หลังจากพะยูนน้อยตายลงเพราะขยะพลาสติก รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งชายฝั่งและผิวน้ำอีกจำนวนมากที่ทยอยตายตามกันไป ภาพขยะพลาสติกมหาศาลที่ลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอต่อหายนะของสัตว์โลก เราเองต่างเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ใช้งานและทิ้งขยะเหล่านั้นลงสู่ท้องทะเลไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
วิกฤติขยะท้องทะเลส่งผลให้หลายพื้นที่ในโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบ และพยายามแก้ปัญหาผืนขยะลอยน้ำตั้งแต่ระดับครัวเรือน เป็นถังขยะลอยทะเลอันเล็กๆ ไปจนถึงการสร้างเครื่องจักรเก็บขยะราคาหลักพันล้าน เช่น Ocean Cleanup ที่ปัจจุบันปล่อยตัวทดลองลงดักขยะกันอย่างเป็นมหกรรมที่ดูจะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ
เป้าหมายและวิธีการทำงานของการเก็บขยะทะเลส่วนใหญ่เป็นไปด้วยวิธีคิดและหลักการง่ายๆ โดยเฉพาะการใช้ระบบทุ่นดักและดูดขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเข้าสู่ตัวกรองก่อนนำขึ้นฝั่งเพื่อเข้าสู่ระบบกำจัดกันต่อไป แต่ว่านักวิชาการเรื่องการรีไซเคิลก็ออกมาบอกว่าการเก็บขยะขึ้นสู่ฝั่งเช่นโครงการ Ocean Cleanup อาจไม่ใช่ความหวังและคำตอบที่ถูกต้องของปัญหาขยะในท้องทะเล อย่างเรื่องขยะบนผิวน้ำที่มีปริมาณแค่ 3% การนำขยะขึ้นสู่ฝั่งได้ก็อาจไม่ใช่ความสำเร็จของการจัดการขยะเท่าไหร่นัก ประเด็นเรื่องขยะทะเลเป็นประเด็นที่ซับซ้อนตั้งแต่วิธีคิดและการใช้งานพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง
อนึ่ง การมีโปรเจกต์ มีงานออกแบบที่พยายามรับมือและจัดการกับปัญหาขยะในทะเลก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตระหนักว่าปัญาขยะทะเลเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข City Cracker พาไปดูงานออกแบบและความพยายามลดปริมาณขยะในท้องทะเลตั้งแต่การใช้งานออกแบบไปจนถึงการใช้พลังงานชีวภาพเช่นแมงกระพรุนเข้ามาช่วยลดปัญหาขยะทะเล เป็นกลุ่มงานออกแบบน่ายินดีที่ไม่ต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้ก็ดีใจ
Ocean Cleanup
Ocean Cleanup เป็นโปรเจกต์มหึมาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ยิ่งพบว่าตัวโปรเจกต์นี้เริ่มต้นและลงมือจากความคิดของ Boyan Slat หนุ่มน้อยนักเรียนวัยเพียง 19 ปี ไอเดียของน้องไฟแรงก็เริ่มจากไอเดียง่ายๆ ที่มองเห็นว่าในทะเลกระแสน้ำจะพัดเข้าหากัน ดังนั้นขยะจะต้องถูกพัดไปกองไว้ที่จุดๆ หนึ่ง เราก็เลยทำทุ่นขนาดใหญ่ที่มีแขนสองข้าง เอาไปดัก ไปกวาดขยะที่ลอยวุ่นวายขึ้นมาจากน้ำซะเลย เจ้าแพอันนี้จริงๆ ก็หน้าตาเหมือนแพผักตบบ้านเราแต่มีขนาดใหญ่กว่า จากไอเดียง่ายๆ Boyan ก็เลยจัดการขายไอเดียและระดมทุนขึ้นมา ผลคือสามารถระดมทุนได้ถึง 7 พันล้านบาท มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเข้าร่วมขบวนกวาดทะเล จนล่าสุดได้ปล่อยตัวทดลองลงกวาดจริงกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางโครงการบอกว่าจะเอาขยะที่ได้ไปเข้าเตาเผาผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป แต่โครงการใหญ่นี้ก็มีเสียงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจไม่ใช่ปลายทางความฝันอย่างที่อ้างว่าจะกวาดขยะ 90% ขึ้นจากทะเลได้ เพราะปัญหาเรื่องขยะทะเลนั้นแสนจะซับซ้อน การลงเงินจำนวนมหาศาลไปกับการเก็บขยะขึ้นจากน้ำอาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่มวลมนุษย์ต้องการ
Filtration Skyscraper
ตึกระฟ้าหน้าตาเหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟแถมตั้งตระหง่านอยู่กลางมหาสมุทรนี้ นอกจากจะล้ำยุคแล้วตัวมันเองยังทำหน้าที่กรองขยะพลาสติก และเป็นเตาเผาขยะพร้อมผลิตไฟฟ้าไปในตัว อย่าเพิ่งดีใจไปกับความก้าวหน้า โปรเจกต์นี้ยังอยู่ในระดับแนวคิด ตึก Filtration Skyscraper เป็นผลงานออกแบบในปี 2019 ของ Honglin Li ผู้ออกแบบบอกว่าใช้การออกแบบที่ผสมระหว่างการปรับปรุงสาธารณูปโภคเก่าและระบบบำบัดน้ำ ผลคือเขาเสนอแบบตึกระฟ้ากลางทะเลที่ปรับปรุงแท่นขุดเจาะน้ำมันร้างให้กลายเป็นโรงดูดบำบัดน้ำพร้อมกับเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าไปในตัว หลักการคือตัวหอคอยจะดูดน้ำทะเลที่มีขยะเข้าสู่ระบบ ทำหน้าที่เป็นกรองและคัดแยกขยะ ขยะบางส่วนจะถูกนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า บางส่วนจะถูกส่งกลับไปยังฝั่งเพื่อรีไซเคิล ตัวกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจะสามารถใช้ได้ทั้งในการเลี้ยงระบบสูบน้ำและอาจสามารถส่งกลับไปใช้บนฝั่งได้ด้วย
The Sea Chair Project
โปรเจกต์เก้าอี้จากท้องทะเล เป็นโปรเจกต์ของนักศึกษาจบใหม่ 3 คนจาก Royal College of Art เจ้าของผลงานบอกว่า เวลาเดินในทะเลตอนนี้เราจะเจอเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ เยอะมาก มีงานสำรวจพบว่าในหนึ่งกิโลเมตรของผิวน้ำมีเศษพลาสติกมากถึง 46,000 ชิ้นกันเลยทีเดียว ทางผู้ออกแบบเลยเสนอระบบการหลอมเศษพลาสติกใหม่ออกมาเป็นเก้าอี้ตัวเล็กๆ (stool) ที่มีสีสันและหน้าตาเปลี่ยนไปตามเทคนิกการหลอมและสีของพลาสติก จากข้อเสนอเรื่องเทคนิกการหลอมและผลิตเก้าอี้จากเศษพลาสติกแล้ว ผู้ออกแบบยังเสนอระบบเรือโรงงาน คือใช้เรือประมงเก่ามาดัดแปลงให้กลายเป็นโรงงานเก้าอี้ลอยน้ำ ที่ตัวเรือทำหน้าที่ทั้งดักขยะและนำมาผลิตเป็นเก้าอี้อย่างครบวงจร
The Seabin Project
The Seabin Project เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ลุกขึ้นออกแบบเพื่อรับมือกับปัญหาขยะในท้องทะเลตั้งแต่ปี 2016 เราเองอาจเคยเห็นภาพถังกลมๆ ลอยน้ำ มีเศษพลาสติกถูกดูดเข้าไปในถังนั้น เจ้าถังขยะทะเลเป็นไอเดียของสองหนุ่มชาวออสเตรเลียที่ทดลองออกแบบถังขยะลอยน้ำขนาดพอเหมาะ ฟังก์ชั่นของมันก็ง่ายๆ คือเป็นถังที่มีปากถังอยู่บนผิวน้ำ มีระบบปั๊มดูดและตัวกรอง ทำให้ขยะพลาสติกและคราบน้ำมันบนผิวน้ำจะถูกดูดเข้าไปในถัง ในขณะที่ปลาและสัตว์จะว่ายลอยออกไป จากการระดมทุนและความสนใจครั้งใหญ่จากทั่วโลก ถังขยะลอยน้ำจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ มีเวิลด์ทัวร์เป็นของตัวเอง ล่าสุดเรามีเจ้าถังนี้ลอยเท้งเต้งอยู่แทบจะทุกมหาสมุทรทั่วโลก บ้านเราก็มีกับเขาหนึ่งถัง อยู่แถวๆ ฐานทัพเรือกรุงเทพ แม่กลอง
GoJelly Project
นอกจากพลาสติกเป็นชิ้นๆ ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าแล้ว ภัยร้ายจากพลาสติกแบบใหม่คือเจ้าไมโครพลาสติก หรือเจ้าอนุภาคพลาสติกที่แตกกระจายจนกลายเป็นอนุภาคจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อย ล่าสุดมีรายงานว่าปลาทูไทยก็มีไมโครพลาสติกกับเขาด้วยเหมือนกัน ในขณะที่รายงานผลกระทบในมนุษย์ยังไม่ได้รับการยืนยัน ทีนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็กังวลกับอนุภาคแปลกปลอมเหล่านี้จึงต้องหาทางกำจัดไมโครพลาสติกไปให้ได้ ความหวังของเราอยู่ที่เจ้าแมงกะพรุน สิ่งมีชีวิตที่ลอยตุ๊บป่องนี้ตัวมันเองกลับเป็นสัตว์มหัศจรรย์ พวกมันสามารถรอดจากวิกฤติและภัยธรรมชาติสำคัญๆ ได้อย่างสบายๆ
เจ้าแมงกระพรุนนอกจากจะมีประโยชน์ในชามเย็นตาโฟแล้วนักวิทยาศาสตร์พบว่าเมือกของแมงกระพรุนสามารถกรองอนุภาคทองคำ- อนุภาคเล็กจิ๋วที่มีขนาดเท่าๆ กับไมโครพลาสติกได้ โครงการ GoJelly จึงเป็นโครงการความหวังจากทางยุโรป ในการวิจัยและพัฒนาเมืองของแมงกระพรุนเพื่อเป็นความหวังในการกรองและกำจัดไมโครพลาสติกในท้องทะเลกันต่อไป
Precious Plastic
อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าขยะในทะเลและขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และการแก้ปัญหาต้องมองปัญหาสำคัญของโลกนี้ในหลายระดับ หนึ่งในขั้นตอนสำคัญนอกจากการสอยขยะออกจากทะเลแล้ว การลดปริมาณขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการตัดวงจรของขยะพลาสติก แต่พูดเรื่องรีไซเคิลพลาสติก การรีไซเคิลขยะจริงๆ ดูเป็นเรื่องยุ่งยากและไกลตัว เราขอผายมือมาที่โครงการ Precious Plastic โครงการที่จะดึงการรีไซเคิลพลาสติกให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจได้และใกล้ตัว คำว่ารีไซเคิลในที่นี้คือการเปิดโรงรีไซเคิลขยะย่อมๆ พาให้เราเข้าใจการย่อย แยก หลอมใหม่ เป็นโรงรีไซเคิลขยะในครัวเรือนหรือในชุมชน ตัวโครงการทำหน้าที่เป็นชุมชนคนรีไซเคิลขยะที่รวมไอเดียเรื่องการจัดการขยะจากทั่วโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก
dezeen.com/ocean-cleanup-plastic-burning-electricity-news/
dezeen.com/the-ocean-cleanup-failure-great-pacific-garbage-patch-plastic/
dezeen.com/filtration-tower-honglin-li-plastic-waste-to-energy/
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
- Vanat Putnark
Writer