เราเริ่มมีประเด็นเรื่องเมืองที่หันเหการพัฒนาจากเมืองของรถยนต์ไปสู่เมืองของผู้คน
การเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาเมืองนี้ก็เนื่องด้วยเหตุผลหลายด้านตั้งแต่ประเด็นเรื่องการตอบสนองต่อภาวะความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ถึงการตระหนักได้ว่าเมืองที่ออกแบบเพื่อรถยนต์เป็นเมืองที่ไม่ดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย การก้าวไปสู่เมืองที่รถยนต์มีความสำคญน้อยลงไปจนถึงความฝันแบบใหม่คือเมืองไร้รถยนต์เป็นสิ่งที่เมืองจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงด้วยการปรับลักษณะการใช้งาน หนึ่งในสัญญาณที่น่าสนใจว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังพยายามผลักดันพื้นที่เมืองไปสู่ดินแดนของการเดินคือการที่หลายเมืองเริ่มค่อยๆ ปรับการใช้งานถนน จากเดิมที่เป็นพื้นที่ของรถยนต์ไปสู่พื้นที่ของการเดินเท้าและการใช้ชีวิตแบบอื่นๆ
ในวันที่หลายเมืองค่อยๆ ทดลองปิดถนน กำหนดโซนไร้รถยนต์ City Cracker ชวนไปดูโปรเจกต์ปิดถนนจากใจกลางเมืองใหญ่ทั่วโลก จากการปิดถนนนับร้อยสายในห้าเขตหลักของนิวยอร์กทีจะหมุนเวียนปิดถนนเพื่อเปิดให้ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ ความฝันของลอนดอนที่วางแผนโซนไร้รถที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองหลวงทั้งหมด การเปิดคาร์ฟรีเดย์ของปารีสที่จะปิดฌ็องเซลิเซ่เดือนละครั้ง ไปจนถึงแผนการปิดสะพานให้คนเดินข้ามแม่น้ำฮันของกรุงโซลเพื่อให้พื้นที่ริมแม่น้ำเป็นพื้นที่ของผู้คนเต็มรูปแบบ
New York Open Streets โปรเจกต์เปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่สาธารณะของนิวยอร์ก
โปรเจกต์ Open Streets ของเมืองนิวยอร์กเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สร้างความฮือฮาในระดับโลก ตัวโปรเจกต์นี้จริงๆ เป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ช่วงที่ทั่วโลกปิดเมือง ผู้คนหยุดการเดินทางและอยู่กับบ้าน ทางนิวยอร์กเลยออกโปรเจกต์พิเศษทำการเปิดถนนขนานใหญ่ขึ้น คือเมืองมองว่าผู้คนต้องการพื้นที่เปิดโล่งในช่วงโรคระบาด รวมถึงการช่วยกิจการต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ดังนั้นทางเมืองก็เลยจัดการปิดถนนจำนวนมากในห้าเขตสำคัญของเมือง โดยการปิดถนนนั้นก็คล้ายกับการปิดถนนคนเดิน บางส่วนอนุญาตให้ร้านค้าออกมาใช้พื้นที่ถนนในการนั่งรับประทานหรือขายอาหารเครื่องดื่มได้ โปรเจกต์นี้ถือเป็นโปรเจกต์ค่อนข้างใหญ่ มีการปิดถนนหลักร้อยสายหมุนเวียนกันไป
หลักการที่น่าสนใจหนึ่งคือทางเมืองบอกว่าโปรเจกต์นี้เป็นการเปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ จากพื้นที่ของรถยนต์สู่พื้นที่ของทุกคน เป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อกันและสร้างชุมชนขึ้น โดยหลังจากโรคระบาดคลี่คลาย ทางเมืองประกาศนนโยบายปิดถนนนี้ต่อ ซึ่งถนนที่ปิดนั้นจะสลับสับเปลี่ยนกันไป สามารถดูรายชื่อ วัน-เวลาที่ปิดถนนได้ในเว็บไซต์
London Capital Car Free Zone เป้าหมายพื้นที่ไร้รถกลางลอนดอน
การเปิดโซนไร้รถยนต์เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เมืองต่างๆ พยายามจะทำ คำว่าโซนไร้รถยนต์ในปัจจุบันค่อนข้างหมายถึงการปิดพื้นที่กลางเมืองหรือพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น และห้ามรถทั่วไปวิ่ง เปิดถนนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ให้คนเดิน ขี่จักรยานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ลักษณะการเปิดพื้นที่ไร้รถยนต์นำไปสู่การใช้พื้นที่ถนนที่เป็นพื้นที่ของคนเดินเท้ามากขึ้น บางความคิดเสนอว่าการเดินนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือการปิดไทม์สแควร์ให้เป็นพื้นที่คนเดินเมื่อสิบปีที่แล้วซึ่งกลายเป็นต้นแบบและความเข้าใจใหม่ให้กับทั่วโลก
กลับมาที่ลอนดอน ลอนดอนเป็นอีกเมืองหลวงที่พยายามนำพื้นที่กลับไปสู่การเดินเท้า จำกัดปริมาณรถยนต์ ปัจจุบันลอนดอนมีการเปิดโซนมลพิษต่ำ คือมีการกำหนดโซนเมื่อรถยนต์เข้าพื้นที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ แผนใหญ่สำคัญของลอนดอนคือการวางให้พื้นที่ใจกลางเมืองเป็นโซนไร้รถยนต์ซึ่งถือว่าถ้าสำเร็จจะเป็นการเปิดโซนไร้รถในพื้นที่เมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดของโลก จากแผนของเทศมนตรีซาดิก ข่าน เราจะเห็นผังถนนหนทางกลางเมืองลอนดอนที่เริ่มเป็นพื้นที่เฉพาะรถบัสและจักรยาน และค่อยๆ มีถนนสายที่เปิดเฉพาะการเดินเท่านั้น
นอกจากการกำหนดโซนที่เป็นปลายทางแล้ว ลอนดอนยังพยายามกีดกันรถยนต์และสนับสนุนการเดินเท้าและขนส่งสาธารณะบนถนนสายสำคัญเช่นถนนเก่าแก่ระหว่างลอนดอนบริจกับสถานีวอเตอร์ลู ควบคู่ไปกับการเพิ่มและปรับปรุงสาธารณูปโภคของเมืองเกี่ยวกับการเดินเช่นทางเท้า ทางจักรยาน
Paris Monthly Car Free Day ปิดถนนทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนของปารีส
ปารีสเป็นอีกเมืองใหญ่ที่พยายามจะเปิดให้เป็นเมืองผู้คน ปารีสภายใต้การนำของเทศมนตรีหญิงอานน์ ไฮดาโก มีแผนที่จะทำให้กลางกรุงปารีสเป็นพื้นที่สวนขนาดใหญ่และเป็นที่สำหรับการเดิน ปารีสเองมีหลายแผนที่จะไปสู่เมืองไร้รถยนต์ตามที่ฝันไว้ เช่น การให้เด็กและวัยรุ่นขึ้นขนส่งสาธารณะฟรี การปรับปรุงเพิ่มเติมทางจักรยานและส่งเสริมวัฒนธรรมจักรยาน หนึ่งในแผนสำคัญของเมืองไร้รถคือทำให้ผู้คนชินกับเมืองและการสัญจรที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว นั่นคือการจัดคาร์ฟรีเดย์
ความพิเศษของกรุงปารีสคือ โดยทั่วไปเราอาจเห็นการจัดคาร์ฟรีเดย์ปีละครั้ง บ้างก็เป็นการขอความร่วมมือ บ้างก็ปิดถนนสายสำคัญทั่วเมืองและเปิดให้คนขี่จักรยานไปเลย สำหรับปารีสก็มีการปิดถนนสายหลักตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2022 ปารีสเริ่มจัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ของเดือน โดยจะเปิดคาร์ฟรีโซนบริเวณเขตชั้นในสี่เขตคือเขต 1-4 (arrondissements หรือ เขตของปารีสจะนับเลขจากกลางเมืองไล่ออกมาเหมือนก้นหอย) โซนไร้รถปารีสเรียกว่า Paris Respire คือเป็นโซนที่ให้ทั้งเมืองและคนปารีสได้หายใจ (Respire-ภาษาฝรั่งเศสคือการหายใจ) โซนไร้รถจะปิดถนนตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็น โดยนอกเขตที่ปิดถนน ปารีสยังออกกฎควบคุมความเร็วที่ต่ำมากในถนนสายหลักบางสาย คือกำหนดความเร็วที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โปรเจกต์ปารีสหายใจได้นี้เป็นโปรเจกต์ที่ทำแล้วหยุดพักไปบ้างบางช่วงสัมพันธ์กับช่วงโควิดที่เปิดถนนให้คนขับจักรยาน โดยล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมาปารีสก็กลับมาประกาศให้ทุกวันอาทิตย์แรกเป็นวันไร้รถกลางกรุงปารีสอีกครั้ง
Ginza Pedestrian Paradise ปิดกินซ่าเพื่อเดินช้อปปิ้ง
ย้ายกลับมาที่เอเชีย กับกรุงโตเกียว หนึ่งในเมืองที่ถือว่าเป็นสวรรค์ของคนเดินเท้า ที่โตเกียวมีย่านและถนนชอปปิ้งสายสำคัญคือย่านกินซ่า ที่ย่านกินซ่ามีธรรมเนียนน่าสนใจที่ทางย่านจะปิดถนนที่รายล้อมไปด้วยห้างและร้านค้าเป็นถนนคนเดินขนาดยักษ์ซึ่งย้อนกลับไปได้เก่าแก่ตั้งแต่ปี 1970 ปัจจุบัน ทุกๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถนนสำคัญของกินซ่าคือ Chuo-dori จะทำการปิดถนนที่คับคั่งและเปิดให้กลายเป็นสวรรค์ของคนเดินเท้าหรือ pedestrian paradise การปิดถนนในช่วงเวลาทั้งวันถือเป็นลักษณะพิเศษหนึ่งของกรุงโตเกียวและย่านกินซ่า
ถ้าเราย้อนประวัติศาสตร์การปิดถนนเพื่อการช้อปปิ้งและการเดินอย่างไม่ต้องห่วงรถนี้ ย่านกินซ่าได้ทดลองปิดถนนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1970 นับเป็นหนึ่งในการทดลองและธรรมเนียมการเปิดถนนให้ผู้คนที่เก่าแก่มาก โดยในยุคนั้นกินซ่าจะปิดถนนในวันอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม และทำการปิดถนนในวันดังกล่าวจนกลายเป็นธรรมเนียมประจำปี กิจกรรมการปิดถนนนั้นเรียกว่า Holiday Promenade นับเป็นย่านเดียวของโตเกียวที่ปิดถนนเป็นธรรมเนียมประจำปีและกลายเป็นการปิดถนนถาวรเพื่อการเดินช้อปปิ้งถาวรในวันหยุดเสาร์อาทิตย์
Car Free Jamsugyo Bridge เปิดสะพานและพื้นที่ริมน้ำให้คนเดินที่โซล
จากญี่ปุ่น มาที่เกาหลี เกาหลีโดยเฉพาะกรุงโซลเป็นอีกเมืองที่มุ่งพัฒนาโดยเน้นการเดิน มีการเปิดและจำกัดปริมาณรถยนต์ เพิ่มพื้นที่ของการเดินในเขตกลางเมืองตั้งแต่เปิดคลองชองกเยชอนไปจนถึงการปรับจัตุรัสกวางฮวามุนเป็นพื้นที่ของการเดิน โดยที่โซลเราอาจนึกภาพกิจกรรมสำคัญคือการไปเยี่ยมชมแม่น้ำฮัน มีสวนสวยๆ ริมแม่น้ำจำนวนมาก หนึ่งในไฮไลท์ของโซลคือสะพานใหญ่สองชั้นที่ชื่อว่า Jamsugyo Bridge สะพานแห่งนี้เป็นที่ๆ เราสามารถไปยืนดูการแสดงสะพานสายรุ้งและน้ำพุในยามค่ำคืนได้ ปัจจุบันตัวสะพาน Jamsugyo Bridge อันเป็นสะพานชั้นล่างของสะพานสองชั้น ได้เปิดเป็นเลนจักรยานและพื้นที่การเดินบ้างแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้มีแผนที่จะปิดสะพานดังกล่าวและเปิดเป็นพื้นที่เพื่อการเดิน
สำหรับการทดลอง ทางกรุงโซลได้มีการปิดสะพานดังกล่าวเป็นกิจกรรม คือปิดทุกวันอาทิตย์ช่วงหลังเที่ยงในเดือนพฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา การปิดสะพานนี้จะเชื่อมโยงกับสวนและการใช้พื้นที่สาธารณะและกิจกรรมริมแม่น้ำ ช่วงทดลองที่ผ่านมาทางเมืองก็จะจัดควบคู่ไปกับกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น ตลาดนัด เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เดินเล่นบนสะพานอย่างเต็มที่ ซึ่งงานดังกล่าวมีชาวโซลไปเดินเล่น กินดื่ม ชมตลาดนัดแสงจันทร์และสะพานสายรุ้งอย่างคับคั่ง การปิดสะพานช่วงกลางปีที่ผ่านทางโซลบอกว่าได้รับความนิยมถล่มทลายคือหนึ่งในสิบของชาวเมืองมาร่วมเดินเล่นและงานเทศกาลริมแม่น้ำ ล่าสุดเลยประกาศจัดเพิ่ม คือจัดทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยา ยาวไปถึงวันที่ 12 เดือนพฤศจิกายน โดยจะปิดสะพานและจัดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเที่ยงถึงสามทุ่ม ใครที่ไปโซลก็ลองแวะไปที่สะพานกันได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
nyc.gov
timeout.com
dailymail.co.uk
jerseyeveningpost.com
dishes-japan.com
trulytokyo.com
english.seoul.go.kr
tbs.seoul.kr
- Vanat Putnark
Writer
- Warunya Rujeewong
Graphic Designer