ลอนดอนมักจะมีพื้นที่ลับซุกซ่อนอยู่กลางเมือง เหมือนโลกเวทมนต์ที่เก็บงำประวัติศาสตร์ของลอนดอนที่พอก้าวมาถึงปัจจุบัน พื้นที่นั้นๆ ก็นำไปสู่การพัฒนาและพร้อมก้าวไปสู่อนาคต
ตลาด Smithfield Market เองก็เป็นหนึ่งพื้นที่น่าสนใจของเมืองลอนดอน ตลาดขนาดใหญ่อยู่ในเขตลอนดอนกลาง (Central London) ปัจจุบันตั้งอยู่กลางเมือง ริมแม่น้ำ ตลาดแห่งนี้เรียกว่าอยู่คู่ประวัติศาสตร์เมืองลอนดอนตั้งแต่ยุคกลาง เป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่รอดพ้นจากมหาอัคคีแห่งลอนดอนหรือ The Great Fire of London ในปี 1666 หลังจากนั้นในยุควิคตอเรียนพื้นที่ตลาดก็ได้สร้างตลาดที่มีหลังคาคลุมขึ้นและกลายเป็นตลาดค้าเนื้อสำคัญของเมือง ปัจจุบัน อาคารของตลาดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
ตลาดสมิธฟิลด์มีความน่าสนใจคือพื้นที่ตลาดนั้นสัมพันธ์กับความเป็นเมือง เป็นพื้นที่จับจ่ายและเก็บงำประวัติศาสตร์ของพื้นที่เมือง การก้าวข้ามผ่านเวลามาอย่างยาวนาน และล่าสุด ตลาดที่แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่นอกกำแพงเมืองได้กลายเป็นศูนย์กลางเมือง กำลังจะถูกพัฒนาเป็นห้องนั่งเล่นใหม่ของเมืองลอนดอน เพื่อรับกับความต้องการและความเปลี่ยนแปลง ไปพร้อมๆ กับการใช้พื้นที่ในมิติเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งบางส่วนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลอนดอน ที่จะเล่าเรื่องเมืองลอนดอนในยุคต้นศตวรรษที่ 20
จากพื้นที่ตลาดนอกกำแพง โรงเชือด ลานประหาร สู่ตลาดค้าเนื้อ และกำลังจะกลายเป็นห้องนั่งเล่นและพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองลอนดอนเอง
ตลาดปศุสัตว์และตะแลงแกงในยุคกลาง
ลอนดอนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตลาดสมิธฟิลด์เองก็เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของประวัติศาสตร์เมืองลอนดอน พื้นที่ริมน้ำนี้แต่เดิมเป็นทุ่งหญ้าที่อยู่นอกกำแพงเมืองของลอนดอน หลักฐานเท่าที่มีว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ค้าขายและเป็นที่รวมตัวของผู้คนเก่าแก่ย้อนไปเก่าสุดได้ราวศตวรรษที่ 12 คำว่า Smithfield มาจากคำว่าในภาษาแซ็กซอนแปลว่า smooth plain คือเดิมเป็นเหมือนทุ่งหญ้ากว้างที่ใช้ต้อนและพักปศุสัตว์ก่อนจะนำไปเชือดและนำเข้าไปขายในเมืองลอนดอน
นอกจากตัวทุ่งนี้จะใช้พักปศุสัตว์และเป็นตลาดปศุสัตว์โบราณ ทุ่งแห่งนี้ยังเป็นเหมือนพื้นที่คนหนีออกมาเตร่ๆ อยู่ คือมาเที่ยวเล่นและเมามายกันที่นอกกำแพงเมืองด้วย หนึ่งในความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้คือการเป็นพื้นที่ในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ของยุคกลาง เช่นเทศกาลเซนต์บาโทโลมิว ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานฉลองแห่งความเมามายและเละเทะ นอกจากนี้ทุ่งแห่งนี้ยังใช้จัดการแข่งขันประลองต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง
ตลาดสมิธฟิลด์เริ่มเฟื่องฟูอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 14 ในสมัยนั้นเมืองลอนดอนออกกฏห้ามเชือดปศุสัตว์ในเขตเมือง ดังนั้น ลานตลาดปศุสัตว์นอกกำแพงเมืองแห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่พ่อค้าเนื้อจะเชือด ชำแหละ และขายเนื้อสัตว์ในพื้นที่ ประกอบกับทางเมืองได้อนุญาตให้พื้นที่ตลาดสมิธฟิลด์สามารถจัดตลาดเนื้อสดรายสัปดาห์ได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ทุ่งแห่งนี้ยังใช้เป็นลานประหาร ใช้ประหารบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายคนเช่น William Wallace อัศวินผู้รักชาติชาวสกอต
ตลาดสมิธฟิลด์ค่อนข้างสะท้อนการพัฒนาและเติบโตของเมือง ทั้งในฐานะที่เป็นพื้นที่ค้าปศุสัตว์และโรงเชือด ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดเปิด ในปี 1614 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตลาดมีการปูลาดด้วยพื้นและติดตั้งระบบระบายน้ำ โดยทุกวันนี้ชื่อของถนนในย่านสมิธฟิลด์ยังสะท้อนกิจการดั้งเดิมที่เริ่มมีการวางระบบค้าขายและความสะอาด เช่นมีถนนชื่อ Cock Lane คือบริเวณนั้นเคยเป็นตลาดขายไก่และสัตว์ปีก Cow Cross Street คือพื้นที่ค้าขายปศุสัตว์ หรือ Cloth Fair คือบริเวณที่ค้าผ้า
ในยุคต่อมาคือเมื่อเข้าศตวรรษที่ 18 พื้นที่ตลาดเดิมที่เคยอยู่นอกเมืองกลายเป็นอยู่กลางเมือง (เมืองขยายออกไปพ้นกำแพงเมืองยุคกลาง) การมีตลาดสัตว์ที่มีชีวิตอยู่กลางเมืองกลายเป็นประเด็นสำคัญด้านสุขอนามัย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 กิจการหลักเดิมคือตลาดปศุสัตว์จึงถูกย้ายออกไป แต่การเป็นตลาดและพื้นที่ค้าขายหลักของเมืองยังคงดำรงอยู่ โดยในช่วงนี้เองที่เมืองได้ลงทุนสร้างตลาดขึ้นใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าของลอนดอนในยุควิคตอเรียน
ตลาดในฐานะครัวของเมือง การออกแบบจากยุควิคตอเรียน
ความน่าสนใจของตลาดสมิธฟิลด์คือ ตลาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทางเมือง คือ London Corporation ในขณะนั้นลงทุนสร้างขึ้นใหม่ นึกภาพว่าหลังจากยุคกลางเมื่อลอนดอนเข้าสู่ยุควิคตอเรียน ตอนนั้นเมืองลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านอุตสาหกรรม ผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังมหานครใหม่แห่งนี้ ตลาดสมิธฟิลด์เป็นการลงทุนใหม่ของเมืองโดยมี Sir Horace Jones เจ้าหน้าที่ของเมืองเป็นผู้ออกแบบ
เราอาจจะพูดว่าเป็นตลาด และการออกแบบตลาด แต่คำว่าตลาดในยุควิคตอเรียนใหม่นี้ไม่ได้เป็นแค่ตลาด แต่เป็นการสร้างพื้นที่ศูนย์กลางการค้าอาหารของเมืองขึ้นใหม่ โดยตัวอาคารออกแบบด้วยนวัตกรรมของยุคสมัย เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของความเป็นเมืองสมัยใหม่ในยุคนั้น ตัวอาคารมีความโอ่โถง เพดานสูง และวางให้เป็นพื้นที่ที่คิดสำหรับประชากรของเมืองจำนวน 3 ล้านในขณะนั้น
การออกแบบอาคาร ที่แม้ว่าด้านในจะเป็นตลาดเนื้อสดขนาดยักษ์และพื้นที่ค้าขายอื่นๆ แต่อาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีความเป็นศิลปะ แสดงออกทางศิลปะสมัยใหม่ ตัวอาคารเน้นการระบายอากาศให้อาคารเย็นเพื่อให้เนื้อสดนั้นสดใหม่เสมอ และไม่ให้ภายในตลาดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ อาคารแห่งนี้คืออาคารเดียวกันที่ยังยืนหยัดและได้ใช้เป็นตลาดเนื้อของลอนดอนในปัจจุบัน ตัวอาคารสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 1868 ด้วยเงินลงทุนสองแสนปอนด์
ความเป็นเมืองสมัยใหม่ และความก้าวหน้าของตลาด รวมถึงการเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการจัดการและกิจการอาหารสมัยใหม่ คือในตลาดแห่งนี้มีออกแบบระบบขนส่งสินค้าด้วนระบบรางที่อยู่ใต้ดิน โดยตลาดถูกออกแบบโดยมีระบบรถไฟอันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่และโลกอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลาง ตัวตลาดนี้จะสามารถรับเนื้อที่ขนมาทางรถไฟโดยจัดการขนส่งอยู่ชั้นใต้ดินของตลาด ในช่วงทศวรรษ 1850 เนื้อสดที่ขายในตลาดราว 2 ใน 3 ถูกขนส่งด้วยรถไฟ นวัตกรรมนี้ซบเซาลงในช่วงทศวรรษ 1960 ที่การขนสินค้าสดด้วยรถไฟถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ พื้นที่ใต้ดินและระบบรางเดิมที่สำคัญถูกแทนที่ด้วยลานจอดรถขนาดใหญ่
อนาคตของตลาดโบราณ พื้นที่พิพิธภัณฑ์ ห้องนั่งเล่นและการฟื้นฟูเมือง
อันที่จริงตลาดสมิธฟิลด์เป็นพื้นที่ทางการค้าของเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นตลาดขายส่ง มีตลาดเนื้อสดประกอบด้วย แต่ด้วยการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ตัวอาคารเองก็ต้องการการอนุรักษ์และปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทางเมืองลอนดอนจึงค่อยๆ ย้ายผู้ค้าออกจากตลาดและวางแผนหน้าที่ใหม่ของทั้งตัวตลาดและการเป็นส่วนหนึ่งของย่านที่จะตอบสนองการพัฒนาและบรรยากาศของเมือง
โฉมใหม่ของตลาดสมิธฟิลด์เริ่มลงมือในปี 2022 และวางแผนแล้วเสร็จในปี 2025 โฉมใหม่ของตลาดจะปรับเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ของ Museum of London ที่จะย้ายมาเป็นพื้นที่หลักในอาคารตลาดที่เป็นอาคารเก่ายุควิคตอเรียน นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว การปรับโฉมตลาดนี้ยังสำคัญกับการปรับทิศทางของเมือง ตัวคอมเพล็กใหม่จะประกอบเป็นเหมือนห้องนั่งเล่นของเมือง จะมีศูนย์อาหาร ศูนย์ประชุม พื้นที่ทำงานแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซ
การปรับไปสู่พื้นที่และใช้งานใหม่มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ทั้งการย้ายพิพิธภัณฑ์ Museum of London จากบริเวณใกล้ๆ Barbican ซึ่งเดิมตัวมิวเซียมไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ การย้ายไปในสมิธฟิลด์และรีแบรนด์เป็นลอนดอนมิวเซียม ซึ่งเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์จะเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองลอนดอนเอง จึงเป็นการใช้พื้นที่ที่น่าสนใจ
ปัจจุบันก่อนที่จะปิดเพื่อรีโนเวต ตลาดสมิธฟิลด์เองค่อนข้างซบเซา ตัวตลาดไม่ใช่พื้นที่หลักในการจับจ่ายทั้งของสดและของชำในชีวิตประจำวันของชาวลอนดอนอีกแล้ว จะเป็นพื้นที่พักผ่อนเพื่อการหย่อนใจ รับประทานอาหารก็ไม่เชิง ดังนั้นการปิดตลาดสดไปสู่โฉมใหม่ในแง่นี้จึงสัมพันธ์กับการปรับแกนการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองลอนดอนให้มีความคึกคักขึ้น โดยปรับไปสู่การเป็นพื้นที่หย่อนใจ เป็นที่หลีกหนีจากเมืองอันวุ่นวายโดยมีบรรยากาศอันรุ่มรวยของย่านช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนลอนดอนต่อไป
ย่านสมิธฟิลด์เองมีความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ของย่าน ในแง่ของโลเคชั่นก็พร้อมในการสร้างความต่อเนื่องให้กับเมือง รอบๆ อยู่ใกล้กับย่านเศรษฐกิจ คือเป็นย่านการเงิน บริเวณพื้นที่ริมน้ำ พื้นที่รอบๆ ตลาดเองได้รับการปรับเป็นย่านที่มีชีวิตชีวาแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งคือการมาถึงของรถไฟฟ้าใต้ดินสายอลิซาเบธไลน์ การปรับปรุงทางเท้ารอบๆ ย่านเก่ารวมไปถึงพื้นที่ริมน้ำ ทำให้พื้นที่แถวๆ ตลาดสามารถเดินและเชื่อมต่อย่าน พื้นที่ริมน้ำและพื้นที่พักผ่อนเข้าไว้ด้วยกัน
การปรับตลาดแห่งนี้จึงถือเป็นการปรับปรุงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่น่าสนใจของย่านกลางเมืองลอนดอน เป็นการฟื้นฟูย่าน สร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ย่าน โดยโปรเจกต์การปรับตลาดไปสู่คอมเพล็กและพื้นที่กิจกรรมใหม่ๆ นับเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ปรับปรุงพื้นที่ตลาดและพื้นที่ค้าขายทางประวัติศาสตร์ของเมือง
ไม่ใช่ลอนดอนเพียงที่เดียวที่มองเห็นความสำคัญและลงมือปรับเปลี่ยนพื้นที่การค้าที่เคยเป็นศูนย์กลางเดิมสู่ปลายทางและบทบาทใหม่ๆ ต่อภาพรวมของเมือง ลอนดอนมีโปรเจกต์ก่อนหน้า และอีกหลายเมืองใหญ่ก็ใช้ ศึกษาและปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นหัวใจของเมือง ของการค้าขายไปสู่ความหมายและการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาใหม่ๆ ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer
- Montree Sommut
Graphic Designer