CITY CRACKER

ย้อนดู 8 อาคารสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่หายไปจากถนนราชดำเนินผ่านเทคโนโลยี AR จาก Urban Ally และคิดอย่าง 

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นหรือสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค คืองานออกแบบอาคารที่เกิดขึ้นในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฏรซึ่งได้แรงบันดาลใจจากฝั่งตะวันตกเป็นผู้เริ่มนำเข้ามา พร้อมเปลี่ยนความหมายผ่านความเรียบ ไร้ลวดลาย และความแข็งของคอนกรีตของอาคารเป็นเสมือนความเท่าเทียมกันของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราจึงได้ยินคำคุ้นหูอีกคำหนึ่งว่าสถาปัตยกรรมคณะราษฏร

 

อาคารเหล่านี้บางส่วนก็ยังคงอยู่ บางส่วนก็ถูกรื้อถอนไปแล้ว กลุ่ม Urban Allly และกลุ่มคิดอย่าง จึงได้สร้างสรรค์เว็บไซต์ที่เข้ามาช่วยสร้างภาพเสมือนจริงบนบนถนนราชดำเนินผ่านโมเดลจำลองที่สามารถเทียบและวางลงไปในพื้นที่จริงได้ เพื่อให้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฏร์ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านและรุ่งเรืองย้อนกลับมาให้เห็นภาพอีกครั้ง ปัจจุบันอาคารที่เคยตั้งอยู่ทั้ง 3 ถนนเส้นหลัก คือราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง ไปจนถึงราชดำเนินในบางส่วนก็ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว อาคารที่อยู่บริเวณถนนราชดำเนินนอกคือกลุ่มอาคารชั่วคราวที่ใช้ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และโรงละครเฉลิมชาติ ถนนราชดำเนินใน คือปั๊มน้ำมันสามทหาร เมรุปราบกบฏบวรเดช และงานฉลองรัฐธรรมนูญท้องสนามหลวง  ส่วนอาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลาง คือโรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมไทย และกลุ่มอาคารราชดำเนินกลาง

หยิบโทรศัพท์ในกระเป๋าและเปิดแอพลิเคชั่นให้พร้อม เตรียมเดินทางออกไปยังถนนราชดำเนิน City Cracker ชวนดู 8 กลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมเดโค หรือสถาปัตยกรรมคณะราษฏร ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะสูญหายและบางส่วนที่หายไปแล้ว ผ่าน AR พร้อมย้อนประวัติและความเป็นมา ผ่านการออกแบบอาคารที่เพื่อพาเราย้อนอดีตกลับไปสู่ยุครุ่งเรื่องของสถาปัตยกรรม modern architecture อีกครั้ง

มาค้นพบความทรงจำของอาคารที่สูญหายไปพร้อมๆ กัน ที่นี่ : https://open-data.urbanally.org/projects/ratsadondumnoen

 

กลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลาง

ภาพอาคารสีเหลืองความสูง 4 ชั้น เรียงรายบนถนนราชดำเนินกลางกว่า 1.2 กิโลเมตรขนาบทั้งสองฟากฝั่ง โดยมีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่กลางถนนคือภาพที่เราคุ้นชิน แรกเริ่มเมื่อปี 2480 ตัวอาคารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของการขยายถนนเพื่อสร้างถนนขนาดใหญ่รูปแบบ boulevard คล้ายกับฌ็องเซลิเซ่จากประเทศฝรั่งเศส และความน่าสนใจหนึ่งคืออาคารเหล่านี้เป็นฉากหลังของเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด

กลุ่มอาคารถนนราชดำเนินนี้มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ แสดงให้เห็นภาพของการเป็นตึกโมเดิร์นอย่างชัดเจน คือเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผังวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดยาวและสมมาตรกัน ประกอบด้วยมุขสามด้าน  การประดับตกแต่งอาคารค่อนข้างเรียบ ตัวอาคารเน้นความหนักแน่นเท่าเทียมย้ำถึงหลักการของประชาธิปไตย ตัวอาคารแรกเริ่มทำหน้าที่เป็นอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัย โดยเปิดให้เช่าหน้าร้านชั้นล่างเพื่อทำการค้าขายที่ทันสมัยในช่วง 80 กว่าปีที่แล้ว เช่น ร้านตัดผมห้องแอร์ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตลอดจนโรงแรมระดับ 3 และ 5 ดาว ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานมาเรื่อยๆ

บางส่วนของอาคารได้ถูกรื้อถอนไปและบางส่วนก็ปรับเปลี่ยนเป็นหน้าที่อื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดสำหรับประชาชน เพื่อให้เข้ากันและเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ตัวอาคารกลุ่มนี้ช่วงหนึ่งจะเป็นกลุ่มอาคารสำคัญและเต็มไปด้วยเรื่องเล่าจากอดีต แต่อาคารบางส่วนก็มีแผนการเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วย เช่น แผนการรื้อถอนหรือปรับเปลี่ยนอาคาร ตลอดจนปรับปรุงและสร้างใหม่

 

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเป็นหนึ่งในอาคารสำคัญของกลุ่มถนนราชดำเนินที่ถูกรื้อถอนออกไปในปี 2532 ด้วยบริบทของพื้นที่ตั้งอยู่หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง ติดกันกับวัดราชนัดดาและโลหะปราสาท ความสำคัญของอาคารหลังนี้คือเป็นหัวแหวนของกลุ่มอาคารบริเวณหัวมุมทิศตะวันออกของถนนราชดำเนินตรงข้ามกับสะพานผ่านฟ้า

อาคารหลังนี้เคยทำหน้าที่เป็นโรงภาพยนต์ที่ทันสมัยที่สุด เป็นมรหสพอย่างหนึ่งที่ชาวกรุงนิยม สามารถจุคนได้ถึง 1,200 ที่นั่ง พร้อมระบบการใช้สอยภายในอย่างดีที่เหมาะสมต่อการเป็นโรงมหรสพให้ความบันเทิงสมัยนั้น ตัวอาคารนี้แม้จะเป็นอาคารหลังท้ายๆ ที่ถูกสร้างเสร็จแต่กลับเป็นอาคารหลังแรกๆ ที่ถูกรื้อถอนออก เนื่องจากบริบทของที่ตั้งนั้นบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท จึงทำให้ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แทน

ในหนังสือสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่ 4  ได้มีการกล่าวถึงการวางผังอาคารของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้ว่ามีความทันสมัย และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน คือมีทางเดินรอบโรงภาพยนตร์โดยไม่มีทางตัน สามารถระบายผู้คนออกทางประตูข้าง รวมถึงการออกแบบที่ไม่สมมาตร เป็นผังการออกแบบที่เห็นชัดถึงความเป็นโมเดิร์นชัดที่สุดแห่งหนึ่งของอาคารในยุคนี้ ซึ่งตัวอาคารไม่เพียงแต่สะท้อนภาพของอาคารโมเดิร์นที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น แต่ยังสะท้อนภาพการใช้ชีวิตของผู้คน ประกอบกับภาพของถนนราชดำเนินที่เต็มไปด้วยร้านค้าขายมากมาย จึงทำให้ภาพถนนราชดำเนินเส้นนี้เป็นถนนเส้นหนึ่งที่มีความเจริญแล้วในช่วงเวลานั้น

 

โรงละครเฉลิมชาติ

นอกจากโรงมหรสพที่เราคุ้นชื่อกันไม่ว่าจะโรงหนังเฉลิมกรุง หรือโรงหนังศาลาเฉลิมไทย แต่อีกหนึ่งโรงละครที่ได้ถูกรื้อถอนไปแล้วในปัจจุบันก็คือโรงละครเฉลิมชาติ โรงละครแห่งนี้เป็นเมกะโปรเจกต์สำคัญที่ทางรัฐบาลยุคนั้นต้องการสร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงละครแห่งชาติ บริเวณเดียวกันกับที่เคยเป็น ‘โรงละครหลวงมิสกวัน’ เดิมในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยโรงละครเฉลิมชาติถูกรื้อถอนไปในช่วงปี 2490

โรงละครเฉลิมชาติก่อสร้างขึ้นในช่วงปี 2481-2485 ซึ่งเป็นช่วงใกล้ๆ กันกับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ตัวอาคารเป็นรูปแบบทันสมัย สร้างด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเช่นเดียวกันกับกลุ่มอาคารทั่วไปที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น การวางผังอาคารสมมาตรและเป็นแนวนอนยาว อย่างไรก็ตามระหว่างการก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้เกิดปัญหาและตรวบพบการทุจริตเกิดขึ้น จนสุดท้ายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลังนี้ถูกย้ายไปอยู่ในทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์และรื้อถอนไปในที่สุด จากทั้งศาลาเฉลิมไทยมาจนถึงโรงละครเฉลิมชาติ เราจึงเห็นได้ว่าหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ทางรัฐบาลเองก็มีการสร้างเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิงให้แก่ชาวกรุง แม้ว่าท้ายสุดจะถูกรื้อถอนไปด้วยเหตุผลต่างๆ ก็ตาม

 

กลุ่มอาคารศาลยุติธรรม

งานออกแบบอาคารศาลยุติธรรม เริ่มต้นขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการได้มาซึ่งเอกราชทางการศาลสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการยุติสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับชาติต่างๆ และนำมาสู่การลงสัตยาบันสนธิสัญญาใหม่ อาคารนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนสนามหลวง เป็นอาคารรูปทรงตัว V ล้อไปกับรูปทรงของที่ตั้งของอาคาร โดยตั้งใจว่าจะเป็นอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าจากอาคารเดิม

อาคารหลังแรกถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 และอาคารหลังที่ 2 สร้างขึ้นในปี 2484 โดยกลุ่มอาคารนี้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่โดดเด่นด้วยทรงที่เรียบง่าย หลังคาพาราเปต พร้อมด้วยระเบียงเสาลอยขนาดใหญ่ที่มุขทางเข้าทิศเหนือ นอกจากอาคารนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานเป็นอาคารศาลยุติธรรมแล้ว งานสถาปัตยกรรมของอาคารยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและหลักการ เช่น เสาด้านหน้าอาคารจำนวน 6 ต้น หมายถึง หลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศเอาไว้ คือ เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

สำหรับประเด็นการรื้อถอน ปรับเปลี่ยนอาคารหลังนี้ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่เริ่มมีการขอรื้อถอนในปี 2549 และต้องการเปลี่ยนจากอาคารเดิมที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ คือมีการเพิ่มความเป็นไทย เช่น หลังคาสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เข้าไปแทน จึงตามมาด้วยคำถามของฝ่ายต่างๆ ถึงความเหมาะสมต่อการรื้อถอน และประเด็นถึงการทำให้สถาปัตยกรรมยุคหนึ่งของไทยหายไป  ซึ่งปัจจุบันอาคารนี้ถูกรื้อถอนจนเหลือเพียงส่วนมุขทางด้านทิศเหนือเท่านั้น

 

ปั๊มน้ำมันสามทหาร ถนนราชดำเนินใน

ถนนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสิ่งที่สำคัญของเมือง คือเป็นเส้นทางเดินของทั้งคนและรถราที่เชื่อมต่อทั้งภายในชุมชนและเมือง การตัดถนนเส้นใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ เองก็นำมาสู่การใช้งานรถยนต์ที่มากขึ้น การตัดถนนราชดำเนินทำให้เกิดหลักกิโลที่ 0 ขึ้นที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์อย่างปั๊มน้ำมันที่บริเวณถนนราชดำเนินในอีกด้วย

ปั๊มน้ำมันสามทหารนี้เคยตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินใน ซึ่งถูกรื้อถอนไปในปี 2525 แล้วเปลี่ยนเป็นศาลหลักเมืองใหม่แทน อาคารปั๊มน้ำมันสามทหารจึงถูกออกแบบและสร้างขึ้นบริเวณสามแยกหน้าพระลาน บริเวณถนนสนามไชย เยื้องกับพระราชวัง โดยปั๊มน้ำมันแห่งนี้มีอาคารหลักอยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามีแท่นยกสูงขึ้นติดชื่อปั๊มน้ำมันโมบิล และปีกสองด้านที่ยื่นออกมาซ้ายขวา พร้อมกับการตกแต่งด้วยเส้นแนวนอนรอบอาคาร โดยปั๊มน้ำมันนี้ก็ได้พาเราย้อนรอยถึงการเข้ามาของกิจการน้ำมันที่ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ในช่วงสมัยนั้น คือตั้งแต่ปี 2435 ที่เริ่มมีกิจการจากบริษัทต่างชาติเข้ามาขายน้ำมันให้กับประเทศไทย  ปั๊มน้ำมันแห่งนี้เรียกได้ว่าทันสมัยในยุคนั้น ก่อนที่อาคารหลังนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อ และโยกย้ายเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจที่เจัดการเกี่ยวกับน้ำมันและปิโตรเลียมโดยตรงไม่ผ่านบริษัทต่างชาติ

 

เมรุปราบกบฏบวรเดช

สนามหลวงคือแลนด์มาร์กหนึ่งของกรุงเทพฯ และในอีกทางหนึ่ง สนามหลวง เป็นที่ที่สงวนไว้สำหรับการปลงพระบรมศพและพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ แต่เมรุปราบกบฏบวรเดชคือเมรุสามัญชนแห่งแรกที่ถูกตั้งขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง

หลังเกิดเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชในปี 2476  มีทหารจากฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตทั้งหมด 17 นาย จึงเกิดเป็นงานปลงศพและสร้างเมรุชั่วคราวขึ้นมา ณ ท้องสนามหลวง โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมของเมรุนี้เป็นรูปแบบเรียบง่าย หลังคาซ้อนกัน 6 ชั้น แสดงถึงหลัก 6 ประการ วางโลงศพรายล้อมโดยมีพานรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลาง งานออกแบบเมรุชั่วคราวนี้แสดงให้เห็นถึงการลดทอนความหรูหราต่างๆ แน่นอนว่าเมรุนี้ตั้งอยู่ที่ท้องสนามหลวง แต่ก็เป็นบริเวณทิศเหนือไม่ใช่บริเวณเดียวกับพระราชพิธีของราชวงศ์ การปลงศพครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการหยิบยืมสถานที่มาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ของประชาชนแทน นอกจากนี้งานออกแบบเมรุ รวมถึงการวางแปลนของทางเดิน บันไดที่หันออก 2 ด้านซ้ายขวา และพื้นที่วางดอกไม้จัน ก็กลายมาเป็นรูปแบบเมรุที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อีกด้วย

นอกจากเรื่องของเมรุชั่วคราวที่สำคัญแล้ว เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่สนามหลวงมีความสัมพันธ์กับคนกรุงฯ มาในหลายๆ มิติ ทั้งการเป็นพื้นที่พระราชพิธีสำคัญๆ พื้นที่สาธารณะในช่วงหนึ่งของประชาชน เช่น พื้นที่จัดกิจกรรมเล่นว่าว พื้นที่พักผ่อน ตลาดนัด ตลอดจนเคยเป็นเมรุสำหรับสามัญชน ปัจจุบัน แม้ช่วงที่สนามหลวงจะไม่ได้จัดงานพระราชพิธีหรืองานใดๆ ตัวลานกว้างนี้ก็ถูกปิดล้อมบริเวณด้วยรั้วสีเขียวเป็นแนวยาว ซึ่งประเด็นนี้หลายคนก็มองว่าเป็นการปิดกั้นประชาชนและทำให้เสน่ห์ของท้องสนามหลวงหายไป แม้จะมีการเปิดให้เข้าใช้งานตามเวลาที่กำหนดก็ตาม

 

 งานฉลองรัฐธรรมนูญท้องสนามหลวง

นอกจากการมีเมรุชั่วคราวแล้ว สนามหลวงในช่วงปี 2476 เองก็เคยถูกใช้งานเป็นพื้นที่เฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 1 ปี และเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช สนามหลวง ลากยาวไปจนถึงวังสราญรมย์ ท่าราชวรดิฐ เขาดินวนา ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองนานกว่าครึ่งเดือน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญท้องสนามหลวงนี้ อ. ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ให้ความเห็นไว้ว่าอาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่ต้องการขับเคลื่อนทางสัญลักษณ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและเข้าใจหลักการของรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับศาลา สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ประกอบไปด้วยเสา 6 ต้น และด้านบนสุดของหลังคาคือพานรัฐธรรมนูญสะท้อนถึงหลักประชาธิปไตย โดยประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่ด้านล่างของศาลาได้

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงแค่การเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่ท้องสนามหลวงเท่านั้น มีการจัดงาน Expo ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2475 เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบรรยากาศของประชาธิปไตย รวมถึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าตัวสถาปัตยกรรมของงานฉลองรัฐธรรมนูญนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์น คือเป็นอาคารวางตัวแนวยาว และเรียบง่าย ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก ภายในงานยังเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดนัด ร้านค้าขาย พร้อมด้วยงานมหรสพและงานรื่นเริงต่างๆ รวมถึงการแข่งขันกีฬาทั้งทางบกและทางน้ำ และการประกวดนางสาวสยาม ในปี 2495 เองก็ได้มีบันทึกไว้ว่าในงานฉลองรัฐธรรมนูญนี้มีการจัดเวทีลีลาศขึ้นมาด้วยเช่นกัน กิจกรรมนี้จึงได้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับประชาชนในช่วงนั้นอย่างแท้จริง นอกจากนั้นกิจกรรมนี้ยังถูกกคาดว่าอาจเป็นต้นแบบของงานกาชาดที่เราได้สัมผัสในช่วงปลายปีของทุกปีด้วย อย่างไรก็ตามหลังปี 2500 งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้จะค่อยๆ ถูกลดความสำคัญและยกเลิกการจัดกิจกรรมไปในที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

open-data.urbanally.org

silpa-mag.com

sarakadeelite.com

 

Graphic Designed by Warunya Rujeewong
Photos by คิดอย่าง
Share :