CITY CRACKER

เปลี่ยนบังเกอร์เก่าเป็นกำแพงกระจกสะท้อนความทรงจำ Hunting Grounds Pet Crematorium โปรเจกต์ฌาปนสถานของสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติ

เมื่อคนที่เรารักจากไป พื้นที่สุดท้ายที่เราจะได้ใช้บอกลากันก่อนจากคือฌาปนสถาน วาระสุดท้ายของชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นแค่สำหรับคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่ครั้งหนึ่งเคยมีความทรงจำร่วมกัน

โปรเจกต์ Věčná loviště หรือ Hunting Grounds โปรเจกต์เมรุสำหรับสัตว์เลี้ยง จากสถาปนิกชาวเช็ก Petr Hajek Architekti  ตั้งอยู่ที่ Drnov Air Defense Site เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก คือการหยิบเอาพื้นที่บังเกอร์สมัยช่วงสงครามเย็นมาเป็นเมรุสำหรับน้องหมาและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นบังเกอร์ใต้ดินในสมัยสงครามเย็นช่วงปี 1980 ก่อนจะถูกทิ้งร้างไว้ และเปลี่ยนพื้นที่หลักของบังเกอร์เป็นพิพิธภันฑ์ทางการทหาร สถาปนิก Petr Hajek Architekti จึงได้หยิบเอาบังเกอร์เล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เดิม เปลี่ยนเป็นเมรุสำหรับน้องหมาและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ  ด้วยการเพิ่มโครงสร้างด้านใน และ ฟาซาดกระจกเข้าไปบริเวณทางเข้าด้านหน้าเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการระลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่จากไป ตลอดจนสร้างความเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

ด้วยตัวพื้นที่ที่เป็นเนินดิน พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงอยู่ในชั้นกึ่งใต้ดิน มีเพียงแค่ทางเข้าเท่านั้นที่ตั้งอยู่บนดินคล้ายกับบังเกอร์ทั่วไปในอดีต นักออกแบบจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนหลัก หนึ่งคือพื้นที่ใช้งานบริเวณชั้นกึ่งใต้ดินที่เคยเป็นที่หลบภัยเก่า และสองคือพื้นที่บริเวณทางเข้าที่ดัดแปลงฟาซาดให้กลายเป็นกำแพงกระจกขนาดใหญ่ วางตัวกลมกลืนไปกับธรรมชาติและพรรณไม้โดยรอบ

สำหรับส่วนแรกคือพื้นที่ใช้งานของเมรุด้านใน ทางนักออกแบบได้ปรับแต่งพื้นที่ด้านในให้เหมาะสมต่อการใช้งานในบริบทใหม่มากขึ้น คือมีการเพิ่มโครงสร้างใหม่เพื่อแบ่งสัดส่วนห้องต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น เช่น พื้นที่นั่งรอ พื้นที่ประกอบพิธี ตลอดจนระบบการทำงานของเมรุ ถูกออกแบบไว้อย่างเรียบง่าย โดยเลือกใช้ผนังและประตูสีขาวเรียบ ตัดกับเฟอร์นิเจอร์ไม้มอบความรู้สึกสงบและอบอุ่นให้แก่ผู้ใช้งาน

อีกส่วนสำคัญที่ทางสถาปนิกตั้งใจออกแบบไว้และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน คือฟาซาดกระจกขนาดใหญ่ มีประตูทางเข้าสำหรับส่งร่างของสัตว์เลี้ยงแอบซ่อนอยู่ด้านข้าง โดยตัวกำแพงกระจกทั้งหมดสร้างขึ้นมาจากกระจกหกเหลี่ยมขนาดเล็กต่อกันด้วยมือจนกลายเป็นกำแพงกระจกขนาดใหญ่มีความสูงกว่า 6 เมตร และความกว้าง 11 เมตร แต่ละชิ้นส่วนของกระจกสะท้อนออกมากระทบกับแสงและมุมที่แตกต่างกันให้ความรู้สึกของคลื่นน้ำที่กำลังพลิ้วไหว

สิ่งที่สถาปนิกตั้งใจสื่อสารผ่านงานออกแบบชิ้นนี้คือการสะท้อนถึงอดีตของผู้คน ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเร็วของแสงที่สะท้อนไปยังกระจก ทำให้แม้ว่าในช่วขณะนั้นที่เรากำลังมองกระจกอยู่ก็ไม่ใช่เราในปัจจุบันจริงๆ ฟาซาดกระจกนี้จึงไม่ใช่แค่งานออกแบบที่สร้างความกลมกลืนกับแลนด์สเคปโดยรอบ แต่ยังเชิญชวนให้เรานึกย้อนถึงอดีตที่จากไป และความทรงจำดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้กระจกยังส่งผลถึงความรู้สึกลึกลึบน่าค้นหาแก่ผู้เยี่ยมชมซึ่งเป็นอีกหนึ่งในประสบการณ์ที่สถาปนิกอยากให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสมากที่สุด

ในส่วนของพื้นที่แลนด์สเคปรอบอาคาร ทางทีมนักออกแบบตั้งใจคงไว้ซึ่งความเป็นป่าตามเดิม เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่าพื้นที่ธรรมชาติเป็นสถานที่ที่มนุษย์ไม่อาจเอื้อมสัมผัสและเข้าไปจัดการอะไรได้ ฟาซาดกระจกขนาดใหญ่จึงถูกโอบล้อมไปด้วยพุ่มและต้นไม้น้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่ครั้งยังเป็นบังเกอร์ทหารเก่า ทำให้ฟาซาดนี้สะท้อนท้องฟ้าและพรรณไม้สีเขียวสู่สายตาของผู้เข้าใช้งาน เมรุสำหรับสัตว์เลี้ยงแห่งนี้จึงมีความพิเศษทั้งในแง่ของการใช้งาน และงานออกแบบที่ชวนให้คิดถึงสัจธรรมของชีวิตมากขึ้นในทุกขณะที่ใช้งาน

 

Share :