อีก 3 ปีเจอกัน
สำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวในปีนี้ แม้ว่าจะน่าเสียดายที่เป็นโอลิมปิกแบบปิด ไม่สามารถเปิดให้เข้าชมการแข่งขัน รวมถึงไม่สามารถเดินทางเข้าไปร่วมชมกีฬาจากต่างประเทศได้จากภาวะโรคระบาด แต่ปีนี้ก็ถือได้ว่าญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าภาพรอบสองก็สร้างปรากฏการณ์ และใช้กีฬาโอลิมปิกแสดงจุดยืนและตัวตนร่วมสมัยตั้งแต่พิธีเปิดอันน่าทึ่ง การใช้ป็อปคัลเจอร์ต่างๆ ไปจนถึงการวางหมุดหมายเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นจุดยืนและท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศอันสำคัญยิ่ง เราได้เห็นเหรียญรางวัลจากวัสดุ เห็นหมู่บ้านนักกีฬาที่เน้นความยั่งยืน เห็นรถไฟฟ้า เห็นสเตเดียมที่ทำจากไม้ แท่นรางวัลจากขยะและอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อการแข่งขันกีฬาที่โตเกียวใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ธรรมเนียมอย่างหนึ่งคือการรับไม้ต่อ ซึ่งเราก็หวังว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กีฬาโอลิมปิกจะได้กลับมาจัดในฐานะงานรวมตัวและจุดหมายปลายทางของผู้คนจากทั่วโลกอีกครั้ง ทีนี้ เมืองที่จะมารับไม้ต่อจากโตเกียวก็เล่นใหญ่ไม่แพ้ตอนที่โตเกียวมุดท่อมาริโอไปรับไม้ต่อ ปารีสคือเมืองเจ้าภาพครั้งต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า และไม่ทันไร ปารีสก็ปล่อยภาพสนามกีฬาน้ำจิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ ที่ปารีสจะเนรมิตใจกลางเมืองเป็นสนามแข่งขันยักษ์ เป็นการแข่งกีฬาที่ทั้งอลังการงานสร้าง ทั้งยังเป็นหน้าตาของปารีสที่เต็มไปด้วยชีวิต ผสมผสานอย่างลงตัวทั้งสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์กที่เรารู้จัก และการโปรยสีเขียวของต้นไม้ไว้ใจกลางกรุงปารีส
เรียกได้ว่าใครที่อัดอั้นจากการอดไปร่วมงานกีฬาที่โตเกียวในปีนี้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ปารีสจะจัดชุดใหญ่ให้เราได้มองเห็นเมืองในมุมใหม่ๆ ที่มีมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติเป็นฉากหลังให้เราได้ตื่นตาตื่นใจได้อย่างแน่นอน
ทีนี้ ภาพของปารีส 2024 นั้นเราอาจพูดได้ว่านั่นคือส่วนหนึ่งของอนาคตอันสดใหม่ของความเป็นเมืองในรูปแบบใหม่ตามแนวที่ปารีสวางตัวเองไว้ ทิศทางสำคัญของปารีสที่เราพอจะเข้าใจในตอนนี้คือปารีสกำลังเดินหน้าเต็มกำลังไปสู่เมืองที่ดีที่มีสวนขนาดยักษ์โอบล้อมหอไอเฟล ชองเอลิเซ ทั้งยังเป็นเมืองที่กลับมารักชุมชนและผู้คนของตัวเองผ่านแนวคิดการฟื้นฟูย่านและเมือง 15 นาทีที่วางไว้ว่า คนปารีสจะสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปถึงทุกอย่างที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ที่ทำงาน ห้างร้าน และอื่นๆ ได้ภายใน 15 นาที และแน่นอนปารีสจะเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนไม่ใช่รถ
ทิศทางการพัฒนาเมืองใหม่ของปารีสจึงล้อกับภาพการจัดโอลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้าที่ปารีสจะเผยโฉมปารีสใหม่ เป็นปารีสที่ปรับตัวจากภาวะโลกร้อน มีความรับผิดชอบทั้งกับโลกและสมาชิกของตัวเองมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ดูจะสอดคล้องกับโอลิมปิกที่ปารีสในปี 2024 เป็นเมืองแห่งอนาคตระดับตัวอย่างของโลกต่อไป ดังนั้น ในช่วงอำลาและรอคอยความยิ่งใหญ่และความเปลี่ยนแปลง เราจึงชวนไปชมแผนของปารีส 2024 ว่า โอลิมปิกและเมืองที่ทั้งรักษาอารยธรรมอันเกรียงไกร รับผิดชอบต่อโลก ทั้งยังแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนคือไม่ได้จัดงานจบแล้วก็แล้วกันนั้น จะมีคำมั่นอะไรบ้าง
มหกรรมกีฬาและการลงทุนสู่เนื้อเมือง
ปกติการจัดงานกีฬามักจะจัดโดยมีสเตเดียม หรือไปสร้างพื้นที่เฉพาะในส่วนที่เป็นชานเมืองหน่อย แต่สิ่งที่ปารีสประกาศว่าจะทำ คือปารีสจะเปลี่ยนพื้นที่ประวัติศาสตร์ คือพื้นที่ไอคอนกลางเมืองให้เป็นสเตเดียม เป็นสนามกีฬา ดังนั้นการปล่อยภาพสำคัญจึงสร้างความฮือฮามากเมื่อเห็นภาพคอนเซปต์ที่หอไอเฟลเอยชองเอลิเซเอย สวนชองเดอร์มาร์ ไปจนถึงแวร์ซายล้วนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามแข่นขัน
เข้าใจว่าตัวพื้นที่ไอคอนที่จะกลายเป็นสนามกีฬาคงเป็นส่วนหนึ่ง เท่าที่ทางปารีสเผยแผนไว้ตัวพื้นที่จัดงานจะไปสร้างไว้ทางตอนเหนือของกรุงปารีส บางส่วนจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ Seine-Saint-Denis ตัวงานจะเน้นการจัดการพื้นที่อย่างกระชับ คือหมู่บ้านนักกีฬาจะอยู่ไม่ไกลจากสถานที่แข่งขัน และที่สำคัญคือในการจัดแข่งขันนี้ การสร้างสาธารณูปโภคใหม่ การปรับปรุง รีโนเวตพื้นที่ต่างๆ จะเน้นให้ประโยชน์กับชุมชน กับเขตเมืองนั้นๆ ที่ต่อเนื่องหลังจากการจัดงานไปแล้ว
หมู่บ้านนักกีฬา ชุมชนสีเขียวที่จะสานต่อคำสัญญาสีเขียวต่อไป
เรารู้จักปารีสในฐานะเจ้าภาพการลงนาม Paris Agreement สำหรับโอลิมปิกในปี 2024 นั้น ปารีสก็ตั้งใจว่าจะตอบคำมั่นของข้อตกลงสีเขียวออกมาให้เป็นรูปธรรม คำสัญญาหลักๆ คือโอลิมปิกในครั้งนี้จะมีประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอน โดยปารีสประกาศว่างานในครั้งหน้าจะปล่อยคาร์บอนฟุ้ตปริ้นต์ลดลง 55% เทียบกับการจัดในสองครั้งก่อน (ก่อนโตเกียว) คือเทียบกับโอลิมปิกที่ริโอ เดอ จาเนโรในปี 2016 และที่ลอนดอนในปี 2012
สิ่งที่เริ่มมีเค้าลางมาให้เห็นแล้วคือตัวหมู่บ้านนักกีฬาที่มีแผนจะสร้างขึ้นใหม่ ตัวหมู่บ้านนักกีฬาจะเน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก โปรเจ็กต์หมู่บ้านนักกีฬาออกแบบโดย Dominique Perrault ตั้งอยู่ในเขต Seine-Saint-Denis บ้านพักนักกีฬาจะถูกสร้างเป็นชุมชนย่อยๆ ที่มีสาธารณูปโภค เช่น ศูนย์การแพทย์ สนามฝึกซ้อม โดยคอนเซปต์จะเป็นภาพอนาคตของเมืองในสวน(garden city) ที่มีที่พักอาศัย 2,400 ยูนิต เน้นความเปิดโล่งและเชื่อมต่อลงในเนื้อเมือง คือเชื่อมต่อสู่ชุมชนรอบๆ และพื้นที่ธรรมชาติคือพื้นที่ริมน้ำ ไม่แปลกแยก
นอกจากนี้ตัวหมู่บ้านนักกีฬายังมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและรับกับ climate change ในหลายด้านคือหมู่บ้านจะออกแบบโดยเน้นความยืดหยุ่นยั่งยืน มีคำมั่นสีเขียวต่างๆ ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างการอยู่อาศัยที่ดีตั้งแต่วัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ให้พลังงานสีเขียวและพลังงานทดแทนตลอดการแข่งขัน เป็นพื้นที่ที่มอบความมั่นคงทางอาหาร การเดินทางภายในเป็นแบบพลังงานสะอาดทั้งหมด และหมู่บ้านขนาด 26 เฮกเตอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นการออกแบบหลังคาที่ดีกับนกและแมลง ในพื้นที่ปิดก็จะคิดช่องทางเผื่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อื่นๆ
โดยหมู่บ้านนักกีฬานี้ เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันแล้วจะกลายเป็นพื้นที่ชุมชนในเขตเมืองต่อไป ซึ่งก็ถือเป็นการสร้างพื้นที่ระดับต้นแบบขึ้นมา และเตรียมใช้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ใช่แค่หมู่บ้านนักกีฬา แต่ยังมีย่านแนวตั้งรองรับ
นอกจากหมู่บ้านนักกีฬากับงานพัฒนาสาธารณูปโภคและพื้นที่สันทนาการ ที่คิดเผื่อไปจนถึงหลังโอลิมปิกที่จะดีต่อปารีสต่อไปแล้ว ทางปารีสยังเตรียมโปรเจ็กต์ยักษ์ไว้รองรับการพัฒนาต่อเนื่อง คือมีการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่จะกลายเป็นชุมชน มีการสร้างสนามกีฬา พื้นที่สันทนาการต่างๆ และยังมีโปรเจ็กต์ที่เรียกว่าเป็นชุมชนแนวตั้ง หรือ ‘Vertical Neighbourhood’ ขึ้นบริเวณตรงข้ามกับโครงการหมู่บ้านนักกีฬาประกอบด้วย
โปรเจ็กต์มิกซ์ยูสน์นี้เป็นงานออกแบบที่ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบ เจ้าอาคารขนาดใหญ่นี้ทางผู้ออกแบบบอกว่ามันจะเป็นเหมือนชั้น (layer) เสริมของเมืองที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่รอบๆ หลังจากหมดโอลิมปิกต่อไป ซึ่งอาคารมิกซ์ยูสแห่งนี้จะเป็นเหมือน ‘ย่าน’ ใหม่ที่ด้านในจะมีพื้นที่ของเมืองในรูปแบบแนวตั้ง อาทิ พื้นที่ของชุมชน เช่น พื้นที่จัดงาน ตลาด โรงหนัง ในเชิงธุรกิจก็จะเน้นออกแบบสำหรับพื้นที่ธุรกิจรุ่นใหม่ๆ เช่นธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี ไปจนถึงธุรกิจสื่อและธุรกิจสร้างสรรค์ นอกจากจะนี้ก็จะเน้นพื้นที่การศึกษา อาจจะมีคณะของมหาวิทยาลัย ศูนย์การศึกษา ไปจนถึง co-housing หรือหอพักนักศึกษา รวมไปถึงพื้นที่ใช้งานอื่นๆ ศูนย์รวมอาหาร แหล่งการค้า ซึ่งแน่นอนว่าตัวคอมเพล็กซ์แห่งนี้ก็จะเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน เน้นพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมสุขภาวะ
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจของการวางแนวทางโอลิมปิก 2024 ของปารีส คือการใช้มหกรรมกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนาเมือง หมู่บ้านนักกีฬาที่วางไว้ให้ไม่ไกลจากเขตปารีสจึงเป็นเหมือนการวางการพัฒนาใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ชานเมืองของปารีส มีการวางแผนโดยใช้งานโอลิมปิกที่เป็นทั้งการบูรณะพื้นที่เมืองเดิม สร้างนิยามความหมายใหม่ๆ ให้เมืองทั้งกลางเมืองและชานเมือง คือลงทุนโชว์วิสัยทัศน์ของปารีสใหม่ให้โลกชม ทั้งยังใช้โอกาสนี้จัดการกับพื้นที่เมืองเดิม พร้อมขยายเมืองออกไปในเขตพื้นที่ชานเมืองด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.paris2024.org/en/compact-and-accessible-games/?
https://olympics.com/ioc/news/new-era-of-games-embraced-as-updated-paris-2024-venue-concept-approved
https://www.archdaily.com/913790/dominique-perrault-designs-athletes-village-for-paris-2024-olympics
https://www.archdaily.com/960486/jean-nouvel-designs-new-vertical-neighbourhood-in-paris
- Vanat Putnark
Writer