CITY CRACKER

เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างผ่านสถาปัตยกรรมบ้านช้างบ้านคน บนเวทีงาน Venice Biennale 2021

เทศกาล Venice biennale 2021 กลับมาอีกครั้งในตีมของ How will we live together ความน่าตื่นตาตื่นใจของปีนี้คือไทยเองได้มีโอกาสร่วมส่งผลงานไปจัดแสดงด้วย ในผลงาน ‘บ้านช้างบ้านคน’ ศาลาไม้ที่ได้แรงบันดาลใจจากหมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านที่ช้างและคนอาศัยร่วมชายคาเดียวกัน ออกแบบโดยผศ. บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกชื่อดังของไทย และดูแลประสานงานโดยรศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและสนใจด้านการออกแบบเพื่อสาธารณประโยชน์

ตัวงาน Venice biennale หรืออีกชื่อหนึ่งถูกเรียกว่า the art world Oplympic เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกรอคอย จัดขึ้นมาทุกๆ 2 ปี นับจากปีแรกที่เริ่มจัดแสดงงานจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ 120 ปีแล้ว ผลงานศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งงานนิทรรศการ เพอฟอร์แมนซ์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม จากศิลปินทั่วโลก City cracker จึงชวนทั้งรศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข ในฐานะคิวเรเตอร์ของงาน Venice Biennela และผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ในฐานะศิลปินเจ้าของผลงาน พูดคุยถึงที่มาที่ไป ความหมายและนัยยะของความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับคน รวมถึงการสื่อสารที่ทั้งคู่พยายามจะบอกให้กับคนไทยและทั้งโลกได้ยินผ่านผลงานบ้านช้างบ้านคนนี้กัน

 

How will we live together 

How will we live together เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร คือตีมหลักของ venice benienele 2021 ครั้งนี้  รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข ผู้ประสานงานและดูแลไทยพาวิลเลียนครั้งนี้ ได้ปรึกษาหารือกับทีมก่อนชักชวนผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกระดับปรมาจารย์ที่มีผลงานล่าสุดคือสเตเดียมช้าง ผลงานที่ผสานธรรมชาติและไม่ได้ออกแบบเพียงเพื่อมนุษย์ จนเกิดงานสถาปัตยกรรมโลกของช้างขึ้นมา มาร่วมทำผลงานพาวิลเลี่ยนขนาดเท่าสเกลจริงเพื่อส่งไปตั้งยังประเทศอิตาลีกัน 

อาจารย์อภิรดีในฐานะคิวเรเตอร์จึงเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อมาตอบโจทย์ How will we live together ที่หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ 

“บริเวณหมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างกันเยอะ เป็นชุมชนของชาวกุยที่เขามีภาษามีวัฒนธรรมของเขาเอง คนที่นี้มีประเพณีหมอช้าง มีเชือกประกำช้าง และมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับช้างทั้งหมด

ช้างเหล่านี้เป็นช้างบ้าน การเป็นช้างบ้านแปลว่าเขาจะชินกับคน ชุมชนมีวิถีในการอยู่กับช้างอยู่แล้ว  วิถีหนึ่งของเขาถือต้องหาอาหารมาให้ช้างกินให้ได้เพราะช้างต้องกินตลอดเวลา  เขาบอกกับเราว่าช้างมันต้องกิน ยังไงก็ต้องหามาให้กินให้ได้ ช้างมันเป็นเหมือนลูก รวมถึงพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวกันกับช้าง เช่น บวชช้าง พิธีช้างตาย ตักบาตรช้าง เป็นวิถีเป็นวัฒนธรรมของเขาจริงๆ 

ตัวพื้นที่จึงมีมีลักษณะที่น่าสนใจ เพราะแต่ก่อนเป็นป่าเสื่อมโทรม แล้วพอคนกับช้างเข้าอยู่มันเริ่มมีต้นไม้เขียวๆ ขึ้น คนเริ่มปลูกหญ้าให้ช้าง มันกลายเป็นหมู่บ้านที่มีสเกลใหญ่เป็นหลัก คือสเกลของช้างและมีคนเข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกัน” 

การตีความถึงพื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างช้าง ออกแบบสถาปัตยกรรมที่อนุญาตให้สิ่งมีชีวิต 2 สปีชีส์ 2 ขนาด สามารถอยู่ร่วมกันบนพื้นที่เดียวกันได้อย่างลงตัวบนวิถีชีวิตดั้งเดิม กลายมาเป็นผลงานพาวิลเลียน ‘บ้านช้างบ้านคน’ อย่างที่เราเห็นกัน   

 

How will we design 

ชื่องาน ‘บ้านช้างบ้านคน’ เกิดจากประเด็นที่ผศ.บุญเสริมสนใจ คือเรื่อง scale และ dimension โดยโฟกัสที่สเกลขนาดตัวช้างเป็นหลักในการออกแบบ ปกติแล้วหมู่บ้านช้างแห่งนี้จะมีเสาเดี่ยวไว้สำหรับผูกช้าง กลางวันช้างจะมาอยู่ตรงนั้นและกลางคืนจะเก็บช้างเข้าบ้าน ส่วนพื้นที่บ้านก็จะแบ่งฝั่งกัน คนฝั่งหนึ่ง บ้านช้างอีกฝั่งหนึ่งแต่ใช้หลังคาเดียวกัน 

พาวิลเลียนชิ้นนี้จึงออกมาเรียบง่ายแต่ชัดเจน หยิบความโดดเด่นเสาเดี่ยวของช้างมาตั้งเป็นหลักปักเสียบลงไปง่ายๆ บนพื้นดิน ให้เสาจากบ้านคนอีกฟากหนึ่งค้ำจุนเสาเดี่ยวของช้างไว้ พร้อมปูหลังคาลงบนเสาทั้งสองฝั่ง เพื่อให้เกิดเป็นหลังคาที่ไล่ระดับจากสูงไปเตี้ยที่เกิดจากขนาดของเสาที่ไม่เท่ากัน ให้ความรู้สึกเหมือนเราเดินเข้าไปในบ้านคน ขนาดพอเหมาะพอดีกับตัวเราก่อนจะผูกช้างไว้ที่เสาเดี่ยวในฝั่งบ้านช้าง แสดงถึงนัยยะของความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันและกันของสองสิ่งมีชีวิต 

 

 

อีกหนึ่งความน่าสนใจของงานออกแบบพาวิลเลียนครั้งนี้คือการคำนึงถึงช้างเป็นศูนย์กลาง โดทางผู้ออกแบบก็ได้ศึกษาระบบนิเวศชีววิทยาของช้างถึงความต้องการ ความชอบ ทั้งอาหาร พื้นที่  สิ่งแวดล้อม หลังการพูดคุยกับชาวบ้านจนเข้าใจถึงความเป็นช้างอย่างถ่องแท้ อาจารย์อภิรดีและอาารย์บุญเสริมจึงหยิบประเด็นนี้มาเป็นตัวชูโรงในงานออกแบบชิ้นนี้

“ผมต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรม สะท้อนถึงสังคมผมว่าที่ผ่านมาเราเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางตลอด บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีมองวิธีคิดดูครับ ในโลกนี้ไม่ได้มีแค่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตแค่สปีชีส์เดียวเราต้องเปลี่ยนมุมมองดู การที่เราจะอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั้น คนกับช้างในงาน venice biennale ครั้งนี้มันเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวนะครับ และเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราหยิบเอาประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วก็ศึกษาลงไปในลึกยิ่งขึ้น ขยายความ หาเหตุผล ทำความเข้าใจว่าเขาอยู่ด้วยกันมายังไง 

สถาปัตยกรรมมันไม่ได้เป็นศูนย์กลาง มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนความคิด กระทั่งสะท้อนให้เห็นว่าสัตว์เอาตัวรอดอย่างไร คนเอาตัวรอดอย่างไร แล้วการเอาตัวรอดของทั้งคนทั้งสัตว์มันมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างไร คนอดได้แต่ช้างอดไม่ได้ ฉะนั้นคนก็จะอดก่อนที่ช้างจะอด คนเลี้ยงเขาก็จะไม่ยอมให้ช้างอด”

พาวิลเลียนนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ common space ที่ทำให้คนและช้างได้มาใช้เวลา รู้จักกัน และร่วมแบ่งปันพื้นที่ส่วนกลางด้วยกัน กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดเข้าด้วยกันโดยที่ไม่มีใครสำคัญมากหรือน้อยไปกว่าใคร


How will we see thing differently 

อีกหนึ่งความยากที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ต่อทุกคนบนโลกคือเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดหนักๆ ส่งผลให้งานต้องหยุดชะงักไปแม้ศาลาไม้หลังนี้เสร็จพร้อมขนส่งไปตั้งยังประเทศอิตาลีแล้วก็ตาม หลังจากโดนเลื่อนไป 3 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง ทางอาจารย์ทั้งสองและทีมจึงตัดสินใจยกพาวิลเลียนของจริงไปไว้ที่หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์แทน ผลตอบลัพธ์ที่ได้เองก็เป็นที่น่าพอใจของทั้งฝ่ายผู้ออกแบบและผู้ใช้งาน 

“ชุมชนรู้สึกว่าการมีศาลานี้ทำให้เขาผูกพัน เขาดีใจที่ศาลานี้มาอยู่ที่นี่ วันที่ลงไปคุยกับชาวบ้าน เขารู้สึกว่าเขาชอบ เขาเองก็คุยกันว่าศาลานี้ชื่ออะไร เค้าบอกมาว่าไอ้เตี้ยๆ นี่เหมือนบ้านคน ไอ้สูงๆ เนี่ยบ้านช้าง คนที่เราทำเนี่ย เรียกบ้านคนบ้านช้าง แต่คนที่โน่นเขาเรียกบ้านช้างบ้านคน แค่การเรียกชื่อที่กลับกันมันทำให้เห็นเลยว่าเขาไม่ได้มองตัวเขา แต่เขามองช้างก่อน”

“พาวิเลียนที่ไม่ได้ถูกรื้อทิ้งแต่มันกลับมาเป็นประโยชน์กับชาวบ้านกับชุมชน กลายป็นสิ่งที่ดี การลงทุนไปเยอะๆ แล้วไม่ได้อะไรมันก็เสียโอกาส แต่ครั้งนี้มันทำให้เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองไป ชาวบ้านเองก็บอกว่าสวยงามดี เป็นเหมือนสัญลักษณ์ชีวิตของพวกเขา อยู่ไปนานๆ ก็อาจจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะนำความเจริญความโชคดีมาให้หมู่บ้านก็ได้”  

ในส่วนของงานที่เวนิส อาจารย์บุญเสริมปรับแต่งตามความเหมาะสมของพื้นที่และง่ายต่อการขนย้ายไปก่อสร้างในขนาดสเกลเท่าเดิม ปรับตัวหลังคาให้เหมาะสมเพื่อฉายโปรเจ็กเตอร์ลงบนผ้าใบหลังคา บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตากลาง ขยับพาวิลเลี่ยนให้ชิดไปที่มุมหนึ่งของห้อง ให้คนเข้ามามองเห็นคำอธิบายนิดหน่อย ทำความเข้าใจในเวลาสั้นๆ ขณะเดินชม  ทำให้งานพาวิลเลี่ยนชนิดนี้เป็นงานคู่ขนาน 2 แห่ง หลังหนึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่จริงและอีกหลังหนึ่งในพื้นที่นิทรรศการควบคู่กันไปแทน   

 

 

How will we answer the question 

ก่อนจบการพูดคุย อาจารย์อภิรดีได้ทิ้งท้ายถึงมุมมองที่เปลี่ยนไป พร้อมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ต่อไปงานของสถาปัตยกรรม และพื้นที่วิถีชีวิตของชุมชนกับสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน

“สถาปัตยกรรมเหมือนพื้นที่เชื่อมต่อ เป็นพื้นที่ที่ตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าหน้าที่ของมันเป็นอะไรได้บ้าง มันมีมุมมองย้อนกลับเข้ามาได้ยังไงบ้าง เราอาจจะใช้เทคโนโลยีก็ได้หรือไม่ใช้ก็ได้ อย่างเรื่องของคนกับช้าง เราพบว่าจริงๆ แล้ว คนที่หมู่บ้านตากลางเองก็มีพื้นที่อีกอันหนึ่งที่เขาแสดงออกไปผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหลายของเขาด้วยเหมือนกัน คืออันนี้มันเหมือนยังคงจำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมย้อนกลับมาถึงเรื่องพื้นที่ว่าอยู่ที่ไหนทำยังไง แล้วสองอันนี้มันจะมีคอนแท็คหรือความสำคัญ เป็นการตั้งคำถามซึ่งกันและกันยังไงได้บ้าง

ถ้าในอนาคตเราอยากอยู่ร่วมกับกับอีกสปีชีส์หนึ่ง ก็อยู่ร่วมกันแบบธรรมชาติๆ ธรรมดาๆ ก็ได้ การเข้าใจวิถีซึ่งกันและกันมันสะท้อนถึงความเรียบง่าย  สะท้อนธรรมชาติ เห็นความความผูกพันทั้งคนกับช้าง ทั้งในแง่ของสมาชิกในครอบครัวและแง่ของวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกัน”

 

พาวิลเลียนไม้ ณ หมู่บ้านตากลางจึงเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 สปีชีส์ ในขณะที่บนโลกเรามีอีกหลายร้อยสิ่งมีชีวิต และเมื่อมนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกอีกต่อไป เราอาจจะต้องปรับตัวเพื่อแบ่งปันพื้นที่ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน งานสถาปัตยกรรมเองเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ทำให้มองเห็นภาพ เชื่อมโยงเรากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้มากขึ้น

ราอยากชวนทุกคนให้มาลองคิดไปด้วยกันถึงความเป็นไปได้และหนทางที่เราจะอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกใบนี้กัน 

 

photography spaceshift studio; bangkok project studio
Share :