CITY CRACKER

Co-Living แนวคิดอยู่ร่วมกันในเมืองที่แสนเดียวดาย ปัญหาและความท้าทายของที่อยู่อาศัยในอนาคต

คุณเคยอยู่บ้านตามลำพังไหม? คิดว่าทุกคนคงขมวดคิ้วและนึกในใจว่า ทุกวันนี้การอยู่บ้านคนเดียว ใช้ชีวิตคนเดียวมันช่างเป็นเรื่องธรรมดาที่เราชินชาแต่ทว่าร้าวรานอยู่เล็กน้อย การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ในบ้าน ในเมืองใหญ่ เป็นวิถีที่เมืองที่กำลังเดินต่อไป เมืองที่เต็มไปด้วยคนเหงาและการอยู่เดียวดาย

การอยู่ลำพังอาจเป็นเรื่องความรู้สึกครึ่งหนึ่ง ความเหงาก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่ามีผู้ที่อยู่บ้านคนเดียวติดอยู่ในห้องน้ำเพราะประตูพังถึง 3 วัน จนต้องเขียนข้อความทิ้งท้ายไว้บนผนังห้องน้ำ ในกรณีดังกล่าวยังถือว่าโชคดีที่มีการช่วยเหลือได้ทัน แต่การติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ในบ้านตัวเอง แค่ในเวลาไม่นานหรือ 2-3 วัน นับเป็นเรื่องที่เราเองจินตนาการไปก็นึกขนพองสยองเกล้าอยู่เหมือนกัน และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ เราเองต่างนึกภาพตัวเองที่ใช้ชีวิตตามลำพังและเกิดอุบัติเหตุที่แม้จะดูเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปได้ว่าการอยู่คนเดียวนั้นอาจลุกลามกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้

ปัญหาเรื่องการอยู่คนเดียวจึงโยงใยไปยังปัญหาอื่นๆ ที่กำลังเป็นปัญหาหลักของสังคมเมืองและสังคมโดยทั่วไป ทั้งการไม่แต่งงาน การครองตัวเป็นโสด และปัญหาเรื่องราคาที่พักอาศัย (housing) ที่มีราคาสูงมากขึ้นจนไม่สามารถครอบครองหรือแม้กระทั่งเช่าและอยู่ตามลำพังได้ แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของบ้าน การมีบ้านของครอบครัวเพื่อความเป็นส่วนตัวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากบ้านเดี่ยวสู่บ้านขยาย

กระแสการอยู่อาศัยใหม่คือการอยู่ร่วมกัน (co-living) หรือบ้านที่มีการอยู่ร่วมและแบ่งปันพื้นที่บางส่วนร่วมกัน (co-housing) กำลังเป็นกระแสที่กลับมาท้าทายความคิดเรื่องบ้านในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันนี้ก็ไม่เชิงว่าเป็นของใหม่ แต่สำหรับบางประเทศ เช่น กลุ่มแสกนดิเนเวียน ผู้นำด้านชีวิตที่ดีนั้น กำลังมองว่าการอยู่ร่วมกันนี้อาจเป็นหัวใจของการอยู่อาศัยและชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

 

Communal living ก่อนจะมีครอบครัวเดี่ยว บ้านเป็นของส่วนรวม

แนวคิดเรื่องบ้านในลักษณะการเป็นเจ้าของ เป็นพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงของครอบครัวหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นับเป็นแนวคิดการอยู่อาศัยในช่วงยุคสมัยใหม่ที่เกิดครอบครัวแบบครอบครัวเดี่ยว ก่อนหน้านี้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นสำคัญ อย่างในยุคแรกๆ มนุษย์ไม่มีการแยกบ้าน แต่เพื่อการเอาตัวรอด เช่น การหาของป่าล่าสัตว์ มนุษย์จะอาศัยอยู่ร่วมกัน ตัวอย่างคือในยุคกลาง คนที่อยู่ในเมืองจะอาศัยอยู่ในบ้านที่เรียกว่า communal household คือมีลักษณะเป็นบ้านนี่แหละ แต่อาจมีเจ้าของ หรืออาจเป็นบ้านเช่าเพื่อการพักอาศัย แต่ประเด็นของการอยู่อาศัยในยุคกลางคือการที่คนจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัยใต้หลังคาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง คนรับใช้ แนวคิดเรื่องบ้านในตอนนั้นค่อนข้างไม่ตายตัว คือย้ายไปย้ายมา ส่วนใหญ่เข้านอกออกในได้โดยอิสระ มีความเป็นสาธารณะมากกว่าพื้นที่ส่วนตัวที่มีรั้วรอบขอบชิดและประตูใหญ่ นอกจากในยุคกลางแล้ว ในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมลักษณะของบ้านส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะเป็นชุมชนอย่างหลวมๆ เน้นอยู่อาศัยในพื้นที่ร่วมกันไม่ว่าจะเกี่ยวพันกันทางสายเลือดหรือไม่

 

bofællesskab จุดเริ่มต้นในเดนมาร์กและแนวคิดเด็กๆ ที่มีพ่อแม่นับร้อยคน

หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดพื้นที่ทำงานทั้งออฟฟิศและโรงงานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในสังคมก็เริ่มเกิดบ้าน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของการอยู่อาศัย โดยยุคนั้นเริ่มเกิดครอบครัวเดี่ยวขึ้นพร้อมๆ กับบ้านเดี่ยวและบ้านจัดสรร ความฝันแบบใหม่คือการมีบ้านให้กับครอบครัวเล็กๆ ในช่วงปี 1970-1980 แม้ว่าโลกกำลังง่วนอยู่กับการจัดการบ้านและถนนหนทางไปสู่ที่ทำงาน ที่เดนมาร์กก็ได้เกิดแนวคิดที่ล้ำสมัยขึ้น เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นของคำว่าบ้านอยู่อาศัยร่วม(co-housing) ในช่วงทศวรรษ 80 เดนมาร์กได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า bofællesskab หรือการอยู่อาศัยแบบชุมชน (housing community) โดยประเด็นเรื่องบ้านและการอยู่อาศัยในยุคเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะในยุโรปค่อนข้างมีความซับซ้อนและสัมพันธ์กับแนวคิดทางสังคมที่โต้แย้งกับกระแสและการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้น การอยู่ร่วมกันในยุค 1930 และ 1950 ก็มีตัวอย่างและจินตนาการอยู่อาศัย เช่น บ้านร่วมของสหภาพโซเวียตและสวีเดนที่เรียกว่า collective houses (kollektivhuse) สำหรับในยุคต่อเนื่องคือราว 1960 บ้านอยู่อาศัยร่วมหรือ bofællesskab ของเดนมาร์กก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ต่อต้านความคิดครอบครัวเดี่ยว บางส่วนเน้นการสร้างชุมชนและการดูแลครอบครัวร่วมกัน เน้นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

สำหรับเดนมาร์กหมุดหมายสำคัญหนึ่งคือบทความที่ชื่อว่า ‘เด็กๆ ควรมีพ่อแม่ร้อยคน (Children Should Have One Hundred Parents)’ หลังจากนั้นเกิดการรวมตัวของครอบครัว 50 ครอบครัวและแยกย้ายกันไปสร้างชุมชนบ้านพักอาศัยร่วม (co-housing) โดยต่อมาสร้างเป็นสองชุมชนสำคัญคือ Sættedammen ก่อตั้งในปี 1972 และ Skråplanet ก่อนตั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ลักษณะร่วมของทั้งสองโครงการคือการเป็นบ้านที่มีสมาชิกอยู่อาศัยร่วมกัน เน้นการเปิดและปิดพื้นที่ใช้งานร่วมกัน มีพื้นที่ส่วนกลาง เช่น พื้นที่รับประทานอาหาร สระว่ายน้ำ พื้นที่ออกกำลัง สนามเทนนิส หรือกระทั่งมีวันหยุด มีกิจกรรมทางสังคมบางอย่างร่วมกัน ตัวบ้าน เช่น Skråplanet มีการออกแบบเป็นบ้าน คือมีลักษณะเป็นยูนิตเล็กๆ แยกออกจากกันแต่เน้นชุมชนและพื้นที่ส่วนกลาง ด้านหนึ่งบ้านร่วมของเดนมาร์กนับเป็นความก้าวหน้าทางความคิดที่อันที่จริงเป็นความพยายามกลับไปสู่ความเป็นชุมชนและแนวคิดสังคมนิยม คือการอาสาและแบ่งปันที่ทัดทานกระแสทุนนิยมที่กำลังเฟื่องฟู

 

Housing Crisis วิกฤติที่พักอาศัยและการใช้ชีวิตอยู่กับคนแปลกหน้า

ประเด็นเรื่องการอยู่อาศัยร่วม ถ้ามองอย่างจริงจังในภาวะร่วมสมัยก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ แต่อาจเป็นลักษณะการอยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับปัญหา เช่น การอยู่อาศัยร่วมในชุมชนผู้มีรายได้น้อย นอกจากประเด็นความยากจนแล้ว การอยู่อาศัยร่วมอาจเป็นการอยู่อาศัยแบบลำลองที่สะท้อนถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาด้วยราคาอสังหาและราคาบ้านที่แพงขึ้นจนเกินความสามารถรวมถึงลักษณะครอบครัวและการอยู่อาศัยที่อยู่ตามลำพังมากขึ้น ที่อเมริกาในยุคก่อนและระหว่างโรคระบาดได้มีกระแสการอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้า เกิดกระแสการอยู่ร่วมกับรูมเมตทั้งที่ตั้งใจ และการที่องค์กรไม่แสวงหากำไรเข้ามาร่วมจับคู่ผู้คนที่มีความต้องการแชร์ที่พักอาศัยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีที่อยู่อาศัยในราคาที่จ่ายไหว ลดภาระส่วนตัวลง ตามตัวเลขปัจจุบันและวิกฤติบ้านพักอาศัยของสหรัฐ มีตัวเลขระบุว่าประชากรกว่า 65 ล้านคนใช้ชีวิตและแชร์บ้านร่วมกับรูมเมต

 

What We Share การอยู่อาศัยในอนาคตตามมุมมองของสแกนดิเนเวียน

จากยุคเริ่มต้นของการอยู่อาศัยร่วมและบ้านอยู่ร่วมกัน (co-housing) โครงการบ้านหรือ housing ของแสกนดิเนเวียก็พัฒนาเป็นโครงการพักอาศัยที่หลากหลายทั้งลักษณะแนวราบ ค่อนไปทางกลุ่มบ้านที่มีพื้นที่ส่วนกลาง และอาคารพักอาศัยแนวสูงที่ก็มีการแบ่งยูนิตส่วนตัวและมีครัวรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ร่วมกัน แน่นอนว่าแนวคิดและการพัฒนาโครงการบ้านอยู่ร่วมมีฐานคิดแบบรัฐสวัสดิการ เน้นการเปิดชีวิตและกิจกรรมส่วนตัวทั้งของแรงงานและของผู้หญิงไม่ให้จำเป็นต้องผูกมัดกับพื้นที่บ้านทั้งการจ่ายเพื่อครอบครองและการดูแลจัดการพื้นที่บ้าน

ในเทศกาลเวนิสเบียนนาเล่ที่ผ่านมา  พาวิเลียนของกลุ่มประเทศนอร์ดิกจึงได้นำเสนอพาวิเลียนชื่อ What We Share อันเป็นทั้งการย้อนพาเราไปมองเห็นรากเหง้าและกิ่งก้านของบ้านที่ผู้คนใช้ชีวิตร่วมกันคือเหล่า co-housing ทั้งหลาย ตัวพาวิเลียนเองก็แสดงให้เห็นการจัดแบ่งความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะของตัวบ้าน ชวนให้เราจิตนาการถึงการอยู่อาศัยแบบใหม่ที่นับเป็นของเก่าของเหล่าประเทศนอร์ดิก ซึ่งในพาวิเลียนนี้แสดงให้เห็นอนาคตของการอยู่ร่วมกันที่อาจเป็นทางออกหนึ่งจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งความโดดเดี่ยว การโหยหาชุมชน ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และการจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย

 

Borderless Community ชุมชนคนรุ่นใหม่ของจีนที่ออกแบบให้เพื่อนมาอยู่ร่วมกัน

การอยู่ร่วมกันทั้ง co-living และ co-housing เป็นการอยู่อาศัยที่มีทั้งที่เป็นทางการหน่อย เช่น ที่สแกนดิเนเวียหรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นการออกแบบอาคารหรือโครงการของรัฐเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน อีกด้านเป็นการอยู่อาศัยแบบไม่เป็นทางการ เช่น เป็นกลุ่มเพื่อนที่บอกว่าจะไปใช้ชีวิตร่วมกัน บางส่วนก็อาจเป็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มผู้มีความต้องการเฉพาะ เช่น บ้านพักร่วมของผู้สูงอายุ หรือการแชร์หอพักของนักเรียนนักศึกษา บ้านพักเหล่านี้ใช้วิธิคิดเรื่องประโยชน์ส่วนกลาง เช่น การมีสาธารณูปโภคพิเศษที่บ้านส่วนบุคคลอาจมีได้ยาก เช่น สระว่ายน้ำหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงนัยของความเป็นชุมชนด้วย

ที่จีนเองก็มีโครงการน้อยใหญ่ของคนรุ่นใหม่ เป็นโปรเจกต์ชื่อ Borderless Community เจ้าของโปรเจกต์ชื่อ Mi Xiao สถาปนิกผู้มีความฝันแบบคนยุคมิลเลเนียม ที่อยากจะสนุกสนานกับเพื่อนและโดยลักษณะของคนรุ่นใหม่คือไม่มีเส้นแบ่งของบ้านและที่ทำงาน รวมถึงข้อจำกัดทางความคิดอื่นๆ สิ่งที่เธอทำคือเปลี่ยนโรงงานลูกอมเก่าจากปี 1950 ให้กลายเป็นบ้านร่วม ในการรีโนเวตและสร้างชุมชนของกลุ่มเพื่อนนี้เธอได้ออกแบบและปรับปรุงโรงงานให้มียูนิตอยู่อาศัยส่วนตัว และพื้นที่อื่นๆ ของตัวบ้านทั้ง 6 ห้องถูกปรับเป็นพื้นที่ใช้งานรูปแบบต่างๆ เช่น สตูดิโอ พื้นที่เพื่อความบันเทิง พื้นที่พักผ่อน โดยพื้นที่ต่างๆ จะเน้นการเหลื่อมกันของการใช้งาน คือเน้นให้คนที่ใช้งานมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กัน กระทั่งดึงผู้คนจากห้องปิดไปสู่ทางเดินหรือถนนเพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยบ้านหลังนี้ต้องการท้าทายการอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ของการทำงาน การอยู่ร่วมกัน และการพักผ่อนที่เน้นความคุ้มค่า ความยั่งยืนและการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

 

LIFE  ไมโครอพาร์ตเมนต์อบอุ่นกลางย่านกังนัมที่มีแค่ห้องนอนและห้องน้ำ

โปรเจกต์ Co-housing โดยเฉพาะลักษณะบ้านพักอาศัยที่เป็นห้องอพาร์ตเมนต์กำลังเฟื่องฟูในเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่วนหนึ่งบ้านเหล่านี้สะท้อนความต้องการใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตในเมือง ในพื้นที่ที่อาจจะเคยแพง ไม่ได้เน้นการอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนตัว เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการทำงานไม่ว่าในร้านกาแฟหรือในออฟฟิศ ไม่ก็วุ่นอยู่กับการเดินทางท่องเที่ยวและทำงานนอกสถานที่ ตัวอย่างโปรเจค co-living ชื่อ LIFE เป็นตัวอย่างอพาร์ตเมนต์ร่วมจากเกาหลี ตัวอพาร์ตเมนต์แสดงให้เห็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยที่หดเหลือขนาดเท่าที่จำเป็นเรียกว่า micro-apartment ตัวยูนิตมีขนาดเหลือเพียง 16-23 ตารางเมตร ที่ผสมผสานระหว่างบ้านและโรงแรม

มีการจัดพื้นที่ส่วนตัวที่แปลกตาแต่ทว่าสนองความต้องการ โดยขนาดเล็กจิ๋วแลกมาด้วยงานออกแบบที่อบอุ่นสวยงาม พื้นที่นอกจากที่นอนและห้องน้ำจะถูกนำออกไปเป็นพื้นที่ส่วนกลางทั้งครัว ห้องทำงาน สวนดาดฟ้า และยิมก็จะเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกัน โดยตัวอพาร์ตเมนต์นี้สูง 6 ชั้น มียูนิต 140 ยูนิต และตั้งอยู่ในย่านกังนัม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

coliving.com

theatlantic.com

archdaily.com

tandfonline.com

nasjonalmuseet.no

treehugger.com

Graphic Designed by Warunya Rujeewong
Share :