CITY CRACKER

Resilience in practice: 7 ประเด็นปัญหาและการใช้ความยืดหยุ่นรับมือ

หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา เราเองเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของน้ำมือมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ และในทางกลับกันความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เรารู้จักในนามความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ก็กำลังส่งผลกระทบย้อนกลับต่อความมั่นคงของมนุษย์เราอย่างรุนแรง ภัยธรรมชาติที่รุนแรง บ่อยครั้ง และแปลกประหลาดเรื่อยมา จนถึงโรคระบาดล้วนเป็นสักขีพยานว่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่เราเคยบอกว่าเข้าใจและเตรียมรับนั้นเป็นสัจธรรมสำคัญ ดังนั้น การปรับตัวของเราจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างชาญฉลาดและทันท่วงที ซึ่งทั้งหมดนี้ ในความหมายปัจจุบันคือการร่วมกันนำมนุษยชาติให้ผ่านพ้นวิกฤติและยังคงใช้ชีวิตอยู่บนโลกสีฟ้าใบนี้ต่อไปได้

ในระดับความคิดเราจึงมีแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่น (Resilience) อันเป็นความคิดที่ใหญ่ และมีความสำคัญตั้งแต่ระดับมโนทัศน์ คือความยืดหยุ่นภายในจิตใจและในความรู้สึก เพื่อรับมือและฟื้นฟูตัวเองจากเหตุการณ์หรือวิกฤติต่างๆ ไปจนถึงการเป็นกรอบคิดในการออกแบบและบริหารจัดการ ในระดับเมืองเราก็มีทิศทางเรื่องเมืองยืดหยุ่น (Urban Resilience) คือการปรับจากเมืองสมัยใหม่ที่แข็งๆ เน้นความยั่งยืนถาวร ไปสู่การปรับให้เมืองนั้นเข้าไปอยู่ในส่วนของนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองที่ปรับไปตามบริบท ไปสู่ความยืดหยุ่น และเป็นการสอดประสานทั้งเมือง ธรรมชาติ สรรพสัตว์ และผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน
แต่ก็มีหลายเสียงที่บอกว่า คำว่า ‘ยืดหยุ่น’ ด้วยตัวมันเองมีความเป็นนามธรรม และอีกด้านมีความเป็นกรอบคิดสำหรับนำไปใช้ตามแต่ละบริบทและตามแต่เป้าหมาย ความเข้าใจของแต่ละพื้นที่ แต่ละปัญหา ทำให้เกิดคำถามว่าอะไรคือความยืดหยุ่นที่มีความเป็นรูปธรรม และอะไรคือเมืองที่ยืดหยุ่นกันแน่
ด้วยความรักและความว่องไวของความเข้าใจโลก ในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มประสบกับภัยอันหนักหน่วงจนทำให้เมืองเหล่านั้นพบว่า เรากำลังเดินผิดทาง และเพื่อการอยู่รอดในภาวะที่หลายคนบอกว่า “ตอนนี้แหละวิกฤติแล้ว จะรอดได้ต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างจริงจัง” เมืองใหญ่เช่นแมนแฮตตันหลังเผชิญพายุ จีนที่เจอกับฝุ่นควันและปัญหาสิ่งแวดล้อมจนเกือบเอาชีวิตประชาชนไม่รอด ไปจนถึงเมืองที่สาธารณูปโภคต่างๆ ถูกสร้างโดยไม่คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่น
City Cracker ชวนไปดู 6 ตัวอย่างการออกแบบและการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการรับมือปัญหาในบริบทที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำกลางเมืองที่ฮ่องกง เมืองแห่งใหม่ที่นำธรรมชาติผสานเข้ากับเมืองจนกลายเป็นภูเขาสีเขียวขนาดใหญ่ สาธารณูปโภคที่คิดเพื่อสิ่งมีชีวิตและผู้คนอย่างรอบด้าน จากสะพานสัตว์ข้ามแก้ปัญหาถนนสายหลักที่ตัดผ่านพื้นที่ธรรมชาติและขวางเส้นทางของสัตว์ สะพานลอยรูปแบบใหม่ที่คิดเผื่อคนเดินเท้ามากขึ้น ไปจนถึงการรับมือคลื่นด้วยกำแพงที่เป็นแนวเพาะเลี้ยงหอยนางรม เป็นการออกแบบในกรอบคิดความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับธรรมชาติอย่างเข้าใจและใช้ธรรมชาติเข้าร่วมรับมือด้วยอย่างซับซ้อน

Nature Space in City Center
Case: Qunli Stormwater Wetland Park

แน่นอนว่าหลายๆ เมืองในโลกตั้งอยู่บนพื้นที่ธรรมชาติที่มีศักยภาพให้คนดำรงชีพอยู่ได้ แต่หลายครั้งที่เมืองได้ถูกพัฒนาโดยแยกขาดออกจากธรรมชาติ จนเราเองก็รู้สึกเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอม ถูกธรรมชาติทำร้าย แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศจีน โดยเฉพาะภายใต้การนำของรัฐบาลจีนและสตูดิโอภูมิสถาปัตยกรรม Turenscape ทั้งคู่ให้ความสำคัญและสนับสนุนกับการจัดการน้ำในเมืองอย่างละมุนละม่อม เพื่อให้เมืองและธรรมชาติอยู่กันได้โดยสันติ สวนสาธารณะบนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ หรือ Qunli Stormwater Wetland Park เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงที่จีนได้แสดงการใช้องค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม โดยออกแบบเป็นสวนใจกลางเมือง Qunli เมืองใหม่ในเขตพื้นที่ฮาร์บิน (Harbin) เดิมทีในพื้นที่กลางเมืองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมที่ไม่ได้ถูกใช้งานและค่อยๆ เสื่อมโทรมลงไป โครงการสวนสาธารณะนี้เองที่ได้อนุรักษ์ฟื้นคืนความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ ให้ได้ทำหน้าที่รองรับและจัดการน้ำฝนของพื้นที่กลางเมือง ทั้งยังเป็นพื้นที่สันทนาการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ตัวโครงการถูกขนาบไปด้วยพื้นที่พัฒนา ล้อมรอบด้วยถนนสายหลักทั้ง 4 ด้าน รัฐบาลจีนจึงตั้งใจทั้งรักษาฟื้นฟูตัวพื้นที่ธรรมชาติ พร้อมปรับเป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่นเข้ากับพื้นที่เมืองด้วย นอกจากทาง Turenscape จะได้จัดการออกแบบให้เป็นสวนพืชชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่รับน้ำฝนเป็นฟองน้ำสีเขียว (Green Sponge) ช่วยดูดซับและป้องกันน้ำท่วมให้กับเขตเศรษฐกิจโดยรอบแล้ว ทางผู้ออกแบบยังได้ใช้กลยุทธ์การออกแบบต่างๆ ตั้งแต่การใช้ระบบและเส้นทางของพืชพรรณที่สามารถหน่วงชะลอน้ำ และเป็นแนวกรองทำความสะอาดน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพืชและลดมลพิษอีกด้วย นอกจากจะดีกับธรรมชาติ ผู้ออกแบบยังใส่องค์ประกอบที่สวยงาม เป็นทางเดินลอยฟ้าสำหรับเดินชมธรรมชาติและออกกำลังกาย ทั้งยังมีสาธารณูปโภคอื่นๆ จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ Qunli Stormwater Wetland Park เป็นงานออกแบบที่มีการคิดมาอย่างรอบด้าน จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากสมาคมภูมิสถาปัตยกรรมอเมริกัน (ASLA) ในปี 2012

Vertical Forest: Urban and Forest Grow Together
Case: The Liuzhou Forest City, China

ราวปี 2007 เป็นต้นมา จีนในฐานะประเทศมหาอำนาจและผู้นำอุตสาหกรรมของโลกได้เผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาในครั้งนั้นของจีนใหญ่โต เราได้เห็นภาพกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงอันเกรียงไกรจมอยู่ในฝุ่นหนา ผู้คนต่างต้องดิ้นรนเพื่ออากาศบริสุทธิ์ วิกฤติสำคัญทำให้จีนหันมาทบทวนเรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มมองหาธรรมชาติ มีโครงการต่อสู้เพื่อท้องฟ้าสีฟ้า มีการปรับวิธีคิดเรื่องมลพิษและการขนส่ง จนในระยะหลังจีนกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่บุกเบิกงานออกแบบเพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานออกแบบที่เน้นการปรับใช้ธรรมชาติอย่างน้ำและอากาศเข้ามาร่วมรับมือ

หนึ่งในความเล่นใหญ่ของจีนคือการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ The Liuzhou Forest City ถือเป็นโครงการเมืองป่า-ไม่เชิงเป็นเมืองที่อยู่ในป่า แต่เป็นเมืองล้ำสมัยที่มีป่า มีต้นไม้ใหญ่โตแซมอยู่กับอาคารสมัยใหม่ที่เป็นเหมือนป่าแนวตั้ง ตัวโครงการนี้ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จะสร้างภูเขามหานครสีเขียวริมแม่น้ำ Liuzhou ที่กินพื้นที่เกือบสองล้านตารางเมตร ตัวเมืองออกแบบโดย Stefano Boeri สถาปนิกอิตาลีเจ้าของผลงานป่าแนวตั้งผู้รักและนำต้นไม้เข้าสู่ตึกอาคารของมนุษย์ เมืองแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการอยู่ร่วมกับโลกอย่างกลมกลืน และรับมือกับผลการกระทำที่มนุษย์สร้างรอยไว้ในพื้นที่ธรรมชาติ

Biodiversity Loss- Animal Crossing
Case: Khaoyai-Tubland, Thailand

ถนน-ทางหลวงเป็นอีกหนึ่งสาธารณูปโภคที่ตัดข้ามไปยังพื้นที่ต่างๆ แน่นอนว่าถนนหนทางคอนกรีตขนาดยักษ์อันยาวเหยียดที่ทอดไปทั่วประเทศย่อมเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาการขนส่ง แต่ในทางกลับกันตัวทางหลวงก็ได้ตัดผ่านไปยังพื้นที่ทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ ตัวทางหลวงนอกจากจะเป็นสิ่งแปลกปลอมของธรรมชาติ ยังนำไปสู่ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจากสัตว์ที่ข้ามถนน ถนนหลายสายที่ตัดผ่านแหล่งอาศัยหรือเส้นทางเดินสัตว์ ที่รบกวนต่อระบบนิเวศและพฤติกรรมสัตว์อีกเช่นกัน

อุโมงค์สัตว์ข้าม (Animal Crossing) เป็นอีกนวัตกรรมงานออกแบบที่สร้างขึ้นจากการที่มนุษย์คำนึงถึงผลกระทบที่เราสร้างต่อระบบนิเวศ ตัวอุโมงค์-หรือจะเรียกเป็นสะพานลอยของสัตว์ เป็นการออกแบบทางลอดที่ให้รถลอดไป ในขณะที่ด้านบนออกแบบและสร้างจำลองเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ทำให้พื้นป่าที่เคยถูกตัดแยกด้วยถนนเชื่อมต่อกันอีกครั้ง บ้านเราเองก็มีอุโมงค์สัตว์ข้ามทับลาน เป็นโครงการอุโมงค์ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เชื่อมอุทยานแห่งชาติทับลานและเขาใหญ่ไว้ ตัวอุโมงค์แบ่งเป็นสองช่วง หลักๆ จะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ที่ด้านบนถมดิน มีการออกแบบที่เลียนแบบพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ปลูกไม้พุ่ม ทำบ่อน้ำและโป่งดิน เพื่อเป็นทางให้สัตว์ใช้ข้ามไปมา นอกจากป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง ยังส่งเสริมระบบนิเวศของผืนป่าไปพร้อมกัน

Human and Nature in City
Case: Palo Alto Adobe Creek Pedestrian Bridge, California

ทางหลวง-ถนนใหญ่ ไม่ได้ตัดแค่พื้นที่ธรรมชาติเท่านั้น หลายครั้งทางหลวงเหล่านี้ก็ตัดแยกพื้นที่ต่างๆ แบ่งแยกเมืองออกจากพื้นที่ธรรมชาติ หรือตัดแบ่งชุมชนออกจากกัน แคลิฟอร์เนียเองก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือทางหลวงหมายเลข 101 ที่ Adobe Creek เป็นทางหลวงขนาดใหญ่ที่ตัดผ่านพื้นที่เมือง ทำให้พื้นที่พักอาศัยและย่านการค้าถูกแยกออกจากพื้นที่เขตอุทยาน Baylands Nature Preserve และทำให้จังหวะของเมืองถูกตัดขาดออกจากเส้นทางการเดินป่าชมธรรมชาติ

ดังนั้นตัวสะพานที่เชื่อมระหว่าง Adobe และ Barron โครงการที่ชนะการประกวดแบบของเมือง Palo Alto จึงเกิดขึ้น ตัวสะพานเรียกอย่างทั่วไปจะเป็นสะพานลอยที่ตัดข้ามถนน 14 เลน ซึ่งตัวงานออกแบบสะพานแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานมหกรรมในการรวมพลังนักออกแบบ โดยสะพานจะเน้นเชื่อมโครงข่ายจักรยานที่เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงจังหวะของเมืองเข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ เน้นการออกแบบเพื่อความปลอดภัย และเน้นความประณีตของตัวสะพาน การออกแบบสะพานนี้จะกลายเป็นแลนด์มาร์กและเป็นตัวเชื่อมเมืองเข้ากับธรรมชาติของเมืองต่อไป

Disaster and Beloved City
Case: Manhattan “Dry Line”, US

แมนแฮตตันเป็นเกาะสำคัญของเมืองนิวยอร์ก เป็นพื้นที่เมืองที่คนนิวยอร์กและชาวโลกรัก กระทั่งอเมริกาเผชิญหน้าทั้งชาวโลกรัก กระทั่งอเมริกาเผชิญหน้าทั้งเฮอร์ริเคนแคทรีนาและเฮอร์ริเคนแซนดี้ ทำให้มหานครอันเป็นที่รักตกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อเมริกาจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เมืองต่างๆ เริ่มหันมาปรับตัวและให้ความสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง แมนแฮตตันจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะไม่ยอมให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดิม และให้เมืองพัฒนาไปในทิศทางแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

โครงการ The Dry Line อีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ของเมืองใหญ่จึงถือกำเนิดขึ้น โดยโครงการนี้เป็นงานออกแบบและก่อสร้างที่เป็นเหมือนแนวป้องกันและรับมือภัยพิบัติของพื้นที่ริมฝั่งทางใต้ของเกาะแมนแฮตตัน The Dry Line เป็นแนวการพัฒนาระยะยาวกว่าสิบไมล์ เป็นอีกหนึ่งสุดยอดผลงานออกแบบของ Bjarke Ingels Group (BIG) และการลงทุนปรับตัวอย่างสำคัญของมหานครนิวยอร์ก ซึ่งตัวโครงการจะเต็มไปด้วยโครงการย่อยๆ ที่ส่วนใหญ่เน้นการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรม เน้นการใช้พื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะที่สามารถปรับตัวได้ และใช้งานเพื่อรับมือยามเกิดภัยธรรมชาติอย่างพายุและน้ำท่วมได้ นอกจากตัวสวนแล้วยังมีการออกแบบพื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่น เช่นศูนย์แสดงสินค้าที่สามารถกลายเป็นพื้นที่หลบภัย เป็นงานออกแบบที่คำนึงถึงลักษณะบริบทและกิจกรรมของผู้คนโดยมีการรับมือวิกฤติผสานอยู่

Maritime Wall and Co- Habituated
Case: Living Breakwaters Rebuild, US

การออกแบบเพื่อความยืดหยุ่นในภาคปฏิบัติ มีส่วนประกอบสำคัญคือความเข้าใจบริบทและวิกฤติที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ อีกด้านคือการใช้งานออกแบบอย่างซับซ้อนและเข้าใจ กรณี Living Breakwaters Rebuild เป็นโครงการการออกแบบที่ใช้แนวคิดความยืดหยุ่น ซึ่งมีที่มาจากเฮอร์ริเคนแซนดี้ ตัวโครงการนี้จะเน้นฟื้นฟูกำแพงป้องกันคลื่นบริเวณเกาะสเตเทน (Staten Island) โดยตัวโครงการดังกล่าวมาจากการชนะการประกวดแบบ คือมีการฟื้นฟูแนวกั้นคลื่นที่พังเสียหายจากพายุ และใช้แนวคิดการออกแบบเมืองยืดหยุ่นเข้ามาสร้างความยืดหยุ่นใน 3 มิติ คือ ลดความเสี่ยง ส่งเสริมระบบนิเวศ และสร้างความยืดหยุ่นกลมกลืนให้กับผู้คน

ในอดีตบริเวณพื้นที่โครงการ Living Breakwaters Rebuild เคยเป็นที่สำหรับเพาะเลี้ยงหอยนางรมในชื่อทอตเทนวิลล์ เป็นชุมชนที่อยู่ทางใต้สุดของเกาะสเตเทน และได้ชื่อเรียกว่า ‘เมืองที่หอยนางรมสร้างขึ้น’ ซึ่งบริเวณชายฝั่งของชุมชนจะมีหอยนางรมเป็นปราการธรรมชาติสำหรับป้องกันคลื่น แต่เมื่อมีการเก็บผลผลิตที่มากเกินไปและระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ส่งผลให้ปราการธรรมชาติจากหอยนางรมพังทลายลง เมื่อเกิดเฮอร์ริเคนรุนแรงพื้นที่ชายฝั่งจึงไม่มีแนวป้องกันคลื่นตามธรรมชาติ พายุเฮอร์ริเคนครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและธุรกิจของเกาะสเตเทนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นตัวโครงการจึงใช้ความเข้าใจเดิมที่ปรับจากกำแพงกั้นน้ำไปสู่ระบบตัดกำลังน้ำ ด้วยแนวป้องกันคลื่นสองชั้นที่ถูกนำไปติดตั้งเพื่อตัดความแรงของคลื่น มีการออกแบบและฟื้นฟูพื้นที่ริมชายฝั่งและพื้นที่หาดให้ทนต่อการกกัดเซาะ ทั้งยังกลับไปส่งเสริมการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยป้องกันคลื่น ที่ถือเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่เคยเป็นของขึ้นชื่อของพื้นที่อีกด้วย

Riverfront City Center
Case: Kai Tak City, Hong Kong

ประเด็นสำคัญของเมืองยืดหยุ่น คือบริบทและความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ที่ถักทอสอดประสานอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ความเข้าใจบริบท และการออกแบบโดยคำนึงถึงความซับซ้อนและความหลากหลายจึงเป็นข้อคำนึงที่สำคัญ ในแง่การออกแบบอย่างยืดหยุ่นและการปรับตัวนั้น พื้นที่กลางเมืองเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงรับเพื่อมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ เช่นเจอปัญหาน้ำท่วมจากมรสุมก็สามารถออกแบบระบบชะลอน้ำไว้ในพื้นที่ต่างๆ ด้วยวิธีการที่ใช้ธรรมชาติ กรณีพื้นที่เช่นเมือง Kai Tak ของฮ่องกงก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก ตัวโครงการเมือง Kai Tak เป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่อ่าวขนาดใหญ่ที่เสื่อมโทรมทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและเชิงสังคมจากการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

โครงการฟื้นฟู Kai Tak ริเริ่มราวหลังปี 2000 มีการทำการศึกษา ทำประชาพิจารณ์ และมีการจัดประกวดแบบเพื่อวางผังพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2015 เมืองฮ่องกงได้ประกาศให้โครงการ Living Roots ของสตูดิโอ Morphis เป็นผู้ชนะการประกวดและนำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ตัวโปรเจ็กต์ Living Roots ได้แรงบันดาลใจมาจากต้นไทร (Banyan tree) อันหมายถึงหยั่งรากและระบัดใบ งานออกแบบพื้นที่เมือง Kai Tak ใหม่นี้จึงเน้นการออกแบบพื้นที่ริมน้ำที่ผสานวิถีชีวิตเข้ากับธรรมชาติ โดยเน้นสร้างป่าในเมืองที่เข้าใจรากเหง้าและบริบทเฉพาะของฮ่องกง ไปจนถึงตัวพื้นที่ที่ปลายทางมีความซับซ้อนของการใช้พื้นที่แบบสมัยใหม่ ทั้งตึกอาคารราชการ พื้นที่เอกชน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เป็นงานออกแบบที่เน้นสุขภาพของผู้คน ธรรมชาติ และเมืองให้เติบโตอย่างแข็งแรงไปพร้อมกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.asla.org/2012awards/026.html…
https://www.archdaily.com/…/qunli-stormwater-wetland…
https://www.asla.org/resilientdesign.aspx
https://www.toposmagazine.com/kai-tak-city-hong-kong/
https://www.ktd.gov.hk/eng/overview.html
https://www.stefanoboeriarchitetti.net/…/liuzhou…/
https://www.dailynews.co.th/regional/804444
https://www.archdaily.com/…/64north-to-construct…
https://archinect.com/…/palo-alto-adobe-creek…
https://www.archilovers.com/projects/161181/the-dryline.html
https://architizer.com/projects/the-dryline/
http://scapestudio.wpengine.com/…/living…/…
https://stormrecovery.ny.gov/learn-more-about-living…

Illustration by Montree Sommut
Share :