สัปดาห์ที่แล้วในวงการสถาปัตยกรรมมีข่าวสำคัญคือการจากไปของ B.V.Doshi หรือ Balkrishna Vithaldas Doshi สถาปนิกชาวอินเดียที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ด้วยอายุ 95 ปีเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา
บี. วี. โทศี นับเป็นสถาปนิกคนสำคัญผู้บุกเบิกและวางรากฐานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแนวบรูทัลลิสต์ให้กับอินเดีย เขาเคยทำงานและได้อิทธิพลจากเลอกอร์บูซีเย และหลุยส์ คาห์น โดยโทศีนั้นเคยได้รับรางวัลสำคัญของวงการสถาปัตยกรรมมากมายรวมถึงเป็นสถาปนิกอินเดียคนแรกที่ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ไพรซ์ (Pritzker Prize) ในปี 2018
ทำไมโลกจึงยกย่องและผลงานของโทศีจึงสำคัญ
ถ้าเรามองชีวิตและการทำงานของบี. วี. โทศี แน่นอนว่าผลงานของโทศีมีความประจักษ์ในแง่ของการบุกเบิกและใช้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่วางรากฐานให้กับสถาปัตยกรรมอินเดีย แต่นอกจากความงามแล้ว โทศียังได้ใช้ปรัชญาของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในการตอบความต้องการอันเฉพาะเจาะจงที่ประจวบเหมาะกับการก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่และเปิดสังคมอินเดียสู่ระบบเศรษฐกิจและความเป็นสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าสถาปัตยกรรมนั้นกำลังทำหน้าที่ในการพยุงคุณภาพชีวิตของผู้คน เป็นพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานเพื่อให้ผู้คนและสังคมเติบโตไปได้อย่างแข็งแรง
นอกจากผลงานตลอดชั่วชีวิตของโทศี จากอาคารรัฐถึงหอประชุม บ้านพักอาศัยส่วนบุคคลถึงมหาวิทยาลัย สิ่งที่โทศีลงมือออกแบบและลงมือสร้างซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือโครงการบ้านราคาประหยัด (housing) โดยโทศีนับเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ออกแบบโปรเจกต์โครงการบ้านที่ออกแบบและสร้างขึ้นเป็นระดับเมือง (township) สำหรับอินเดียเอง แม้ในปัจจุบัน อินเดียก็ยังเป็นประเทศที่มีปัญหาความยากจน ในปี 2564 มีรายงานว่าอินเดียประสบภาวะขาดแคลนบ้านที่ราว 18 ล้านหลังคาเรือน
จุดเด่นในผลงานของโทศีคืองานออกแบบแบบโมเดิร์นนิสต์และบรูทัลลิส โดยที่โทศีเองได้ผสมผสานองค์ประกอบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เข้ากับรากฐานของวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิม โดยเน้นไปที่การเปิดพื้นที่สู่ธรรมชาติ การทำความเข้าใจบริบท การใช้ลาน การเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าหากันเพื่อสร้างชุมชน แนวคิดหลักของอาคารของโทศีจึงสัมพันธ์กับความคุ้มค่า การสร้างภาวะที่อยู่สบายโดยคำนึงถึงสภาพอากาศ เน้นการใช้แสงธรรมชาติและการระบายอากาศด้วยงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม โทศีเคยกล่าวว่างานออกแบบเปลี่ยนเพิงให้เป็นบ้าน บ้านเป็นชุมชน และเปลี่ยนเมืองไปสู่พื้นที่ของโอกาส (Design converts shelters into homes, housing into communities, and cities into magnets of opportunities)
Aranya Low Cost Housing ความก้าวหน้าของการออกแบบบ้านรัฐในอินเดีย
หนึ่งในผลงานสำคัญของโทศีคือ Aranya Low Cost Housing โปรเจกต์บ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่สุด โครงการนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่ออกแบบเพื่อผู้อยู่อาศัย 6,500 ยูนิต บ้าน Aranya Low Cost Housing นับเป็นความก้าวหน้าในการออกแบบบ้านรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย มีผังของบ้านที่ยืดหยุ่นทำให้มีบ้านต้นแบบทั้งสิ้น 80 โมเดล สำหรับโครงการนี้โทศีกล่าวว่าเป็น ‘คำมั่นต่อชนชั้นฐานรากของสังคมเพื่อการมีที่อยู่ที่เหมาะกับการอยู่อาศัย’
สำหรับ Aranya Low Cost Housing นับได้ว่าเป็นงานออกแบบในช่วงกลางของช่วงชีวิต งานนี้สร้างเสร็จในปี 1982 ราว 20 ปีหลังจากที่โทศีเริ่มมีผลงานในโปรเจกต์ต่างๆ โดยตัว Aranya Low Cost Housing ถือเป็นโปรเจกต์ที่รวมเอาประสบการณ์ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับความต้องการจากบริบทเฉพาะของวัฒนธรรมอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอินเดียที่เริ่มเกิดพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม โดยตัวโทศีเองได้ออกแบบโครงการพักอาศัยที่เป็นกลุ่มบ้านพักมาก่อนแล้วในช่วงปี 1972-1973 เป็นการสร้างพื้นที่พักอาศัยที่สัมพันธ์กับนิคมอุตสาหกรรมของรัฐทั้งนิคมอุตสาหกรรมไฟฟ้า(ECIL)และนิคมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปุ๋ย(IFFCO)
ความน่าสนใจในเมืองที่โทศีออกแบบคือ โทศีเลือกโมเดลที่เฉพาะกับบริบทอินเดีย คือการสร้างกลุ่มบ้าน ไม่ใช่การสร้างอาคารสูงที่เป็นโครงการพักอาศัยขนาดใหญ่ โดยส่วนหนึ่งโทศีได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเด็ก และการออกแบบบ้านที่สัมพันธ์กับบริบทครอบครัวขยาย การสร้างบ้านของโทศีจึงไม่ใช่แค่การสร้างบ้าน แต่คือการสร้างกลุ่มชุมชน มีการใช้พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมในการแบ่งจังหวะระหว่างพื้นที่ส่วนตัว ระหว่างยูนิตต่างๆ และเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ส่วนกลาง มีการใช้ดาดฟ้า บันได ระเบียบรวมถึงถนนในการเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน บ้าน Aranya จึงเป็นการออกแบบกลุ่มบ้านที่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ในกลุ่มบ้านนั้นแต่ละกลุ่มจะมีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวเป็นของตัวเอง
สำหรับโทศีเอง การเริ่มทำงานในพื้นที่สถาปัตยกรรมและการออกแบบบ้าน โดยเฉพาะบ้านสำหรับผู้คนจำนวนมากนั้นมีความซับซ้อนทางวัฒนธรรมมาก ซึ่งที่อินเดียมีแนวคิดเรื่องบ้านและความเป็นเจ้าของที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง บ้านไม่ใช่แค่พื้นที่สำเร็จรูปที่มีผู้คนได้รับสิทธิและเข้าไปอยู่อาศัย โทศีชี้ให้เห็นว่าความเป็นบ้านสัมพันธ์กับมิติทางความรู้สึก ความยึดโยงต่อพื้นที่ (sense of belonging) ความหวัง ความสัมพันธ์และความปรารถนา ความรู้สึกของความเป็นบ้านสัมพันธ์กับการใช้งาน ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่บ้านที่สัมพัทธ์ไปตามการใช้งานหรือลักษณะเฉพาะของผู้อยู่อาศัยนั้น
ดังนั้น บ้าน Aranya แม้จะถูกคิดขึ้นเพื่อเป็นบ้านของผู้มีรายได้น้อย แต่โทศีเลือกที่จะให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่บ้านจากเครื่องมือ เช่น บันได ประตู ระเบียง ทางเดิน ให้ปรับตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้ด้วยตัวเอง ทำให้บ้านทั้ง 80 หลังมีรูปแบบเฉพาะตามที่ผู้อยู่อาศัยได้เลือกไว้ โทศีระบุว่าการเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยเลือกและจัดการพื้นที่ด้วยตัวเองนั้นก็เหมือนกับผู้อยู่อาศัยได้สร้างรากฐานของบ้านด้วยตัวเองและทำให้เจ้าของบ้านในอนาคตรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ
การออกแบบฟังก์ชั่นของตัวเอง การเปิดผังเพื่อความยืดหยุ่นต่อไปในอนาคต สำหรับโทศี การสร้างความรู้สึกและความยืดหยุ่นให้กับบ้านไม่ใช่แค่เรื่องการอยู่อาศัย แต่สัมพันธ์กับปรัชญาและการส่งเสริมความแข็งแรงทางสังคม เป้าหมายหนึ่งในการเลือกและจัดสรรพื้นที่บ้านนอกจากจะเพื่อตอบสนองลักษณะครอบครัวและความต้องการอันหลากหลายแล้ว บ้านในโครงการสีชมพูนี้ยังมีเป้าหมายในการเสริมพลังและให้ผู้อยู่อาศัยได้สร้างพื้นที่เพื่อ ‘ส่งเสริมคุณภาพชีวิต’ ของตัวเองได้ต่อไป
ความรู้สึกในการจัดการ ขยับขยาย รวมถึงการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั้งต่อชุมชน พื้นที่เพื่อสุขภาวะต่างๆ เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และแน่นอนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนหนทาง น้ำสะอาด ห้องน้ำที่เหมาะสมเพียงพอและไฟฟ้า ล้วนเป็นพื้นฐานของบ้านที่มีส่วนร่วมให้ครอบครัวหนึ่งๆ เติบโตไปสู่โอกาส สู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยของโทศีอาจเป็นร่อยรอยหนึ่งของความพยายามในการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเพื่อนำไปสู่รากฐานของครอบครัว ของผู้คนที่มีรายได้น้อย น่าเสียดายที่หลังจากนั้นทิศทางการพัฒนาโครงการบ้านโดยเน้นไปที่ความสำเร็จรูป การสร้างบ้านเพื่อตอบสนองต่อตัวเลขโดยไม่ได้มองในฐานพื้นที่ชองผู้คนและการอยู่อาศัย
ภายหลังโทศีเองระบุว่า โครงการรัฐ ‘เน้นไปที่การเติมตัวเลขความต้องการบ้านพักอาศัย’ แนวทางการพัฒนาบ้านนำไปสู่การออกแบบสำเร็จรูป โทศีกล่าวว่า ‘เราไม่ได้พูดถึงครอบครัว เราพูดถึงห้อง พูดถึงตัวเลขของการจ่ายไหวและราคา แต่เราสร้างบ้านโดยเข้าใจโครงสร้างของสังคม’
สำหรับพาลกฤษณะ วิฏฐัลทาส โทศี แล้ว อาคารไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่ของการก่ออิฐถือปูน ในโครงการบ้านที่เรียงแถวกันนับสิบนับร้อยหลัง ภายใต้หลังคา บนดาดฟ้า ในตรอก ลาน สนาม ในห้องหับทั้งหลาย ในโครงสร้างปูนและไม้โดยที่ช่วยเสริมรากฐานอันเปราะบางไม่ใช่แค่โครงสร้างอันแข็งแรง แต่คือความเข้าใจความหมายของการอยู่อาศัย
เข้าใจความซับซ้อนของความรู้สึก ให้ความมั่นคงในการหยั่งราก ขยับขยายเพื่อเติบโตไต่เต้าจากจุดล่างๆ ของสังคมได้อย่างแข็งแรง สง่างามต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer
- Supatsorn Boontumma
Graphic Designer