CITY CRACKER

เกาะไหหลำชวนสถาปนิกระดับโลกออกแบบพื้นที่สาธารณะริมชายฝั่งเพื่อฟื้นฟูเมือง 

ประเด็นเรื่องการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งกำลังเป็นกระแส  เมื่อปีที่แล้ว ที่เกาะไหหลำ ประเทศจีนมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจคือบริเวณเมืองไหโข่ว (Haikou) เมืองทางตอนเหนือของเกาะที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชายฝั่ง มีแนวชายหาดติดทะเลเป็นทางยาว เมืองไหโข่วนับเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีพื้นที่อ่าว โดยทางการมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ

 

ความน่าสนใจของการพัฒนาพื้นที่แนวชายฝั่งนี้ คือทางเมืองไหโข่วเลือกที่จะวางให้ไหโข่วเป็นปลายทางการท่องเที่ยวโดยมีวัฒนธรรม (cultural) เป็นแกนของการพัฒนา ดังนั้น แผนหนึ่งของทางการคือการลงทุนสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมขึ้น 16 แห่ง โดยทางเมืองได้ส่งหมายเชิญไปยังสตูดิโอออกแบบชั้นแนวหน้าของโลก ให้มาร่วมกันสร้างพื้นที่สาธารณะที่จะกลายเป็นวิถีชีวิตและพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต

ชื่อของสตูดิโอที่ตอบรับเข้าร่วมสร้างพื้นที่วัฒนธรรมก็เป็นชื่อที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยล่าสุดเท่าที่มีการอัพเดทจากแผนในปี 2021 ที่ผ่านมา มีสองพื้นที่ที่เป็นรูปเป็นร่าง ที่แรกนั้นสร้างเสร็จเป็นหมุดหมายสำคัญและสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกคือห้องสมุดทรงก้อนเมฆของ MAD Architect และแปลนอาคารส่าธารณะทรงริบบิ้นที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งและอาคารสาธารณะแบบใหม่จาก Sou Fujimoto

 

archdaily.com

16 สตูดิโอและศิลปิน เพื่อจินตนาการถึงชีวิตชายฝั่งรูปแบบใหม่

การลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งของไหโข่วมีความน่าสนใจหลายด้าน โปรเจกต์พัฒนานี้มีชื่อว่า Pavilions by the Seaside หลักการสำคัญคือการสร้างพื้นที่ขึ้นมา 16 พื้นที่ โดยรวมเรียกว่าเป็น Pavilion ซึ่งจะถูกสร้างเป็นอาคารถาวรเพื่อเป็นจุดดึงดูดและเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวต่อไป ความพิเศษของพาวิเลียนทั้ง 16 แห่งนี้ ทางเมืองได้เชิญนักออกแบบชั้นแนวหน้าเพื่อออกแบบ ‘จินตนาการของพื้นที่ชายฝั่งในอนาคต’ ต่อไป

ดังนั้นในโปรเจกต์นี้จึงมีความโดดเด่นทั้งการสร้างแลนด์มาร์กใหม่โดยเชิญนักออกแบบและศิลปินชั้นแนวหน้ามาสร้างหมุดหมายของคนรักสถาปัตยกรรม ทั้งยังเป็นการชวนนักออกแบบเหล่านั้นมาสร้างพื้นที่ที่ทำให้เราจินตนาการถึงการใช้งานแบบใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับชายฝั่งทะเล พื้นที่ที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่นี้จึงนับเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีบริบทเฉพาะทั้งในเชิงพื้นที่ทางธรรมชาติและบริบททางประวัติศาสตร์ของเมือง ตัวอาคารและพื้นที่ที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่จะสะท้อนความกลมเกลียวของธรรมชาติ ของมนุษย์และของสิ่งปลูกสร้าง

archdaily.com

ตามแผนที่ประกาศออกมาในปี 2021 โปรเจกต์นี้จะสัมพันธ์กับการพัฒนาย่านใหม่สองพื้นที่คือบริเวณอ่าวไหโขว่ (Haikou bay) และพื้นที่เมืองใหม่เจียงตง (Jiangdong New Area) โดยพาวิเลียนถาวรทั้ง 16 แห่งจะเรียงรายไปตามชายฝั่งของพื้นที่ทั้งสองส่วน ซึ่งจากประกาศอย่างเป็นทางการ สตูดิโอและศิลปินที่ตอบรับเข้าร่วมมีหลายชื่อที่คุ้นเคยทั้ง Sou Fujimoto, Bjarke Ingels, Stefano Boeri รวมถึง Thomas Heatherwick, MVRDV, Zaha Hadid รวมถึงองอาจ สาตรพันธุ์ สถาปนิกไทยเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าจะมีการร่วมงานระหว่าง Anish Kapoor ร่วมกับ Ryuichi Sakamoto นักแต่งเพลง และทำพาวิเลียนโดย Kengo Kuma เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดโปรเจกต์ที่รวมทีมระดับโลก

archdaily.com

จากประกาศโปรเจกต์ในปี 2021 อันที่จริงแผนการสร้างพาวิเลียนทั้ง 16 แห่งนั้นจะแล้วเสร็จในปลายปีเดียวกัน ล่าสุดอัพเดทโปรเจกต์ยังไม่มีการอัพเดทจากสตูดิโอสำคัญ แต่ตัวโครงก็มีความคืบหน้าคือมีโปรเจกต์เริ่มต้น คือพาวิเลียนแรกสร้างเสร็จแล้วคือห้องสมุดรูหนอน และมีแปลนอาคารสาธารณะทรงริบบิ้นที่เผยแปลนออกมาของฟูจิโมโตะ ทั้งสองพื้นที่ก็ถือว่าเปิดมุมมองใหม่ๆ ของพื้นที่อนาคในการอยู่ร่วมกับชายฝั่งและท้องทะเลได้อย่างน่าสนใจ

archdaily.com

 

ก้อนเมฆแห่งไหโข่ว ห้องสมุดทรงโค้งริมทะเล

โปรเจกต์แรกหรือพาวิเลียนริมทะเลแห่งแรกในโปรเจกต์ของไหโข่วคือชื่อว่า Cloudscape of Haikou นำโดย Ma Yansong จาก MAD Architects โปรเจกต์นี้สร้างเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว โดยอาคารแห่งนี้ถูกสร้างให้เป็นทั้งห้องสมุดที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนหลบหนีจากความวุ่นวายของเมือง เข้ามาอ่านหนังสือในอาคารทรงก้อนเมฆ ชมคลื่นและท้องทะเล

archdaily.com

ด้วยหน้าตาของอาคารที่เล่นกับเส้นสายทรงโค้งและช่องอาคารที่ดูแปลกตา พื้นที่ใหม่นี้จึงได้ชื่อเล่นว่าเป็นห้องสมุดรูหนอน (Wormhole Library) ตัวอาคารแห่งนี้สวยงามโดดเด่นราวประติมากรรม ผู้ออกแบบระบุว่าผู้มาใช้งานจะได้มองเห็นท้องฟ้าและผืนน้ำในมุมที่แปลกออกไปจากรูปทรงของอาคารและหน้าต่างทรงกลม

การก้าวเข้าสู่อาคารแห่งนี้ ด้วยรูปทรงและวัสดุที่ดูบิดโค้งแต่ทว่าเชื่อมต่อกัน รูปทรงของอาคารประกอบขึ้นด้วยรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ มีช่องว่างที่ทำให้คอนกรีตและความโค้งมนของอาคารเชื่อมต่อเข้ากับท้องฟ้ากว้างใหญ่ของท้องทะเล การก้าวเข้าสู่อาคารจึงเหมือนกับเป็นการเข้าสู่มิติและห้วงเวลาที่มีความเฉพาะตัว ราวกับว่าเวลาได้หยุดลงในอาคารแห่งนี้สมกับฉายาห้องสมุดรูหนอน เป็นพื้นที่หลีกหนีที่เชื่อมต่อผู้คนเข้ากับธรรมชาติ

archdaily.com

แม้ว่าอาคารก้อนเมฆนี้จะมีความโดดเด่นและแปลกประหลาด แต่ตัวอาคารถูกออกแบบโดยเน้นฟังก์ชั่นใช้งานเท่าๆ กับรูปทรงแปลกตาแห่งอนาคต ตัวอาคารใช้รูปทรงและความสงบรวมถึงธรรมชาติเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน เป็นห้องสมุดที่ทั้งล้ำสมัยและเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ นึกภาพการได้นั่งในอาคารทรงก้อนเมฆ อยู่ในรูหนอนที่พาเราตัดขาดออกจากโลกภายนอก ชมท้องทะเลและฝืนฟ้าไกลผ่านช่องอาคารและหน้าต่างที่เหมือนกับว่าเราเองได้หนีไปอยู่ในดาวดวงอื่นซักครู่

ห้องสมุดก้อนเมฆนี้เป็นหมุดหมายแรกที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการไปแล้ว ตัวอาคารนอกจากจะใช้เป็นห้องสมุด เป็นพื้นที่หย่อนใจแล้วยังจะเปิดพื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ต่อไป  Ma Yansong กล่าวว่าอาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน การวางหมุดหมายแรกของพื้นที่ทางวัฒนธรรมและศิลปะสำหรับเขา คือการสร้างอาคารที่มีความเป็นศิลปะ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เข้าใช้ได้จริง ไม่ใช่ห้องสมุดขนาดมหึมาหรืองานที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้

archdaily.com

 

หลังคาริบบิ้นเดินได้และโปรเจกต์อื่นๆ

นอกจากห้องสมุดที่สร้างเสร็จไปแล้ว ในโปรเจกต์เปลี่ยนริมฝั่งให้เป็นพื้นที่ใหม่ก็ยังมีข้อมูลบางส่วนจากทาง Sou Fujimoto ที่เผยผังอาคารของพาวิเลียนด้วย โดยตัวอาคารของฟูจิโมโตะมีลักษณะเป็นอาคารเปิดโล่งทรงกลม หน้าตาเหมือนกับริบบิ้นที่ล้อมสวนสีเขียวไว้ ตัวพาวิเลียนนี้มีความโดดเด่นจากรูปทรงและการใช้งานที่เน้นออกแบบเพื่อการเดิน หลังคาทรงริบบิ้นจะทำหน้าที่เหมือนอัฒจรรย์และทางเดินที่ลดหลั่นไปจนถึงสวนที่เป็นศูนย์กลาง

ความน่าสนใจของพาวิเลียนนี้จึงเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะแบบเปิดโล่ง ความโดดเด่นของอาคารคือการที่ตัวริบบิ้นและสวนมีหน้าตาเหมือนกับคลื่นน้ำ ทรงกลมของอาคารล้อไปกับพื้นที่อ่าวที่ตัวอาคารตั้งอยู่ ถ้าเรามองจากอีกด้านของชายหาด อาคารแห่งนี้จะมีหน้าตาเหมือนกับฟองคลื่นที่บิดเกลียวอยู่บนฝั่ง ล้อไปกับภูมิทัศน์รอบๆ อย่างสวยงาม

นอกจากหลังคาริบบิ้นบนพรายฟอง ก็ยังมีโปรเจกต์อื่นๆ อีก โดยทาง Anish Kapoor ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Dezeen เกี่ยวกับโปรเจกต์พาวิเลียนนี้ว่าตัวเขาเองได้วางแผนจะใช้หินภูเขาไฟและภูมิทัศน์อื่นๆ เข้ามารวมในงานที่กำลังออกแบบอยู่ โดยความน่าตื่นเต้นคือตัวเขาจะทำงานร่วมกับริวอิจิซากาโมโต้โดยมีเคงโกคุมะร่วมในโปรเจกต์ แปลว่าพื้นที่พาวิเลียนของทั้งสามสุดยอดศิลปินและนักออกแบบจะสัมพันธ์ทั้งกับสถาปัตยกรรม ประติมากรรมรวมถึงดนตรีที่เข้ามาร่วมสร้างภาพแห่งอนาคตและพื้นที่ใช้งานใหม่ด้วย

 

จากโปรเจกต์ที่ดูมหึมานี้ ข้อมูลล่าสุดจากแผนเดิมที่พาวิเลียนต่างๆ จะเสร็จในปีเดียวกันยังไม่มีอัพเดทเพิ่มเติม เราเองก็คงต้องจับตาดูความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งของไหหลำที่เลือกจะใช้สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวต่อไป โดยโปรเจกต์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่ชายฝั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาหลักของไหหลำที่จะเปิดเกาะไหหลำเป็นเมืองท่าเสรี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

cobosocial.com

architectmagazine.com

designwanted.com

archdaily.com

dezeen.com

 

Graphic Designed by Supatsorn Boontumma
Share :