เรื่องย้ายเมืองหลวงยังไม่เท่าไหร่ โลกเองก็มีปัญหา มนุษย์เราก็เคยมองขึ้นไปบนฟ้า และเตรียมการว่าวันหนึ่งดาวเคราะห์สักดวงบนจักรวาลที่ไร้ขอบเขต อาจเป็นบ้านหลังใหม่ของเราก็ได้ ดาวอังคารเป็นเป้าหมายสำคัญของเรามานานแสนนาน ทุกวันนี้เรามีรถสำรวจของนาซ่าขึ้นไปวิ่งสำรวจผิวดาวกันเป็นที่เรียบร้อย หนึ่งในปัญหาคือ ถึงดาวอังคารจะเป็นบ้านใหม่ของเราได้ แล้วเราจะสร้างอาณานิคมใหม่ขึ้นยังไงดี ล่าสุดทางสถาปนิกจากมาเลเซียเสนอโครงการให้ปลูกไม้ไผ่ขึ้นบนดาว และใช้หุ่นยนต์สร้างอาคารขึ้นจากไม้ไผ่เตรียมรอไว้
ดาวอังคารเป็นความฝันของมนุษย์มาตั้งแต่ราวทศวรรษ 1960s แรกเริ่มจินตนาการเรื่องดาวอังคารเกิดจากความผิดพลาดของการแปล ในตอนนั้นมีนักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนสามคน ทำแผนที่จากการส่องกล้องไปที่ดาวอังคารไว้ ทีนี้แผนที่เจ้ากรรมมีคำหนึ่งที่ระบุว่าเป็น ‘canali’ พอแปลคำนี้ออกเป็นภาษาอังกฤษ ก็ดันแปลว่า ‘canal’ ที่แปลว่าแนวคลอง คราวนี้นักดาราศาสตร์ นักเขียน ไปจนถึงมวลชนพอได้เห็นแผนที่ก็เข้าใจว่า เฮ้ย ดาวมีอังคารมีคลอง คำว่าคลองนี้มีนัยว่า เป็นสิ่งที่ ‘ถูกสร้างขึ้น’ หลังจากนั้นก็เลยมีความเข้าใจกันว่า ดาวอังคารเป็นดาวที่เคยมีอารยธรรมบางอย่างอยู่ หลังจากนั้นก็มีนิยายไซไฟ มีหนัง มีการสำรวจความเป็นไปได้ของดาวอังคาร ที่จะมีสิ่งมีชีวิต หรืออาจจะเป็นแหล่งอาศัยใหม่ของเราก็เป็นได้
นอกจากการสำรวจเรื่องแหล่งน้ำ สภาวะอากาศ ว่าเราจะอยู่บนดาวอังคารได้ไหมแล้ว จากภูมิทัศน์อันเวิ้งว้างของผิวดาว เราจะไปเริ่มสร้างเมือง สร้างบ้านเรือนกันอีท่าไหน จะขนข้าวของจากดาวโลกไปไหวไหม ทางนาซ่าผู้ส่งสารพัดข้าวของไปดาวอังคาร เริ่มก้าวต่อไปในการลงหลักปักฐาน นาซ่ามองว่าระบบ 3D printing นี่แหละที่จะเป็นทางออกของเรา ปีที่แล้วปี 2018 น่าจะระดมประกวดไอเดียออกแบบโครงการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารโดยใช้เครื่องปรินต์สามมิติ หนึงในผู้ชนะเสนอระบบสร้างบ้านเรือนด้วยเครื่องปรินต์ที่ใช้วัสดุจากผิวดาวเองสร้างเป็นอาคารแปดเหลี่ยมหลายๆ หลัง การประกวดของนาซ่าพิจารณาตั้งแต่แนวคิดการใช้ทรัพยากร ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นชุมชนใหม่บนดาวดวงอื่น
ล่าสุด Warith Zaki และ Amir Amzar นักออกแบบจากมาเลเซียบอกว่า การสร้างวัสดุสังเคราะห์จากพื้นดาวที่ดูจะฮิตๆ กันตอนนี้อาจจะไม่เวิร์ก กลายเป็นดาวแล้งๆ บนตึกแล้งๆ ถึงเราจะไปสู่ดาวใหม่ ก็น่าจะต้องหาทางปรุงบรรยากาศให้กลมกล่มระหว่างวัสดุธรรมชาติและงานทางสถาปัตยกรรม
ทางผู้ออกแบบจึงเสนอโครงการ Seed of Life เป็นแนวคิดที่ออกแบบกลุ่มอาคารอาณานิคมใหม่ที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างไม้ไผ่ ไอเดียจากทางเอเชียก็ฟังดูเอเชียดี แนวคิดก็ไม่ซับซ้อนคือส่งหน่อไผ่ขึ้นไปพร้อมกับระบบหุ่นยนต์ ปลูกไผ่เสร็จ ก็ใช้ระบบหุ่นเอาไผ่ไปสานสร้างเป็นโครงสร้าง ในโครงการมีการออกแบบขั้นตอนไว้ค่อนข้างละเอียด คือบนดาวอังคารพบแผ่นน้ำแข็ง ทางโครงการจะมีแปลงเพาะไผ่สำเร็จรูป พอเจอแหล่งน้ำแข็งปุ๊บ ตัวแปลงนี้ก็จะไปแปะอยู่บนน้ำแข็งและค่อยๆ เจาะน้ำแข็งเพื่อดึงน้ำสู่แปลงปลูก หลังจากนั้นสามปีต้นไผ่โตเต็มที่ ระบบก็จะตัดต้นไผ่ในแปลงปลูกและสานเป็นโครงสร้างโดยใช้ฐานจากแปลงปลูกนั้น
ตามเป้าหมาย แต่ละโมดูลจะใช้เวลาสร้างทั้งสิ้นเพียงหกปี ผู้ออกแบบบอกว่า มนุษย์เราเชี่ยวชาญการสร้างที่พักจากไม้และจากวัสดุธรรมชาติ ถ้าเราจะไปสร้างดินแดนใหม่ เราก็อาจสามารถหยิบเอาภูมิปัญญาเก่าแก่บินขึ้นไปบนอวกาศได้ด้วย และที่สำคัญคือจากข้อเสนอใหม่ๆ เรื่องไม้ไผ่นี้เป็นการชวนนักออกแบบมาช่วยกันจินตนาการ ช่วยกันหาแนวทางและวัสดุใหม่ๆ ในข้อจำกัดใหม่ๆ ที่พ้นไปจากผิวโลกใบนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
dezeen.com/mars-colony-bamboo-warith-zaki-amir-amzar/
dezeen.com/nasa-announces-winners-3d-habitat-centennial-challenge-competition-printed-habitat-mars/
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
- Vanat Putnark
Writer