เป็นเวลาพันกว่าปีที่แมวกับมนุษย์มีความสัมพันธ์กันมา เป็นเวลาช่วง 70 ปีหลังเท่านั้นที่แมวในฐานะสัตว์เลี้ยงได้เริ่มเข้ามาอาศัยร่วมกับมนุษย์ในบ้านอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันหลายๆ คนก็พร้อมใจและยอมเป็นทาสแมวกันมากขึ้น ทำให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างแมวกับมนุษย์ที่มีมากขึ้นตาม
เพราะการอยู่อาศัยร่วมกันไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์ แต่รวมไปถึง ‘แมว’ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในฐานะของผู้ใช้งานพื้นที่บ้าน การออกแบบบ้านเลยเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่ของแมวหรือสัตว์เลี้ยงมากขึ้น คือคำนึงถึงความต้องการและพื้นที่ใช้งานของน้องๆ ทั้งพื้นที่สำหรับนอน พื้นที่ทานอาหาร พื้นที่วิ่งเล่น รวมไปถึงการออกแบบงานเฟอร์นิเจอร์ที่เริ่มดีไซน์โดยคิดถึงความต้องการของแมวเข้ามารวมกับคน เพื่อหาพื้นที่ตรงกลางที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย
City Cracker ชวนทำความเข้าใจแมว นิสัยของเจ้านาย ตลอดจนวิธีการออกแบบบ้าน ทั้งในเชิงกายภาพ เช่น สัดส่วนที่เหมาะสม และความสบายใจของทั้งเราและแมว รวมถึงงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เอื้อให้เจ้านายของเรามีความสุขในบ้านมากยิ่งขึ้น
เข้าใจแมวในฐานะผู้ใช้งานพื้นที่บ้าน
ปัจจุบันแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมความเป็นมิตรและขี้เล่นของพวกมัน (ในบางครั้ง) ตลอดจนนิสัยหยิ่ง ชอบเล่นตัว (เป็นประจำ) ทำให้ใครหลายคนตกเป็นทาสแมวอย่างช่วยไม่ได้ และทำทุกวิธีเพื่อให้เจ้านายพอใจก่อนจะออกแบบบ้านหนึ่งหลังเลยต้องทำความเข้าใจผู้ใช้งานเช่นแมวก่อน นอกจากพฤติกรรมที่เราเห็นบ่อยๆ อย่าง กิน นอน พื้นฐานของแมวก็คือนักล่า ที่แม้จะกลายเป็นแมวบ้าน แต่แมวก็ยังมีสัญชาตญาณความเป็นนักล่าอยู่ในตัว แมงจึงมักมีพฤติกรรมชอบลับเล็บให้คมผ่านการขีดข่วน วิ่งไล่จับสัตว์เล็กอื่นๆ หรือของเล่นที่มีลักษณะเคลื่อนไหวและเล็กกว่าขนาดตัวของมันจากพฤติกรรมชอบอยู่บนที่สูง ทำให้หลายครั้งเราเห็นข่าวแมวพลัดตกจากระเบียงหรือตึกสูง แต่พวกมันมักจะปลอดภัยและเดินต่อสบายๆ เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเคยมีงานศึกษาของ The American Veterinary Medical Association เกี่ยวกับแมวและความสูงของการตึก ในปี 1987 ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า จากจำนวนแมวทั้งหมด 132 ตัวที่ศึกษามีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เสียชีวิตจากการตกจากตึก 5 ชั้น แต่หากเป็นความสูงที่มากกว่า 7 ชั้นขึ้นไป แมวจะมีชีวิตรอดมากขึ้น เนื่องจากแมวจะถึงจุดเร่งสุดท้าย ทำให้กระจายแรงกระแทกได้ดีขึ้นเมื่อตกลงมาถึงพื้น
นอกจากนี้ ขนาดของแมวยังมีผลต่อการออกแบบหรือวางของต่างๆ ในบ้าน เช่นระดับความสูงของแมวที่เฉลี่ยอยู่ที่ 23- 25 เซนติเมตร ความสูงและกว้างของเฟอร์นิเจอร์หรือโครงสร้างต่างๆ เลยมักถูกออกแบบมาเพื่อให้น้องสามารถเดินลอดผ่านได้หรือวิ่งเล่นอย่างง่ายได้ รวมถึงการชอบอาศัยอยู่บนที่สูงก็ทำให้บ่อยครั้งมันปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนตู้ หรือชั้นสูงๆ แทนการนอนเล่นอยู่ด้านล่าง ซึ่งต่างจากหมาและสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ
การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านระหว่างคน-แมว
เมื่อพื้นที่บ้านที่ไม่ใช่ของเราคนเดียวแต่เป็นของแมวด้วยการออกแบบเลยต้องคำนึงถึงแมวมากขึ้น ปกติแล้วแมว 1 ตัว ต้องการพื้นที่ประมาณ 18 ฟุต หากแมวต้องเผชิญกับพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มันจะรู้สึกอึดอัด เนื่องจากแมวชอบซ่อนตัวและไม่อยู่ในที่โล่ง สภาพแวดล้อมนี้ทำให้พวกมันรู้สึกว่าถูกเปิดเผยและเปราะบาง ยิ่งไปกว่านั้นแมวยังมีเรื่องของการแบ่งเขตหากในบ้านมีแมวหลายตัวจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่กว้างมากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งมีพื้นที่ให้แมวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น คือน้องได้ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ เช่น ระเบียงสามารถปรับเปลี่ยนด้วยตะแกรงหรือตาข่ายเพื่อปิดล้อม ทำให้แมวสามารถเข้าใช้ได้ฟรีเมื่อทาสไม่อยู่บ้าน รวมถึงพฤติกรรมเฉพาะของแมวที่ชอบใช้ ‘พื้นที่แนวตั้ง’ มากกว่าพื้นที่แนวราบ เพราะมันชอบปีนป่าย และรู้สึกปลอดภัยเมื่อสามารถเกาะอยู่บนที่สูงได้ ดังนั้นการสร้างพื้นที่ที่แมวสามารถเกาะขึ้นไปอยู่บนที่สูงได้ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสร้างบ้านอยู่ร่วมกันระหว่างคนและแมว
นอกจากนี้พื้นที่บ้านอาจต้องทำให้พื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ซ่อนตัวและพักผ่อนของน้องแมว รวมถึงการวางสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็นของน้อง ทั้งชามข้าว ชามน้ำ ที่ควรแยกออกจากกัน ตามนิสัยแมวที่ไม่ดื่มน้ำใกล้กับชามอาหาร รวมถึงหญ้าที่แมวใช้กินสำหรับช่วยย่อยอาหาร และกระบะทรายแมวสำหรับขับถ่าย เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและสบายใจแก่น้องแมว เมื่อแมวมีพื้นที่ที่รู้สึกว่าเป็นของตัวเองก็จะสามารถลดความเครียด กังวล และความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อพื้นที่นั้นๆ ได้มากขึ้น
จากพฤติกรรมของแมวมาสู่งานออกแบบ
นอกจากพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว การออกแบบบ้านในด้านอื่นๆ ยังช่วยให้แมวของเราสบายใจขึ้นได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงลักษณะนิสัยหลักของแมว เช่นการติดตั้งหน้าต่างบานใหญ่ให้น้องได้ใช้ทั้งนอนอาบแดด ส่องนกและสัตว์เล็กอื่นๆ รอบบ้าน และได้เห็นเงาสะท้อนของตัวเองที่ทำให้มันเข้าใจว่าเป็นแมวตัวอื่นก็เป็นอีกหนึ่งความสุขของแมว ทั้งนี้การเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ด้านในและด้านนอกบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่นการใช้ช่องประตูแมว ที่ให้น้องแมวสามารถวิ่งเข้า-ออกบ้านได้อย่างอิสระนอกจากนี้การออกแบบบ้านให้รรับกับพฤติกรรมเจ้านายงานดีไซน์เช่นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ก็ยังมีที่ออกแบบให้เหมาะกับแมวและคน เช่น P.O.D.System shoe งานที่ได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมชอบเล่นปีนป่ายของแมวจนออกมาเป็นชั้นวางรองเท้าและที่แขวนเสื้อผ้าของคน ขณะเดียวกันก็เป็นเสาของเล่นให้น้องแมวปีนป่าย ได้ นอกจาก P.O.D.System shoe ยังงานออกแบบอีกชิ้นอย่าง Neko Cat tree ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ปีนป่ายและนอนเล่นของแมว ด้วยดีไซน์ที่โมเดิร์นและคงความมินิมอลไว้ นอกจากฟังก์ชั่นทั้งกับคนและแมว ก็ยังเป็นของตกแต่งให้กับบ้านได้อีกด้วย
ปัญหาของแมวกับบริบทเมือง
แม้แมวจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักสำหรับเรา แต่ในหลายๆ พื้นที่ของเมือง ปัญหาแมวจรยังมีอยู่ เนื่องจากแมวจรนั้นอาศัยอยู่ด้านนอก และไม่คุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับมนุษย์เท่าแมวบ้านจึงไม่สามารถนำมาไว้อยู่ในบ้านได้ทุกตัวจากการศึกษาของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ หรือ IUCN พบว่า แมวบ้านและแมวจรมีส่วนทำให้นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ในพื้นที่ดังเดิมสูญพันธ์ุมากถึง 26% รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวงจรการคุกคามต่อๆ กันไปเพิ่มถึง 25 % โดยสาเหตุหลักเกิดจากการนำแมว ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์นอกระบบนิเวศเข้าไปในบริเวณพื้นที่จำนวนที่มากเกิน ส่งผลต่อความไม่สมดุลของธรรมชาติ ปัญหานี้เเลยต้องมีนโยบายสาธารณะที่ดี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อทั้งแมว สิ่งมีชีวิอื่นๆ และมนุษย์ เช่นการจัดการพื้นที่ หรือทำหมันให้กับเหล่าแมวจร เพื่อกำหนดและควบคุมจำนวนให้ประชากรแมวไม่มากเกินไป
แต่ก็มีหลายเมือง หลายพื้นที่ที่อนุญาตให้แมวจรเข้าไปอาศัยได้ โดยจะสร้างนโยบายหรือเข้าไปควบคุมและดูแล เช่นเกาะ Umashima ของประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสวัสดิภาพสัตว์ที่อุทิศให้กับการดูแลและทำหมันประชากรแมวบนเกาะ รวมถึงเกาะที่มีแมวอื่นๆ ของญี่ปุ่น ก็ได้รับการเข้าช่วยจัดการกับจำนวนประชากรแมว และดูแลระบบนิเวศโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศดั้งเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
Inspired by Cats are cute
- Pharin Opasserepadung
Writer