ในทุกหน้าร้อนของ Serpentine Gallery ที่สวน Hyde Park เมืองลอนดอน เรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมของแกลเลอรี่ที่จะเชิญสถาปนิกชื่อดังมาสร้างพาวิลเลียนหรืออาคารชั่วคราวที่เราเรียกกันว่า Serpentine Pavilion โดยธรรมเนียมนี้เริ่มต้นในปี 2000 สถาปนิกรับเชิญคนแรกคือซาฮา ฮาดิด หลังจากงานนี้ผู้คนก็จับตาว่าสถาปนิกชั้นนำจะมาสร้างงานสถาปัตยกรรมอะไร เป็นสถานที่ที่ได้โชว์ทั้งแนวคิดและนวัตกรรมทางสถาปัตกรรม
City Cracker ชวนกลับไปย้อนดู Serpentine Pavilion ในระยะเวลา 9 ปีจาก 9 สถาปนิกชั้นนำของโลกว่าแต่ละปีมีการใช้แนวคิด วัสดุ ไปจนถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอย่างไร มีความน่าตื่นตาตื่นใจหรือสื่อสารประเด็นอะไรในแต่ละปี
Junya Ishigami, 2019
งานในปีล่าสุดเป็นผลงานของจุนยะ อิชิกามิ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น พาวิลเลียนของจุนยะโดยรวมมีหน้าตาเป็นแผ่นหลังคาขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนงอกต่อเนื่องมาจากเนินหญ้า ตัวแผ่นหลังถูกสร้างขึ้นเป็นทรงโค้งเหมือนกับปีกนกสีดำขนาดใหญ่ที่โค้งล้อไปกับเนินหญ้า สถาปนิกอธิบายว่าการออกแบบนี้เน้นถึงความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ มีความออแกนิคเหมือนเป็นเนินหิน ในขณะที่เทคนิกการก่อสร้างเขาใช้ดินในการประกอบเป็นหลังคา ซึ่งการใช้หินมากรุหลังคานี้เป็นเทคนิกเก่าแก่ที่พบได้ในสถาปัตยกรรมเอเชีย เช่นในจีนและญี่ปุ่น หินแผ่นบางๆ นี้เมื่อเจอกับสายฝนก็จะทำให้สีของอาคารเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ตัวอาคารเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ ตัวงานสถาปัตยกรรมของจุนยะจึงดูแปลกประหลาดแต่ก็คุ้นเคย มีความเป็นธรรมชาติแต่ก็ไม่เชิงว่าเลียนแบบธรรมชาติซะทีเดียว พลิ้วไหวแต่ก็กลับดูหนักแน่น กระทั่งตัวโครงสร้างก็ได้รับการสร้างให้ดูบางเบาเหมือนกับจะปลิวออกไปได้ แต่กลับทำมาจากแผ่นหิน
Frida Escobedo, 2018
Frida Escobedo เป็นสถาปนิกชาวเม็กซิกัน พาวิลเลียนของเธอในปีที่แล้วเป็นการผสมผสานความเป็นเม็กซิกันและอังกฤษพร้อมถ่ายทอดแนวคิดว่าด้วยเวลา (time) ไว้ในพาวิลเลียน พาวิลเลียนสีดำของ Escobedo เป็นลานทรงสี่เหลี่ยมที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพง ตัวงานสถาปัตยกรรมของเธอทั้งซับซ้อนและเรียบง่ายในตัวเอง ตัวพื้นที่ที่เธอสร้างเล่นกับแนวคิดเรื่องเวลา เช่นแกนของอาคารทรงสี่เหลี่ยมนี้ถูกวางขนานกับแกนเส้นเมริเดียนที่กรีนิชในอังกฤษ อันเป็นเส้นที่ใช้ลากเพื่อแบ่งเขตเวลาต่างๆ ภายในอาคารมีการวางบ่อน้ำทรงสีเหลี่ยมที่ล้อสะท้อนกับเพดานคนโค้งขัดเงา ด้วยความที่พาวิลเลียนนีจะจัดแสดงไว้ในหน้าร้อน ในช่วงเวลาต่างๆ กัน แสงของพระอาทิตย์ก็จะถูกสะท้อนและสร้างความรู้สึกของคนที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีต่อ ‘เวลา’ มากขึ้น ซึ่งการสร้างประเด็นหรือการรับรู้เรื่องเวลาใหม่เป็นเรื่องซับซ้อน ในขณะที่ตัวอาคารและเทคนิกการก่อสร้างกลับเน้นไปที่ความเรียบง่าย เช่นการใช้รูปทรงเรขาคณิต มีการใช้เทคนิกการสร้างกำแพงที่เรียกว่า celosia คือเป็นกำแพงที่ได้รับการออกแบบให้ลมพัดผ่านได้ เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเม็กซิกัน แต่ตัวกำแพงนั้นก่อขึ้นโดยใช้วัสดุกระเบื้องหลังคา กระเบื้องพื้นฐานที่ผลิตขึ้นในสหราชอาณาจักร Frida Escobedo ถือเป็นสถาปนิกที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเชิญ และเป็นสถาปนิกหญิงเดี่ยวคนที่สอง ต่อจาก Zaha Hadid ที่เป็นสถาปนิกหญิงคนแรกของประเพณี Serpentine Pavilion ครั้งแรก
Francis Kéré, 2017
Serpentine Pavilion ในปี 2017 เป็นผลงานออกแบบของ Francis Kéré สถาปนิกชาวแอฟริกัน ตัว Kéré เป็นสถาปนิกที่มีพื้นเพจากหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Gando ในประเทศ Burkina Faso แอฟริกาตะวันออก พาวิลเลียนของ Kéré เป็นการผสานนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมเข้ากับภูมิหลังและการหวนคิดถึงบ้านเกิด ที่ Gando ต้นไม้ใหญ่ถือเป็นจุดรวมของผู้คน รมถึงกิจกรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นภายใต้เงาไม้เหล่านั้น ตัวพาวิลเลียนจึงได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ ตัวหลังคาออกแบบโดยเลียนแบบกิ่งก้านของต้นไม้ ในตัวโครงสร้างหลังคามีระบบระบายน้ำที่เมื่อฝนตกบริเวณศูนย์กลางโดมของอาคารชั่วคราวจะเกิดเป็นน้ำตกขนาดย่อมขึ้น เป็นการเฉลิมฉลองกับสายน้ำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต ในยามค่ำคืนผนังของอาคารจะเว้นช่องเล็กๆ ไว้ ทำให้เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแสงและกิจกรรมภายในอาคารวับๆ แวมๆ Kéré บอกว่าสมัยที่อยู่ในบ้านเกิดอันห่างไกล เวลาที่อยากรู้ว่าที่ไหนมีการรวมตัวกันก็ทำได้โดยปีนขึ้นบนต้นไม้ใหญ่และสังเกตแสงไฟ ถ้าที่ไหนมีการรวมตัว ไฟจุดเล็กๆ จะค่อยๆ รวมตัวกันตามคนที่เดินทางไปยังจุดเดียวกัน การเห็นแสงไฟรำไรจากอาคารจึงเป็นตัวแทนการเล่าเรื่องราวและการรวมกัน (togetherness)
Bjarke Ingels Group (BIG), 2016
ปี 2016 เป็นผลงานของ Bjarke Ingels สตูดิโอสถาปัตยกรรมแนวหน้าที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างตึกหน้าตาประหลาดพร้อมกับเสนอแนวคิดล้ำยุค Serpentine Pavilion ของ BIG เป็นอาคารที่มองในแนวตรงจะเห็นเป็นเหมือนกำแพงขนาดใหญ่ที่แหวกออก- คล้ายกับการเปิดซิปให้ผู้เข้าชมเข้าไปในพื้นที่ ในแง่ของการก่อสร้าง ตัวอาคารใช้กล่องไฟเบอร์กลาสสี่เหลี่ยมที่เชื่อมต่อกันจนเกิดเป็นผนังที่มีความพลิ้วไหว การสร้างกำแพงรูดซิปนี้จึงเป็นการนำ ‘มิติ’ มาเล่นในงานสถาปัตยกรรม
Selgas Cano, 2015
Serpentine Pavilion เป็นผลงานของสถาปนิกสเปน Selgas Cano ตัวอาคารในปีนี้มีหน้าตาเป็นอุโมงค์ที่หุ้มด้วยพลาสติกสีสันสดใสอันเป็นจุดเด่นในงานออกแบบของ Selgas Cano ที่มักเล่นกับวัสดุสังเคราะห์ ตัวพลาสติกหุ้มอาคารใช้เป็นวัสดุ ETFE คือพลาสติกสีที่มีทั้งส่วนที่โปร่งแสงและทึบ โดยรวมแล้วเป็นพาวิลเลียนที่เต็มไปด้วยสีสัน ดูสนุกสนานสอดคล้องกับแนวคิด ‘การเคลื่อนไหวและความบางเบา (movement and lightness)’ เมื่อแสงส่องผ่านพลาสติกสีทำให้บรรยากาศในพาวิลเลียนถูกฉาบไปด้วยสีสันสดใส ล่าสุดในปี 2019 พาวิลเลียนอุโมงค์พลาสติกนี้ได้รับการจัดแสดงใหม่ที่ Los Angeles ในวันที่ 28 มิถุนายนถึง 24 พฤศจิกายน
Smiljan Radić, 2014
สำหรับปี 2014 เป็นผลงานของสถาปนิกชาวชิลีที่เล่นกับรูปทรงที่ดูบอบบางแปลกประหลาด ตัวพาวิลเลียนหน้าตาเหมือนโดนัทสีขาว หรือคล้ายๆ รังไหมที่หุ้มด้วยไฟเบอร์กลาสบางๆ เป็นโครงสร้างที่หน้าตาเหมือนถูกหุ้มด้วยเทปขุ่น สถาปนิกเน้นความแปลกประหลาดด้วยการวางหินขนาดใหญ่ไว้ให้ดูเหมือนว่ารังไหมยักษ์นี้มีน้ำหนัก แต่ตัวมันเองกลับมีลักษณะของความบางเบาและบอบบาง สถาปนิกพูดถึงแรงบันดาลใจจในการสร้างตึกประหลาดว่ามาจากการตกแต่งสวนยุโรปในยุคศตวรรษที่ 18-19 ที่นิยมสร้างสิ่งปลูกสร้างแปลกๆ สนุกๆ ไว้ในสวนเพื่อความสนุก เช่น ปราสาท ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมไป
Sou Fujimoto, 2013
พาวิลเลียนในปี 2013 เป็นพาวิลเลียนที่ง่าย เท่ และเชิญชวนให้ผู้มาเยือนเข้าสำรวจและสนุกไปกับโครงสร้าง ผลงานของ Sou Fujimoto สร้างอาคารชั่วคราวด้วยการใช้เหล็กเส้นตรงจำนวนมากประกอบขึ้นจนกลายเป็นเส้นสายสี่เหลี่ยมและเป็นกล่องอาคารที่โปร่งกลืนไปกับสวนสีเขียวของสวน Kensington ซึ่งเจ้าเส้นตรงนี้ประกอบกันเป็นสี่เหลี่ยม และสี่เหลี่ยมที่ประกอบกันอย่างไร้รูปร่างก็ก่อตัวจนดูไกลๆ เหมือนเป็นก้อนเมฆที่ทั้งแข็งแรงแต่ก็มีความเป็นอิสระในตัวเอง สถาปนิกบอกว่าประทับใจสวนนี้มากจึงต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่กลืนละลายเข้าไปกับสีเขียวที่เป็นพื้นหลัง ซึ่งเจ้าโครงสร้างเหล็กโปร่งๆ ที่พุ่งขึ้นอย่างอิสระนี้ก็ทำให้ผู้มาเยือนสามารถขึ้นไปใช้งานนั่งเล่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัดด้วย
Herzog & de Meuron and Ai Weiwei,2012
ปี 2012 ถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดและความบ้าระห่ำ ผลงานของสองเทพคือ Herzog & de Meuron สตูดิโอสถาปัตยกรรมแนวหน้าของโลกจากสวิตเซอร์แลนด์และ Ai Weiwei ศิลปินชาวจีนที่พูดเรื่องความเคลื่อนไหวของสังคม คือสองทีมนี้เพิ่งทำสเตเดียมรังนกที่ปักกิ่งสำเร็จจึงมาร่วมกันสร้างปรากฏการณ์เป็นพาวิลเลียนทรงกลมที่ ‘จม’ ลงไปในดิน โดยรวมพาวิลเลียนปีนี้ถือเป็นงานที่น่าทึ่งคือทั้งในแง่ความงามและเทคนิคการก่อสร้าง ตัวฮอลล์หลักเป็นฮอลล์ที่ขุดลงไปในสวน และตัวฮอลล์มีหลังคาเป็นสระน้ำที่เหมือนกระจกทรงกลมเป็นแผ่นบางๆ ในพื้นที่ใต้ดินนั้นให้ประสบการ์ที่แปลกประหลาดและมีกลิ่นเฉพาะจากการกรุด้วยจุกก๊อก บรรยากาศจะเย็น ชื้นมีความสงบอย่างประหลาด
Peter Zumthor, 2011
Peter Zumthor เป็นสถาปนิกชาวสวิส ในปีนี้สถาปนิกเนรมิตพื้นที่เฉพาะที่ตัดขาดออกจากโลกภายนอก เป็นพื้นที่แห่งการคิดคำนึง (contemplation) ตัวพาวิลเลียนเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีสวนอยู่ภายใน ผู้มาเยือนจะได้เดินเข้าสู่อาคารและรู้สึกเหมือนได้ตัดขาดออกจากโลกภายนอก เข้าสู่สวนสงบ เป็นพื้นที่ที่หลบออกจากเสียง กลิ่นและความวุ่นวายของเมืองลอนดอน
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.