การฆ่าตัวตายนับเป็นปัญหาสำคัญที่เมืองส่วนใหญ่พยายามทำความเข้าใจ และพยายามเข้ามามีบทบาทในการบรรเทา แก้ไขและป้องกัน นับตั้งแต่ประเด็นเรื่องสุขภาวะของผู้คนในเมือง ไปจนถึงการพยายามจัดการพื้นที่เสี่ยงที่สัมพันธ์กับการลงมือจบชีวิตตัวเอง
ด้วยความที่เมืองเป็นพื้นที่กายภาพที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คน และเมืองส่วนใหญ่มองว่าพื้นที่กายภาพของตนเกี่ยวข้องและร่วมลดปัญหาสุขภาพจิตและการลงมือฆ่าตัวตายได้
เมืองสำคัญๆ จากทั่วโลกจึงมักมีแผนป้องกันการฆ่าตัวตาย (Suicide Prevention Plan) แผนเหล่านี้เป็นการกำหนดว่าเมืองจะให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพใจ ให้ความช่วยเหลือและพยายามเหนี่ยวรั้งผู้ที่ปรารถนาจะจากไปให้ได้มากที่สุด
โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แผนการป้องกันการฆ่าตัวตายของพื้นที่เมืองจึงค่อนข้างมีรายละเอียด เน้นตั้งแต่การเปิดพื้นที่ ทำความเข้าใจกับผู้คนในประเด็นสุขภาพจิต กระจายจุดเชื่อมต่อในการดูแลสุขภาพใจให้ความช่วยเหลือ ไปจนถึงการดูแลจุดเสี่ยงต่างๆ ที่ผู้คนอาจเข้าถึงและลงมือจบชีวิตตัวเองลงให้เข้าถึงได้ยาก แผนการป้องกันจากเมืองต่างๆ จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมบางประการที่คล้ายคลึงกัน
ในวันที่เราเริ่มมองเห็นปัญหาการฆ่าตัวตายอีกครั้ง City Cracker ชวนดูวิธีการที่เมือง รวมถึงเราเองในผู้คนของเมืองใหญ่ ว่าเมืองใหญ่สามารถร่วมมองเห็นผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือและพยายามเหนี่ยวรั้งผู้คนไว้อย่างไร นับตั้งแต่การรวบรวมและเข้าใจข้อมูลของเมืองตนเอง ไปจนถึงการดูแลจิตใจทั้งผู้คนที่อาจเลือกจากไปไปจนถึงผู้คนที่สูญเสียคนที่รักไป
นี่เป็นแนวทางบางส่วนของแผนการป้องกันจากเมือพอร์ตมัธ (Suicide Prevention Plan Portsmouth)และแผนการป้องกันการฆ่าตัวตายในพื้นที่สาธารณะ (Preventing suicides in public places) ของ Public Health England
เข้าใจปรากฏการณ์ด้วยข้อมูล
แผนการป้องกันการฆ่าตัวตายเกือบทั้งหมดมักเริ่มต้นด้วยการทบทวนและทำความเข้าใจผ่านข้อมูลและสถิติต่างๆ ในรายงานของสหราชอาณาจักร ระบุว่าความเข้าใจในปรากฏการณ์และพฤติกรรมการจบชีวิตตนเองยังเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ การรวบรวมและทบสถิติเท่าที่มีเพื่อเข้าใจแรงจูงใจไปจนถึงลักษณะการลงมือจึงเป็นความเข้าใจพื้นฐาน ถ้าเรามองในระดับเมือง ความเข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายจึงอาจสัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะและปัญหาของเมืองนั้นๆ
การมองเห็นว่ากลุ่มประชากรใดบ้างที่มีความเสี่ยง มีอุบัติการณ์ของการฆ่าตัวตายมีสาเหตุสัมพันธ์กับอะไร เช่น ความเครียด ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ความเจ็บป่วย การดูแลต่างๆ ความเข้าใจนี้อาจนำไปสู่การคาดคะเนสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือดีกว่านั้นคือการที่เมืองสามารถเข้าร่วมอุดช่องโหว่ที่อาจเป็นปัญหา เช่น การฆ่าตัวตายที่อาจสัมพันธ์กับความเครียดเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นต้น
สำรวจและทำแผนที่จุดเสี่ยง
หลังจากทำความเข้าใจข้อมูลของประชากรแล้ว ความเข้าใจพื้นที่เมืองเองก็สำคัญ การลงมือสำรวจและทำแผนที่จากความเข้าใจเช่น ลักษณะการลงมือที่มีบริบทพื้นที่แตกต่างกัน การกระโดดจากที่สูง กระโดดตัดหน้ายานพาหนะ เช่น รถไฟหรือรถยนต์ การใช้พื้นที่แม่น้ำหรือน้ำต่างๆ ไปจนถึงพื้นที่ร้างที่อาจสัมพันธ์กับรูปแบบการจบชีวิตต่างๆ ทั้งสารเคมี การรมควัน ไปจนถึงการใช้เชือก ความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การมองเห็นพื้นที่ที่อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น พื้นที่ที่สูงกว่าระยะ 10 เมตร จุดสำคัญอย่างสะพาน ทางข้าม พื้นที่ริมน้ำ ตึกร้าง อาคารจอดรถและพื้นที่อื่นๆ การมองเห็นจุดเสี่ยงเหล่านี้นำไปสู่การปรับปรุงพื้นที่ ลักษณะการฆ่าตัวตายหนึ่งสัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ทิ้งร้าง การแก้ปัญหาพื้นที่ทิ้งร้างจึงเป็นหนึ่งการลดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่และลงมือได้สำเร็จ
ใช้การออกแบบร่วมขัดขวาง
การลงมือจบชีวิตมักสัมพันธ์กับพื้นที่ทางกายภาพของเมือง การขัดขวางหรือทำให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น สะพานหรือดาดฟ้าอาคารสูงอาจช่วยให้เกิดการรอดชีวิตขึ้นได้ เมืองส่วนใหญ่จึงพยายามดูแลพื้นที่สำคัญโดยเฉพาะพื้นที่ที่มักเกิดการลงมือ เช่น การติดตังราวหรือตาข่ายทำให้ไม่สามารถปีนขึ้นไปได้ใน ในหลายเมืองใช้วิธีร่วมมือและวางแนวทางในระดับการปลูกสร้างอาคาร มีการทำงานร่วมกับการอนุญาตอาคารใหม่ๆ ในการขอให้ออกแบบโดยเน้นความปลอดภัยและขัดขวางการเข้าถึง
นอกจากอาคารใหม่แล้ว บางเมืองก็เน้นการทำงานร่วมกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ที่อาจเป็นจุดเสี่ยง นำไปสู่การพัฒนาอื่นๆ ต่อไป เช่น การปรับปรุงอาคารร้าง การระบุพื้นที่เสี่ยงสำคัญ เช่น ปั๊มน้ำมันร้าง อาคารจอดรถที่มีหลายชั้น ในบางเมืองที่มีพื้นที่ในการดูแล จึงมีการปรับปรุงเพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นปลอดภัยขึ้นทั้งในเชิงกายภาพคือเข้าถึงที่สูงได้ยาก และในการสร้างความรู้สึกเชิงบวก ทั้งการต่อต้านความรู้สึกโดดเดี่ยว การมองเห็นสุขภาพใจของผู้คนในพื้นที่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่รัฐช่วยดูแล และยื่นมือเข้าหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้
ทำความเข้าใจและเพิ่มมือที่จะยื่นเข้าช่วยเหลือ
ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับความเข้าใจและการเข้าถึงความช่วยเหลือ เบื้องต้นที่สุดคือการที่เมืองมองเห็นประเด็นปัญหาสุขภาพใจของผู้คน มีการกระจายพื้นที่ที่ผู้ที่ต้องการสามารถเข้าถึงได้ เช่น จุดบริการ พื้นที่บริการทางสุขภาพจิตหรือสายด่วนสุขภาพจิต การให้ความเข้าใจกับสังคมเพื่อให้ผู้คนและเมืองสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ก่อนที่การลงมือจะเป็นทางเลือกและการตัดสินใจจึงเป็นแนวทางการป้องกันที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้หลายเมืองใหญ่ยังเน้นความเข้าใจต่อเนื่อง คือการเพิ่มหูตาขึ้นภายในเมือง การให้ความเข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายอาจพัฒนาไปจนถึงการให้ความรู้กับคนทำงานของรัฐที่อาจสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่บริการต่างๆ การฝึกฝนทักษะ เช่น การรับรู้หรือสังเกตผู้ที่อาจมีปัญหาและอาจกำลังตัดสินใจจบชีวิต การเข้าหาและให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม ทั้งการส่งต่อไปยังพื้นที่ด้านสุขภาพใจ การเพิ่มหูตาและพื้นที่ช่วยเหลือจึงนับเป็นอีกความเข้าใจและแนวทางช่วยเหลือที่ค่อนข้างสำคัญที่วันหนึ่งอาจสามารถยับยั้งเหตุการณ์ได้
รับรู้และดูแลผู้ที่อยู่ข้างหลัง
ในแผนการรับมือการฆ่าตัวตาย มีประเด็นน่าสนใจคือการให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือญาติ เพื่อนฝูงและคนที่รักของผู้ที่เลือกจบชีวิตตนเองด้วย การสูญเสียคนที่รักจากการฆ่าตัวตายมักนำไปสู่ผลกระทบทางจิตใจ อาจกลายเป็นสุขภาพจิตต่อเนื่องและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายตาม
การที่เมืองมองเห็นและร่วมป้องกันบาดแผลที่ต่อเนื่อง เช่นการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต การมีชุดความช่วยเหลือต่างๆ เช่นการนำญาติและเพื่อนฝูงเข้าสู่ระบบดูแลสุขภาพใจ มีการให้บัตรเพื่อระบุและส่งต่อในระบบสาธารณสุขเป็นอีกหนึ่งการระบุตัวตนที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่ต้องสื่อสารหรือเล่าความเจ็บปวดจากการสูญเสียซ้ำๆ การมีสิ่งของหรือบริการสนับสนุนอื่นๆ เช่นข้าวของ กิจกรรมให้กำลังใจก็อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเล็กๆ ที่เมืองหยิบยื่นหัวใจให้กับผู้ที่กำลังแตกสลายได้
ทำความร่วมมือกับสื่อ ในการนำเสนอประเด็นอ่อนไหว
มีหลักฐานระบุว่าการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับการนำเสนอข่าวและเรื่องราวการฆ่าตัวตาย การทำความร่วมมือกับสื่อในการนำเสนอเรื่องการฆ่าตัวตายในฐานะประเด็นอ่อนไหวจึงเป็นอีกหนึ่งการร่วมลดความเสี่ยงและพฤติกรรมจากสื่อลง นอกจากการร่วมดูแลการนำเสนอเพื่อป้องกันแล้ว เมืองอาจทำงานร่วมกับสื่อในการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายไปจนถึงสนับสนุนเคมเปญป้องกันการฆ่าตัวตายของเมืองด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
assets.publishing.service.gov.uk
- Vanat Putnark
Writer
- Warunya Rujeewong
Graphic Designer