ปารีสและเมืองอื่นๆ ทั่วโลกได้นำร่องการพัฒนาเมืองผ่านแนวคิดเมือง 15 นาที คือเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนเดินและจักรยานเป็นอันดับแรก ส่วนรถยนต์นั้นก็ถูกลดบทบาทลง จุดจอดรถเดิมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นที่จอดรถอย่างเคย
จากแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ลดบทบาทของรถยนต์ลง และหันมาให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า คือคืนพื้นที่ถนนให้กับคนเดินและจักรยาน ถนนที่เคยเป็นของรถยนต์ทั้งเป็นเส้นทางเดินรถ ตลอดจนพื้นที่จอดรถ เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ได้นำเอาที่จอดรถเก่ามาทำเป็น Parklet หรือการเปลี่ยนจุดจอดรถตามถนนให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นสวน ที่นั่งพักผ่อน ไปจนถึงร้านค้าป๊อปอัป โดยเฉพาะซานฟรานซิสโกนั้น การเปลี่ยนที่จอดรถให้มีฟังก์ชันและโปรแกรมที่หลากหลายก็เป็นแนวทางที่ซานฟรานทำมาอย่างยาวนาน โดยโครงการแรกที่ซานฟรานซิสโกได้ทำคือ โครงการนำร่องพลาซ่าบนคาสโตรคอมมอนส์เมื่อปี 2009 ทั้งยังได้บัญญัติคำว่า Parklet และเป็นต้นแบบการพัฒนาที่จอดรถในเมืองให้กับเมืองอื่นๆ
นอกจากซานฟรานซิสโกและเมืองอื่นๆ ของสหรัฐฯ ล่าสุดปีก่อน (2021) ทางสวีเดนก็ได้นำวิธีการเดียวกันไปใช้กับเมืองในชื่อโครงการ Street Moves ที่สวีเดนได้พยายามเปลี่ยนที่จอดรถให้มีฟังก์ชันที่หลากหลายขึ้น ทั้งเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ที่จอดรถสำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า โรงยิมกลางแจ้ง ไปจนถึงสวนเล็กๆ ริมถนน โดยเป้าหมายของสวีเดนไม่เพียงเปลี่ยนถนนหนึ่งสาย แต่ทางเมืองได้วางแผนไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่นำไปใช้กับถนนทุกสายของสวีเดนด้วย
ในยุคที่เมืองทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าแนวทางการพัฒนาเมืองที่ดีคือการพัฒนาด้วยแนวคิดเมืองยั่งยืน การออกแบบเมืองให้เดินกระทั่งออกแบบให้มีธรรมชาติได้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยมลพิษจากควันไอเสียของรถยนต์เชื้อเพลิง หรือเพิ่มพื้นที่ดูดซับมลพิษของเมือง ดังนั้น การออกแบบ ‘ถนน’ ในฐานะพื้นที่ที่เชื่อมต่อบ้านและบริการต่างๆ ของเมืองเข้าด้วยกันจึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อเมืองและผู้คน
แน่นอนว่ากระแสการพัฒนาเมืองที่คิดถึงโลกมากขึ้นของเมืองอื่นๆ อาจเป็นแนวทางใหม่ที่บ้านเราเห็นความสำคัญและนำไปปรับใช้ ในอนาคตกรุงเทพฯ อาจมีรถยนต์น้อยลง พื้นที่ถนนกลายเป็นของคนเดิน และเกิดการเปลี่ยนโฉมที่จอดรถให้มีฟังก์ชันที่หลากหลายขึ้นตามบริบทพื้นที่และความนิยมที่เปลี่ยนไป City Cracker จึงอยากพาทุกคนไปเห็นไอเดียและฟังก์ชันการพัฒนาที่จอดรถเดิมของหลายๆ เมือง พร้อมชวนคิดและออกแบบ Parklet ให้เมืองกรุงเทพฯ ว่าในอนาคตหากที่จอดรถเก่าริมถนนต่างๆ ได้รับการปรับโฉมจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
สวนริมทาง เชื่อมต่ออาคารและทางเดินด้วยพื้นที่สีเขียว
ด้วยบริบทพื้นที่ parklet มักตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องและมีพื้นที่สีเขียวไม่มากนัก พื้นที่ขนาดเล็กที่เป็นที่จอดรถเดิมนี้ จึงเหมาะแก่เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว และแทรกต้นไม้ใบหญ้าลงไปริมขอบทาง เพื่อให้ริมทางกลายเป็นสวนสีเขียวที่ให้ร่มเงากับเมืองและคนเดินเท้า โดยอาจตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านค้า สำนักงานต่างๆ ของเมือง
การปรับเปลี่ยนที่จอดรถเป็นสวนสีเขียวริมทาง สามารถทำโดยการจัดเป็นสวนขนาดย่อม เน้นใช้เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาเพื่อบดบังแดด อาจเน้นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมเพื่อสร้างความสดชื่นและมีชีวิตชีวาให้กับเมือง หรืออาจจัดวางเก้าอี้ม้านั่ง จัดเป็นจุดแวะพักผ่อนในระหว่างวันของชุมชนและคนเดินเท้าระยะไกล ตลอดจนอาจเป็นจุดนัดพบแห่งใหม่ของย่าน
ที่เมืองอัลเบอรี่ (Albury) ออสเตรเลียก็มีโครงการพื้นที่สีเขียวจากที่จอดรถ ชื่อ Pods of Play เป็นโปรเจกต์ CBD Parklet ที่เกิดจากรัฐบาลต้องการนำพื้นที่ว่างของลานจอดรถในย่านธุรกิจมาปรับใช้ประโยชน์ จึงได้ออกแบบโครงสร้างที่นั่งทรงกลมขึ้นเพื่อนำมาตั้งไว้ย่านธุรกิจของเมือง และให้โครงสร้างนี้เป็นตัวเชื่อมต่อทางเท้าและถนนให้เป็นพื้นที่เดียวกัน ทั้งในแต่ละสัปดาห์ทางเมืองยังวางแผนว่า Parklet นี้จะใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เวิร์กช็อปงานศิลปะ และงานดนตรี ด้านหนึ่งกิจกรรมเหล่านี้จึงอาจช่วยเพิ่มมูลค่าและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในย่านนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย
สวนดนตรี สร้างสีสันผ่านเสียงดนตรีให้กับเมือง
พื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งที่คนในเมืองต้องการ และเมืองควรจัดหาไว้ให้ คือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การจัดการแสดงต่างๆ ที่ผู้คนในเมืองสนใจ ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้เกิดการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และเป็นแหล่งรวมกลุ่มของคนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน ซึ่งที่จอดรถเก่าบริเวณริมถนนกระทั่งพื้นที่ทางเท้าที่อยู่ใกล้กัน อาจสามารถเปลี่ยนเป็นสวนดนตรีหรือพื้นที่จัดแสดงศิลปะ/ความบันเทิง เพื่อส่งเสริมความครึกครื้นและชีวิตชีวาให้เมืองและผู้คนได้
สำหรับการเปลี่ยนที่จอดรถเก่าเป็นสวนดนตรีสามารถทำได้หลายวิธี เช่น อาจมีการออกแบบตัวพื้นที่ด้วยการแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน โดยจัดโซนด้านหนึ่งสำหรับตั้งวงดนตรีหรือจัดแสดงโชว์ อีกด้านอาจเป็นพื้นที่โล่งสำหรับจัดวางเก้าอี้/เบาะ เพื่อสร้างพื้นที่สบายๆ เหมาะแก่การนั่ง-นอนรับชมดนตรีสด สวนดนตรีริมถนนนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง เช่น โปรเจกต์ Wellington City Council’s Innovating Streets ที่เมืองเวลลิงตัน (Wellington) ได้ปรับถนนทางเดินให้มีสีสันและกิจกรรมมากขึ้นด้วยการสร้าง pop-up park ริมถนน จัดวางเปียโนไว้ภายในสวนเพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาสามารถแวะเวียนเข้ามาเล่นได้ หรือตั้งบูธดีเจไว้เพื่อสร้างสีสันและเสียงดนตรีให้กับเมือง
ตัวโปรเจกต์นี้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนในเวลลิงตัน โดยเฉพาะการแวะเวียนเข้ามาใช้พื้นที่ และนั่งดื่มกาแฟของร้านค้าใกล้เคียงพื้นที่กิจกรรม ไปจนถึงเป็นพื้นที่พักผ่อนของประชาชนในเมือง ประโยชน์ของการมีสวนดนตรีจึงไม่ใช่แค่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองที่จะได้รับความสบายใจ มีพื้นที่พักผ่อนโดยไม่ต้องเสียเงินอีกด้วย
อย่างไรก็ตามพื้นที่รูปแบบนี้อาจสร้างมลพิษทางเสียงให้แก่ผู้อื่นได้ การเลือกใช้ต้นไม้เพื่อมาเป็นกำแพงซับเสียงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้เสียงดังจนเกินไป เช่น การเลือกไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก หรือเถาวัลย์และต้นไม้ที่มีใบกว้างต่างๆ มาตั้งเป็นรั้วล้อมรอบพื้นที่ parklet นี้ไว้
Cafe pop up คาเฟ่หมุนเวียนกับสตูดิโอจิ๋ว
แม้เราจะเจอคาเฟ่ได้ทุกหัวมุมถนน แต่ถ้าคาเฟ่มาตั้งอยู่ริมถนนก็น่าจะเปลี่ยนบรรยากาศการเข้าคาเฟ่ให้สนุกสนานขึ้นได้ ที่นิวยอร์กและซานฟรานซิสโกได้ปรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยเปลี่ยนเอาพื้นที่จอดรถเดิมมาเป็นป๊อปอัปคาเฟ่บริเวณหน้าร้านค้าต่างๆ ของเมือง เพื่อดึงดูดผู้คนจากภายนอกให้แวะเวียนเข้ามาในย่านและเมืองได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งยังสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละย่าน
สำหรับป๊อปอัปคาเฟ่ที่จะกระตุ้นการเข้ามายังย่าน ตัวพื้นที่และงานออกแบบอาจต้องสร้างจากโครงสร้างไม้ง่ายๆ เพื่อรองรับการหมุนเวียนของแต่ละร้านหรือคาเฟ่ที่จะเข้ามาสับเปลี่ยนกันไปตามระยะที่กำหนด พร้อมกับจัดวางพื้นที่นั่งทานน้ำ ขนม และถ่ายรูปที่ร่มรื่นด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปในบริเวณนั้นๆ กลายเป็นเปลี่ยนพื้นที่ริมทางให้เราได้มีโอกาสพบเจอผู้คนมากขึ้น พร้อมยังช่วยสนับสนุนร้านค้าโลคอลในเมืองอีกด้วย มากกว่าแค่คาเฟ่หรือร้านกาแฟ พื้นที่นี้ยังสามารถเป็นสตูดิโอจิ๋วถ่ายรูปหรืออัดคลิปสนุกๆ สำหรับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ พร้อมจัดหาไฟ ขาตั้งกล้อง และกระจกในบริเวณเดียวกับร้านคาเฟ่ได้ด้วยเหมือนกันเพื่อเพิ่มสีสันและความครึกครื้นให้กับเมืองมากขึ้น
สนามเด็กเล่น เพิ่มพื้นที่เล่นให้เด็กในเมือง
สำหรับวัยกำลังซนอย่างเด็กๆ การเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นสามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเติบโตได้เป็นอย่างดี พื้นที่สาธารณะสำหรับการออกมาวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียนก็ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เมืองเองต้องจัดสรรไว้ให้เด็ก แน่นอนว่าการหยิบเอาที่จอดรถเก่ามาทำเป็น Parklet ที่เน้นการเล่นจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่เพื่อเด็ก
ที่เมืองฟิลาเดเฟียมีโครงการ Urban Think Space จาก Kaboom! องค์กรไม่แสงหากำไรของอเมริกาที่ส่งเสริมและสร้างพื้นที่สนามเด็กเล่นเพื่อการเรียนรู้ จุดประสงค์ของโครงการคือการเปลี่ยนพื้นที่ถนนหนทางของเมืองให้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในเมืองได้มาเล่นสนุกร่วมกัน Urban Think Space จึงหยิบเอาพื้นที่ริมถนนมาปรับเปลี่ยนเป็นสนามเด็กเล่นที่เน้นส่งเสริมการกระโดด การทรงตัวของเด็กๆ รวมถึงมีพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่าง Animation Streetlight ที่หยิบเอาอนิเมชั่นต่างๆ มาสร้างเป็นเรื่องราวลงบนถนน เพื่อส่งเสริมจินตนาการของเด็กๆ ในเมือง
นอกจากนี้ความปลอดภัยก็เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่ต้องคำนึง เนื่องจากสนามเด็กเล่นตั้งอยู่ริมถนน ดังนั้นแล้วการสร้างความปลอดภัยอาจต้องมีรั้วกันอย่างรั้วไม้ หรือใช้ต้นไม้ธรรมชาติเพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่ถนนและพื้นที่เล่นให้ชัดเจนขึ้น
ห้องสมุดริมทาง พื้นที่อ่านหนังสือกลางเมือง
พื้นที่ของการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้พลเมืองได้เติบโตอย่างมีคุณภาพก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เมืองไม่ควรละเลย ดังนั้นแล้วการมีพื้นที่สาธารณะที่สร้างโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการอ่านหนังสือได้มากขึ้น จึงช่วยส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองได้ สำหรับพื้นที่จอดรถเดิมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองได้ผ่านการทำให้เป็นพื้นที่อ่านหนังสือหรือห้องสมุดสาธารณะของเมือง
ในงานออกแบบที่จอดรถริมถนนเก่าเป็นห้องสมุดเกิดขึ้นในหลายๆ เมือง เช่นโปรเจกต์ Village Parklet Library จากประเทศออสเตรเลียที่จัดสรรพื้นที่ เก้าอี้พักผ่อน และพื้นที่เก็บหนังสือไว้แยกส่วนกัน อย่างไรก็ตามพื้นที่ชั้นวางหนังสืออาจเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง parklet ได้เลยเหมือนกัน เช่น ออกแบบชั้นวางหนังสือในรูปทรงต่างๆ รายล้อมพื้นที่จากด้านในด้านหนึ่งของตัว parklet ไว้ไปสู่อีกด้านหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างรูปแบบนี้ยังก่อให้เกิดสเปซตรงกลางด้านในเหมาะแก่การเป็นโต๊ะอ่านหนังสือ หรือวางเก้าอี้เรียงราย เกิดเป็นพื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือกลางแจ้งให้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้อาจเพิ่มพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม เช่น อ่านนิทานสำหรับเด็กๆ การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านหนังสือ เพื่อสร้างความครึกครื้นให้กับย่านเพิ่มขึ้น
ตลาดและร้านค้า ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน
ตลาดหรือพื้นที่ค้าขายเป็นหนึ่งในพื้นที่บริการของเมืองที่ควรตั้งอยู่ในละแวกบ้าน และควรอยู่ในระยะที่สามารถเดินถึง เพราะนอกจากจะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้อาศัยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนอีกด้วย สำหรับประเทศไทยเรามักมีแผงลอยตั้งอยู่บริเวณทางเท้า ซึ่งคงจะดีกว่าถ้าแผงลอยสามารถขยับขยายออกไปอีกนิดเพื่อคืนพื้นที่ทางเดินเท้าให้กับเรา ในกรณีนี้หากเราหยิบพื้นที่อย่างที่จอดรถริมถนนมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นตลาดนัดชุมชนก็น่าสนใจ ด้วยตัวพื้นที่ที่อยู่ติดริมถนนและทางเท้าก็จะทำให้ผู้คนสามารถจับจ่ายซื้อของกันได้สะดวกมากขึ้น
เพื่อแก้ปัญหาเดิมที่พ่อค้าแม่ค้ามักวางของกันริมถนน และสร้างความลำบากในการเดินเท้าของผู้ใช้ทางเท้า จึงอาจทำได้ด้วยการโยกย้ายแผงค้าเดิมที่อยู่ริมถนนให้มาอยู่อยู่บริเวณ parklet คือพื้นที่จอดรถริมถนนแทน เพื่อทำให้ทางเท้ากลับมาเป็นของคนเดินอีกครั้ง โดยที่ยังสามารถเลือกซื้อสินค้าหรืออาหารได้เหมือนเดิม
การออกแบบพื้นที่ลักษณะนี้อาจเลือกใช้โครงสร้างแบบ modular structure ที่สามารถขยับเข้าออกได้ เพื่อสร้างความสะดวกสบายของการจัดวางร้านค้า ที่สามารถเปลี่ยนสเปซไปได้เรื่อยๆ พร้อมกันนั้นยังสามารถปรับแต่งพื้นที่เพื่อสร้างกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับบางกิจกรรม เช่น งานปัก งานสานต่างๆ หรือของ OTOP ของแต่ละชุมชน เพื่อให้ตัวพื้นที่รูปแบบนี้สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้ออกมาแสดงผลงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองให้เพิ่มขึ้นและส่งเสริมกิจกรรมระหว่างชุมชนและผู้คนได้อีกด้วย นอกจากนี้การสร้างพื้นที่แผงลอยที่เป็นสัดส่วนยังส่งผลดีต่อการพัฒนาเมือง ทั้งในเรื่องของความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด และความปลอดภัยของเมืองอีกด้วย
สวนพลังงาน ลดฝุ่นและสร้างพลังงานให้เมือง
อีกหนึ่งปัญหาที่เมืองกำลังเผชิญอยู่คือเรื่องของฝุ่น PM2.5 และมลภาวะต่างๆ ที่สะสมอยู่ ส่งผลให้เราที่อาศัยในเมืองเจ็บป่วยง่ายขึ้น และมีสุขภาพไม่แข็งแรง ตลอดจนเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟที่แพงขึ้น ก็ส่งผลโดยตรงต่อการอยู่อาศัยและรายจ่ายในครัวเรือนของผู้คน ดังนั้นแล้วถ้าเรามีสวนหรือพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กที่เข้ามาช่วยลดการเกิดปัญหาของมลภาวะ พร้อมกันนั้นยังสามารถแปรเปลี่ยนพลังงานธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของ Energy Park หรือสวนพลังงาน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเราเช่นกัน
สวนพลังงานในเมืองอาจแบ่งได้เป็น 2 ฟังก์ชัน หนึ่งคือการเปลี่ยนมลภาวะในเมือง จำพวกฝุ่นและควัน ให้กลายเป็นพลังงานสะอาดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น เลือกปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดักจับฝุ่น เพื่อลดการเกิดมลภาวะที่สะสมในเมือง และสองคือหยิบเอาพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy เข้ามาใช้งาน เช่น การจัดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อดึงพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้งานในบ้านเรือนใกล้เคียง หรือการใช้พลังงานลม และน้ำก็สามารถเข้ามาอยู่ในสวนพลังงานสะอาด เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนมลภาวะทางอากาศต่างๆ ในเมืองได้อีกด้วย
การหยิบเอา parklet หรือที่จอดรถไม่ได้ใช้งานแล้วมาออกแบบเป็นสวนรูปแบบนี้ ถือว่าเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมถนนโดยที่มีอีกด้านติดกับพื้นที่อยู่อาศัย การมีสวนรูปแบบนี้จึงสามารถทำหน้าที่เป็นเหมือน buffer zone ระหว่างถนนและบ้านเรือนที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการบำบัดมลภาวะอีกด้วย
Graphic Designed by Supatsorn Boontumma
- Pharin Opasserepadung
Writer