองในอนาคตจากหนังอย่างแท้จริง แน่นอนว่าสิงคโปร์เองมองว่าจะเป็นดินแดนใหม่ที่ทั้งเขียว ทั้งยั่งยืน มีระบบพลังงานของตัวเอง การจัดการที่เน้นความยั่งยืน การหมุนเวียนของทรัพยากร แถมเกาะที่ลอยตัวขึ้นไป 1 กิโลนั้นจะมีอุณหภูมิอยู่สบายที่ 26 องศาต่อปี ตัวเกาะจะจุคนได้ 5 หมื่นคน โดยมีการประเมินว่าเทคโนโลยีของเรานั้นจะสามารถสร้างเกาะแบบนี้ได้ก็น่าจะภายในราวปี2025 – ซึ่งก็อีกไม่กี่ปี

Oceanix City/ big.dk

Martian City

ไกลแค่ไหนคือใกล้กับดาวอังคาร ไม่นานมานี้เราเริ่มมีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์โบยบินขึ้นไปบนอวกาศ นาซ่าเองก็เริ่มหาทางและชวนนักออกแบบนักคิดมาร่วมกันหาวิธีสร้างบ้านเรือนบนดาวอังคาร ส่วนใหญ่ค่อนข้างพูดถึงเทคโนโลยีเครื่องปรินต์สามมิติที่มองว่าอาจออกแบบเครื่องปริ้นที่เปลี่ยนวัตถุดิบบนผิวดาว ปริ้นออกมาเป็นอาคารเป็นบ้านเป็นเรือน

หรือที่เก๋กว่านั้น นักออกแบบชาวมาเลเซียก็เสนอแนวคิดชื่อ Seed of Life คือใช้พืชเข้าไปช่วยออกแบบที่อยู่อาศัยให้มีความออร์แกนิก เหมาะกับมนุษย์เรามากขึ้น ซึ่งนักออกแบบก็เสนอให้ใช้ไม้ไผ่ มีการวางระบบเป็นถาดปลูกส่งไปวางไว้ดาวก่อน หลังจากนั้นก็จะมีระบบปลูกอัตโนมัติ มี AI ที่ปลูกถึงจุดหนึ่งก็ใช้การตัดและถักสานจนกลายเป็นเพิงที่พักอาศัย เป็นตึกอาคารได้

แต่ล่าสุดในความร่วมมือของ BIG อีกแล้วจากการว่าจ้างของสหรัฐอาหรับเอมิเรต คือทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตเคยประกาศไว้ในปี 2017 ว่าฉันจะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารให้ได้ แถมบรรยากาศทะเลทรายบวกกับความมั่งคั่งก็ทำให้วิทยาการและความฝันอาจไม่ไกลเกินเอื้อม

ล่าสุดทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตก็ได้ว่าจ้างให้ BIG ออกแบบและสร้างเมืองต้นแบบเป็นเมืองใหม่พื้นที่ขนาด 30 สนามฟุตบอล เพื่อเป็นเมืองต้นแบบที่ทั้งยั่งยืน และสามารถทนทานกับสภาพอากาศบนดาวอังคารได้ ตัวโครงการนี้มีการลงเงินสูงถึง 135 ล้านเหรียญสหรัฐ และแน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทางดินแดนเศรษฐีแห่งทะเลทรายจะสามารถมีอาณานิคมบนดาวยักษ์แดงได้

แน่นอนว่าทะเลทรายอยู่ยากแล้ว ภาพของเมืองบนดาวอังคารก็อาจตอบโจทย์กระทั่งการรับมือปัญหาของโลกยุคปัจจุบันเนื่องจากตัวเมืองน่าจะต้องครอบด้วยโดมแก้ว มีระบบผังเมืองที่ทำให้พึงอยู่อาศัย โดยตัวดาวอังคารเองมีสภาพอากาศค่อนข้างสุดโต่งที่ทางนักออกแบบต้องไขโจทย์ตั้งแต่การมีชั้นบรรยากาศบางเบา ไม่มีสนามแม่เหล็กเหมือนโลก ทำให้เสี่ยงกับรังสีต่างๆ จากนอกโลก แถมอุณหภูมิก็เป็นปัญหาคือดาวอังคารค่อนข้างมีอากาศหนาวเย็น- คือเย็นจริงจังที่ -63 องศาโดยเฉลี่ย การไม่มีชั้นบรรยากาศทำให้ของเหลวระเหยเป็นแก้สเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผนวกกับอากาศนั้นก็ทำให้เลือดของมนุษย์บนดาวอังคารถึงจุดเดือดได้โดยง่าย (ทาง BIG คงคิดในใจว่าโจทย์ยากไปหรือเปล่านะ)

Martian City /mirror.co.uk

 

ความสนุกอย่างหนึ่ง อาจมาจากจินตนาการว่าโลกเราอาจแตกหรือพังพินาศไปได้ทุกเมื่อคือ มนุษย์เรานั้นก็สามารถทำและบรรลุในสิ่งที่เราคิดเสมอว่าเป็นไปไม่ได้ จากการขุดลงไปอยู่ใต้ดิน จนมาสู่การถมทะเล ที่จากแค่การถม อาจนำไปสู่เมืองที่ล่อยลอยอยู่บนผิวน้ำ ไหลโต้ไปกับพายุและคลื่นมหึมาแบบเดียวกับเรือโนอาห์ในพระคัมภีร์

หรือกระทั่งการสร้างอารยธรรมใหม่บนโลกที่แสนไกลออกไปเช่นดาวอังคาร เทคโนโลยีล้ำสมัยและนักออกแบบผู้รับแก้ปัญหากระทั่งนอกโลก ก็อาจช่วยพาเราไปยืนอยู่บนผิวดาวที่เคยเป็นจริงเพียงในนวนิยาย ไปยืนดูพระอาทิตย์และพระจันทร์ในวงโคจรใหม่ๆ ได้

 

ในท้ายที่สุดร้อยปีหลังจากนี้อาจจะสั้นเพียงลัดนิ้วมือ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

edition.cnn.com

kobkid.com

bthechange.com

dezeen.com

dezeen.com

mothership.sg

 

Illustration by Montree Sommut
Share :