CITY CRACKER

สวนสุขภาพและสวนส่งเสริมทางการแพทย์: การออกแบบสวนเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

สวนเพื่อสุขภาพ คือการใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติและการออกแบบมาใช้ในการบรรเทาความเครียด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการรักษาโรค แนวคิดนี้เกิดจากสมมติฐานที่ว่า จิตสำนึกภายในของมนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ จึงรู้สึกต้องการและโหยหา เมื่อได้สัมผัสหรือมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย

 

สวนเพื่อสุขภาพ พัฒนาจากการสร้างสวนเพื่อประดับ ให้มีความสามารถในการฟื้นฟู เยียวยา ด้วยการผนวกกระบวนการรักษาทั้งโรคทางกาย บรรเทาความเครียด ไปจนถึงเสริมประสาทสัมผัสและคุณภาพชีวิต  สวนนี้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ในสถานพยาบาล แต่เป็นสวนที่ถก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้จากการเข้าไปใช้งานพื้นที่สวน สวนเพื่อสุขภาพเน้นการบรรเทา (Heal) ไม่ใช่การรักษา (Cure) ผ่านการใช้กิจกรรมทางกายและพืชพรรณธรรมชาติ ช่วยลดอุณภูมิพื้นที่ภายนอก สร้างบรรยากาศที่ดี ลดความตึงเครียด และช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น

แนวทางการออกแบบสวนเพื่อสุขภาพ

Healing Garden สวนเพื่อสุขภาพ

ประเด็นสำคัญในการออกแบบสวนเพื่อสุขภาพ คือการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและสามารถให้ผู้คนเข้าใช้งานได้มากที่สุด เป็นการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหากพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ก็ไม่ควรจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของผู้ใช้งานทุกประเภท เช่น มีราวจับพยุงตัว พื้นผิวไม่ลื่น มีระยะห่างของที่นั่งที่พอเหมาะ (NParks Board, 2017)

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งานภายในพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพ พบว่าการได้เห็น ได้กลิ่นและได้ยินเสียงพืชพรรณช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น สวนเพื่อสุขภาพจึงควรออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ เช่น การมอง การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รสชาติ อุณหภูมิ การสัมผัส และเวลา ซึ่งการรับรู้เหล่านี้มีผลต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้รับจากการเข้าใช้งานพื้นที่ โดยภายในสวนสามารถมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้ตามความต้องการได้

ลักษณะแต่ละประเภทของสวน ยึดโยงกับการรับรู้และการสื่อสารกับผู้ใช้งาน ซึ่งทั้ง 8 ประเภทในตาราง เป็นลักษณะที่พบได้มากในงานออกแบบสวน ลักษณะของสวนที่ Serene, Space และ Rich เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีอาการเจ็บป่วยค่อนข้างหนัก ซึ่งต้องการความสงบและสมดุลภายในจิตใจ ลักษณะสวนที่ Common และ Pleasure Garden เหมาะสมหรับการพักผ่อนหย่อนใจทั่วไป สังเกตการณ์ผู้ใช้งานอื่น ๆ และลักษณะ Festive เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเครียด ซึ่งลักษณะพื้นที่ทั้งหมดควรต้องประกอบด้วยพืชพรรณที่หลากหลายทั้งความสูงและชนิดพันธุ์ (Stigsdotter & Grahn, 2002)

แต่ในโรงพยาบาลสวนเพื่อสุขภาพมักถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการรักษาผู้ป่วย จึงเกิดเป็นสวนเพื่อการรักษาโรค (Therapeutic garden) ที่สอดแทรกการรักษาในทางปฏิบัติเอาไว้

magazine.practicegreenhealth.org

Therapeutic Garden สวนส่งเสริมทางการแพทย์

สวนส่งเสริมทางการแพทย์ เป็นสวนที่ออกแบบเพื่อรักษาโรค เกี่ยวเนื่องกับอาการโรคและสภาพทางกายของผู้ป่วย ถือเป็นจุดบรรจบของการรักษาทางการแพทย์และการออกแบบ โดยการใช้พืชพรรณเป็นเครื่องมือ บางพื้นที่ใช้สวนลักษณะนี้ฟื้นฟูหรือสวนพักพิงทางจิตใจแก่ผู้ป่วย  ด้วยการออกแบบให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสวน ปัจจุบันมีสวนหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา เช่น สวนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สวนสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม สวนสำหรับผู้สูงอายุ สวนสำหรับเด็ก สวนสำหรับผู้ป่วยทางจิต เป็นต้น

ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักมีความเครียดจากการอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน จึงควรมีการออกแบบพื้นที่ภายนอกด้วยหลักการของสวนเพื่อสุขภาพ ตรวจสอบผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอและพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยแต่ละประเภท ก็จะมีความต้องการและข้อกำจัดทางกายที่แตกต่างกันออกไป  เช่น สวนฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือได้รับความเสียหายทางสมอง จะต้องทำการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวร่างกายและรยางค์ต่างๆ เช่น การเดิน ดังนั้นจึงควรออกแบบพื้นที่เพื่อฝึกฝนการเดิน เสริมความมั่นใจ พื้นไม่ลื่น มีการเปลี่ยนความลาดชันและมีเนินสูงต่ำ ใช้พืชพรรณที่มีความสูง มีลักษณะใบและสีสันที่หลากหลาย มีที่นั่งเพื่อเข้าไปสังเกตในระยะใกล้ ฟื้นฟูระบบการรับรู้

goodnessgrowspdx.com

 

สวนเพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยแอลกอฮอล์เรื้อรัง ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการยอมรับตนเองของ 12 Steps Alcoholics Anonymous model ซึ่งอาจออกแบบพื้นที่ที่ผู้ใช้งานสามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดได้

สวนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีความผิดปกติในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งงานออกแบบมีผลมากที่สุดต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้งานพื้นที่ควรออกแบบให้เรียบง่าย คือ มีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว เส้นทางเดินควรเป็นทางบรรจบกัน การออกแบบพืชพรรณ ใช้พืชพรรณที่สะท้อนถึงความทรงจำในวัยเด็ก เนื่องจากความทรงจำระยะยาวเป็นส่วนที่ไม่ถูกหลงลืม รวมถึงพืชพรรณไม่ควรเป็นพืชที่รับประทานไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะนำเอาพืชเข้าปาก วัสดุที่ใช้ไม่ควรเป็นวัสดุลื่น มีแสงสะท้อน

สำหรับอาการทางการรับรู้นี้ สามารถนำไปประยุกต์สำหรับพื้นที่สวนบำบัดเพื่อผู้สูงอายุได้ เช่น โครงการ Jin Wellbeing County ที่มีการออกแบบพื้นที่สำหรับการฟื้นฟู สำหรับผู้สูงอายุและการทำกายภาพบำบัด โดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน คือ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ใช้พืชพรรณที่มีลักษณะเป็นป่า มีไม้ดอกหอมและให้ดอกที่มีสีสัน เสียงน้ำตก เพื่อกระตุ้นประสาทรับรู้ของผู้สูงอายุ ส่วนกายภาพบำบัดใช้การสัมผัสพื้นที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกัน มีการใช้กรวดเพื่อเพิ่มความขรุขระ และออกแบบเส้นทางการเดินเพื่อฝึกฝน คือ ทางเดินพื้นเรียบ ทางเดินลาด และทางเดินชั้นบันได ซึ่งมีระยะที่เหมาะสมที่ผู้ป่วยและผู้ช่วยสามารถเดินไปด้วยกันได้ พร้อมราวจับตลอดทางเดิน

 

โครงการ Jin Wellbeing County

 

โครงการ TPP Hospital ที่บริเวณพื้นที่สวนชั้นล่างใช้แนวคิดสวนที่เน้นประสาทสัมผัสและบรรยากาศของพืชพรรณที่ปกคลุม รวมถึงพื้นที่นั่งพักผ่อนที่ใช้พืชสมุนไพร สวนบริเวณชั้น 5 ของอาคารเป็นสวนส่งเสริมทางการแพทย์ โดยมีพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูร่างกาย จากการใช้ราวจับเพื่อพยุงตัวเดิน และพักผ่อนหย่อนใจ สวนบริเวณชั้น 10 ของอาคารเป็นสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเช่นกัน โดยเน้นการใช้ไม้ใบที่มีสีสันและไม้ดอกหอม

 

โครงการ TPP Hospital

 

สวนสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรออกแบบให้ผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญความร้อนหรือแสงแดด เนื่องจากการรักษาด้วยยาและการฉายแสง
นอกจากนี้ข้อคำนึงของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ข้อปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นการเกิดโรคและฟื้นฟูความสามารถของร่ายกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) ที่ไวรัสอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของตับ อาจมีอาการตัวหรือตาเหลืองอันเป็นอาการของดีซ่าน ซึ่งผู้ป่วยควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดการใช้พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงต่าง ๆ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการตับอักเสบได้ ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม ควรมีพื้นที่ที่บำบัดด้วยกลิ่น แต่ไม่ควรใช้พืชดอกเนื่องจากอาจกระตุ้นอาการแพ้เกสรของผู้ป่วยบางรายได้ ควรใช้พืชที่ต้นหรือใบมีกลิ่นหอมทดแทน

การออกแบบสวนเพื่อสุขภาพจะต้องพิจารณาการออกแบบเพื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจควบคู่กัน พื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพทางกาย คือ ต้องมีพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกายและกิจกรรมทางสังคม ผู้ใช้งานทุกรูปแบบสามารถเข้าถึงได้สะดวก สุขภาพจิตใจ จะต้องมีพื้นที่ที่มีรูปแบบของการสื่อสารกับผู้ใช้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะอยู่ลำพังหรือรวมกลุ่มได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณากลุ่มผู้ใช้และเป้าหมายของการใช้งานพื้นที่ เนื่องจากอาจมีผู้ใช้บางกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะที่สอดคล้องกับอาการโรค ซึ่งอาจต้องการใช้พื้นที่ภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา

สวนเพื่อสุขภาพอาจใช้สำหรับผู้ที่เกิดอาการโรคแล้วหรือผู้ที่ยังไม่เกิดอาการโรคก็ได้ เพื่อเป็นการชะลอการเกิดโรคทางกาย เช่น โรคที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง (Non-communicable Disease) ได้แก่ โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ รวมถึงเป็นการบรรเทาความเครียดของจิตใจผู้ใช้งานที่อาจมีภาวะทางจิตให้ไม่พัฒนาเป็นโรคทางจิตใจ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Bengtsson, I., & Grahn, P. (2014). Outdoor Environments in healthcare settings : A quality evaluation tool for use in designing healthcare gardens. Urban Forestry & Urban Greening, 13, 878–891.

Bostock, B. (2020). Those Who Recover From Coronavirus Can Be Left With Reduced Lung Function, Say Doctors. Retrieved April 8, 2020, from https://www.sciencealert.com/even-those-who-recover-from-corona-can-be-left-gasping-for-breath-afterwards

Chaiyapan, M. (2558). Psychology : a Conceptual of Horticultural Therapy. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 17–28.
Detweiler, M. B., Sharma, T., Detweiler, J. G., Murphy, P. F., Lane, S., Carman, J., … Kim, K. Y. (2012). What is the evidence to support the use of therapeutic gardens for the elderly? Psychiatry Investigation, 9(2), 100–110. http://doi.org/10.4306/pi.2012.9.2.100

Kuo, M. (2015). How might contact with nature promote human health? Promising mechanisms and a possible central pathway. Frontiers in Psychology, 6(August), 1–8. http://doi.org/10.3389/fpsyg.2015.01093

Marcus, C. C. (2007). Healing Gardens in Hospitals. Design and Health, I(I), 1–27.

Marcus, C. C., & Barnes, M. (1999). Healing Gardens : Therapeutic Benefits and Design Recommendations. John Wiley & Sons, Inc.

Marcus, C. C., & Sachs, N. A. (2014). Therapeutic Landscapes : An Evidence-Based Approach to Designing Healing Gardens And Restorative Outdoor Spaces. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc.

Medina, H. Z. (2012). Healing gardens at the Hospital of Culiacán, 86–89.

NParks Board. (2017). Design Guidelines for Therapeutic Gardens in Singapore Working Committee :

Stigsdotter, U., & Grahn, P. (2002). What makes a garden a healing garden. Journal of Therapeutic Horticulture, 13(2), 60–69.

Ulrich, R. S. (2002). Health Benefits of Gardens in Hospitals. Plants for People.

 

Content by Onkamon Nilanon
Cover Illustration bt Napon Jaturapuchapornpong
Share :