CITY CRACKER

จากเทคนิคสร้างโดมยักษ์ ถึงงานที่เด็กอายุ 21 ออกแบบ 7 แลนด์มาร์กจากการประกวดแบบ

การลงมือสร้างถาวรวัตถุ แลนด์มาร์ก หรือสถานที่สำคัญใดๆ นั้น หลายครั้งต้องการการระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้คน กระบวนการออกแบบและลงมือสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ หลายชิ้นจึงต้องมีการ ‘จัดประกวดแบบ’ อันเป็นทั้งธรรมเนียมเพื่อหางานที่ดีที่สุด และบางครั้งถือเป็นการฟังเสียงผู้คนด้วยว่างานนั้นๆ อาจกลายเป็นพื้นที่ของสาธารณะหรือกลายเป็นตัวแทนของปวงชนอันเกิดจากการลงทุนใช้เงินของผู้คนเอง

การประกวดแบบ ถือเป็นกิจกรรมที่ทั่วโลกทำกันมาเนิ่นนานแล้ว มีหลักฐานว่าสมัยกรีกก็มีการจัดการแข่งขันในการออกแบบสร้างมหานครอะโครโปลิสในยุคฟื้นฟูเมืองหลังจากถูกอนารยชนปกครอง ในยุคกลางต่อเรอเนซองส์ ที่ฟลอเรนซ์เองก็มีการจัดการแข่งขันเพื่อรับงานสร้างมหาวิหารดูโอโม่ ซึ่งในตอนนั้นแปลนของมหาวิหารวางไว้โดยมีโดมที่ใหญ่เกินกว่าวิทยาการจะสามารถสร้างได้ ด้วยการแข่งขันนั้นทำให้ผู้ชนะสามารถเสนอแนวทางเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่โดยตำนานเล่าว่าใช้ไข่ไก่ในการแสดงวิธีการจนได้รับงานและสร้างตัวโดมสำคัญที่ยืนยงมาจนถึงวันนี้ได้สำเร็จ

หลังจากนั้นก็มีหลักฐาน และกลายเป็นประเพณีในการออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่จะต้องมีการเปิดการประกวด เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด รับฟังอย่างกว้างขวางมากที่สุด การประกวดแบบนี้ได้รับความนิยมทางซีกโลกตะวันตก และค่อยๆ กลายเป็นธรรมเนียมโดยทั่วไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก

การประกวดแบบนั้น ถือเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของกระบวนการในการสร้างสิ่งใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนนั้น จะได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ การเปิดประกวดแบบทำให้เกิดการแข่งขัน เปิดรับความคิดที่ทำให้เราจะได้รับผลที่น่าสนใจและถูกต้องตามโจทย์ ซึ่งอาจจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ ดังที่เคยได้มาแล้วในอดีต กระทั่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ที่มีความสามารถได้แสดงฝีมือ เช่นที่มายา หลิน นักศึกษาเชื้อสายจีนอเมริกัน ชนะการออกแบบและรับงานสร้างอนุสรณ์สถานของอเมริกา จนเธอกลายเป็นสถาปนิกคนสำคัญ และติดหนึ่งในสถาปนิกที่ชาวอเมริกันรักมากที่สุด

เพื่อยืนยันว่าการประกวดเป็นกระบวนการที่สำคัญ City Cracker จึงรวมแลนด์มาร์กสำคัญๆ จากทั่วโลกที่ทั้งหมดนั้นเป็นผลจากการเปิดการแข่งขันและการจัดประกวดแบบเป็นสถาปัตยกรรม งานสร้างและงานช่างที่ผู้คนได้ร่วมกันออกความเห็น หาทางออก และเกือบทุกชิ้นเป็นการพาให้งานออกแบบก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง

Florence Cathedral Dome, Filippo Brunelleschi

พูดถึงฟลอเรนซ์ เราย่อมนึกถึงมหาวิหารสีขาวกลางเมืองพร้อมโดมขนาดยักษ์ วิหารที่มีชื่อจริงว่า Santa Maria Del Fiore ถือเป็นมหาวิหารที่มีอายุเก่าแก่มาก ตัวรากฐานถูกสร้างขึ้นราวปี 1293 เป็นหนึ่งในความทะเยอทะยานของเมือง และของการช่างในยุคนั้น คือมหาวิหารนี้ตามผังถือว่ามีโดมที่มีขนาดใหญ่ ใหญ่เกินกว่าที่เทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมในยุคนั้นจะสร้างได้ มหาวิหารแห่งนี้หลังจากสร้างไม่เสร็จมาเป็นร้อยปี

จนในปี 1418 ทางเมืองจึงจัดการประกวดแบบเพื่อหาผู้จะมารับงานและสร้างมหาวิหารแห่งนี้ให้เสร็จ ซึ่งการประกวดแบ่งเป็นส่วนๆ มีส่วนประตูที่ทำจากโลหะ โดยในส่วนโดมนั้น ตำนานเล่าว่าฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi) ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นบิดาแห่งสถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ ได้เสนอการสร้างโดมซ้อน คือเป็นการสร้างโดมขึ้นสองชั้น เล็ก และใหญ่โดยยึดไว้โดยโครงสร้างพิเศษ ตามตำนานเล่าว่าตัวบรูเนลเลสกีใช้ไข่ไก่หนึ่งใบในการแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าจะยึดโดมขนาดใหญ่ไว้ได้อย่างไร คือแกก็เคาะไข่แล้วก็วางซ้อนกัน

Houses of Parliament, Sir Charles Barry

หลายครั้งที่การจัดประกวดแบบมักจะเกิดขึ้นหลังวิกฤติ เป็นเหมือนการระดมความคิดนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญรวมถึงพลเมืองให้เข้ามาร่วมกันฟื้นฟูและร่วมสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ที่ลอนดอนเองก็เช่นกัน รัฐสภาอังกฤษ หรือพระราชวังเวสต์มินสเตอร์อันสวยงามและโด่งดังนี้ ก็เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการประกวด ตัวอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้รัฐเปิดการประกวดแบบก็ด้วยว่าตัวอาคารเดิมนั้นถูกไฟไหม้ไปในปี 1834 ซึ่งทางอังกฤษก็จัดการประกวดในปีถัดมา และได้ผู้ชนะเป็นชาร์ลส์ แบร์รี (Charles Barry) ในปี 1836

ในการประกวดแบบสำคัญในครั้งนั้น รัฐบาลอังกฤษระบุว่าแนวทางสถาปัตยกรรมต้องเป็นโกธิคหรือแนวอลิซาบีตัน มีแบบส่งเข้าประกวดทั้งหมด 97 รายการ ชาร์ลส์ แบร์รี่ผู้ชนะ เป็นเด็กหนุ่มอายุเพียง 23 ปีที่จับมือกับออกัสตัส เวลบี พูกิน (Augustus Welby Pugin) ในฐานะผู้ช่วยวาดแบบ ในการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันต้องส่งแบบประกวดพร้อม rebus เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประกอบขนาดเล็กซึ่งทางแบร์รี่เลือกใช้ portcullis คือซุ้มประตูป้อมที่สถาปนิกเลือกจากการสังเกตที่ประตูของโบสถ์น้อยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และเป็นตราประจำตระกูลของเลดี้มาร์กาเร็ตโบฟอร์ต ( Margaret Beaufort) ผู้เป็นพระมารดาและพระอัยยิกาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 และ 8 ตัวสถาปัตยกรรมที่เสนอเป็นโกธิคใหม่

ส่วนหนึ่งที่อังกฤษเลือกกลับไปหาสถาปัตยกรรมโกธิคคือตอนนั้นสหรัฐฯ สร้างทำเนียบขาวด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกแล้ว อังกฤษจึงเลือกกลับไปสู่ยุคโกธิคและเลือกผังอันซับซ้อนของแบร์รี่เป็นแปลนที่ชนะ โดยตัวผังของแบร์ร์รี่นั้นถือเป็นผังที่ซับซ้อน หลายส่วนของงานวาดทางสถาปัตยกรรม การก่อสร้างกินเวลาทั้งชีวิตที่เหลือของแบร์รี่ และหนึ่งในงานชิ้นเอกคือห้องสภาสามัญชนหรือ House of Commons ซึ่งสร้างเสร็จในปี 1854 และเป็นปีที่แบร์รี่ได้รับบรรดาศักดิ์อัศวิน

The Eiffel Tower, Gustave Eiffel

หอไอเฟล หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ตอนแรกผู้คนแสนจะไม่ชอบและกลายเป็นไอคอนซึ่งกำลังจะได้รับการปรับปรุงสำหรับโอลิมปิก ตัวหอไอเฟลนี้ก็มีที่มาจากการประกวดแบบ และประกวดในเชิงนวัตกรรม เทคโนโลยีการก่อสร้าง จุดเริ่มของหอไอเฟลคือการที่ปารีสจะจัดงานที่ชื่อว่า 1889 Exposition Universelle ซึ่งก็คือการฉลองเนื่องในโอกาสปฏิวัติฝรั่งเศสและทลายคุกบาสตีย์ งานฉลองนี้จัดเป็นเวิลด์แฟร์ที่เป็นการแสดงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ให้กับโลก

โดยโจทย์ที่เมืองปารีสตั้งก็เรียบง่ายว่าจะเป็นการสร้าง ‘หอคอยสูง 300 เมตร’ โดยที่มีฐาน 100 เมตร ตัวงานประกวดนั้นประกาศในปี 1886 และแน่นอนว่าผู้ชนะการประกวดก็คือหอไอเฟล ซึ่งผู้ชนะเป็นบริษัทกุสตาฟ ไอเฟล บริษัทวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงจากการสร้างโครงเหล็กในการหล่อเทพีเสรีภาพในฐานะของขวัญที่ฝรั่งเศสส่งให้สหรัฐฯ สำหรับตัวหอไอเฟลนี้มีวิศวกรของกุสตาฟสองคนคือ มอริส โคชลิน (Maurice Koechlin) และเอมีล นูกีเย (Émile Nouguier) ร่วมกับกุสตาฟเองร่วมกันใช้ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก ออกแบบเป็นเสาขนาดใหญ่ที่ใช้การถักสานโครงสร้างขึ้นจนกลายเป็นหอไอเฟลแบบที่สำเร็จ สำหรับการประกวดก็จะมีข้อมูลคือเราจะมีพวกภาพหอคอยแบบอื่นๆ เช่นหอคอยที่เป็นทรงกิโยตินขนาดยักษ์ โดยการประกวดแบบในยุคหลังเช่นไอเฟลนั้นเป็นการเอาชนะโจทย์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่จนกลายเป็นไอคอนของเมือง

White House, James Hoban

ในประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองหลวงของสหรัฐฯ จอร์จ วอชิงตันได้เลือกที่จะวางศูนย์กลางอำนาจใหม่บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ระหว่างเวอร์จิเนียและแมรี่แลนด์ โดยเทียบชั้นว่าพื้นที่ริมแม่น้ำโพโตแม็กนี้จะต้องเป็นเมืองหลวงที่ยอดเยี่ยมเทียบชั้นลอนดอนและปารีสได้ และในการสร้างเมืองนั้น ก็ต้องมีการออกแบบผังของแคปิตอลฮิลล์ และแน่นอนว่าต้องสร้างอาคารรัฐสำคัญสองแห่งคือทำเนียบประธานาธิบดี (House for the President) และสภาคองเกรส (House for the Congress)

ตอนแรกทางรัฐบาลก็เลือกสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อ Pierre Charles L’Enfant ซึ่งเป็นสหายรบ และก็ได้เป็นคนออกแบบวางผังตัวแคปิตอลฮิลล์และอาคารอื่นๆ แต่ว่าสุดท้ายตัว L’Enfant ก็เสื่อมความนิยมและไม่ได้รับการว่าจ้าง ทำให้ส่วนของทำเนียบประธานาธิบดียังไม่ได้สร้าง ทางโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในตอนนั้นก็เลยจัดการประกวดแบบสำหรับทำเนียบขาวขึ้นในปี 1792 ในการประกวดมีแบบส่งเข้าประกวดทั้งหมด 6 แบบ ผู้ชนะคือแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกของเจมส์ โฮบัน (James Hoban) ช่างไม้และช่างทำล้อชาวไอริชที่กลายมาเป็นสถาปนิกผู้สร้างหนึ่งในอาคารที่ทรงอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ตัวสถาปัตยกรรมทำเนียบขาวไม่มีหลักฐานมากนัก แต่รากฐานอาคารนั้นสร้างจากที่สถาปนิกฝรั่งเศสวางไว้ และมีหลักฐานว่าประธานาธิบดีเข้าร่วมปรับปรุงแบบจนได้เป็นอาคารแบบปัจจุบัน ตัวอาคารจึงมีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแมนชั่นแบบไอริช การเลือกงานออกแบบใหม่มีความน่าสนใจคือจากงานออกแบบฝรั่งเศสมีลักษณะคล้ายพระราชวัง แต่แบบของโฮบันนั้นค่อนไปทางคฤหาสน์ เป็นบ้านที่ถอดมาจาก Leinster House ที่ยังคงปรากฏอยู่ที่ดับลิน

Vietnam Veterans Memorial, Maya Lin

การกระจายโอกาส รวมถึงการได้โอกาสที่จะรับงานอันน่าทึ่งอย่างไร้ขอบเขต เป็นพลังสำคัญของการจัดประกวดแบบ อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกสงครามเวียดนามของอเมริกาเป็นตัวอย่างที่สำคัญมากของการประกวดแบบและการแจ้งเกิดสถาปนิกที่กลายมาเป็นไอคอนมายา หลิน (Maya Lin) นึกภาพว่าการที่เด็กคนหนึ่ง ค่อนข้างโนเนม เป็นลูกหลานผู้อพยพชาวจีน คงไม่มีโอกาสแน่ๆ ที่จะมาจับและได้ออกแบบสถาปัตยกรรมของชาติ แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมายา หลิน ลูกครึ่งจีน-อเมริกัน ที่ชนะการออกแบบและได้ออกแบบอนุสรณ์สำคัญ ในตอนนั้นเธอเป็นแค่นักศึกษาสถาปัตยกรรมที่มีอายุเพียง 21 ปี

มายา หลิน เป็นลูกหลานชาวจีนอพยพ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีทางสถาปัตยกรรมที่เยล หลินเคยเข้าไปที่อนุสรณ์สถาน The Rotunda ของมหาวิทยาลัยและหลงใหลกับการสลักชื่อบนแผ่นหินภายในอาคาร ในวิชาสัมมนาเธอนำเอาการสลักชื่อมาออกแบบพื้นที่อนุสรณ์สถานเป็นแนวกำแพงเรียบง่ายที่เรียงรายไปด้วยชื่อ ในตอนนั้นจากโปรเจ็กต์ในชั้นเรียน ทางอาจารย์ก็ได้สนับสนุนให้เธอส่งเข้าประกวดแบบในปี 1981 กลายเป็นว่าแบบอันเรียบง่ายและทรงพลังของเธอนั้นเอาชนะแบบอีก 1,421 แบบได้

ในตอนนั้น งานออกแบบของหลินคือกำแพงสีดำจากหินแกรนิตที่สลักชื่อของทหารที่เสียชีวิต ตัวอนุสรณ์สถานแห่งนี้ประกอบขึ้นบนความเรียบง่าย และหลินกลายมาเป็นสถาปนิกแห่งการสร้างพื้นที่ทางความรู้สึกและการจดจำผู้จากไป ช่วงแรกของการประกาศผู้ชนะ แบบของหลินถือว่าแปลกประหลาดในฐานะพื้นที่อนุสรณ์สถาน กำแพงสีดำยาวเหยียดที่ไม่มีการตกแต่งประดับประดา แต่ในที่สุดอนุสรณ์สถานแห่งนี้กลายเป็นดินแดนของความเรียบง่ายของท้องฟ้า ผืนดิน และการจดจำนามของผู้จากจร

Centre Georges Pompidou, Renzo Piano + Richard Rogers + Gianfranco Franchini

ต่อจากหอไอเฟล ในแง่ของสถาปัตยกรรมของเมือง การออกแบบตัวพื้นที่สาธารณะและภูมิทัศน์บนท้องถนนของปารีส ก็ต้องเจ้าตึก Centre Georges Pompidou หรือศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู ดูแว็บแรกเราก็จะงงว่า นี่หรือตึกแห่งศิลปะร่วมสมัย ตัวอาคารเป็นการรวมศิลปะและวรรณกรรมร่วมสมัยเข้ากับพื้นที่ทางกายภาพ ตัวตึกจากปี 1971 และสร้างเสร็จในปี 1977 เป็นผลพวงของการปะทะกันทางความคิด ทั้งการที่รัฐต้องการสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมใหม่ หลังจากการถกเถียงเรื่องบทบาทของศิลปวัฒนธรรม ในที่สุดการประกวดแบบเพื่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งศตวรรษที่ 20 จึงเกิดขึ้นโดยโจทย์คือการสร้างพื้นที่เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วม สร้างบทสนทนาและเปิดพื้นที่เสรีภาพของการแสดงออก

ตัวอาคารยักษ์ใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบล้ำสมัยของเรนโซ เปียโน (Renzo Piano) ในความร่วมมือทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมจึงได้รับการรับเลือกงานออกแบบเป็นการปรับพื้นที่ลานจอดรถจืดๆ ใน Centre Beaubourg ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมและตัวแทนแห่งยุคสมัย ทางสถาปนิกอธิบายการสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดยักษ์โดยเชื่อว่าอาคารสาธารณะขนาดใหญ่จะเป็นพื้นที่ในการต่อรองทางอำนาจได้ ผลคือเราก็ได้อาคารหน้าตาประหลาดที่อันที่จริงใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการแก้ปัญหาและสร้างพื้นที่ใช้สอยขนาดยักษ์ ทั้งนี้ตัวอาคารยังเน้นแสดงลักษณะที่ย้อนแย้งเช่นใช้โครงสร้างภายในอาคาร เช่น ท่อ โครงเหล็กนำออกมาเป็นภายนอกอาคาร บันไดถูกจัดวางไว้ด้านนอก

สื่อบางสื่อเรียกว่าเป็นความสวยงามของอาคารที่สวยงามเมื่อมองเป็นครั้งที่สอง ชาวปารีสก็ดูจะรักอาคารหลังนี้ต่อจากหอไอเฟล ถือเป็นชัยชนะร่วมสมัยของชาติ แม้ว่ามันจะถูกออกแบบโดยชาวอังกฤษร่วมกับฝรั่งเศส และประกอบร่างโดยเยอรมันก็ตาม ในตอนที่เรนโซ เปียโน เป็นสถาปนิกหนุ่มอิตาเลียนอายุเพียง 34 ปี ร่วมกับริชาร์ด โรเจอส์ (Richard Rogers) อายุ 38 ปีในตอนนั้นถือเป็นสตูดิโอเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่ก็ชนะการประกวดและได้สร้างยักษ์ใหญ่แห่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัยขึ้น

Kansai International Airport Terminal, Renzo Piano

ส่งท้ายด้วยอาคารที่ใครหลายคนเคยไปเยือน กับท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ แน่นอนว่าตัวอาคารสนามบินนานาชาติคันไซนี้เป็นตำนานทั้งจากโปรเจ็กต์การสร้างสนามบินบนเกาะที่มนุษย์ถมขึ้นกลางอ่าวโอซาก้า และเจ้าตัวสนามบินที่ใหญ่และถือเป็นสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และสร้างขึ้นบนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยที่สุดในตอนนั้น เป็นฝีมือการออกแบบและก่อสร้างของ เรนโซ เปียโน เจ้าพ่อสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต่อเนื่องจากตัวศูนย์วัฒนธรรมปงปิดูนั่นเอง

ทางสตูดิโอของ เรนโซ เปียโน ชนะการประกวดแบบนานาชาติสำหรับตัวสนามบินในปี 1988 ตัวอาคารถูกออกแบบโดยล้อไปกับทรงของปีกเครื่องบิน อาคารทรงยาวได้รับการออกแบบโดยรองรับเกตทั้งหมด 42 เกต พื้นที่ภายในเน้นการนำทางที่เข้าใจง่าย ในด้านของโครงสร้างและเทคนิคการก่อสร้างนั้นเน้นไปที่น้ำหนักที่เบาเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว หนึ่งในความโดดเด่นของอาคารอยู่ที่แผ่นเหล็กที่วางเรียงเป็นหลังคาที่ค่อยๆ ลาดชันขึ้นจนกลายเป็นทรงโค้ง และลดต่ำลงในแต่ละด้าน การออกแบบนี้ใช้แผ่นเหล็ก 82,000 แผ่นและมีการคำนวณโครงสร้างเป็นอย่างดี ท่าอากาศยานคันไซจึงถือเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยที่ผสมผสานเทคนิคการก่อสร้าง นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมและวิศวกรรมเข้ากับความสวยงามของโครงสร้างและวัสดุร่วมสมัย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

issuu.com

ciaoflorence.it

archdaily.com

en.wikipedia.org

greenash.net.au

nationalgeographic.com

biography.com

archive.curbed.com

dezeen.com

architonic.com

architecturecompetitions.com

researchgate.net

ozy.com

 

 

 

Share :