CITY CRACKER

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กับ เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’

เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก สร้างผลกระทบความเสียหายและสะเทือนวิถีชีวิตคนเมืองให้เปลี่ยนไป นั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเมืองใหญ่ เชียงใหม่ เมืองกลิ่นอายล้านนาที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองด้วยการท่องเที่ยว หลังจากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจต่างปิดตัวลง ส่งผลกระทบเลิกจ้างงาน จากการต่อแถวเข้างานจึงกลายเป็นการต่อแถวรับอาหาร นำไปสู่ภาวะขาดแคลนความมั่นคงทางอาหาร

พื้นที่ทิ้งขยะอายุ 20  ปี ที่เมื่อขุดลงไปจะเจอกับขวดน้ำอัดลม เทปคลาเสท กระทั่งเศษข้าวของเครื่องใช้ยุคปี 2000 กองทับถมอยู่บนพื้นที่ริมคลองแม่ข่าของเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่กี่เดือนหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามารบกวน พื้นที่กองขยะมหึงมาก็กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส และได้รับการปรับให้เป็น ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’ ที่เต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิด มีความมั่นคงทางอาหาร และเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวเมืองเชียงใหม่มาเกือบหนึ่งปีเต็ม

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ คือโครงการจากความตั้งใจที่จะต่อสู้กับปัญหาสภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเป็นแนวความคิดต่อยอดจากเป้าหมายการฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า ที่ทีมสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอกำลังให้ความสนใจ ณ ขณะนั้น และนำแนวคิดสวนผักคนเมืองเข้ามาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับบริบาทของวางผังพื้นที่ แม้จะดูเหมือนพื้นที่แห่งนี้คือแหล่งอาหาร แต่จริงๆ แล้วสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ยังถือพื้นที่สาธารณะ และแหล่งเรียนรู้ให้คนเมือง คือหลังการเกิดขึ้นของสวนผัก ผลิตผลจากสวนได้ช่วยเป็นแหล่งอาหารแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตรของนักเรียนจากโรงเรียนและพื้นที่อื่นๆ ในละแวกเดียวกัน เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เข้าถึงง่ายของชาวเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่ได้สร้างความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดขึ้น

เมื่อสวนผักคนเมืองก็ถือเป็นหนึ่งเครื่องมือการพัฒนาเมือง และคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในเมือง City Cracker และ Co-create our city จึงได้ชวน ‘ตี๋’ – ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิก บริษัท ใจบ้าน studio จำกัด มาคุยถึงโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของการทำโครงการนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานอย่างไร  ตั้งแต่จุดเริ่มต้นความเป็นมาเป็นไปของโครงการ การทำงานผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายๆ ภาคส่วน ไปจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน 

 

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

เริ่มจากช่วงต้นก่อน (ปี 2020) ที่มีวิกฤตโควิด-19 ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ยังไม่มีการพูดถึงวัคซีน ไม่รู้ว่าผลกระทบคืออะไร ทุกคนก็ตื่นตระหนกกันไปต่างๆ ตอนนั้นถ้าเราพูดถึงการพัฒนาเมือง จะมีการพูดถึงเรื่องความยืดหยุ่น (Resilience) การกลับเข้าไปหาสมดุลธรรมชาติที่มันอยู่ได้ คำนี้ปรากฏต่อหน้าเราและไม่ใช่แค่คำพูดวิชาการ เมืองเรา ณ ตอนนั้นในภาวะโควิดมันไม่ Resilience ทั้งเรื่องอาหาร การอยู่อาศัย ตลอดจนการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ 

เนื่องจากเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในสัดส่วนค่อนข้างสูง พอเกิดวิกฤตเมื่อต้นปีที่แล้วไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย เราได้รับผลกระทบมาก คนที่ได้ผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคเอกชน และลูกจ้างรายวันที่ปกติมีรายได้ 240-300 บาท คนที่อยู่ในชุมชนชนที่ไม่มีความมั่นคงก็โดนผลกระทบก่อน ตอนนั้นเราอยากรู้ว่าช่วงนั้นคนเหล่านี้เขาอยู่กันยังไง อย่างเราโดนล็อคดาวน์เรายังไปซื้อของที่ Hyper mart มาเก็บไว้ได้ แต่คนพวกนี้เขาอยู่กันยังไง ไหนจะ social distancing อีก ครอบครัวหนึ่งเขาอยู่กัน 10-11 คน เขาอยู่กันยังไง ยิ่งหาเช้ากินค่ำ เลี้ยงเด็กอีก เลยไม่แปลกที่จะเห็นคนเหล่านี้ไปต่อคิวรับอาหารกัน 2 -3 รอบ ให้พอกิน หรือบางคนเราไปเจอ เขาต่อแถวรับอาหารแจกแต่พอได้อาหารมาแล้วทิ้ง ปรากฏว่าบางทีข้าวมันเป็นผัดกะเพราแล้วลูกเขากินไม่ได้ เลยทำให้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น 

ประกอบกับพบข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ ว่าเขารายได้ 200-300 บาท จ่ายค่าห้องไปก็ 30-40% แล้ว ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าอาหาร 3 มื้อ เลี้ยงคนในครอบครัว พอเราลงไปดูในชุมชนเราก็เห็นเขาทำสวนผัก เอาน้ำจากในคลองสกปรกๆ มาทำสวน โรยเมล็ดผักกาดที่เอามาจากบนดอย มาปลูกผักกันเพื่อยังชีพ ตอนนั้นเราก็เริ่มคิดว่าถ้ามีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นสวนผักเขาจะมาใช้ไหม แล้วก็เริ่มคิดที่จะเอาพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์มาทำสวนผัก เพราะว่าสวนผักมันไม่ได้ถาวรเหมือนสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการสวนผักคนเมืองขึ้นมา

 

โครงการนี้ถือว่าเกิดมาท่ามกลางวิกฤตเลย อะไรคือความสนใจแรกที่ทำให้กลุ่มใจบ้านลุกขึ้นมาทำโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ 

น่าจะเพราะเราเห็นปัญหาอยู่ต่อหน้าละมั้ง ตอนไปลงพื้นที่เราได้เจอพี่คนหนึ่งที่เป็นสาวคาราโอเกะ ขณะเดียวกันเขาก็เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก และรับซักผ้าอยู่ในโรงแรมด้วย เขาต้องดิ้นรนมากๆ เราจิตนาการว่าถ้าสมมติเรามีลูกเหมือนเขามันจะเป็นยังไง เราคิดว่าเราได้รับผลกระทบแล้วนะ แต่มันก็ยังไม่หนักเท่าเขา ที่ผ่านมาใจบ้านเรียกร้องเรื่องการมีพื้นที่สาธารณะที่ดีมาโดยตลอด เราทำแผนทำอะไรแต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างวิตกกัน แถมยังต้องรักษาระยะห่างที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมมากๆ เราเลยมองว่าน่าจะเป็นจังหวะที่ดี ถ้าได้เริ่มทำอะไรสักอย่าง

อีกอย่างคือตอนแรกเราเห็นมันเป็นพื้นที่ว่างด้วย ก็จินตนาการไปว่าจะทำโน่นทำนี่ แต่พอไปเห็นพื้นที่จริงก็ยากเหมือนกัน เพราะมีรายละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมด จะปลูกผักยังไง ดินเป็นแบบไหน ใครจะมาดูแล ก็เลยเริ่มไปคุยกับเครือข่ายชุมชน เกษตรกรที่เขามีความรู้ ภาคประชาสังคมที่เขาจัดกิจกรรมเก่งๆ ว่าเราอยากทำแบบนี้ๆ จะเอาองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งพื้นที่ ทั้งคน เคลื่อนไปด้วยกันได้ยังไง แล้วก็ลองออกแบบพื้นที่ดู เราคิดมานะว่าถ้าเราวางแผนการผลิตดีๆ ในหนึ่งเดือนเราสามารถผลิตผักได้เท่าไหร่ ช่วยคน เลี้ยงปากท้องได้เท่าไร แต่มันก็เป็นเหมือนกับแค่สมมติฐานตั้งต้น ที่เอาไปคุยกับหน่วยงานเพื่อให้เห็นเครื่องมือมากขึ้นมากกว่า เพราะในทางปฏิบัตจริงมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น

 

แต่ตอนนี้สวนผักคนเมืองก็ดูจะเป็นรูปเป็นร่างประมาณหนึ่ง ในส่วนของการบริหารจัดการ การดูแลรักษา มีแผนต่อไปอย่างไร 

ระยะ 1 ปีที่ผ่านมาก็เป็นการค่อยๆ หาระบบ สมมติฐานตอนแรกที่เราคิดมาพอได้เอามา ทดลองใช้จริงบางอย่างก็เวิร์ก บางอย่างก็ไม่เวิร์ก ในสว่นระบบการจัดการ ปัจจุบันเราแบ่งคนดูแลออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนไร้บ้าน ผู้มีรายได้น้อย คนที่ตกงานเป็นแรงงานหลักในการดูแลสวน ซึ่งเงินที่มาจ้างจะเป็นงานจากการบริจาคและการขายไข่จากฟาร์มไก่ในสวน กลุ่มที่สองจะเป็นเครือข่ายพวกเราที่ดูแล ในการจัด Workshop จัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะได้แรงจากอาสาสมัครมาช่วยกันดูแลสวน มาช่วยปลูก และเอากล้ามาบริจาค ในบางโอกาส

 

พอเป็นพื้นที่สาธารณะ แน่นอนว่าคนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่เองก็หลากหลาย ตรงนี้มีปัญหาบ้างไหม หรือมีการสื่อสารอย่างไรเพื่อให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งและช่วยกันดูแลตรงนี้

เราแทบไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะมันเป็นไปโดยธรรมชาติ พอเขาเห็นความไม่สมบูรณ์แบบ เขาก็จะอยากเข้ามาช่วย อย่างตอนแรกๆ ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกจะไม่ชอบความไม่สมบูรณ์แบบ หญ้าต้องสวย ต้องรดน้ำ แต่ผ่านมาสักพักมันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นสวนที่ได้รับการเติมเต็มจากหลายๆ คน แม้การเชื่อมโยงคนอื่นๆ เข้ามาแล้วอะไรต่างๆ อาจจะไม่เป๊ะอย่างที่แว่นสถาปนิกมอง ตรงนี้เราเลยต้องช่างน้ำหนักดูระหว่างสวนที่มันสวนเนี๊ยบกับสวนที่เชื่อมโยงคนเข้าหากัน ซึ่งตรงนี้เราได้เรียนรู้ด้วยว่าเราจะชั่งน้ำหนักไปทางอย่างหลังมากกว่าสวนที่เป๊และเนี๊ยบ

ส่วนการเข้ามาช่วยกันทำมันเป็นไปเอง พอเขาเห็นว่าเขาได้ประโยชน์ เข้ามาเก็บผักได้ เขาก็จะเข้ามาดูแลช่วยกัน ไม่ต้องบอกว่าใครต้องทำอะไร อย่างกลุ่มเยาวชนพม่าเราแค่มีพื้นที่ให้ ที่เหลือคือน้องๆ ทำเองหมดเลย ดูแลสวน ประชาสัมพันธ์ ซึ่งความเป็นจริงเราก็ต้องการพลเมืองแบบนี้ ต้องการคนที่โพรดักซ์ทีฟแบบนี้ แต่กลไกของรัฐแบบไหนมากกว่าที่จะเอามาใช้เพื่อให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น ก็เป็นคำถามใหญ่ของเราเหมือนกัน

 

ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงตอนนี้ มีปัญหาอะไรบ้างไหม

เรื่องแรกคือเรื่องคำถามใหญ่ที่ว่าพื้นที่นี้เป็นกองขยะ จะเอามาปลูกผักทำอาหาร จะทำมันได้ยังไง ตอนนั้นท้อเหมือนกัน เราไม่มีความรู้ แต่ก็พยายามแสวงหาให้มันเป็นพื้นที่ร่วม ไม่รู้ก็ถาม จนได้วิธีการ ได้การสนับสนุน ก็ผ่านตรงนั้นมาได้ เรื่องที่สองคือ Land Value ที่ตรงนี้ เกือบ 3 ไร่ ใจกลางเชียงใหม่ วาละเกือบ 2-3 แสน มูลค่าเกือบ 100 ล้าน เอามาปลูกผักกระจุ๋มกระจิ๋มเพื่อคนไม่กี่ครอบครัว มันคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ คุณจะตอบเรื่องเหล่านี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ยังไง เราก็คิดนะแต่รู้สึกลึกๆ ว่ามันใช่ แล้วจะอธิบายคนที่เขาเห็นต่างเข้าใจได้ยัง ก็ต้องสร้างสะพานให้เขาเข้าใจ ถ้าเราสื่อสารได้มันก็จะเกิดพื้นที่แบบนี้ในที่อื่นๆ ซึ่งมันอาจประเมินมูลค่าเศรษฐกิจได้

มีวันหนึ่งไปที่สวนกับลูกวันเสาร์ ไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอใครเพราะวันนั้นไม่มีกิจกรรมอะไร แต่ไปเจอพ่อแม่พาลูกตัวเล็กๆ มาเดินที่สวน พอได้คุยคุณพ่อก็บอกว่า ดีมากเลยที่มีพื้นที่แบบนี้ ก่อนจะถามกลับว่า ในอนาคตมองยังไงต่อ พร้อมกับชวนคิดต่อว่า ลองดูลูกผมวิ่งสิ จะตีค่าลูกผมวิ่งบนพื้นที่สีเขียวนี้ด้วยเงินเท่าไหร่ ตอนนั้นตอบไปว่ายังไม่รู้ ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งระหว่างนั้นก็เริ่มมีไอเดียหลายๆ ไอเดียจากช่องทางต่างๆ ให้ทำธุรกิจ ตั้งแต่ทำร้านกาแฟ ให้พ่อแม่มาจ่าย จนถึงทำคอร์สปลูกผัก แต่ก็แค่ในเชิงไอเดียเพราะในเชิงกฎหมายมันทำไม่ได้ เราหาเงินจากพื้นที่นี้ไม่ได้ มันไม่ใช่ที่ของเรา 

แต่แน่นอนเราต้องหาวิธีประเมินเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจไว้อยู่แล้ว แต่คงยังไม่ใช่ตอนนี้ รู้สึกว่า เราต้องสร้างคอนเน็คชั่นให้ได้ก่อน ให้มันเป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกันได้จริงๆ ถ้าคุณเอาแว่นของนักเศรษฐศาสตร์มามองตั้งแต่แรก เด็กคนหนึ่งก็ไม่ควรเกิดมาแล้ว เลี้ยงเด็กหนึ่งคน เด็กคนนั้นก็ไม่ได้ทำงาน พื้นที่นี้มันเป็นเหมือนห้องเรียนของเมืองนี้ เราไม่สามารถตอบคำถามให้ทุกคนได้ แต่เราสร้าง lesson learned ได้

ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็ไม่ใช้เรื่องใหญ่อะไรอย่างการก่อสร้าง พอเราไปอยู่จุดนั้นแล้วมันก็คือต้องค่อยๆ แก้กันไป แต่ปัญหาใหญ่เลยคือกลไกแบบนี้ที่มันถูกสร้างขึ้นมาแล้ว เหมือนเป็นเด็กคนหนึ่ง แต่พ่อแม่ของเขาคือใคร จะเข้าไปอยู่ในระบบยังไง เป็นโจทย์ที่พยายามคิดและก็หาจังหวะที่จะส่งต่อ เพราะยิ่งถ้าเราอยู่กับมันนานเราก็จะยิ่งกลายเป็นเจ้าของ เป็นพ่อแม่ของเด็กคนนี้ แล้วพอเป็นแบบนั้นจะกลายเป็นการตัดโอกาสการที่มันจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ จะไม่ถูกส่งเข้าไปในระบบที่คนอื่นรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก 

 

แล้วจากสวนผักคนเมืองกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร

เรื่องการเป็นพื้นที่สาธารณะมันมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่การที่เราสร้างแล้วบอกว่ามันเป็นที่สาธารณะ แต่เป็นเหมือนเราหาโฟล์วที่จะให้เขาเข้ามาใช้มันด้วยกันมากกว่า ปัจจัยแรกคือเราก็ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่จริง ๆ เราไม่ใช่คนทำแล้วมอบให้ แต่ทุกคนช่วยกัน และสองพอมันเป็นพื้นที่สาธารณะมันมี sese ของการเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ อย่างภาษาล้านนา เขาจะเรียกของสาธารณะว่า ‘ของหน้าหมู่’ คือ ในหมู่พวกเราเนี่ย มันเป็นของที่วางอยู่ตรงหน้า เป็นของทุกคน มันมี Mind set คำว่าของหน้าหมู่อยู่ หรืออย่างป่าชุมชน อย่าง “ข่วง” ที่มันเป็น Urban space เป็นลานของชุมชน แม่น้ำ ภูเขาที่เราไปเก็บเห็ดก็คือของหน้าหมู่ 

ส่วนคำว่า public space, urban space มันเป็นคำใหม่ที่อาจจะมาจากบริบทในต่างประเทศ ที่พอใช้คำนี้มันดูเหมือนว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐจะต้องเขามาดูและให้ดีเพราะเราจ่ายภาษี ซึ่งไม่เข้ากับบริบทแบบเชียงใหม่เสียที่เดียว ดังนั้น เราจะมาทำให้สวนผักเป็นของหน้าหมู่ของทุกคนได้ยังไง ให้ทุกคนมาร่วม collaborate กันได้ยังไง ก็ต้องค่อยๆเปิดพื้นที่ให้เขาเได้เข้ามาใช้พื้นที่ มาทำอะไรร่วมกัน อย่างตอนนี้ที่เรามีโรงเรียนเป็นเครือข่าย ก็เกิดจากการพูดกันปากเปล่าว่า เรามีที่แบบนี้นะ ครูฉิว (คุณครูเกษตรโรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย) คิดยังไงบ้าง เขาก็ขับมอเตอร์ไซค์มาดู วันรุ่งขึ้นพาเด็ก ๆ มา คือมันค่อยๆ develop เข้ามาดู มาลองทำ มาช่วยกันคิด เราไม่ได้ระบุว่าจะให้ 40 แปลง สำหรับครูฉิว ครูฉิวต้องมาทำอันนี้ 

พอมาทำสวนผักพี่ก็เรียนรู้เรื่องนี้มากเลย เพราะตอนแรกเราที่เราเริ่มทำ เราวางภาพมันเป็น Urban Farming เป็นแปลงปลูกผักสวยๆให้คนมาใช้ มา check in แต่พอทำไปเรื่อย ๆ พอได้มองเห็นโครงการผ่านแว่นของคนไร้บ้าน ผ่านแว่นของพ่อแม่ homeschool ผ่านแว่นของคนในชุมชน มันทำให้เราเห็นว่าจริงๆพื้นที่สาธารณะนี้มันมีมิติหลายๆ อย่าง

 

ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ของสวนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

จากการสังเกตคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ เราสงสัยว่าความรู้สึกเชื่อมโยงนี้เมันถูกสร้างขึ้นได้ยังไง และถ้าตอบได้ มันคือหัวใจของทุกเรื่องเลยนะ ทำไม ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้จากเงิน 0 บาท และเป็นถนนที่คนยังพูดถึง ยังเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ ทำไมเกิดการบริจาคที่ดินของภาคเอกชนหลายเจ้า เพื่อสร้างมหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นมหาลัยวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรก ทำไมเกิดการขุดเหมืองฝายยาว 40 กิโลเมตร จากแม่น้ำปิงไปเลี้ยงนาฝั่งใต้ด้วยแรงงานของคนที่มาร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่จะร้อยเรียงศรัทธา ร้อยเรียงความร่วมมือของคน มันผสมผสานกันมาก มันมีเรื่องของวิสัยทัศน์ด้วย ใครจะคิดว่าจะเอาไฟฟ้า เอาถนนสมัยใหม่มากๆ ไปขึ้นดอยสุเทพได้ มันทันสมัยมากเลยนะถ้ามองเชิงกายภาพ

กลับมาที่สวนผัก พอเราเริ่มมองมันด้วยสายตาของผู้คน ไม่ใช่สายตาของนักผังเมือง หรือสถาปนิกที่ต้องการเมืองที่ดีที่สุด เขียวที่สุด มันเริ่มเห็นมิติทางสังคมแบบนี้ด้วยเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของผู้คน และอยากให้คนอื่นเห็นแบบนี้บ้าง ผมเชื่อว่าถ้าคนอื่นสัมผัสได้ เราไม่ต้องพูดกันมาก ไม่ต้องต่อรอง ไม่ต้อง politic และไม่ต้องใช้พลังมากมายเพื่อให้เมืองดีขึ้น

ครั้งหนึ่งผมได้ไปหมู่บ้านพี่น้องปกาเกอะญอ ได้มีโอกาสคุยกับพะตีจอนิ (ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ) เขาเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ด้วยคน 3 ประเภท คือคนใน คนนอก และคนบ้า แน่นอนบทคนบ้า คือมองข้ามปัญหาอะไรไปก่อน ชวนทำโน่นทำนี่ไปก่อน แต่คนบ้าก็ทำอะไรได้ไม่นาน ก็แค่มองข้ามอุปสรรค ซึ่งเราก็ต้องการคนใน ต้องการทรัพยากรบางอย่างที่รอการปะทุขึ้นมา แล้วก็มีบทคนนอกที่มองข้ามข้อจำกัด ถ้าเราสามารถสร้างสภาวะที่คนสามกลุ่มนี้มาเจอกันได้ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสวนผักที่นี่เป็นแบบนั้นจริงๆ นะ

 

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยัง 

คิดว่ายัง เพราะยังมีล็อคตัวใหญ่เรื่องของกฎหมาย งบสนับสนุน เรื่องของการรับรู้เชิงหน่วยงาน อย่างตอนนี้ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น ถ้ามีเด็กมาใช้ที่สวน วิ่งล้มบาดเจ็บแล้วจะ claim ต้องไป claim กับใคร ใครเป็นเจ้าของที่นี้จริง ๆ หรือถ้าเราจะจัดคอนเสิร์ต ต่อไฟ เชื่อมไฟไม่มีมิตเตอร์ก็ผิดกฎหมาย เจาะน้ำบาดาลก็แอบเจาะกัน ทุกอย่างมัน off-law หมด ก็อยากจะให้สวนนี้มันเป็นห้องเรียน สำหรับพื้นที่สาธารณะที่อื่นๆ อาจจะไม่ต้องทั้งหมด แต่อยากให้ที่นี่เป็นที่ได้ลองทำลองตั้งระบบต่าง ๆ กันขึ้นมา เพราะเมืองมันไม่ใช่ที่ที่คนมันเข้ามาหาเงินแล้วก็กลับไปอย่างเดียว

 

ในฐานนะผู้ริเริ่มโครงการ มองอนาคตของสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างไร หรือได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้บ้าง

ตลอด 10 เดือนเราเจอ lesson learn หลายๆ เรื่อง พอครบ 1 ปี เราจะถอดบทเรียนและเอาบทเรียนนี้ให้กับเทศบาล เพราะที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลทั้งทางตรงทางอ้อม รวมไปถึงจากทางจังหวัด จากประชาสังคมภาคส่วนต่างๆ เลยอยากให้ช่วยกันดูว่า โมเดลแบบนี้จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มันชัดเจนมากขึ้นได้อย่างไร มีงบประมาณ มีแผนการทำงาน มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อวางแผนดูแล หรือจัดกิจกรรมให้เป็นระบบที่มากขึ้นได้อย่างไร เพราะวันหนึ่งถ้าไม่มีระบบเหล่านี้ ก็คงต้องร่วงโรยไปตามเวลาตอนที่เราไม่อยู่ เลยคิดว่าถ้าเราจะถอยออกมาสักหนึ่งก้าวก็ต้องมีคนมาดูต่อ ซึ่งเราต้องเป็นคนสร้างเส้นทางให้คนเข้ามาดูแลและหาจังหวะส่งต่อ

คิดว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สาธารณะ เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นแค่หนึ่งประเด็น ตอนที่เราทำสวนผักที่นี่ ตาเราก็มองพื้นที่อื่นๆ ไปด้วย จะไม่ใช่การถอดสมการสวนผัก A สวนผัก B แต่ต้องเป็นการอ่านโจทย์ของย่านนั้นว่าจะเป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องของคนแก่หรือเปล่า เป็นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันหรือเปล่า หรือเป็นพื้นที่เรียนรู้ มันคงแปลงร่างได้หลากหลายรูปแบบแต่จิตวิญญาณความเป็น ‘ของหน้าหมู่’ ที่ทุกคนมาแล้วสบายใจ มาแล้วมีส่วนร่วมสร้าง น่าจะเป็นแก่นสาระสำคัญของการทำเมือง เพราะเจ็ดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่ถูกสร้างด้วยสปิริตแบบนั้น 

อย่างถนนขึ้นดอยสุเทพ มันไม่ใช่งบจากหลวงเลย แต่เป็นคนเล็กๆ ถือจอบถือเสียมเข้าไป ทำถนนต่อไฟฟ้ากันขึ้นไป หรืออย่างวัด แน่นอนมีราชวงศ์มาสนับสนุนแต่มันก็ร้อยเรียงช่าง ร้อยเรียงภูมิปัญญา ร้อยเรียงศรัทธาของคน เรารู้สึกว่าเมืองในอนาคตต้องกลับมาใช้ภูมิปัญญาเก่าแก่ แต่รูปฟอร์มแบบใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตสิ่งแวดล้อม ความหนาแน่น มันก็ผสมผสานกัน มันต้องมีรอยต่อ มีลมหายใจที่มันเชื่อมกันได้

 

สุดท้ายสวนนี้จะเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเมืองได้ไหม หมายถึงเราจะพัฒนาเมืองผ่านสวนนี้ร่วมกันได้ใช่ไหม

ได้ เพราะพอเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะ คีย์สำคัญคือเราจะสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะได้ยังไง คุณสังเกตพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนดูแล จริงอยู่ว่าทำอะไรก็ได้ แต่เราอยากจะสร้างพื้นที่สาธารณะในแบบที่คนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของจริงๆ ให้เขามีประวัติศาสตร์ร่วมกับเรื่องราวที่นี่ ว่าเขาเคยระดมทุนบริจาคเงินที่นี่ ลูกเขาเคยมาปลูกผักที่นี่ เขาเคยซื้อต้นไม้เพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์แล้วมาปลูกที่นี่ มันมีความรู้สึกร่วม ซึ่งประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ของเรา อะไรที่มันจะถูกถ่ายทอดส่งต่อ จะเป็นอะไรที่มันเป็นตำนาน เรื่องเล่า เรื่องคนที่เขาทำดี ซึ่งเรามองว่าพื้นที่สาธารณะก็น่าจะมีมิติในด้านนี้ด้วย เราไม่ได้มองภาพพื้นที่สาธารณะที่เนี๊ยบหรือเพอร์เฟ็กต์ แต่คนไม่ได้ร่วมสร้างร่วมเห็นไปกับมัน เราพยายามจะให้มันมีมิติทางสังคมและความร่วมมือเกิดขึ้น และต้องการความร่วมมือแรงสนับสนุนจากทุกๆ คน เพราะไม่มีใครสามารถทำคนเดียวได้

 

DCIM100MEDIADJI_0018.JPG
Share :