CITY CRACKER

‘สมุทรปราการ’ จากนิวอัมสเตอร์ดัม สู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเจอกับพายุใหญ่ ล่าสุดก็มีพายุเตี้ยนหมู่ ปัญหาน้ำท่วมจึงดูจะกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งนอกจากกรุงเทพแล้ว สมุทรปราการก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่อยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่าแค่ชื่อ ‘สมุทรปราการ’ เราก็พอเห็นภาพความเป็นเมืองที่อยู่ติดกับทะเล ดังนั้นเมืองแห่งนี้จึงเจอกับน้ำอยู่เสมอทั้งน้ำทะเลหนุน รวมถึงปัญหาน้ำท่วมขังดังที่เราเห็นภาพน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมไปเมื่อไม่นานมานี้

ถ้าพิจารณาในแง่ของเมือง คำว่าสมุทรปราการ โดยตัวเองก็ดูจะมีความสำคัญที่สัมพันธ์คู่ขนานมากับการก่อตัวของเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพ หรือกระทั่งสมัยอยุธยา เป็นเมืองที่มีหน้าที่ป้องกันรับมือทางทะเลอันเป็นปราการอันสำคัญ แต่ถ้าเราพูดถึงสมุทรปราการในฐานะเมืองปากอ่าวในปัจจุบัน เราย่อมนึกถึงเมืองที่เป็นเมืองท่า เป็นฮับในการส่งออกสินค้า เป็นเมืองสำคัญของการก่อตัวของอุตสาหกรรม ของโรงงาน และเมืองที่เติบโตขึ้นนี้จึงกำลังกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญไม่แพ้กรุงเทพมหานคร

สมุทรปราการจึงเป็นเมืองที่สำคัญ ปัจจุบันหลายคนอาจกลายเป็คนสมุทรปราการไปแล้วจากโครงการบ้านที่ค่อยๆ ขยายไปตามแนวรถไฟฟ้า สมุทรปราการถือเป็นเมืองที่มีประวัติอันยาวนานในฐานะเมืองท่าและเมืองหน้าด่านทางทะเล เป็นเมืองที่ขยายจนกลายเป็นเมืองสมัยใหม่อยู่นอกกำแพงเมืองหลักดังที่ปรากฏในงานศึกษาโดม ไกรปกรณ์ โดยเมืองที่ขยายตัวขึ้นนี้ก็จะมีความมั่งคั่งและคับคั่งจนกลายเป็นรากฐานของเมืองแห่งการค้าและอุตสาหกรรมร่วมสมัย

ปากน้ำที่ขยายตัว และการเกิดขึ้นของเมืองใหม่สมัยอยุธยาตอนกลาง

พื้นที่เมืองสมุทรปราการด้วยความเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่ติดทะเล พื้นที่แถบสมุทรปราการในปัจจุบันและบริเวณใกล้เคียงนั้นมีหลักฐานว่าน่าจะมีการอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน ตามหลักฐานทางภูมิศาสตร์ตัวพื้นที่เกิดขึ้นมาราวพันปีจากการทับถมของดินตะกอนจากแม่น้ำสายต่างๆ บริเวณพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่นี้ ศรีศักร วัลลิโภดมเรียกว่ามีลักษณะเป็น ‘ทะเลตม’ คือปนดินโคลนจากตะกอน มีความอุดมสมบูรณ์ และกล่าวว่ามีการอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน เช่นมีหลักฐานการพบรูปปั้นเทพารักษ์โบราณครั้งขุดลอกคลองสำโรงเมื่อสมัยพระรามาธิบดีที่สอง ในช่วงปี 2041

พื้นที่แถบลุ่มน้ำ นักวิชาการคาดว่าน่าจะถูกใช้เป็นเมืองปราการทางทะเลตั้งแต่สมัยขอม ต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา โดยตัวเมืองสมุทรปราการในปัจจุบันจริงๆ กลายเป็นเมืองในช่วงอยุธยาตอนกลาง คือในสมัยนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ คือแต่เดิมพื้นที่ปากน้ำเดิมอยู่แถวๆ เขตราชบูรณะ เรียกว่าพระประแดงเดิม แต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางเกิดการทับถมของตะกอนทำให้เมืองพระประแดงเก่าอยู่ห่างจากทะเลไปเรื่อยๆ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) จึงได้โปรดตั้งเมืองสมุทรปราการขึ้นบริเวณชายฝั่งตอนใต้ของคลองบางปลากดเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านใหม่แทนเมืองพระประแดงเดิม

เมืองพระสมุทรปราการ นิวอัมสเตอร์และการกลายเป็นเมืองร้าง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมืองสมุทรปราการ หรือเมืองใหม่บริเวณบางปลากด ในตอนนั้นแม้ว่าชื่อเมืองจะดูแข็งแรงและแน่นหนาในนามพระสมุทรปราการนี้ ไม่ได้ถือว่าเป็นเมืองที่สำคัญนัก ถ้าเรามองจากลำดับชั้นของเมืองที่สมัยอยุธยามีการแบ่งเมืองตามลำดับความสำคัญต่ออยุธยา ในกลุ่มเมืองที่เรียกว่าวงราชธานี เมืองอิสระที่แต่งตั้งเจ้านายหรือขุนนางลำดับสูงไปปกครองในฐานะรัฐอิสระ ต่อมาในเมืองวงราชธานีมีเมืองที่เรียกว่าเมืองน้อยซึ่งเมืองสมุทรปราการถือเป็นเมืองน้อยเมืองหนึ่งซึ่งถือว่าไม่มีความสำคัญกับอยุธยามากนัก

แต่ช่วงตั้งเมืองในสมัยอยุธยาตอนกลางนั้น เมืองสมุทรปราการก็เกือบกลายเป็น ‘เมืองท่า (port city)’ อยู่ช่วงหนึ่ง คือในสมัยพระเจ้าทรงธรรม อยุธยาได้มีการติดต่อค้าขายกับเนเธอแลนด์ โดยชาวเนเธอแลนด์ได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บริเวณบางปลากดและเรียกว่าเป็น ‘นิวอัมสเตอร์ดัม’ ทว่าการเป็นเมืองการค้าของสมุทรปราการในนามนิวอัมสเตอร์ดัมนั้นก็หมดไปอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยชาวเนเธอแลนด์ไม่พอใจการทำการค้าของกษัตริย์อยุธยาที่ทรงดำเนินการค้าด้วยตนเองแทนการทำผ่านพ่อค้าชาวดัตช์ ประกอบกับในสมัยพระนารายณ์ที่กระชับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและเกิดการพิพาทกับดัตช์ สถานีการค้าจึงถูกทิ้งร้างและพัดลงทะเลไป ประกอบกับเมื่ออยุธยาแพ้สงครามพม่า เมืองสมุทรปราการจึงถูกทิ้งร้างลง

การฟื้นฟูเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ และการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย

หลังจากเสียกรุง ในการฟื้นฟูเมืองช่วงสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสมุทรปราการก็เป็นเมืองที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นโดยยังคงถูกวางให้เป็นเมืองปราการ หน้าด่านทางทะเลดังที่เคยเป็นมา การฟื้นฟูเมืองสมุทรปราการในช่วงแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการสร้างป้อมขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก และในรัชกาลที่ 3 ก็คงสานต่อการสร้างป้อมปราการรวมถึงมีการซ่อมแซมฟื้นฟูป้อมปราการเดิมขึ้นด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังที่เราทราบว่าสมัยนั้นสยามเริ่มรับความทันสมัยเข้ามาโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ความน่าสนใจคือในยุคนั้นเมืองสมุทรปราการในฐานเมืองปราการก็มีการนำเอาความทันสมัยเข้ามาด้วย เช่นมีการนำเข้าประภาคารเหล็กเพื่อทำหน้าที่ส่องไฟ โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สร้างพลับพลาที่ประทับประกอบด้วยพระที่นั่งหลายพระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระที่นั่งสุขไสยาสน์ โดยพระที่นั่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรดให้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์แห่งแรกของเมืองสมุทรปราการ ทว่าในยุครับความทันสมัยนั้นสยามเองก็ยังมองว่าเมืองสมุทรปราการเป็นป้อมปราการดังที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยา มีการสร้างป้อมเช่นป้อมพระจุลฯ

 

การมาถึงของเรือใหญ่ และการก้าวกระโดดสู่ความเป็นสมัยใหม่

ในงานศึกษา ‘ วิวัฒนาการของเมืองสมุทรปราการ: จากเมืองป้อมปราการ สู่เมืองกึ่งสมัยใหม่ ’ เสนอและสำรวจข้อคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์ว่า เมืองสมุทรปราการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคหลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 คือแน่นอนว่าในสมัยนั้นสยามต้องปรับตัวให้มีความทันสมัย และการกลายเป็นเมือง ‘ กึ่งสมัยใหม่ ’ ของสมุทรปราการนั้นก็สัมพันธ์กับการปรับตัวจากการล่าอาณานิคม ทำให้เมืองป้อมปราการกลายเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางการค้า

ในข้อคิดเห็นของนักวิชาการระบุว่าสัญญาณ และการปรับตัวไปสู่ความทันสมัยนั้นบางส่วนก็เป็นความเคลื่อนไวของต่างชาติในประเทศไทย เช่นการขอสัมปทานเพื่อประโยชน์ทางการค้าขาย หนึ่งในนั้นคือการขอสัมปทานทางรถไฟ โดยทางรถไฟสายแรกที่สยามอนุมัติแก่ชาวต่างชาตินั้นคือสายกรุงเทพ- สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร ดำเนินการสร้างโดยชาวเดนมาร์ก

การมาถึงของเรือใหญ่และชาวต่างชาติในช่วงรัชกาลที่ 5 ทำให้เมืองสมุทรปราการเป็นเมืองที่คึกครื้นไปด้วยชาวต่างชาติ ในราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุถึงการมาของเรือสินค้าชาวต่างชาติที่บรรทุกพ่อค้าและลูกเรือทั้งชาวตะวันตก จีน และคนแขก เป็นเมืองที่คับคั่งไปด้วยชาวต่างชาติ โดยในสมัยเดียวกันนี้จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสาธารณูปโภคของเมืองไปสู่เมืองทางการค้า เช่นในปี 2451 วัดปรับพื้นที่ลานวัดของวัดกลางไปเป็นตลาดตามคำขอของพ่อค้า มีการปลูกเรือนไม้ไผ่และต่อมาจึงกลายเป็นเรือนแถวสองชั้นที่กลายเป็นย่านค้าขาย

เมืองท่า กับการเป็นเมืองอุตสาหกรรม

แน่นอนว่าในยุคแรกๆ เมืองสมุทรปราการเริ่มมีความสำคัญในฐานะเมืองท่า เป็นเมืองนานาชาติของพ่อค้า มีการพัฒนาระบบทางรถไฟไปรษณีย์ ต่อมาเมื่อสยามเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม บทบาทของพื้นที่เมืองท่าเช่นสมุทรปราการก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น พื้นที่บริเวณสมุทรปราการจึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับรับและส่งวัตถุดิบและสินค้า ประกอบกับการเป็นพื้นที่เมืองที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ นั้น มีการพัฒนาสาธารณูปโภคอื่นๆ รอไว้รองรับแล้ว

ในยุคหลังหลังจากที่มีการก่อตั้งบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมประเทศไทยในปี 2508 ซึ่งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมคือการจัดสรรที่ดินและพัฒนาสาธารณูปโภคเช่นระบบบำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้าและอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยนิคมอุตสาหกรรมบางปู ในตำบลแพรกษา เป็นโครงการร่วมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 ปัจจุบันมีตัวเลขโรงงานอุตสาหกรรมจดทะเบียนในสมุทรปราการกว่า 7,000 แห่ง

เครื่องบิน รถไฟฟ้า เมื่อสมุทรปราการที่เริ่มหนาแน่นและหลากหลาย

หนึ่งในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสมุทรปราการ จากที่เคยเติบโตเพราะเรือกลไฟ แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นในพื้นที่ การสร้างสนามบินแห่งที่สองเริ่มต้นในปี 2503 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง มีการตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยหนึ่งในผลการศึกษาระบุว่าไทยต้องการสนามบินเพื่อการพาณิชย์แห่งที่สอง โดยจากสมัยจอมพลถนอมเรื่อยมาจนถึงสมัยหลัง 14 ตุลา พื้นที่สมุทรปราการเป็นพื้นที่พิจารณาสำหรับการสร้างสนามบินทั้งสิ้นจากจุดแรกบริเวณบางพลี จึงได้ข้อสรุปที่บริเวณหนองงูเห่าในที่สุด

ก่อนการสร้างสนามบิน พื้นที่ย่านสมุทรปราการค่อนข้างหนาแน่นจากการเป็นเมืองที่พัฒนารองจากกรุงเทพฯ ดังเห็นได้จากการเวนคืนที่ดินในการทำสนามบินที่มีการเวนคืนหมู่บ้านที่บางพลีที่มีการเวนคืนหมู่บ้านกว่า 7 หมู่ ย้ายโรงเรียน 3 แห่ง โดยเมื่อเกิดสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พื้นที่รอบๆ ก็เกิดเป็นเมืองใหม่และหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการขยายของรถไฟฟ้าที่ทำให้ทั้งโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมเข้าเติบโตโดยมีบ้านพักคนงานและนิคมอุตสาหกรรม

กรณีโรงงานสารเคมีที่กิ่งแก้วไฟไหม้นั้น ก็เป็นผลอย่างหนึ่งของการขยายตัวของเมือง ของฮับการเดินทางไปสู่พื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดผลกระทบของอุบัติเหตุของโรงงานส่งผลกระทบต่อพื้นที่พักอาศัยเป็นจำนวนมาก

ภัยพิบัติ และอนาคตของเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่า

แน่นอนว่าสมุทรปราการเป็นเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีความเจริญ มีความหนาแน่น ทว่ากรณีเช่นโรงงานกิ่งแก้ว รวมถึงข้อพิพาทและปัญหาแบบเมืองๆ เช่นรถติด เมืองที่แออัด มลพิษทั้งอาการและเสียงก็ล้วนเป็นผลพวงของการเป็นเมืองอุตสาหกรรม การอยู่ร่วมกันของนิคม ของชุมชนทั้งผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงที่พักอาศัยของคนเมืองที่ขยายออกตามแนวรถไฟฟ้าทั้งคอนโดมิเนียมรวมถึงบ้านเดี่ยวทำให้สมุทรปราการเป็นเมืองที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็วและอาจกำลังมีประเด็นปัญหาที่ต้องการด้านความแออัดและสุขภาวะรวมถึงมิติทางสังคมต่อไป

นอกจากเรื่องทางสังคมและการพัฒนาแล้ว สมุทรปราการถือเป็นเมืองท่าที่อยู่ริมน้ำ ดังนั้นในภาวะความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ เมืองสมุทรปราการจึงนับเป็นเมืองลำดับแรกๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทั้งเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและปัญหาพฤติกรรมฝนที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับเมืองเพื่อให้เมืองอันหนาแน่นนี้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งการซับน้ำและการป้องกันในมิติอื่นๆ รวมถึงความร้อนและความยั่งยืนของเมืองในแง่อื่นๆ จึงเป็นหนึ่งในโจทย์ที่สมุทรปราการอาจต้องเจอพร้อมๆ หรืออาจก่อนกรุงเทพฯ

อ้างอิงข้อมูลจาก

so04.tci-thaijo.org

ecocenter.diw.go.th

coastalwiki.org

bangkokbiznews.com

eia.onep.go.th

Illustration by Montree Sommut

Share :