บทสัมภาษณ์พิเศษของนักออกแบบ Singapore Pavilion ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างป่าขนาดย่อมกลางดูไบ และส่งต่อตัวตนใหม่ของประเทศสิงคโปร์ผ่านสวนทรงกรวย
สำหรับปี 2020 นี้ งาน Expo 2020 ประเทศดูไบรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักจัดงาน โดยมีคอนเซปต์หลักคือ The future of mobility โดยแต่ละประเทศส่งตัวแทนเข้าประกวดออกแบบพาวิเลียนเพื่อสื่อสารถึงตัวตนและแนวคิดที่ประเทศต้องการสื่อสารไปยังสายตาชาวโลก
อย่างที่ทราบกันว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ต้องการดึงธรรมชาติและมนุษย์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านแผนการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 30 ปี ในงาน Expo 2020 ครั้งนี้สิงคโปร์เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามอง ตัวพาวิเลียนของสิงคโปร์ปกคลุมไปด้วยพื้นที่สีเขียว ต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ อากาศเย็นสบาย รวมถึงงานออกแบบพื้นที่ตรงกลาง และ circulation ที่น่าสนใจออกแบบโดย WOHA Architects และภูมิสถาปนิก Salad Dressing โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับบริบทพื้นที่เมืองให้เข้าสู่ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
Chang Huai yan ภูมิสถาปนิกจาก Salad Dressing คือเจ้าของผลงานแลนด์สเคปของ Singapore Pavilion ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานพาวิเลียนชิ้นนี้ผ่านการออกแบบพื้นที่สีเขียว จัดวางต้นไม้และพืชพรรณโดยรวม ตลอดจนงานดีไซน์ต่างๆ ทั้งหุ่นยนต์เพื่อดูแลต้นไม้ภายใน และนิทรรศการกล้วยไม้จำลองที่สื่อสารถึงความเป็นสิงคโปร์อันมุ่งเน้นเรื่องพื้นที่สีเขียวภายในเมือง และการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
เพื่อให้เข้าใจถึงมิติและมุมมองของธรรมชาติในเมืองผ่านงานพาวิเลียน ที่แสดงออกถึงคำว่า ‘สิงคโปร์’ มากที่สุด City Cracker จึงได้ชวน Chang Haui yan ภูมิสถาปนิกจาก Salad Dressing มาพูดคุยถึงที่มาที่ไป แนวคิดงานออกแบบ และเป้าหมายหลักที่ต้องการสื่อสารของพาวิเลียนสีเขียวกลางเมืองดูไบแห่งนี้
City Cracker: งานภูมิทัศน์ของ Singapore Pavilion เริ่มต้นมาจากอะไร
Chang Huai-Yan: เราเริ่มงานดีไซน์นี้มาตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายหลักคือการผสมผสานพื้นที่สีเขียวเข้ากับบริบทของเมือง หรือ hybridization green เนื่องจากเรามองว่าพื้นที่ของประเทศสิงคโปร์นั้นสามารถทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ รวมถึงได้มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับธรรมชาติและโลก โดยพาวิเลียนนี้เกิดขึ้นจากการดึงระบบสำคัญทั้ง 2 อย่างเข้ามารวมกัน คือระบบนิเวศทางธรรมชาติและระบบสื่อดิจิตัลในยุคปัจจุบัน ดังนั้น พาวิเลียนนี้จึงเหมือนพื้นที่ทดลองและจำลองให้ระบบนิเวศของธรรมชาติสามารถเข้ามาผสานกับงานดิจิตัลหรือเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างลงตัว
City Cracker: แนวคิดที่อยากสื่อสารออกไปผ่านงานพาวิเลียนนี้คืออะไร
Chang Huai-Yan: แมสเสจหลักที่เราต้องการสื่อสารคือวิกฤตการณ์ของโลก ณ ขณะนี้ นอกจากเรื่องภาวะโลกร้อนแล้วยังมีเรื่องวิกฤตทางระบบนิเวศวิทยาอีกด้วย รวมถึงการหาทางออกและทำความเข้าใจถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมนุษย์ ตอนนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น หลายๆ อย่างในธรรมชาติกำลังเปลี่ยนไปโดยเราแทบจะไม่รู้ตัวเลย เช่น เราไม่รู้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมีเท่าไหร่ หรือถ้าวันนี้อากาศร้อน เราก็เลือกที่จะเปิดแอร์และไม่รู้ว่าที่มันร้อนขึ้นเพราะธรรมชาติกำลังพยายามบอกอะไรกับเรา พาวิเลียนนี้เลยอยากพูดถึงอนาคตที่มองผ่านเทคโนโลยี ทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ที่ตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ โดยปัญหานี้เป็นทั้งเรื่องท้าทายและโอกาสที่ดีที่เราสามารถร่วมกันออกแบบเพื่อแก้ปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมี 3 คำที่เป็นตีมหลักของพาวิลเลียนที่สิงคโปร์อยากสื่อสารออกมาคือ ‘Nature Nurture และ Future’ คือเมื่อเรามีธรรมชาติ เราควรดูแลเลี้ยงดู ทำความเข้าใจ และสุดท้ายมันจะกลายเป็นอนาคตของเรา เป้าหมายหลักของการเป็นนักออกแบบคือการออกแบบและเข้าใจปัญหา การแก้ปัญหาตรงนี้ก็เปรียบเสมือน nurture หรือการเลี้ยงดู ดูแลธรรมชาติ ซึ่งเมื่อดูแลธรรมชาติได้ ก็จะนำไปสู่อนาคตหรือ Future ได้
City Cracker: จากแนวคิดที่เกิดขึ้น คุณแสดงแนวคิดผ่านงานพาวิเลียนอย่างไรบ้าง
Chang Huai-Yan: สิ่งที่สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ส่วนหน้าหลักของ Singapore Pavilion นอกเหนือจากพรรณไม้จำนวนมาก คือกระบวนการทำงานของน้ำที่ไหลเวียนลงมาด้านล่างล้อมรอบตัวอาคารหลักที่ WOHA Architects ออกแบบไว้ ภายในพาวิเลียนประกอบไปด้วยทางลาด 2 เส้นทางที่จะพาไปพบกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งพืชพรรณมากกว่า 170 สายพันธุ์จากถิ่นที่อยู่หลากหลายในสิงคโปร์ พื้นที่ป่าฝนเขตร้อน พื้นที่ป่าชายเลน ลำธาร รวมถึงกระบวนการน้ำดื่มที่ผลิตผ่านกระบวนการกลั่นน้ำทะเลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยลดการใช้น้ำได้ นอกจากนี้ยังมีก้อนเมฆจำลองสื่อสารถึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงพื้นที่กระจกด้านบนที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในพาวิเลียน
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอประสบการณ์มัลติมีเดียต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางของสิงคโปร์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยโปรแกรมกิจกรรมประกอบด้วยการพูดคุยสำรวจอนาคตของเมือง การจัดแสดงดิจิตัล ตลอดจนการฉายภาพยนตร์และการแสดงแสงต่างๆ
City Cracker: การนำดิจิทัลมีเดียเข้ามาผสมกับพื้นที่จริงบนไซต์งาน ทำให้เกิดความท้าทายอะไรขึ้นบ้าง
Chang Huai-Yan: เรานำดิจิทัลมีเดียเข้ามาใช้ร่วมด้วยในงานออกแบบเพื่อความสะดวกสบาย แม่นยำ เพื่อให้การทำงานบางส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถทำงานเองได้ ในงานพาวิเลียนนี้ได้มีการใช้หุ่นยนต์ปีนเขาต้นแบบ 3 ตัวเพื่อสำรวจพื้นที่สีเขียวบนกำแพง ดูแลสุขภาพของพืช ความต้องการทั้งน้ำและแสงแดด ตลอดจนรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้สำหรับการบำรุงรักษาสวนแนวตั้งและแนวสูง โดยหุ่นยนต์จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ วัดและประมวลผลก่อนส่งข้อมูลกลับมาให้ทางทีม นอกจากนั้นยังมีเรื่องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ การบริหารจัดการน้ำหมุนเวียนภายในเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบนิเวศทางธรรมชาติ
อีกหนึ่งความท้าทายของงานออกแบบทั้งหมด คือการออกแบบเกมภายในพาวิเลียน เพราะสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เกมเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดผ่านการเล่นเกมง่ายๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของแต่ละบุคคลในโลกดิจิทัล และหวังว่าในโลกความเป็นจริงจะเกิดการพูดถึงธรรมชาติเอง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภูมิทัศน์ในปัจจุบันต้องมาจับกับเครื่องมือต่างๆ เทคโนโลยีมากขึ้น
City Cracker: ทำไมพาวิเลียนนี้ถึงได้ชื่อว่าเป็น zero-net pavilion
Chang Huai-Yan: จุดประสงค์หลักของพาวิลเลียน คือการนำเสนอความหลากหลายของป่าฝนและพื้นที่สีเขียว เพราะประเทศสิงคโปร์ก็โดดเด่นในเรื่องนี้ เราพยายามออกแบบให้ลงตัวผ่านการเป็น net zero และ engery pavilion ดังนั้นพาวิลเลียนนี้จึงไม่มีเครื่องปรับอากาศ พื้นที่รอบๆ จะมีพัดลมระบบหมอกที่ชื้นมากให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าฝน จนบางครั้งเมื่อแสงแดดมากระทบที่มุม 42 องศาจะเกิดรุ้งขึ้น คือบางครั้งเวลาเราร้อนเราแค่เปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อความสบาย แต่เมื่อเราไม่มีเครื่องปรับอากาศ ธรรมชาติจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ประเภทนี้ให้เกิดขึ้น เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้สำเร็จผ่านการเป็นพาวิลเลียน ที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ผ่านธรรมชาติทั้งต้นไม้และน้ำแทน
City Cracker : ความท้าทายในการเลือกใช้พรรณไม้ในงานพาวิลเลียนนี้คืออะไรบ้าง
Chang Huai-Yan : ความท้าทายคือเรื่องสภาพภูมิอากาศของดูไบ ดังนั้นการเลือกพืชที่จะเอามาใส่ในพาวิลเลียนจึงเหมือนกับการเริ่มต้นสร้างระบบนิเวศขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ ผ่านการศึกษาว่าสิ่งต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างไร เส้นทางดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปเล็กน้อย เมื่อเราเข้าใจพื้นที่และระบบนิเวศก็ปรับเปลี่ยนบางสิ่งเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ นอกจากนั้นพันธุ์ไม้และพืชพรรณรอบๆ พาวิลเลียนส่วนใหญ่ เช่น บนเพดาน หรือพื้นที่รอบๆ มักเป็นพืชทนแดดทนฝน เนื่องจากสภาพอากาศของดูไบบางครั้งก็ร้อนและฝนน้อย ส่วนพืชพรรณที่มาจากประเทศสิงคโปร์จริงๆ จะอยู่ด้านในพาวิลเลียนที่จำลองให้คล้ายกับป่าฝนมากที่สุด
City Cracker: จากงานที่ผ่านๆ มา Salad Dressing ในฐานะภูมิสถาปัตย์ให้คุณค่ากับอะไรมากที่สุด
Chang Huai-Yan: ในฐานะภูมิสถาปัตย์ของ Salad landscape เราเคยพูดไว้เมื่อ 2 ปีก่อนว่า “การทำงานของเราไม่ได้คาดหวังว่าลูกค้าจะจ่ายให้เรามากขึ้น ถ้าเรายังคงทำงานกันอยู่ที่เท่าเดิม สิ่งที่ควรจะเพิ่มขึ้นในเนื้องานคือการขยายสโคปของงานและงานนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ” เราคิดว่านี่เป็นแนวทางการทำงานที่ควรให้คุณค่าแก่มัน รวมถึงอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือการให้ความรู้กับทุกๆ คนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและโลกในปัจจุบัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเลือกที่ออกแบบปัญหาและหาคำตอบ โดยไม่รอให้เกิดปัญหาหรือความต้องการจากลูกค้า
City Cracker: สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานคืออะไร
Chang Huai-Yan: เราได้ตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ landscape ในปัจจุบัน ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไรบ้าง นอกจากการผสมผสานพื้นที่สีเขียวเข้ากับเมืองแล้ว ในมิติอื่นๆ ก็ควรถูกพัฒนาควบคู่ไปด้วย การถ่ายทอดแมสเสจนี้ทำให้เราได้เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเราเพิ่งมาเข้าใจแมสเสจนี้ขึ้นมาจริงๆ ตอนที่เราพยายามถ่ายทอดมันออกไปผ่านงานออกแบบพาวิลเลียน
City Cracker: พาวิลเลียนนี้จะนำไปสู่เป้าหมายของการเป็น City in Nature ของสิงคโปร์ได้อย่างไร
Chang Huai-Yan: เมื่อสิงคโปร์เริ่มพูดถึงการเป็น City in nature เราหมายถึงการมองภาพในมุมกว้างมากขึ้น เพราะการดูแลรักษาธรรมชาติไม่ใช่แค่การปลูกพืช รักษาพื้นที่และนิเวศวิทยา อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำไปด้วยคือการปรับเปลี่ยนความคิดในจิตใจของมนุษย์ คำนึงถึงสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพิ่มด้วย เพราะระบบนิเวศคือระบบที่มีมนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน พาวิลเลียนนี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการดูแลรักษาโลกและระบบนิเวศวิทยา แม้ตอนนี้เราคิดว่าเราเป็นจุดสูงสุดของระบบนิเวศ แต่เพราะการกระทำของมนุษย์หลายๆ อย่างทำให้ความหลากหลายของระบบนิเวศลดลงไปด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ยังไงก็กลับมากระทบต่อมนุษย์แน่นอน
Photo by Salad Dressing
- Pharin Opasserepadung
Writer