CITY CRACKER

มองฟ้าไม่กลัวเมฆดำ แนวคิด Rain Friendly City เมืองไม่กลัวฝน

ใน 1 ปี กรุงเทพฯ มีฝนตกเฉลี่ยราว 120-130 วัน/ปี หาดใหญ่ ภาคใต้ของเราตกราว 159 วัน/ปี แวนคูเวอร์แคนาดา ฝนตกราว 169 วัน/ปี ในขณะที่ โกเธนเบิร์ก สวีเดน เมืองที่ตั้งเป้าจะเป็นเมืองแห่งสายฝนที่ดีที่สุดในโลก มีวันที่ฝนตกราว 119 วัน/ปี

บ้านเราเป็นเมืองร้อนก็จริง แต่เราเองก็คุ้นเคยกับฝน ยิ่งมองในภาพกว้าง พื้นที่ทางภาคใต้ก็ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นเมืองแห่งสายฝน ฝนและเมืองดูจะเป็นสองสิ่งที่ไม่ลงรอยกันเท่าไหร่ แต่ทว่า เมืองที่ดีทำให้เรากลัวฝนน้อยลง ชีวิตดำเนินไปตามปกติมากขึ้นแค่อาจมีความลำบากเล็กน้อย เมืองเช่นกรุงเทพฯ เมื่อเจอฝนใหญ่ ชีวิตกลับเข้าขั้นหายนะ ยืนรอรถทั้งคืนเพื่อถึงบ้าน เดินลุยน้ำพร้อมภาวะสุ่มเสี่ยงมากมาย ธุรกิจการค้าโดยเฉพาะรายย่อยเจอปัญหาหนักหน่วง รวมถึงพื้นที่พักอาศัยย่านชานเมืองและริมน้ำ บ้างอยู่อาศัยไม่ได้ต้องขนของไปนอนบนโทลล์เวย์

เมืองจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่อาจต้องมองบริบทและความเปลี่ยนแปลง หลายเมืองใหญ่เองเริ่มรู้ตัวว่าฝนจะมากขึ้น พายุจะบ่อยและแปลกประหลาดขึ้น เมืองที่เคยเป็นศัตรูกับฝน จะกลับกลายเป็นมิตรได้อย่างไร ฝนตกนั้นห้ามไม่ได้ แต่เราจะมีพื้นที่กายภาพให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้อย่างลำบากน้อยที่สุด หรือกระทั่งเป็นเมืองที่เมื่อฝนตกแล้ว เราไม่กลัวฝน เป็นเมืองที่ยังสนุกกับสายฝนได้

City Cracker ชวนไปดูแนวทางและองค์ประกอบของเมืองที่เป็นมิตรกับสายฝน ในเมื่อฝนจะตกบ่อย เมืองควรคิดถึงพื้นที่ที่มีหน้าตาแบบไหนเพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตกลางสายฝนได้ จากการปรับปรุงพื้นที่ธรรมชาติเพื่อร่วมรับน้ำ ย่านที่เข้าใจเส้นทางและร่วมกันรับและระบายน้ำได้ รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้สวยงามและใช้ได้เมื่อวันแดดดี ถนนทางเท้าที่เหมาะกับเมืองที่ฝนตกบ่อย จนถึงบรรยากาศและสุขภาพเมืองและผู้คนที่แข็งแรงรับฝนและพายุได้ เป็นเมืองที่เมื่อเรามองฟ้าเห็นเมฆดำแล้วไม่หวั่นใจ

 

พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้าที่ทนทานลมฝน

เบื้องต้นที่สุดของการเป็นเมืองทนฝนคือเมืองที่น้ำไม่ท่วมและรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ หลายเมืองใหญ่ที่มีฝนตกบ่อยเริ่มเล็งเห็นถึงพฤติกรรมฝนและการเกิดพายุ-มรสุมเริ่มถี่และอาจแปลกประหลาดขึ้น ดังนั้นจุดสำคัญของเมืองที่เป็นมิตรกับฝนคือเมืองที่มีพื้นที่ให้น้ำ อย่างน้อยที่สุดคือน้ำไม่ท่วม โดยการรับมือน้ำท่วมในเมืองใหญ่ การออกแบบพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้า หรือการใช้ธรรมชาติเพื่อร่วมรับมือและสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ

แนวคิดสำคัญในการปรับเมืองรับน้ำ เช่น เมืองฟองน้ำ หรือการออกแบบเมืองที่อ่อนไหวต่อน้ำ (water sensitive) ล้วนมีพืชพรรณและการจัดหาพื้นที่รับน้ำที่หลากหลาย ทั้งสวนรับน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ การจัดการพืชพรรณ เช่น แนวต้นไม้ริมแม่น้ำที่เน้นพืชท้องถิ่นที่ทนลมและฝน ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวริมทาง เช่น เกาะกลางถนน หรือทางเท้าที่ล้วนออกแบบเพื่อร่วมรองรับน้ำไว้ไม่ให้ท่วมลงถนนทั้งยังช่วยฟอกทำความสะอาดน้ำในเบื้องต้นก่อนที่จะบริหารจัดการลงระบบระบายน้ำ

 

ย่านที่เข้าใจและวางแผนรับน้ำร่วมกัน

ความเข้าใจพื้นที่กายภาพ เช่น ลักษณะการไหลของน้ำเพื่อจัดการการระบายน้ำ และกำหนดพื้นที่สำคัญในการจัดการและรับมือน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนัก ตัวอย่างเมืองเช่นโกเธนเบิร์ก เมืองใหญ่ลำดับสองของสวีเดนที่ฝนตกบ่อยและตั้งเป้าเป็นเมืองที่ดีที่สุดเมื่อฝนตก ทางเมืองก็ได้มีการสำรวจย่าน Biskopsgården ย่านพักอาศัยและเขตชุมชนของเมือง เพื่อระบุว่าเป็นย่านที่อ่อนไหวต่อน้ำท่วม คือเมื่อท่วมแล้วจะเกิดความเสียหายต่อผู้คนและระบบเศรษฐกิจ

การปรับปรุงย่านของเมืองคือการศึกษาเส้นทางการระบายน้ำ ทำการปรับปรุงเพื่อป้องกันและพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รับน้ำในหลายรูปแบบเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม นอกจากการวางพื้นที่รับน้ำตามเส้นทางการไหลและลักษณะเฉพาะของพื้นที่แล้ว ยังเน้นการทำงานร่วมกันกับภาคอื่นๆ เพื่อปรับพื้นที่เป็นพื้นที่ชะลอและรับน้ำ เช่น ออกแบบภูมิทัศน์ของพื้นที่เอกชนที่เน้นการร่วมรับน้ำ การให้ภาคเอกชนติดตั้งถังรับน้ำเพื่อรับน้ำฝนก่อนที่จะปล่อยลงสู่ระบบระบายน้ำ ส่งเสริมงานออกแบบภูมิทัศน์ที่ร่วมรับน้ำ เช่น หลังคาเขียว หรือสวนแนวตั้งที่ล้วนช่วยชะลอและบำบัดน้ำให้กับย่านและเมืองได้

 

พื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้ในวันฝนตก

โดยทั่วไปเรามักนึกถึงพื้นที่สาธารณะประเภทสวนและลานในฐานะพื้นที่กลางแจ้ง คำว่ากลางแจ้งนี้เลยทำให้การออกแบบอาจนึกถึงภาพและการใช้งานพื้นที่กลางแสงแดดสดใส แต่ทว่าในพื้นที่ที่ฝนตกบ่อย การปรับมุมมองเรื่องพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถใช้งานได้ในวันฝนตก มีพื้นที่เปียกและแห้ง มีทางเดิน จุดพักและจอดรถหรือจักรยานที่แห้ง รวมถึงการออกแบบพื้น เส้นทางที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้มากขึ้น ในบางเมืองเองมองว่าฝนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ มีการออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อเปลี่ยนจินตนาการและความคิดของผู้คน คือกระตุ้นให้คนออกไปใช้พื้นที่กระทั่งวิ่งเล่นกลางสายฝน เช่น แนวคิดลานเล่นกลางสายฝนที่มีการใช้ฝนและน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เช่น มีน้ำพุ น้ำตก งานศิลปะจากสายฝน

 

จัตุรัสรับน้ำ ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะแบบใหม่

พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของการจินตนาการว่าพื้นที่รวมตัวของผู้คนจะมีหน้าที่อะไรได้อีกบ้าง นอกจากการเป็นพื้นที่สำหรับหย่อนใจและทำกิจกรรมต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งคือการออกแบบ water square ที่เมืองรอตเทอร์ดาม เมืองที่ใกล้ชิดกับน้ำและใช้งานออกแบบเพื่อรับมือและอยู่ร่วมกับน้ำได้ ตัวจัตุรัสนี้ก็เป็นจัตุรัสสาธารณะที่เราคุ้นเคย แต่พื้นที่จะมีพื้นที่สำหรับรับน้ำได้ เช่น มีรางหรือบ่อที่ถูกออกแบบให้แนบเนียนไปกับตัวลาน ในช่วงเวลาปกติลานแห่งนี้ก็จะเป็นลานหย่อนใจ เป็นลานเสก็ตบอร์ด แต่เมื่อฝนตก บางส่วนของลานนี้ก็กลายเป็นบ่อ เป็นรางและทางน้ำ เมื่อฝนหยุดและพื้นที่ระบายน้ำ เช่น คลองและทางระบายน้ำใกล้เคียงสามารถรับและระบายน้ำได้ตามปกติ ลานแห่งนี้ก็จะปล่อยน้ำที่ร่วมกักเก็บไว้ระบายออกต่อไป

 

ดูแลคนเล็กๆ ด้วยพื้นที่สาธารณะและสวนจิ๋ว

คนที่รับผลกระทบมากที่สุดยามฝนตกพายุมา คือคนตัวเล็กๆ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และคนที่เดินเท้า ใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อกลับบ้านหรือเดินทางสัญจรไปในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในพื้นที่เมือง ตามเส้นทางของผู้คนภายในเมือง การมีพื้นที่พัก ตั้งแต่การปรับพื้นที่สาธารณะที่กระจายตัวอยู่เช่นลานหรือจัตุรัสที่อาจอยู่ระหว่างทาง หรือเป็นจุดพักเพื่อรอรถที่คิดเผื่อเรื่องฝน คือเป็นพื้นที่พักหรือหลบฝนได้ มีการออกแบบเพื่อความอบอุ่นในวันฟ้าหม่น มีสาธารณูปโภคบางอย่างที่รองรับและช่วยเหลือผู้คน เช่น แสงไฟ จุดนั่งพัก ที่ชาร์จโทรศัพท์ ไวไฟไว้บริการก็จะช่วยให้ผู้สัญจรได้พักพิงในช่วงเวลาอากาศไม่เป็นใจ นอกจากพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แล้ว จุดพักขนาดเล็ก เช่น ศาลาพัก จุดรอรถ ป้ายรถเมล์ ไปจนถึงการกระจายสวนขนาดเล็กที่สามารถพักหลบฝนได้ก็เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่สร้างความอบอุ่นให้กับเมืองได้

 

ทางเท้ากว้าง พื้นที่ปลอดภัยและทางเดินมีหลังคา

เมืองที่ฝนตกบ่อย สาธารณูปโภคพื้นฐานก็อาจจำเป็นต้องปรับไปตามเงื่อนไขและตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ บ้านเราเองถ้าเดินอยู่ในเมือง เราก็จะเจอปัญหายิบย่อยที่อาจกลายเป็นอุบัติเหตุที่ใหญ่ขึ้นได้ ทั้งทางเท้าที่เดินได้ยาก ลื่น มีน้ำขัง เส้นทางเดินที่มีหลังคา แต่ถึงจุดหนึ่งก็ขาดช่วงไปเฉยๆ การสร้างความร่วมมือ เช่น การเชื่อมต่อหลังคาคลุมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นทางเดินที่สามารถเดินได้ไม่กลัวฝน การปรับปรับวัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น หรือกระทั่งซึมซับน้ำได้ หลังคาหรือทางเท้าที่กว้างขึ้น การระวังเรื่องรอยรั่วต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งพื้นฐานที่อาจปรับปรุงและทำให้คุณภพชีวิตดีขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจส่งผลเสียที่ใหญ่ขึ้นได้ในบางกรณี

 

เติมความสดใสและส่งเสริมสุขภาพผู้คนในฤดูมรสุม

ฝนและฟ้าที่มืดลงส่งผลกระทบต่อทั้งกายและใจของผู้คน ในมิติของผู้คน เมืองที่ร่วมส่งเสริมสุขภาพกายใจ และสร้างบรรยากาศของเมืองในวันฟ้าหม่นจึงเป็นอีกเงื่อนไขของเมืองที่ดีต่อสายฝน เบื้องต้นการสร้างสีสันให้เมือง การเลือกสีสันที่สดใสของงานออกแบบหรือพื้นที่ต่างๆ ทั้งเล็กๆ น้อยๆ และการออกแบบตึกอาคารที่ขับเน้นสีสันและบรรยากาศสู้กับสายฝน นอกจากนี้การจัดบรรยากาศของเมืองให้ไม่ซึมเซาตามแสงสว่างที่ลดลง เช่น การจัดเทศกาลแสงไฟ กิจกรรมที่จุดสีสันให้เมืองยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างสนุกสนานกลางสายฝน สำหรับด้านสุขภาพ การกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองที่ฝนตกบ่อยเคลื่อนไหวเป็น active city ให้คนได้ขยับตัว การออกกำลังกายก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพทางอ้อม ให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยได้อย่างแข็งแรงและสุขภาพดี

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

Share :